30 ปี พฤษภามหาโหด | คุยกับครูประทีป อึ้งทรงธรรม ความหวังและความพร้อมเป็นฐานให้คนรุ่นใหม่

ชื่อของ “ครูประทีป อึ้งทรงธรรม” ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงพฤษภาคม 2535 อย่างปรากฏชัด

ผ่านมาสามทศวรรษ “มติชนสุดสัปดาห์” ชวน “ครูประทีป” เล่าย้อนความทรงจำ 30 ปี พร้อมมองสังคมไทยแลไปวันข้างหน้ามีอะไร “น่าเป็นห่วง”?

ครูประทีปเล่าว่า สิ่งที่ต้องพูดคือ “เรื่องของการใช้อำนาจ” ตกลงแล้วควรจะเป็นของใคร คนที่อยู่ในประเทศนี้ ควรจะเป็นเพียงผู้อาศัยหรือเป็นเจ้าของมีส่วนร่วมในการที่จะสร้างสรรค์การพัฒนาในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะโครงสร้างประเทศ ทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

เมื่อการเมืองเป็นตัวที่จะวางโครงสร้าง เป็นเหมือนกับร่างกายของคน มีหัว มีกระดูก มีแขนมีขา ถ้าหากว่าการวางโครงสร้างมันไม่สามารถที่จะเกิดความสมดุล มันมีอำนาจบางอย่างเข้ามาฉุดรั้งประเทศดึงลง

อย่างกรณีเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในช่วงเดือนนี้ เราคงจะจำกันได้ว่าเกิดการประท้วง เนื่องจากมีรัฐบาลที่เข้ามาสืบทอดอำนาจ รสช. หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หลังจากมีการยึดอำนาจของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยการนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และคณะ ต่อมามีความพยายามที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจเกิดขึ้น ในการที่จะให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งในช่วงนั้นประชาชนชนชั้นกลาง เริ่มเข้ามามีบทบาทต้องการประชาธิปไตยและต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วงนั้นก็เริ่มมี “มือถือ” เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ (สมัยนั้นเป็นเครื่องขนาดใหญ่)

ในช่วงนั้น พล.อ.สุจินดาซึ่งเคยได้ออกสื่อหลายต่อหลายครั้งว่าตัวเองจะไม่สืบทอดอำนาจ จะไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาก็มีคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” และมารับตำแหน่ง โดยตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประชาชนมีความไม่พอใจ และเกิดการคัดค้าน มีพรรคเทพ-พรรคมารเกิดขึ้น พรรคที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคที่สนับสนุนการเข้ามาสู่อำนาจโดยไม่ชอบธรรม

เกิดการเรียกร้องจากภาคประชาชนเกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง ก็มี ร.ต.ฉลาด วรฉัตร มาอดอาหารเป็นคนแรกที่หน้ารัฐสภา

ตอนนั้น ครูประทีปเองตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน และมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยเรามันไม่ควรจะกลับไปสู่ยุคอำนาจเผด็จการอีก จึงออกไปร่วมกับเขา โดยหวังว่าตัวเองจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะสนับสนุนได้ เลยเข้าไปมีส่วนร่วม ดีกว่าที่จะอยู่เฉยๆ

ไม่คาดคิดว่า ในที่สุดเข้าไปเป็นกรรมการของสมาพันธ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีลูกสาวของคุณฉลาด วรฉัตร มีอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มีหมอสันต์ หัตถีรัตน์ หมอเหวง โตจิราการ ส่วนภาคแรงงานเป็นคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมกัน แล้วก็พยายามผลักดันให้มีสาขาในต่างจังหวัดด้วย เพราะว่าตอนนั้นต้องยอมรับว่าใน “สื่อ” ทั้งของภาครัฐ และสื่อกระแสหลักไม่ค่อยกล้าที่จะนำเสนอข่าวออกมา จนกระทั่งมีการอดอาหารอยู่หน้ารัฐสภา แล้วพอคุณจำลอง ศรีเมือง ประกาศเข้าร่วมก็มีคนเข้าร่วมเยอะมาก มีคนมาสมทบร่วมกับคุณฉลาดอีกมาก

ช่วงเริ่มแรกพวกเราเองก็ถูกแรงกดดันจากทหาร มีทั้งเฮลิคอปเตอร์ มีการส่งกำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อให้ออกไปจากบริเวณหน้ารัฐสภา ก็เลยต้องย้ายไปที่ท้องสนามหลวง (ซึ่งในท้องสนามหลวงมีการจัดงานอยู่พอดี) ก็มีการไล่ออกจากพื้นที่อีก หลังจากที่ไปค้างได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น

พอออกมาก็เข้าสู่สถานการณ์วันที่17 พฤษภาคม บริเวณถนนราชดำเนินมีการยิงประชาชนเกิดขึ้น การต่อสู้ช่วงนั้นมีการใช้กระสุนจริง ซึ่งประชาชนสู้ด้วยหัวจิตหัวใจ ในต่างจังหวัดก็เริ่มมีม็อบเกิดขึ้น ช่วงนั้นจะมีการ “ส่งแฟกซ์” บอกต่อกันโดยไม่ได้มีการใช้สื่อกระแสหลัก บางส่วนก็เริ่มเดินทางมาสมทบจากต่างจังหวัด แต่แล้วก็มีการสกัดกั้นการเดินทาง แต่ก็ยังมีคนเข้ามาเรื่อยๆ ประชาชนเหมือนกับว่าถูกบล็อกตรงสะพานผ่านฟ้า

จากนั้นมีเหตุการณ์เผาโรงพักนางเลิ้ง ซึ่งต่อมาเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็มีการยอมรับว่าผู้ที่เป็นคนเผาก็คือฝ่ายของตำรวจเอง ความจริงก็ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ครูประทีปเผยว่า เวลา 30 ปีผ่านมาไปไวเหลือเกิน แล้วก็เป็นที่น่าเศร้าใจว่า มันเหมือนกับประเทศไทยตกหลุมดำแล้วไม่ขึ้นเลย มีแต่จะทรุดลงไปอีก เพราะว่าปี 2535 มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะว่าประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่ประชาธิปไตยมากที่สุด

แต่ว่าพอปี 2549 ก็เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญอีก แล้วไม่เท่าไหร่มีการรัฐประหารอีกในปี 2557 มันวนซ้ำแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่เราเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศชาติ และเราก็ดูประเทศเพื่อนบ้านเราจะเห็นได้ว่าเขาก็ไปไกลกันแล้ว แต่เรายังตกอยู่ในหลุมดำแล้วถอนตัวไปไม่ขึ้น

แถมยิ่งมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ยิ่งทำให้ดึงลงไปลึกใหญ่ มี ส.ว. 250 คนที่จะเป็นตัวชี้จะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ตามหลักนิติธรรม ก็เป็นที่น่าเสียดายมากที่เกิดขึ้น มันเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง แต่มันไม่ได้เป็นการถอดบทเรียนสรุป เกิดเป็นจิตสำนึกจิตวิญญาณ และผู้ที่มีอำนาจไม่ได้เห็นเลยว่าประเทศชาติมันแย่ลงจากการที่เราไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่จะเป็นเครื่องมือในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ดี

“รู้สึกเสียดายมากเลยค่ะ”

: มองอย่างไรในวันที่คนที่เคยออกมาเรียกร้องด้วยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้เปลี่ยนจุดยืน?

ก็รู้สึกเหมือนกับเสียใจส่วนหนึ่งและไม่เข้าใจคนที่เคยเรียกร้องเรื่องของหลักการประชาธิปไตยที่ให้ฟังเสียงของประชาชน หลักการของการที่เราจะมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งกลไกต่างๆ กติกาที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยมันไม่ควรจะถูกยอมรับ แต่กลับเป็นคนไปยอมรับ กลายเป็นว่าล้มหลักการของตนเอง เรียกว่าถุยน้ำลายลงไปแล้วก็เลียน้ำลายตัวกลับขึ้นมา ก็รู้สึกเสียใจค่ะ

: มองปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ในยุคนี้

เห็นน้องๆ รุ่นใหม่ก็ชื่นชมเขามาก หลายคนยังคงยืนยันต่อสู้อยู่ต่อ ทั้งๆ ที่เขาถูกคุกคาม ถูกติดตาม ถูกข่มขู่ ถูกทำร้าย ถูกอุ้มหายทำให้หายไป ตัวเองก็รู้สึกเสียใจ ซึ่งต้องบอกว่าน้องๆ รุ่นนี้เขาจะเก่งเรื่องเทคโนโลยี สามารถสื่อสารกับคนทั่วโลก เขาเรียนรู้จากเรื่องราวต่างๆ ของโลกและมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย เขาเป็นมันสมอง เป็นพลังในการที่จะพัฒนาประเทศได้ดี

แต่เสียดายที่ระบบของเรา “อำนาจเผด็จการ” มันใหญ่เกินไป มันฉุดรั้งพวกเขา ทำลายพวกเขา และทำให้เขาบางส่วนไม่อยากอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป มันเกิดภาวะสมองไหล เสียดายมากเลย

สำหรับสิ่งที่อยากฝาก “อนุชนคนรุ่นหลัง” ที่เขาออกมาต่อสู้ คือจุดยืนของเขาถูกต้องอยู่แล้ว คือการเชื่อมั่นในพลังของเขาในการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า เปลี่ยนแปลงจากจุดที่เขาไม่กล้าที่จะพูดไม่กล้าที่จะแสดงออก ไปสู่ความเชื่อมั่น และนำเสนอเรื่องราวหรือความคาดหวังที่เขาต้องการ

เราคิดว่าจุดยืนตรงนี้เป็นจุดยืนที่น่าชื่นชม

แต่ว่าในเรื่องของความคิดเห็นต่างเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ขั้วของความเห็นต่างมันจะต้องก้าวไปด้วยกันให้ได้

คนอย่างรุ่นของครูประทีปควรจะเป็นรุ่นที่สนับสนุนเกื้อกูลให้คนรุ่นต่อไปเขาได้นำพาประเทศไปโดยที่เราประคับประคองและช่วยสนับสนุน ไม่ใช่เป็นการทำลายล้างพวกเขา ก็รู้สึกเสียดายที่มีบางคนไม่เป็นแบบนี้

 

ครูประทีปทิ้งท้ายว่าประเทศเราจะออกจากหลุมดำได้ โดยการที่เราใช้พลังที่มีอยู่รวมกัน เราออกได้ เราต้องมีความหวัง ถึงแม้ว่าความหวังมันจะอยู่ไกลมาก อาจจะมีอุปสรรค มีภูเขามาขวางกั้น แต่ขอให้เราเชื่อมั่นว่าเราเดินไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

กลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลไกที่อยู่ในภาครัฐและไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่างๆ นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ เราต้องไม่ยอมรับ “สิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อต่างๆ ต้องรวมเรียกร้องไม่ยอมรับกับการที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง

เราต้องยึดหลักประชาธิปไตยให้มั่น และอะไรที่มันไม่ใช่ประชาธิปไตย เราไม่ยอมรับมัน

เราต้องสร้างจิตสำนึกตรงนี้ให้เกิดขึ้น

ชมคลิป

https://bit.ly/3woxTkw