นักบุญนามเทพ : ผู้เห็นพระเจ้าในทุกสรรพสิ่ง / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

นักบุญนามเทพ

: ผู้เห็นพระเจ้าในทุกสรรพสิ่ง

 

ในปรัชญาฮินดู เราอาจมีความเข้าใจต่อพระเจ้าหรือสัจธรรมสูงสุดในสองลักษณะ

อย่างแรกคือ “นิรคุณะ” หมายถึงสภาวะสูงสุดที่ปราศจากคุณสมบัติใดๆ เป็นสิ่งนามธรรมที่ยากจะกล่าวถึงโดยภาษาและความคิดของมนุษย์

กับ “สคุณะ” คือ พระเจ้าที่มีลักษณะบุคคล ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติที่ดีทุกอย่าง

ปรัชญาของศังกราจารย์เชื่อมั่นในแบบแรก ทว่านิกายส่วนใหญ่ของฮินดูมักเน้นความคิดอย่างหลัง โดยเฉพาะไวษณวะนิกาย ทว่า หลายครั้งก็มีลักษณะที่ผสมๆ กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มนักบุญสายภักติ ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากไวษณวะนิกายและจากปรัชญาของท่านศังกราจารย์

นักบุญนามเทพ (Namdev) เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ตัวนามเทพถือเป็นนักบุญสำคัญคนหนึ่งในนิกายวารกรี ท่านมีความภักดีต่อพระวิโฐพาอย่างลึกซึ้ง แต่กวีนิพนธ์ของท่านกลับมีทั้งแนวคิดนิรคุณและสคุณ รวมทั้งเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตท่านกับสุนัขตัวหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า นามเทพมองเห็นพระเจ้าหรือพระวิโฐพาดำรงอยู่ในสรรพชีพ

ตามประเพณีของวารกรีเชื่อว่านามเทพมีชีวิตร่วมสมัยกับนักบุญชญาเนศวรหรือชญานเทพ คือมีชีวิตอยู่ในราวคริสตศตวรรษที่สิบสาม เอกสารที่กล่าวถึงบทประพันธ์และตัวท่านล้วนเขียนขึ้นในภายหลัง คือตั้งแต่คริสตศตวรรษที่สิบหกจนถึงศตวรรษที่สิบแปด

ที่สำคัญท่านไม่เพียงถูกกล่าวถึงในเอกสารภาษามาราฐี แต่ยังปรากฏในเอกสารภาษาฮินดีของแคว้นราชสถาน รวมทั้งยังมีบทประพันธ์ของท่าน (ท่านถูกเรียกว่า ภคัตนามเทว) รวมอยู่ในคุรุครันถะสาเห็พของศาสนาสิกข์ในแคว้นปัญจาบอีกด้วย

 

เอกสารต่างๆ ระบุว่า นามเทพเกิดที่เมืองนรสี พมานิ (ปัจจุบันเรียก นรสี นามเทพ) นแคว้นมหาราษฎร์ ครอบครัวอยู่ในวรรณะศูทร มีอาชีพตัดเย็บผ้า บิดาชื่อทมเศติ เรเลกร ส่วนมารดาชื่อโคไน

เหตุที่ครอบครัวนับถือ “ภาควัตธรรม” หรือคำสอนเกี่ยวกับพระวิษณุจากภาควัตปุราณะ จึงย้ายมาอยู่ที่เมืองปัณฑรปุระ นั่นได้สร้างเหตุปัจจัยให้ในที่สุดนามเทพกลายเป็นสาวกผู้ภักดีของพระวิโฐพา

มารดาของนามเทพเป็นผู้มีศรัทธาในพระวิโฐพาเจ้าเป็นอย่างมาก มีตำนานเล่ากันว่า ทุกๆ วัน โคไนจะนำนมและอาหารสำหรับถวาย (ไนเวทยะ) ไปถวายยังพระวิโฐพาและจะพานามเทพไปด้วยเสมอ

วันหนึ่งมารดาของเขาไม่สามารถนำอาหารไปถวายยังวิหารแห่งพระวิโฐพาได้ จึงบอกให้ลูกชายตัวน้อยนำอาหารและนมไปถวายแทน

เด็กน้อยยื่นถาดอาหารต่อหน้าเทวรูป กระนั้นดูเหมือนว่าพระวิโฐพาจะไม่ยอมรับอาหารไปทานเสียที นามเทพเริ่มร้องไห้ เขาเอาศีรษะโขกกับบาทของเทวรูปและรอคอยอยู่ที่บันไดขั้นแรกหน้าวิหาร พระวิโฐพาคงรู้สึกเอ็นดูศรัทธาประสาเด็ก จึงได้เดินออกมาจากแท่นในรูปมนุษย์แล้วนั่งกินอาหารในถาดนั้น นามเทพดีใจมาก เขานำถาดอาหารว่างเปล่ากลับไปบ้านพร้อมเล่าเรื่องให้มารดาฟัง แต่โคไนดูจะยังไม่ค่อยแน่ใจนัก เธอเกรงว่าลูกชายอาจกินอาหารนั้นเองแล้วโกหกเธอ

วันรุ่งขึ้นโคไนให้นามเทพไปถวายอาหารตามเดิม แต่เธอย่องตามไปแอบดู ปรากฏว่าเธอก็ได้เห็นพระวิโฐพาเสด็จออกมารับอาหารของนามเทพเช่นเดียวกับเมื่อวาน นั่นทำให้โคไนเชื่อมั่นในตัวลูกชายว่าเขามีใจบริสุทธิ์และมีศรัทธาที่จริงแท้

 

เหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่บันไดขั้นแรกของวิหาร ผู้คนจึงถือเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองปัณฑรปุระ เรียกกันว่า “บันไดของนามเทพ” (Namdev Chi Payari) ใครไปวิหารนี้ก็จะเห็นมีการวางตั้งรูปหล่อศีรษะนามเทพที่บันไดให้คนสักการะ

แต่นอกจากจะมีไว้ให้คนสักการะแล้ว นามเทพเองมีปณิธานด้วยความนอบน้อมอย่างที่สุดว่า เขาประสงค์จะสัมผัสเท้าและฝุ่นผงจากเท้าของผู้ศรัทธาในพระวิโฐพาทุกคนด้วยความเคารพ เขาจึงปรารถนาจะสถิตที่บันไดขั้นแรกนั้นตลอดไป

นามเทพแต่งงานเมื่ออายุได้สิบเจ็ดปี มีลูกสี่คน ตัวนามเทพไม่ค่อยสนใจชีวิตทางโลกนัก มักใช้เวลาไปกับการแต่งคำประพันธ์สรรเสริญและขับร้องบทกวีที่ได้แต่งไว้ กระนั้นเขาก็ยืนยันว่าชีวิตแบบคฤหัสถ์ก็สามารถเขาถึงความหลุดพ้นได้หากมีศรัทธาภักดีในพระเจ้า

เมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปี นามเทพก็ได้พบนักบุญชญาเนศวร ทั้งสองคนมีความชอบพอกันจึงได้เดินทางไปแสวงบุญยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในหลายเมืองของอินเดีย

ตำนานมักเล่าถึงปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น เขาชุบชีวิตวัวให้ฟื้น หรือประตูวิหารแห่งพระศิวะหมุนตามตัวเขา เนื่องจากพราหมณ์ไม่ยอมให้นามเทพเข้าไปเพราะเห็นเป็นคนวรรณะต่ำ

ปาฏิหาริย์เช่นนี้จะจริงหรือไม่ผมไม่อาจทราบได้ แต่ปาฏิหาริย์ในตำนานนักบุญมักเป็นตัวสะท้อนความรักความสัมพันธ์ระหว่างนักบุญกับพระเจ้า รวมทั้งสะท้อนคุณลักษณะทางจิตใจของท่านเหล่านี้ด้วย เช่น ความรักและเมตตาที่มากมายจน “เคลื่อนย้ายภูเขา” หรือทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 

ในบ้านของนามเทพมีสาวใช้คนหนึ่งคือชนาพาอี เธอได้รับยกย่องเป็นนักบุญเช่นเดียวกัน ชนาพาอีเคารพนับถือนามเทพดุจเป็นคุรุของเธอเอง และถึงกับเขียนบทกวีไว้ว่าจะขอเกิดไปรับใช้นามเทพทุกภพทุกชาติ

นามเทพมีคุรุชื่อวิโสภา เขจรซึ่งเป็นศิษย์ของชญานเทวะ เชื่อกันว่านามเทพได้รับคำแนะนำจากพระวิโฐพาให้แสวงหาคุรุ เพราะพระเจ้าตรัสกับเขาว่า เขาจะไม่สามารถรู้จักพระเจ้าได้อย่างแท้จริงหากปราศจากคุรุ แม้ว่าพระเจ้าจะทรงให้เขาพบเจอพระองค์เองอยู่หลายครั้งก็ตาม

เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า นามเทพมองเห็นพระเจ้าในทุกสรรพสิ่งคือตำนานการไล่ตามสุนัข

ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้

 

วันหนึ่งนามเทพคว้าเครื่องดนตรีแล้วออกเดินขับร้องเพลงสรรเสริญไปเรื่อยๆ ระหว่างทางเขานั่งลงในชายป่าแล้วยังคงขับร้องบทกวีอย่างดื่มด่ำ นามเทพวางห่ออาหารไว้ใกล้ตัว

ระหว่างที่นามเทพกำลังเผลอ ก็มีสุนัขหิวโซตัวหนึ่งมาคาบห่ออาหารซึ่งมีเพียงแผ่นแป้งโรตีแล้ววิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว เมื่อนามเทพได้สติ เขาออกวิ่งตามสุนัขตัวนั้นทันที โดยยังไม่ทันได้คิดอะไรเขาก็ร้องตะโกนไปด้วยว่า

“พระผู้เป็นเจ้า พระวิโฐพาในรูปสุนัข โปรดรอก่อน! พระองค์อย่าเพิ่งวิ่งหนีไป ถ้าจะเอาไปแค่โรตีมันจะฝืดคอ กินได้ลำบาก โปรดรับเอาน้ำตาลกับเนยนี้ไปด้วย จะได้เสวยโรตีอย่างอร่อย”

นามเทพไล่ตามสุนัขไปจนถึงชุนชน ชาวบ้านต่างขบขันกับสิ่งที่เห็น แต่สำหรับนามเทพแล้ว ชั่วขณะที่เขาดื่มด่ำกับความภักดี โดยไม่ทันได้ใช้ความคิด เขาตระหนักอย่างทันทีทันใดว่าสรรพสิ่งที่ปรากฏต่อเขาล้วนเป็นการสำแดงของพระเจ้าทั้งสิ้น แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสุนัขซึ่งเป็นสัตว์ชั้นต่ำในสังคมฮินดูก็ตาม

ผมไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วสุนัขตัวนั้นได้กินโรตีแกล้มเนยและน้ำตาลหรือไม่ เพราะตำนานไม่ได้กล่าวไว้

 

นามเทพมีอายุยืนยาวเท่าใดไม่มีใครทราบ แต่ละตำนานต่างว่ากันไปคนละแบบ บางตำนานกล่าวว่าท่านมีอายุยืนยาวถึงแปดสิบปี บางตำนานว่าหลังจากท่านได้เห็นการจากไปของชญานเทวะ ท่านก็เสียชีวิตเมื่ออายุเพียงยี่สิบหกปี

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มรดกของนามเทพคือบทกวีจำนวนนับพันบท ซึ่งชาววารกรีและชาวบ้านอินเดียยังคงขับขานกันอยู่ในปัจจุบัน

เป้าหมายแห่งชีวิตของนามเทพคือ “เต้นรำไปพร้อมกับท่วงทำนองบทเพลงสรรเสริญ (กีรตัน) จุดประทีปความรู้สว่างไสวมอบให้โลกทั้งผอง”

คงจะเป็นการดีที่ผมจะขอจบบทความนี้ด้วยบทกวีบางบทของท่านนามเทพ

 

“ทุกๆ สิ่งคือโคพินท์ (โควินทะ) ทุกๆ สิ่งคือโคพินท์ ด้ายหนึ่งเส้นก็มากมายด้วยร้อยพันเส้นใย ถักทอเป็นผืนผ้าหนึ่งเดียว ดุจการสำแดงของเอกองค์นั้นในทุกๆ สิ่ง ฟองคลื่นบนผิวน้ำมิใช่อื่นใดนอกจากน้ำ ก็จักรวาลแห่งธาตุห้านี้มิใช่อื่นใดนอกเสียจากลีลาของพระองค์ หากใครเพ่งพิจปรากฏการณ์ทั้งหลาย ก็จักไม่พบสิ่งใดนอกจากพระองค์นั่นแล” และ

“ฮินดูก็มืดบอด มุสลิมก็มีตาเดียว

แต่คุรุนั้นทรงปัญญากว่าทั้งคู่

ฮินดูไปสักการะที่วิหาร มุสลิมไปมัสยิด

ส่วนนามเทพนั้นรับใช้พระเป็นเจ้า

ซึ่งไม่ถูกจำกัดอยู่

ทั้งในวิหารหรือมัสยิด” •