เหตุกราดยิง ‘บัฟฟาโล’ โศกนาฏกรรมจากแนวคิดเหยียดผิว/บทความต่างประเทศ

Members of the FBI and Buffalo Police Department collect evidence at the scene of a shooting at a TOPS supermarket in Buffalo, New York, U.S. May 15, 2022. REUTERS/Brendan McDermid

บทความต่างประเทศ

 

เหตุกราดยิง ‘บัฟฟาโล’

โศกนาฏกรรมจากแนวคิดเหยียดผิว

 

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อาชญากรรมจากอาวุธปืนมากถึง 3 ครั้งในช่วงเวลา 2 วัน

โดยเฉพาะเหตุกราดยิงที่ “ท็อปส์เฟรนด์ลีมาร์เก็ต” ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองบัฟฟาโล ย่านชุมชนคนผิวสีในนครนิวยอร์ก เหตุซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3 ราย นับเป็นเหตุกราดยิงที่อุกอาจที่สุดอีกครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

และที่น่าตกใจคือแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้มีเหตุผลมาจาก “แนวคิดเกลียดชังคนผิวสีแบบสุดโต่งรุนแรง”

เหตุการณ์ที่บัฟฟาโล เกิดขึ้นในเวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย “เพย์ตัน เกนดรอน” หนุ่มผิวขาววัยเพียง 18 ปี แต่งตัวด้วยชุดทางยุทธวิธี ใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่ผู้คนแบบไม่เลือกหน้า ตั้งแต่ที่ลานจอดรถที่มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ไล่ไปถึงภายในตัวอาคารคร่าชีวิตคนไปอีก 6 ราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เกนดรอนยิงต่อสู้กับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเกนดรอนถูกยิงเข้าใส่ที่ลำตัวแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ก่อนที่เกนดรอนจะยิงสวนจนเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเสียชีวิต

รายงานระบุว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ เกนดรอนใช้ปืนจ่อไปที่ลำคอของตนเอง ก่อนจะเปลี่ยนใจปลดอาวุธและมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ในที่สุด

 

เกนดรอนพุ่งเป้าไปที่คนผิวสีอย่างชัดเจน เนื่องจากเหยื่อ 11 คนจากทั้งหมด 13 คนนั้นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทั้งหมด

และที่น่าตกใจก็คือ ขณะก่อเหตุ เกรนดรอนใช้กล้องที่ติดอยู่ที่ตัวถ่ายทอดสดการสังหารหมู่อย่างเลือดเย็นในครั้งนี้ผ่านแพลตฟอร์ม “ทวิตช์” (Twitch) แพลตฟอร์มสตรีมวิดีโอสำหรับกลุ่มคนเล่นเกมโดยเฉพาะ

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในฐานะคดีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ขณะที่มีการตั้งข้อหาฆาตกรรมระดับที่ 1 หรือการ “ฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ข้อหาที่มีโทษสูงสุดคือการ “จำคุกตลอดชีวิต”

ไบรอน บราวน์ นายกเทศมนตรีเมืองบัฟฟาโล ระบุว่า มือปืนใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมงเพื่อมุ่งหน้ามาก่อเหตุที่เมืองบัฟฟาโล ที่เป็นชุมชนของคนผิวสีโดยเฉพาะ

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองบัฟฟาโล นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เกนดรอนเคยถูกควบคุมตัวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน จากการข่มขู่คุกคามเพื่อนที่โรงเรียนมัธยม และได้เข้าสู่กระบวนการรักษาอาการทางจิตก่อนจะถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

 

เจ้าหน้าที่ยังพบแถลงการณ์ของเกนดรอนจำนวน 180 หน้า เผยแพร่ในโลกออนไลน์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “The Great Replacement Theory” ทฤษฎีสมคบคิดเหยียดผิวที่อ้างว่า คนผิวขาวในสหรัฐจะถูกแทนที่ด้วยชนกลุ่มน้อย และปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์ดังกล่าวยังเปิดเผยถึงแผนการ “ยิงคนผิวดำทุกคน” แบบเป็นขั้นเป็นตอน แบบนาทีต่อนาที และหนึ่งในนั้นรวมไปถึงการระบุถึงการทดสอบอาวุธปืน การทดสอบระบบไลฟ์สตรีม รายละเอียดของเครื่องแต่งกายที่จะใช้ในการก่อเหตุ เช่นเดียวกับแผนที่ของซูเปอร์มาร์เก็ต

แถลงการณ์ของเกนดรอนระบุว่า แนวคิดหัวรุนแรงเริ่มต้นจาก “ความเบื่อขั้นสุด” ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มเข้าไปอ่านกระทู้ออนไลน์อย่าง 4chan เว็บบอร์ดที่เต็มไปด้วยเนื้อหาเหยียดผิว เหยียดเพศ และแนวคิดคลั่งคนขาว ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2020 ก่อนจะนำไปสู่เว็บไซต์อื่นๆ ต่อไป

แถลงการณ์ของเกนดรอนยอมรับว่าตนมีแนวคิดเอียงขวามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจากเนื้อหาที่อ่านทำให้เกนดรอนเชื่อว่า “เชื้อชาติผิวขาวกำลังจะหมดไป”

เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่น่ากังวลสำหรับชาวอเมริกัน นั่นก็คือเหตุการณ์กราดยิงที่ก่อเหตุโดยวัยรุ่นผิวขาวมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการลอกเลียนแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

 

แถลงการณ์ของเกนดรอนก็ระบุไว้เช่นกันว่า การไลฟ์สตรีมในการกราดยิงในครั้งนี้ ก็มีต้นแบบมาจากคลิปวิดีโอเหตุกราดยิงในมัสยิด ในประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2019 เหตุการณ์ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 51 คน โดยคลิปวิดีโอเหตุกราดยิงดังกล่าว เกนดรอนได้ชมจากเว็บไซต์ 4chan เช่นกัน

นอกจากนี้ เกนดรอนยังระบุไว้ในแถลงการณ์ด้วยว่า ตนได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์กราดยิงในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาธ์แคโรไลนา ในปี 2015 เหตุการณ์ที่มีคนผิวสีเสียชีวิต 9 คน รวมไปถึงเหตุกราดยิงในประเทศนอร์เวย์ ในปี 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 77 คนด้วย

อดัม แลนก์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีงานวิจัยศึกษาข้อมูลจากเหยื่อกราดยิง เผยแพร่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาพบว่า เหตุกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8 รายนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2010 หากเทียบกับในช่วง 40 ปีก่อนหน้า

แลนก์ฟอร์ดระบุว่า การเลียนแบบพฤติกรรมการกราดยิงกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมือปืนจะได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และหนึ่งในวิธีการที่จะลดอาชญากรรมจากความเกลียดชังลงได้ส่วนหนึ่งก็คือ สื่อที่จะต้องหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลชีวิตส่วนตัวของผู้ก่อเหตุ

 

ด้านเดอะไวโอเลนซ์โปรเจ็กต์ (The Violence Project) ที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การกราดยิงที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชัง รวมไปถึงมือปืนที่ต้องการสร้างความโด่งดังเพิ่มจำนวนขึ้นตั้งแต่ปี 2015 และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เดอะเซาเธิร์น โพเวอร์ตี ลอว์ เซ็นเตอร์ (The Southern Poverty Law Center : SPLC) ที่เก็บข้อมูลกลุ่มหัวรุนแรงและสร้างความเกลียดชัง ระบุว่า เกนดรอนส่งสัญญาณเตือนผ่านโลกออนไลน์อย่างชัดเจน เช่น การพูดถึงการสะสมอาวุธ การถามคำถามเกี่ยวกับชุดเกราะผ่านแพลตฟอร์ม “ดิสคอร์ด” (Discord) นอกจากนี้ ยังเคยโพสต์ข้อความอ้างว่าเคยฆ่าและชำแหละแมว และยังเคยโพสต์แผนสังหารก่อนก่อเหตุเพียงไม่กี่สัปดาห์ด้วย

จากนี้ทางการสหรัฐคงจะต้องพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อหยุดยั้งโศกนาฏกรรมลักษณะเดียวกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ขณะที่ภาครัฐรวมถึงภาคประชาสังคมคงต้องช่วยกันสอดส่องมองหา “สัญญาณเตือน” ที่ผู้มีแนวโน้มก่อเหตุรุนแรงแสดงออกมาผ่านโลกออนไลน์ให้ละเอียดมากขึ้น

อย่างน้อยก็เพื่อลดความถี่ของ “อาชญากรรมจากอาวุธปืน” ที่เกิดขึ้นแบบซ้ำซากในสหรัฐอเมริกาให้น้อยลงไปบ้างนั่นเอง