ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ของผู้ว่าฯ เผด็จการ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังเป็นฝันร้ายของ “เครือข่ายประยุทธ์” เพราะคนซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดๆ อย่าง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โกยคะแนนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

เต็งหนึ่งอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็คือคนที่ไม่ใช่พวกประยุทธ์

ขณะที่คนที่มาแรงอย่าง “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ก็ไม่ใช่พวกประยุทธ์โดยตรง

แม้จะมีคนนินทาว่า “สุชัชวีร์” อยู่ประชาธิปัตย์ซึ่งเท่ากับเป็น “พวกรัฐบาล” แต่ทุกคนในประเทศรู้ว่าประชาธิปัตย์เป็นไม้เบื่อไม้กับพลังประชารัฐ, ไม่ใช่สายตรงคุณประยุทธ์ ซ้ำถึงแม้จะอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้มีท่าทีอี๋อ๋อคุณประยุทธ์มากเท่าภูมิใจไทยหรือชาติไทยพัฒนา

“เครือข่ายประยุทธ์” ที่ว่าๆ กัน คือคุณอัศวิน ขวัญเมือง และคุณสกลธี ภัททิยกุล เพราะทั้งคู่ล้วนถูกมองว่าคุณประยุทธ์ตั้งเป็นผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ หลังจากยึดอำนาจ ทั้งสองคนจึงเป็นคนที่คุณประยุทธ์ไว้ใจในการมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน กทม.แน่ๆ เหมือนกับที่เคยไว้ใจให้คุณเสกสกล อัตถาวงศ์ คุมหวยแพงช่วงที่ผ่านมา

คุณอัศวินและคุณสกลธีหาเสียงโดยหลีกเลี่ยงที่จะอ้างความเป็น “เครือข่ายประยุทธ์” แต่ด้วยความเป็นคนที่คุณประยุทธ์ตั้งกับมือ ทั้งคู่จึงเหมือนมีรอยสักคำว่า “ประยุทธ์” ติดที่หน้าผาก ไม่ต้องพูดถึงคุณสกลธีซึ่งหาเสียงโดยเกาะ กปปส.และรัฐมนตรีของคุณประยุทธ์โดยตรง

 

คะแนนนิยมของคุณอัศวินและคุณสกลธีถูกมองว่าสะท้อนความนิยมต่อ “เครือข่ายประยุทธ์” และด้วยวิธีที่คุณอัศวินและคุณสกลธีหาเสียง รวมทั้งปฏิกิริยาของสังคมต่อผู้สมัครทั้งคู่ อนาคตของ “เครือข่ายประยุทธ์” เปรียบได้กับซอมบี้ที่ร่างเน่าจนไม่มีทางกลับมาเป็นผู้เป็นคนได้เลย

ขณะที่ผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยชักชวนให้คนลงคะแนนโดยวิธีชูนโยบายว่าจะทำอะไร “เครือข่ายประยุทธ์” กลับชักจูงให้คนลงคะแนนโดยขอความเห็นใจว่าเดี๋ยวตัวเองจะแพ้ แม้ตัวผู้สมัครจะพูด อะไรที่เป็นนโยบาย แต่สารสำคัญที่สื่อมากที่สุดกลับเป็นเรื่องประชาชนควรจะเลือกใครอยู่ดี

หัวใจของการหาเสียงด้วยนโยบายคือผู้สมัครนำเสนอนโยบายเพื่อช่วงชิงคะแนนจากประชาชน ผู้ สมัครจึงมีหน้าที่พัฒนานโยบายที่ประเมินว่าดี, มีความเป็นไปได้ทางกฎหมาย และสามารถทำได้ภายในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง จากนั้นก็นำเสนอจนประชาชนยอมออกจากบ้านไปลงคะแนน

การเลือกตั้งคือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้สมัครกับประชาชน งานของผู้สมัครได้แก่การบอกประชาชนว่าเมื่อเลือกแล้วได้อะไร ส่วนหน้าที่ประชาชนคือการรับฟังโดยกว้างขวางเพื่อไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผู้สมัครคนไหนให้สิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ

ถ้าการเลือกตั้งดำเนินไปบนหลักการนี้ ผลที่จะได้หลังการเลือกตั้งคือผู้ว่าฯ, ส.ส., นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มี Mandate หรือ “อาณัติ” ในการทำหน้าที่ตามที่ประชาชนมอบหมาย

ยกเว้นแต่ผู้สมัครจะเป็นนักการเมืองซูเปอร์กะล่อนในพรรคเฉพาะกิจ ที่ไม่ทำนโยบายที่แถลงเลย

“เครือข่ายประยุทธ์” ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการสร้างนโยบายให้ประชาชนลงคะแนน แทบไม่มีใครจำได้ว่าว่าคุณอัศวินและคุณสกลธีเสนอนโยบายอะไร คุณอัศวินไม่มีภาพนโยบายชัดเท่าภาพการเป็นอดีตผู้ว่าฯ ที่คุณประยุทธ์ตั้ง ส่วนคุณสกลธีไม่มีภาพไหนชัดเท่าภาพอดีตแกนนำม็อบปิดเมือง

ข้อดีของการไม่เสนออะไรชัดๆ คือคุณอัศวินและคุณสกลธีไม่มี “อาณัติ” ว่าต้องทำอะไร ทั้งคู่จึงเหมือนคุณประยุทธ์ในแง่ใช้การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ แต่ไม่ต้องการมีพันธะว่าจะใช้อำนาจเพื่อเจ้า ของอำนาจอย่างไร เพราะถือว่าการได้ครอบครองอำนาจเท่ากับการทำเพื่อประชาชนโดยตัวเอง

แม้คุณอัศวินจะมีภาพที่ไม่ค่อยเสนออะไร แต่วิธีหาเสียงของคุณอัศวินมีลักษณะคาดคั้นสังคมน้อยกว่าคุณสกลธีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทันทีที่ กปปส.ประกาศสนับสนุนคุณสกลธีด้วยเหตุผลเรื่องสถาบันบางสถาบัน การหาเสียงของคุณสกลธีก็กลายเป็นการคาดคั้นให้โลกเลือกคุณสกลธีโดยทันที

จริงอยู่ ผู้สนับสนุนคุณสกลธีจากคุณสุเทพ, คุณเหรียญทอง, คุณณัฏฐพล, คุณเกลือ ฯลฯ มีเฉดของแนวคิดอนุรักษ์และเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องให้คนอื่นเลือกคุณสกลธีผิดแผกแตกต่างกัน แต่ทิศทางการเรียกร้องล้วนดำเนินไปในกรอบนี้แทบทั้งนั้น จะเข้มข้นหนักเบาแค่ไหนก็สุดแท้แต่กรณี

ด้วยการเอาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไปผูกกับแนวนี้เอง กปปส.ที่อยู่เบื้องหลังคุณสกลธีก็ถึงกับระบุว่าต้องมี “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อสร้างหลักประกันว่า “เครือข่ายประยุทธ์” จะชนะเลือกตั้ง โดยยุทธศาสตร์ที่ว่านี้คือประชาชนไม่ควรลงคะแนนเลือกใครในเครือข่ายนี้อีกเลย นอกจากคุณสกลธี

ทันทีที กปปส.เอาเรื่องผู้ว่าฯ ไปผูกกับเรื่องดังกล่าว การตัดสินเลือกผู้ว่าก็กลายเป็นการเลือกคนที่ตั้งใจแสดงออกเรื่องจุดยืนมากกว่าการเลือกคนไปบริหารปัญหาน้ำท่วม, จัดเก็บขยะ, ผังเมือง, ศูนย์อนามัยชุมชน, สัมปทานรถไฟฟ้า, พัฒนาโรงเรียนสังกัด กทม. ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คืองานผู้ว่าฯ จริงๆ

ภายใต้วิธีคิดนี้ เจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งไม่มีความหมายอะไร ซ้ำนโยบายของผู้สมัครก็ไม่มีความหมายไปด้วย หรืออีกนัยคือการลงคะแนนเป็นแค่เครื่องมือเพื่อทำให้ผู้สมัครบางคนขอคะแนนจากผู้สนับสนุนผู้สมัครคนอื่นๆ เพราะถือว่าเป็น “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เท่านั้นเอง

คุณสกลธีและ กปปส.สร้างโจทย์ที่ผิดเพื่อให้ตัวเองชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป้าหมายของโจทย์ที่ผิดคือการเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถบริหาร กทม.มาเป็นโจทย์ในการเลือกผู้ว่าฯ จากนั้นก็อ้างว่าตัวเองเหมาะเป็นผู้ว่าฯ ที่สุดตามโจทย์นี้ ส่วนคนอื่นลงไปก็แพ้ ประชาชนเลือกเสียคะแนนฟรีๆ

เมื่อเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ผิดๆ เพื่อเอาเปรียบทางการเมือง วิธีหาเสียงแบบ กปปส.ก็กล่อมเกลาให้ผู้ลงคะแนนเห็นว่าผู้สมัครอื่นคือพวกไม่สนใจเรื่องสำคัญหลักของชาติ, กระจอก, ลงก็แพ้, เป็นคะแนนตกน้ำ ฯลฯ จนทุกคนไม่ควรเลือกคนที่ตัวเองชอบ แต่มาเลือกคุณสกลธีเพียงคนเดียว

หากเทียบวิธีหาเสียงของ กปปส.กับการเมืองระดับประเทศ คุณสกลธีก็เหมือนคุณประยุทธ์ในแง่ใช้บางเรื่องเป็นข้ออ้างเข้าสู่อำนาจ ผลก็คือประเทศไทยในช่วง 8 ปี อยู่ภายใต้การบริหารของนายกฯ ย่ำแย่ ล้มเหลวจนประเทศถอยหลังลงคลองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย

ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คำว่า “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” คือวาทกรรมที่จงใจให้การลงคะแนนของประชาชนบิดเบี้ยวด้วยการหลอกลวงผ่านโจทย์ผิดๆ และข้อมูลผิดๆ ว่าเลือกคนอื่นก็แพ้

หรืออีกนัยก็คือการจูงใจให้ประชาชนลงคะแนนด้วยข้อมูลเท็จอย่างเป็นระบบนั่นเอง

“การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เป็นแนวคิดสำคัญในการระดมคะแนนเสียงเพื่อชนะเลือกตั้ง แต่หัวใจของแนวคิดนี้คือการมี “พรรค” หรือ “ผู้สมัคร” ที่พวกเดียวกันให้การยอมรับอย่างกว้างขวาง ซ้ำยังเป็น “พรรค” หรือ “ผู้สมัคร” ที่น่าเชื่อว่ามีโอกาสชนะ แต่ทั้งสองข้อนี้ไม่มีในศึกผู้ว่าฯ รอบปัจจุบัน

การช่วงชิงคะแนนเสียงประชาชนคือพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนแต่ละคนมีความคิดและความต้องการต่างกัน เหตุผลในการลงคะแนนของแต่ละคนจึงต่างกันด้วย การเชิญชวนให้คนอย่าลงคะแนนตามเจตจำนงด้วยข้ออ้างประเภท “เดี๋ยวตัดคะแนนกันเอง” จึงใช้ไม่ได้เสมอไป

หัวใจของ “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” คือ “พรรค” หรือ “ผู้สมัคร” ต้องมีนโยบายที่ตอบสนองทุกฝ่ายจนเกิดความรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” ขั้นยอมรับว่าชัยชนะของ “พรรค” หรือ “ผู้สมัคร” คนนั้นคือชัยชนะของ “พวกเดียวกัน” จนผู้สนับสนุพรรคหรือผู้สมัครคนอื่นเปลี่ยนพฤติกรรมลงคะแนน

กปปส.หนุนคุณสกลธีโดยอ้างว่า “เครือข่ายประยุทธ์” ทุกคนต้องเลือกสกลธี แต่ทั้ง กปปส.และคุณสกลธีไม่เคยบอกเลยว่าอะไรที่คุณสกลธีจะทำให้ผู้สนับสนุนคุณอัศวิน, คุณสุชัชวีร์, คุณรสนา และคนอื่นๆ หรืออีกนัยคือไม่มีอะไรบอกว่าชัยชนะของคุณสกลธีคือชัยชนะของ “พวกเดียวกัน” ทุกคน

เมื่อไม่มีนโยบายที่ตอบสนองความต้องการทุกฝ่าย ก็ไม่มีความเป็น “พวกเดียวกัน” และด้วยเหตุดังนั้น “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เป็นแค่ข้ออ้างเพื่อหลอกให้ผู้สนับสนุนคุณอัศวินและคนอื่นๆ เลือกคุณสกลธีตามที่ กปปส.บอกเท่านั้นเอง

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ “พรรค” หรือ “ผู้สมัคร” มีนโยบายที่ตอบสนองพรรคอื่นและผู้สมัครคนอื่นจนเกิดความรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” ไม่อย่างนั้นเรื่องนี้ก็เป็นแค่การหลอกลวงผู้สนับสนุนพรรคและผู้สมัครคนอื่นๆ เท่านั้นเอง

ในแง่นี้ “การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เป็นผลของการที่พรรคหรือผู้สมัครพัฒนานโยบายหรือแสดงจุดยืนการเมืองที่ครอบคลุมทุกฝ่ายจริงๆ จนสำนึกเรื่องความเป็น “พวกเดียวกัน” บังเกิดขึ้น ขณะที่การเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนพรรคอื่นหรือผู้สมัครอื่นเลือกคุณสกลธีไม่มีอะไรแบบนี้เลย

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ “การเลือกตั้งเชิงขอทาน” ที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ บางคนขอให้ผู้สนับสนุนพรรคอื่นหรือคนอื่นๆ หยุดเลือกคนที่ชอบ อย่าตัดคะแนนกันเอง หันมาเลือกคนที่ กปปส.สนับสนุน ไม่งั้นเดี๋ยวแพ้ ทั้งที่จริงๆ การแพ้เป็นปัญหาของเขาเอง ไม่ใช่ปัญหาของคนอื่นเลย

“เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เป็นพฤติกรรมลงคะแนนที่จะเกิดเมื่อพรรคการเมืองหรือผู้สมัครพัฒนานโยบายและทำผลงานดีจนทุกคนเห็นว่าควรเลือก ส่วน “เลือกตั้งเชิงขอทาน” คือวิธีหลอกคะแนนของพรรคหรือผู้สมัครที่ไม่มีปัญญาพัฒนานโยบายให้ทุกคนอยากเลือกเท่านั้นเอง

“เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก “เลือกตั้งเชิงขอทาน” อย่างที่เห็นในการเลือกตั้ง กทม.ครั้งปัจจุบัน