นับถอยหลังกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล สามปีที่สิทธิพลเมืองถูก“ละเลย”

จด•หมายเหตุ นคร เสรีรักษ์
———————————————
นับถอยหลังกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล สามปีที่สิทธิพลเมืองถูก“ละเลย”
1. พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายและแบบแผนการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นปกติโดยทั่วไป กฎหมายฉบับนี้จะต้องใช้บังคับเต็มฉบับครบทุกมาตรานับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

2. แต่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีสภาพเสมือนการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกไปหนึ่งปี และหลังจากนั้นรัฐบาลก็สั่งเลื่อนอีกครั้งหนึ่งในปี 2564 โดยเลื่อนจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ซึ่งมีผลให้กฎหมายฉบับนี้ถูกเลื่อนถึงสองครั้ง เป็นเวลาถึงสองปีเต็ม และจะมีผลบังคับใช้ครบทั้งฉบับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

3. นอกเหนือจากข้ออ้างที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกา ที่ยกเหตุของความไม่พร้อมของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยระบุว่าเป็นกฎหมายใหม่ การปฎิบัติตามกฎหมายยุ่งยากซับซ้อน รัฐบาลยังอ้างเหตุสถานการณ์โรคระบาดว่าการปฏิบัติตามกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ

4. ที่น่าสนใจคือการอ้างความไม่พร้อมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายซึ่งหมายถึงคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้ง ๆ ที่กระบวนการแต่งตั้งกรรมการได้เสร็จสิ้นแล้วโดยมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 แต่ก็เกิดเหตุอันแปลกประหลาดน่าสงสัย นั่นคือกระบวนการในการออกคำสั่งและลงพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกิดขึ้น

5. จนเวลาล่วงเลยไปนานมาก จึงเริ่มมีคำอธิบายออกมาจากกระทรวงดีอี ซึ่งชี้แจงว่ามีการทักท้วงร้องเรียนคัดค้านจากภาคธุรกิจเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) ร้องเรียนว่าการแต่งตั้งกรรมการมีความไม่เหมาะสม โดยขาดผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากภาคธุรกิจ อยากให้รัฐบาลดึงภาคเอกชนที่เดือดร้อนจากกฎหมายนี้ เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย

6. ทั้งๆ ที่กระบวนการตามกฎหมายจบสิ้นแล้ว และโดยที่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าให้มีกรรมการจากภาคธุรกิจเอกชนแต่อย่างใด เพราะตามกฎหมายในมาตรา 8 ระบุเพียงว่า “ให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งสรรหาและแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ ด้านการเงินหรือด้านอื่น ทั้งนี้ ต้องเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เท่านั้น

7. ซึ่งหากรัฐบาลหรือกระทรวงดีอีจะรับฟังคำทักท้วงของ กกร. ก็น่าจะทำโดยการเตรียมหาทางเสนอขอแก้ไขกฎหมายโดยกระบวนการทางนิติบัญญัติเท่านั้น

8. แต่ในที่สุดก็มีทบทวนกระบวนการการแต่งตั้งกรรมการขึ้นจริงๆ มีการตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมาใหม่ จากนั้นก็มีการดำเนินการไปจนแล้วเสร็จ ผลการสรรหาปรากฏว่าได้ตัวกรรมการจากชุดเดิม 8 คน และเนื่องจากมีผู้ขอถอนตัวหนึ่งคน กรรมการสรรหาจึงเลือกนายอนุสิษฐ คุณากร มาเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง

9. ประเด็นที่น่าสนใจคือการแต่งตั้ง นายอนุสิษฐฯ นั้น ระบุว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นกรรมการด้านที่ไม่มีปรากฏในบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะนอกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน มาตรา 8 ก็ระบุเพียงว่า “ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย (1) ประธานกรรมการ (2) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (3) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอัยการสูงสุด” เท่านั้น

10. ที่น่าสังเกตคือการตั้งกรรมการรายนี้เหมือนจะยังไม่ตอบสนองความต้องการของ กกร. ที่เป็นสาเหตุหลักของการคัดค้านกรรมการชุดแรก และนำไปสู่การตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมาทบทวนกระบวนการเดิม ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ได้อธิบายว่าการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาตินั้นเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร และมีความเหมาะสมกับคุณสมบัติของอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติตรงไหน ที่น่าสนใจมากกว่าคือ ยังไม่ได้เห็นท่าทีของ กกร. ต่อผลการตั้งกรรมการตามนี้

11. ในขณะที่เหลือเวลาไม่มากนักจะถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายจะใช้บังคับครบทุกมาตรา เรากลับเห็น กกร. ออกมาแสดงท่าทีอีกครั้งว่าจะขอให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายต่อไปอีก แต่คราวนี้หนักกว่าเดิม เพราะจะขอเลื่อนถึง 2 ปี ในขณะที่ประธานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลออกมายืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนอย่างแน่นอน

12. โดยที่สถานการณ์โควิดในขณะนี้ยังไม่ทุเลาเบาลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะหนักมากขึ้นในอนาคต และสถานการณ์โควิดก็ยังเป็นยาครอบจักรวาลรักษาได้สารพัดโรค ที่รัฐบาลยกเอามาอ้างในการดำเนินนโยบายไม่ว่าเรื่องใดๆ อยู่แล้ว จึงมาถึงคำถามที่ถามกันมาตลอดสามปีที่ผ่านมาว่าปีนี้จะเลื่อนอีกหรือไม่

13. เข้าใจว่าตอนนี้นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลคงจะกำลังหาเทคนิควิธีในการ “เลื่อน” ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนการบังคับใช้เป็นบางมาตรา การเลื่อนการบังคับใช้สำหรับกิจการบางประเภท การเลื่อนโดยแบ่งเป็นการเลื่อนเป็นช่วงเวลาตามแต่ประเภทของกิจการ การเลือกการบังคับใช้เป็นบางมาตรา และที่สำคัญคือการยกเว้นการบังคับใช้ในหมวดบทลงโทษ ทางเลือกต่างๆเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น การใช้นิติวิธีที่บิดเบี้ยวซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่การใช้มาตรา 4 มาออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นพระราชบัญญัติทั้งฉบับ เป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่า “เนติบริกรนั้นพร้อมบริการ”

14. เหตุที่จะยกมาเป็นข้ออ้างก็หนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ภาคธุรกิจยังไม่พร้อม กรรมการยังไม่พร้อม สำนักงานยังตั้งไม่เสร็จ กฎหมายลูกยังไม่เรียบร้อย การปฏิบัติตามกฎหมายมีค่าใช้จ่ายสูงจะเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ และปิดท้ายด้วยเหตุเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด สุดท้ายคือการยอมให้ทุกองค์กรทั้งหลายทั้งรัฐและเอกชนใช้ประโยชน์ในข้อมูลของพลเมืองต่อไปโดยไร้กฎหมายกำกับควบคุม นั่นคือการยอมให้มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมืองออกไปเรื่อยๆ นั่นเอง

15. ทั้งหมดนี้ เป็นคำอธิบายว่ารัฐบาลมีความสนใจที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหรือไม่อย่างไร ระหว่างข้ออ้างความไม่พร้อมของธุรกิจเอกชนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นสิทธิพลเมืองนั้น สุดท้ายแล้วรัฐจะเลือกอะไร เราพูดกันแต่เรื่องของตัวกฎหมายที่เลื่อนการบังคับใช้ แต่เหมือนจะไม่มีใครพูดถึงการคุ้มครองสิทธิพลเมืองที่ถูก “ละเลย” ตลอดมา

16. เรากำลังนับถอยหลังสู่ 1 มิถุนายน 2565 วันที่(อาจ)จะมีการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลเต็มฉบับ หรือเรากำลังจะนับถอยหลังไปสู่การนับถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะบ้านเมืองนี้จะมีกฎหมายที่เลื่อนซ้ำซากจริงๆ