เปิดเมืองท่องเที่ยวไม่ปังดังคาด กำลังซื้อวูบตามภาวะเงินเฟ้อ สภาพัฒน์หั่นเป้า GDP ปี ’65 เหลือแค่ 3%/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เปิดเมืองท่องเที่ยวไม่ปังดังคาด

กำลังซื้อวูบตามภาวะเงินเฟ้อ

สภาพัฒน์หั่นเป้า

GDP ปี ’65 เหลือแค่ 3%

 

นอกจากการส่งออกจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่เป็นหน้าเป็นตาของเศรษฐกิจไทยในปีนี้แล้ว หลายฝ่ายคาดหวังภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ด้วยเช่นกัน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น หลายประเทศจึงผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น รวมถึงไทย ที่ล่าสุดก็เพิ่งยกเลิก Test & Go มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา

รายงานจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระบุว่า ล่าสุด นักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยปีนี้สะสมจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 มีจำนวน 1,002,882 คน โดยนักท่องเที่ยวรายด่าน 5 อันดับแรก ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 616,025 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 329,526 คน ท่าอากาศยานดอนเมือง 21,303 คน ด่านสะเดา (สงขลา) 8,108 คน และด่านหนองคาย 8,946 คน ซึ่งหลังจากยกเลิก Test & Go นักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 15,000 คนต่อวัน จากเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ราว 10,000 คนต่อวัน

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง Thailand Pass ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา 5 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักร 81,960 คน ตามด้วย อินเดีย 71,336 คน, เยอรมัน 68,214 คน, รัสเซีย 58,401 คน และสหรัฐอเมริกา 56,946 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่ครองส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวสูงสุดอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มาแรง จากไม่ติดอันดับท็อป 5 พุ่งขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ในเดือนพฤษภาคม แซงเยอรมัน รัสเซีย ที่ครองอันดับ 2, 3 มาตลอด

อย่างไรก็ดี คนในวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า กระทรวงตั้งเป้าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาประมาณ 7-13 ล้านคน สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 6.5 แสนล้านบาท จะทำให้ในปี 2565 นี้ การท่องเที่ยวไทยจะมีรายได้รวม 1.3-1.5 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ททท.ได้เร่งทำการตลาดอย่างหนัก ทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล โดยในตลาดระยะใกล้นั้นจะโฟกัส 5 ประเทศหลักที่สามารถทำการตลาดได้ทันที เนื่องจากเป็นตลาดที่ผ่อนคลายมาตรการ การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คือ อินเดีย, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และเกาหลีใต้

ส่วนตลาดระยะไกลจะโฟกัสกลุ่มมิดเดิลอีสต์, ซาอุดีอาระเบีย, อิสราเอล, คาซัคสถาน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และละตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางที่อาจเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงกรีนซีซั่นที่กำลังจะถึงนี้ได้เลยทันที

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้น หากรัฐบาลยกเลิก Thailand Pass ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะทำให้การเดินทางเข้าประเทศกลับสู่ภาวะปกติ จึงมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และน่าจะทำได้ 7-10 ล้านคน ตามเป้าหมาย

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ไทยควรต้องเร่งกระตุ้นให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 16 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของปี 2562 (ก่อนโควิด) เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมอยู่รอดได้ เพราะที่ผ่านมา ไทยมีซัพพลายไซด์ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 40 ล้านคน

 

ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 500,000 คน โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศทั่วโลก และคาดว่าทั้งปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศกว่า 7 ล้านคน หลังจากรัฐบาลได้มีการปรับมาตรการ Test & Go ซึ่งจะเห็นการเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้

“จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะยังไม่เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดที่มีจำนวน 40 ล้านคน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการทำการตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงให้เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายสูง และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อคนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันรายได้จากนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อคน สูงขึ้นจากปี 2562 คาดว่าจะทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวอีกว่า ไตรมาสแรกอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัวได้ 2.2% ต่อปี เนื่องจากการมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงกลับมา โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 497,693 คน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศทั่วโลก

“เศรษฐกิจไทยแม้จะเผชิญข้อจำกัด แต่ยังขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 แต่ยังต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เพราะมีผลต่อราคาพลังงาน และต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ย และข้าวสาลี ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น” นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ดี สศช.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% ต่อปี (ค่ากลางที่ 3%) ลดลงมาจากเดิมที่เคยประเมินไว้ 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4%) จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อปีนี้เงินเฟ้อที่คาดจะสูงถึง 4.2-5.2% รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การส่งออก คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.5% และอีกภาคที่สำคัญ คือ การท่องเที่ยว ที่คาดว่าปีนี้จะทำได้ 7 ล้านคน หลังจากปรับมาตรการ Test & Go โดยคาดว่าในไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การบริหารนโยบายด้านการท่องเที่ยว ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ, จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง, พิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน” เลขาธิการ สศช.กล่าว

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องหวังภาคท่องเที่ยวที่จะเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญ ถ้าทำได้ดี ก็จะคึกคักตามที่ทุกคนคาดหวัง โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไทยฉีดวัคซีนโควิดไปได้มากแล้ว ดังนั้น ตอนนี้จึงอยู่ในฐานะที่จะเปิดประเทศได้ ซึ่งล่าสุด ก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวหลายๆ ชาติกลับมา อย่างตะวันออกกลาง เป็นต้น

“ปีนี้ ถ้านักท่องเที่ยวกลับมาได้สัก 5 ล้านคน เศรษฐกิจก็จะกลับมาได้ เพราะนี่คือเครื่องยนต์สำคัญของปีนี้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดูแล้วอาจจะยังต้องลุ้นกันอีกหลายเฮือก เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตได้ดี และหนุนให้เศรษฐกิจไทยไม่ให้ฟื้นตัวช้าจนเกินไป