‘โคลงอมรา’ เมื่อสีกาสาวมีจิตปฏิพัทธ์ในพระภิกษุหนุ่ม / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘โคลงอมรา’

เมื่อสีกาสาวมีจิตปฏิพัทธ์

ในพระภิกษุหนุ่ม

 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดข่าวอื้อฉาวกรณี “สมีกาโตะ-สีกาตอง” ขึ้นมา เป็นเรื่องราวระหว่าง “สีกาสาวกับพระภิกษุหนุ่มที่ต่างมีจิตพิศวาสพึงใจในรูปโฉมโนมพรรณซึ่งกันและกัน”

ผลลัพธ์คือ การปล่อยให้แรงปรารถนาทางกามารมณ์ครอบงำ ชนิดที่ว่าไม่มีฝ่ายไหนยอมยับยั้งชั่งใจ ซ้ำเมื่อเกิดเหตุพลั้งพลาดขึ้นแล้ว ก็กลับรับรู้ว่า “นี่ไม่ใช่รักแท้” เข้าอีก

ฉะนั้น การลอบเสพสังวาสกันบนสันเขื่อน ระหว่างสตรีที่เป็นเพศฆราวาสกับบุรุษที่เป็นเพศบรรพชิต จึงถูกโจษประจานว่าเป็น “บาปล้วนๆ” เพราะเป็นการกระทำที่ปราศจาก “หัวใจรัก” จึงไม่มีพลานุภาพมากพอที่จะผลักดันให้ฝ่ายชายลาสิกขาไปเพื่อร่วมอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับหญิงสาวได้อีกด้วย

ผิดกับกรณี “รักแท้” ของอดีตพระมิตซูโอะ ที่ยอมละทิ้งผ้ากาสาวพัสตร์ออกไปครองเรือนครองคู่กับสตรีนางหนึ่ง ผู้ที่ท่านรู้สึกหวั่นไหว และรับรู้ว่านั่นคือความรัก

ไม่ว่า ณ ปัจจุบัน ชะตากรรมของทั้งคู่จักเป็นเช่นไรก็ตาม ทว่า ณ ขณะหนึ่งนั้น ท่านมิตซูโอะได้ประกาศให้โลกเห็นแล้วว่า “หากเพศบรรพชิตมีจิตพิศวาสต่อสีกา ก็ควรลาสิกขาออกมาเป็นเพศฆราวาสเสียให้รู้แล้วรู้รอด”

เหตุการณ์ทั้งสองกรณีนี้ชวนให้ดิฉันประหวัดนึกถึงวรรณกรรมล้านนาเรื่องหนึ่งชื่อ “โคลงอมรา” (ภาษาล้านนาอ่าน โคลง ว่ากะโลง) เป็นเรื่องราวของ “ความพิศวาส” ที่หญิงสาวมีต่อพระภิกษุ

ต้องยอมรับว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักของสังคมล้านนาในวงกว้าง ซ้ำตอนจบของเรื่องก็ไม่น่าประทับใจนัก ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากว่า ถูกต้องแล้วหรือที่ผู้ประพันธ์สร้างพล็อตเรื่องให้ตอนจบเป็นแบบ “ตัวละครเอกตายทั้งคู่” เช่นนั้น ง่ายไปไหม?

อย่างไรก็ดี ดิฉันอยากชวนผู้อ่านมาพินิจพิเคราะห์ดู ทั้งจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบของวรรณกรรมเรื่องดังกล่าว ว่าพอจะมีอุทาหรณ์อะไรให้เปรียบเทียบได้บ้างไหม กับกรณีของ “สมีกาโตะ-สีกาตอง” หรือของ “อดีตพระมิสซูโอะ”?

 

กะโลงอมรา

วรรณกรรมทางพุทธศาสนา?

ในบรรดากะโลงล้านนา (โคลง) ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า กะโลงอมราเรื่องนี้ จัดอยู่ในกลุ่มที่ “ไม่ค่อยเข้าพวกกับกลุ่มใดได้เลย” เนื่องจาก ภาพรวมของกะโลงล้านนานั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ

ประเภทกะโลงอิงประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นรูปแบบของโคลงนิราศ มีบทพร่ำเพ้อพรรณนาถึงหญิงคนรักอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเสียเวลาเกินไปนักที่จะทนอ่าน เพราะบทที่เหลือมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์คือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กะโลงกลุ่มนี้จึงได้รับความนิยมมากที่สุดในแวดวงนักวิชาการ

ตัวอย่างเช่น โคลงนิราศหริภุญไชย โคลงนิราศดอยเกิ้งแก้ว โคลงมังทรารบเชียงใหม่ ฯลฯ

ประเภทกะโลงอิงศาสนา และ/หรืออาจผสมวรรณกรรมพื้นบ้านแทรกด้วย มีการแปลงเรื่องราวชาดกนอกนิบาตต่างๆ มาผสมผสานกับนิทานพื้นถิ่นแถบอุษาคเนย์

ตัวอย่างกะโลงในกลุ่มนี้ได้แก่ โคลงปทุมสังกา โคลงหงส์ผาคำ และโคลงพรหมทัต สามเรื่องนี้มีที่มาจาก “ชาดก” กับอีกเรื่องคือ “โคลงอุสสาบารส” เอาเค้าโครงเรื่องมาจากรามายณะ (รามเกียรติ์) และอุณรุท

ทั้งหมดนี้เป็นกะโลงที่เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองแนวคิดในวิถีพุทธ ประมาณว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

ประเภทสุดท้ายคือ กะโลงภาษิตเน้น “คติ-คำสอน” ต่างๆ เช่น โคลงเจ้าวิฑูรสอนหลาน โคลงวิธูรสอนโลก โคลงพระลอสอนโลก โคลงชรา โคลงเช็ดจัญไร โคลงบาปธรรม 10 หมู่ โคลง 5,000 วัสสา เป็นโคลงที่เน้นการสั่งสอนให้ทำตาม “ฮีตฮอยล้านนา” เพื่อป้องกัน “ขึด” หรือหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายอันไม่พึงประสงค์ (ทำนองเดียวกันกับ สุภาษิตสอนหญิง กฤษณาสอนน้อง โคลงโลกนิติ ของภาคกลาง)

หันมามอง “โคลงอมรา” แม้นักวิชาการหลายท่านจักจัดให้อยู่ในกลุ่มที่สองคือ ประเภทวรรณกรรมศาสนาที่อิงชาดก แต่ในมุมมองของดิฉันยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่พอสมควรที่จะนับให้ โคลงอมราเป็นวรรณกรรมแนวชาดก เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่า “ต้นเค้า” ของโคลงอมรานั้น อิงมาจากพุทธประวัติหรือชาดกตอนใดกันแน่

เรื่องย่อโคลงอมรา

ไม่มีการระบุปีศักราชที่แต่งโคลงอมรา แต่จากรูปแบบภาษาและอักษรธัมม์ล้านนา (ตั๋วเมือง) ที่ใช้เขียนต้นฉบับนั้น ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ปราชญ์ใหญ่ด้านภาษาวรรณกรรมล้านนา ผู้ปริวรรตโคลงอมราฉบับล่าสุด ได้ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นช่วง “ต้นรัตนโกสินทร์” คือราว พ.ศ.2300 เศษๆ หลังจากยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่จากพม่าแล้ว

อันเป็นความเห็นที่แย้งกับ ศ.เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ และ พ่อครูมหาสิงฆะ วรรณสัย ปราชญ์ล้านนาผู้ล่วงลับไปแล้วอีกสองท่าน ที่เสนอว่า โคลงอมราน่าจะเก่าไปถึงสมัยล้านนาตอนปลายจนสมัยพม่าปกครองล้านนา คือราว 300-400 ปีแล้ว

ส่วนผู้แต่งนั้น ปรากฏนามอยู่ในโคลงบาทที่ 1 ของบทที่ 2 มีชื่อว่า “เทพไชย”

“เทพไชยจักเล่าถ้อย ไขสาร”

ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นนามจริงหรือฉายาของใคร เป็นชาวเมืองอะไร ตอนท้ายคำโคลงบทหลังๆ มีการทิ้งปริศนาไว้ว่ามูลเหตุแห่งการแต่งเรื่องนี้ก็เพราะ “ผู้แต่งกำลังมีความรัก และอยากให้หญิงสาวคนพิเศษได้นำไปอ่านเล่นเป็นอุทาหรณ์?!?” ยิ่งชวนให้น่าพิศวงหนักข้อขึ้นไปอีก ว่าผู้แต่งนี้ ตกลงแล้วเป็น พระภิกษุหรือฆราวาส?

เรื่องย่อของโคลงอมรามีอยู่ว่า นางอมราเป็นลูกสาวเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เป็นหญิงสาวผู้เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ (ส่วนคุณสมบัตินั้นไม่แน่ใจ ไม่ได้ระบุไว้ว่ามีความสามารถเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่) บิดามารดาหวงนางอมราถึงขนาดที่ว่า “สร้างปราสาทเสาสูงแบบเสาเดียว” ให้นางอมราอยู่กับคนรับใช้เพื่อป้องกันมิให้ใครเข้าถึงนางได้ง่ายๆ

ชวนให้นึกถึงนิทานตะวันตกเรื่อง “ราพันแซล” ขึ้นมาตงิดๆ ทว่า ราพันแซลนี้เป็นการถูกแม่เลี้ยงขังไว้ในปราสาทเสาเดียว เพื่อให้อยู่แบบโง่เง่าเต่าตุ่นตัดขาดจากสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำให้

แม้กระนั้น ความงามของนางอมราก็ยังเป็นที่ลือกระฉ่อน จนเป็นที่หมายปองจากหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั่วพารา แต่เจ้ากรรมจริงๆ ที่นางกลับมีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระภิกษุหนุ่มเพียงรูปเดียวอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในตอนที่ “พระชินะ” ภิกษุหนุ่มผู้บวชมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ (ขณะที่นางอมราตกหลุมรักพระชินะ ไม่ได้ระบุว่าพระชินะมีอายุเท่าไหร่ หรือบวชมากี่พรรษา) มารับบิณฑบาตที่บ้านของเศรษฐี เศรษฐีได้ให้หญิงรับใช้นำสำรับกับข้าวแบบขันโตกมาให้นางอมราร่วมอนุโมทนาด้วย ก่อนจะถวายให้แก่พระชินะ

ขนาดว่าอยู่ไกลกันลิบลับ คือนางอมราอยู่บนปราสาทเสาเดียว ได้มองลงมาทางม่านหน้าต่าง สบตากับพระชินะซึ่งกำลังมองขึ้นไปบนปราสาทพอดี ปรากฏว่านางอมราตกหลุมรักพระชินะอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ร้อนถึงบิดามารดาสองเศรษฐี เมื่อทราบความในใจของธิดาสาว แรกๆ ก็พยายามปรามอ้างว่าเป็นบาป จะพลอยตกนรกหมกไหม้เอา แต่นางอมราไม่ยอมกินข้าวกินปลา แม้บิดามารดาได้เสนอว่ามีหนุ่มรูปงาม ร่ำรวย หลากหลายอาชีพ ที่พร้อมจะเสนอตัวมาให้นางเลือกได้

ทว่า นางกลับพร้อมที่จะทิ้งกองไฟมามุ่งหวังในแสงหิ่งห้อย ต่อให้ออกแรงเป่าแสงหิ่งห้อยเท่าไหร่ก็ไม่อาจลุกโชติเป็นกองไฟขึ้นมาได้

บิดามารดาต้องบากหน้าไปเจรจากับพระชินะว่าลูกสาวกำลังตรอมใจ ขอให้พระชินะสึกออกมาครองคู่เป็นสามีของนางก่อนได้ไหม แล้วค่อยแสวงหานิพพานตอนแก่เฒ่า

พระชินะตอบปฏิเสธ ยืนยันว่าตนยังไม่รู้จักความรัก ไม่รู้จิตใจของหญิงสาว อุตส่าห์บวชตั้งแต่เป็นเณรน้อย ก็เพื่อปรารถนาพระนิพพานเป็นที่ตั้งเท่านั้น

ในที่สุดนางอมราผอมโซ ตรอมใจตาย เมื่อความทราบถึงพระชินะ ได้เห็น “ผ้าสไบ” ของนางอมราที่บิดามารดาถวายให้แด่พระผู้ใหญ่รูปหนึ่งตอนมาทำพิธีสวดศพให้นางอมรา พระชินะถึงกับทรุดตัวลงกอดผ้าสไบ พลางรำพึงว่าตนเป็นต้นเหตุให้นางอมราเสียชีวิต

ฉะนี้แล้ว ตนเองก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ จึงถึงแก่มรณะตามมา

 

โคลงอมราสอนอะไรแน่?

นักวิชาการด้านวรรณกรรมล้านนา พยายามบอกว่า เนื้อหาในโคลงอมรานี้ สอนให้รู้ถึง “พิษ” ของ “พิศวาส” สอนให้รู้ว่า หากเรารู้ไม่เท่าทันเล่ห์ของ “พิศวาส” ชีวิตก็จะตกอยู่ในความอันตราย

คำถามคือ การตายของนางอมรานั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แม้จะไม่สมเหตุสมผลมากนักก็ตาม กล่าวคือ สองชายหญิงยังไม่ทันได้ดื่มด่ำพร่ำพลอด ใกล้ชิดรู้จิตรู้ใจ ซึ่งกันและกันเลย แค่เพียงสบตาคราวเดียวเท่านั้นเอง แถมยังเป็นการมองลอดม่านหน้าต่างปราสาทเสาเดียวด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นควรเรียกว่า “แรงปรารถนาทางกามารมณ์” มากกว่า แม้กระนั้น ก็ไม่เกินคาดเดาหากจะให้นางอมราจบฉากชีวิตด้วยความตาย

กรณีของพระชินะนี่สิ เมื่ออ่านแล้วเชื่อว่าหลายท่านรู้สึกขัดเคืองอารมณ์ไม่น้อย ที่จู่ๆ ก็ให้พระชินะรู้สึกผิด จนตรอมใจตายตามกันไปด้วย แล้วก็โทษแรงกรรมแต่ชาติปางก่อน (ซึ่งไม่มีใครเห็น) ซ้ำยังอธิษฐานจิตว่า หากชาติหน้ามีจริงขอให้ได้ครองคู่กับนาง

คำถามคือ พระชินะไปมีจิตพิศวาสตอบกลับนางอมราด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือผู้แต่งเน้นแค่พล็อตเรื่องให้ “โรมานซ์” แบบสุดขั้ว เพราะหากไม่จบแบบนี้ จะให้พระชินะทนใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปอย่างไรได้อีก?

อันที่จริงพล็อตความรักระหว่างหญิงสาวกับพระภิกษุหนุ่ม ถือว่า “ท้าทายสังคมอย่างสุดๆ” แล้ว กล่าวคือ ผู้หญิงธรรมดาทั่วไปแม้แต่จะคิดเชิงชู้สาวกับพระภิกษุยังไม่กล้าเลยเพราะกลัวบาป กรณีของนางอมรานี่ ถึงขั้นงอแงบอกพ่อแม่ให้ไปขอร้องให้พระสึก! มาแต่งงานกับตน ถือเป็นความอาจหาญชาญชัยยิ่ง

ตามที่บอก สิ่งที่ไม่สมจริงเอาเสียเลยในวรรณกรรมโคลงอมราก็คือ หญิงสาวและพระภิกษุหนุ่มคู่นี้ ยังไม่เคย “ผ่านห้วงอารมณ์สิเนหาด้วยกันแบบสองต่อสอง” ที่น่าจะเป็นจุดเร้า ชวนให้ไหวหวั่นรัญจวนจิตได้บ้างเลย เพียงแค่สบตาหนเดียวเองนี่หรือ สามารถนำไปสู่โศกนาฏกรรมสองศพ!

หรืออย่างน้อย หากผูกเรื่องให้นางอมราผ่านการแต่งงานมีสามีมาแล้ว ให้เผอิญว่าสามีเป็นชายโฉดทราม ครั้นเมื่อนางได้มาทำบุญอยู่ใกล้ชิดพระภิกษุผู้อ่อนโยน นางย่อมหวั่นไหวเกินจะรู้สึกผิดชอบชั่วดี เออ! ถ้าเป็นพล็อตเช่นนี้ จะดูสมเหตุสมผล ชวนให้ผู้อ่านเห็นใจต่อความผิดของนางอยู่บ้าง

ไฉนโคลงอมรา กลับผูกพล็อตเรื่องให้นางอมราหวั่นไหวแค่ “ความหล่อเหลาดุจเทพบุตร” ของพระชินะ เพียงเปลือกนอกแค่นี้?

ดิฉันก็ไม่รู้จะวิจารณ์ยังไงดีเหมือนกันสำหรับสามกรณีนี้

สมีกาโตะ-สีกาตอง น่าจะเป็นความพิศวาสชั่วครั้งชั่วคราว อดีตพระมิตซูโอะ น่าจะเป็นสำนึกของรักแท้ จึงยอมสึกออกมาแต่งงาน

กรณีนางอมรานั้น หากคุณค่าของวรรณกรรมเรื่องนี้จะพึงมี ก็น่าจะเป็นประเด็นที่ว่า แม้ฝ่ายหญิงหลงใหลไคล้คลั่งพระภิกษุปางตาย เมื่อไม่สมอารมณ์หมาย แต่นางก็ไม่ใช้วิธีเข้าหาเย้ายวนให้พระภิกษุผิดศีล นางเลือกที่จะตรอมใจตายเอง

ส่วนพระชินะนั้น ได้เห็นปณิธานอันมุ่งมั่นช่วงแรกว่า เป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่ขอสึกออกมามีความรักอย่างแน่นอน แต่แล้วตอนจบกลับขาดใจตายด้วยอีกราย หลังจากรู้ว่านางอมรารักตนจริง มิได้พร่ำเพ้อเล่นๆ เพียงลมปาก

ด้วยความเป็นมนุษย์ที่มีจิตสำนึกสูง พระชินะจึงคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นความผิดของตน จนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ •