วาทธรรมพุทธทาส / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

วาทธรรมพุทธทาส

 

พฤษภาคมเป็นเดือนแห่งวิสาขธรรมพึงบูชาด้วยการทำความเข้าใจในความสำคัญของธรรมะแห่งวันวิสาขะอันนับเป็นปฏิบัติบูชาประการหนึ่ง

ความสำคัญของวันวิสาขบูชาดังที่ทราบกันมาคือเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานว่าตรงกับวันเดียวกันคือ วันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำกลางเดือนหก โดยเชื่อกันเป็นมหัศจรรย์ว่าพระพุทธองค์ประสูติคือเกิดทางกายในวันนี้ ต่อมาทรงตรัสรู้ธรรมตรงกับวันนี้ กระทั่งทรงดับขันธ์ปรินิพพานคือสิ้นพระชนม์ก็ตรงกับวันนี้ คือวันเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำกลางเดือนหกอีกเช่นกัน

ความเชื่อเช่นนี้เป็นศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วไปและยังคงเป็นความเชื่อที่ดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ทั้งดูจะส่งเสริมให้พุทธศาสนาศักดิ์สิทธิ์ ยังความศรัทธาเลื่อมใสสืบไปด้วย

แท้จริงความสำคัญของการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้นพึงใช้เหตุผลทำความเข้าใจด้วยก็จะทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญาแท้จริง

ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายว่า

ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานในที่นี่เป็นเรื่องนามธรรมล้วนๆ

ประสูติ คือการเกิดขึ้นของผู้รู้ คือพุทธเจ้าโดยนัย พุทธะ แปลว่า รู้ เจ้า คือผู้ พุทธเจ้า ก็คือ ผู้รู้

ก่อนที่พระองค์จะทรงเป็นผู้รู้ในคืนเพ็ญสิบห้าค่ำนี้ พระองค์คือเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้สละราชสมบัติถือเพศนักบวชแสวงหาคำตอบให้ชีวิตดังเรียกโมกษธรรมหรือวิมุตติคือ ความหลุดพ้นจากวังวนชีวิต

ตรัสรู้ คือ การบรรลุโมกษธรรม ได้รู้แจ้งถึงสัจธรรมนั้นแล้ว

ปรินิพพาน คือ เข้าถึงการดับสิ้นซึ่งความทุกข์สิ้นเชิง

ทั้งสามสภาวะ คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวาระเดียวกัน ขณะเดียวกัน คือขณะแห่งการตรัสรู้นั่นเอง

ตรัสรู้ เป็นเหตุให้เกิดผู้รู้คือ พุทธะ

ตรัสรู้ เป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานคือ ความดับทุกข์

ทั้งสามสภาวะบังเกิดขึ้นพร้อมกัน ขณะแห่งการตรัสรู้ในคืนเพ็ญสิบห้าค่ำกลางเดือนหกนี้

เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจถึงความสำคัญของวิสาขธรรม ทั้งทางปัญญาและศรัทธาจะทำให้พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างถูกต้องมั่นคงยิ่งขึ้น

 

ศาสนาทุกศาสนานั้นประกอบด้วยสองภาคส่วนสำคัญคือ ระบความเชื่อกับหลักคิด

ความเชื่อขึ้นกับระบบต่างๆ เป็นสำคัญ เช่น วัฒนธรรม ค่านิยม การปกครอง และสังคม ฯลฯ

ส่วนหลักคิดนั้นมีหนึ่งเดียวดังเรียกหลักธรรม อันมีในทุกศาสนา เช่น พุทธศาสนาก็คือ พุทธธรรม

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลารามกล่าวว่า

“เวลานี้สิ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่สุดก็คือคำว่าธรรมนั่นเอง”

ท่านขยายความอธิบายคำว่าธรรม มีสี่ความหมายโดยนัยคือ

หนึ่ง ธรรม หมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย จากรากศัพท์ ธร แปลว่า ทรง คือทรงไว้ซึ่งความเป็นเช่นนั้น ดังภาษาอังกฤษว่า Suchness คือความเป็นเช่นนั้น

สอง ธรรม หมายถึงกฎของสรรพสิ่งตามข้อหนึ่งนั้น อย่างน้อยกฎนั้นๆ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัยของสรรพสิ่งนั้นๆ

สาม ธรรม หมายถึงการกระทำหรือหน้าที่ที่มนุษย์พึงทำพึงเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งหลายให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาตินั้นๆ

สี่ ธรรม คือสิ่งที่เกิดจากการปฏิบัติตามข้อสามนั่นเอง ทั้งผิดถูกล้วนเป็นธรรมทั้งสิ้น ดังเรียกกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น

สรุป สี่ความหมายของธรรมก็คือ ธรรมชาติ ธรรมดา หน้าที่หรือการกระทำ ผลของการกระทำ

 

นี้เป็นการให้ความเป็นธรรมกับคำว่า “ธรรม” ที่ครอบคลุมความหมายได้ครบถ้วนที่สุด

โดยย่อจาก ธรรมนิยามสูตร มีว่า

ไม่ว่าพระพุทธองค์จะทรงเกิดมาในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมคือความจริงนั้นมีอยู่แล้ว คือความจริงที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง (อนิจจัง) สิ่งทั้งปวงทนอยู่ได้ยาก (ทุกขัง) ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตน (อนัตตา) พระองค์เพียงมาพบมาบัญญัติจำแนก มาทำให้แจ้ง และแสดงให้ปรากฏ

นี้คือความจริง ที่แม้พระองค์เองก็ทรงยอมรับถึงความจริงอันมีอยู่แล้วนี้

และนี่คือหลักคิดหรือพุทธธรรมในพุทธศาสนาที่เป็นสัจธรรมสูงสุดโดยมุ่งที่ความ “ดับทุกข์” ในจิตเป็นสำคัญ

ผิดไปจากนี้ล้วนเป็นระบบความเชื่อทั้งสิ้น

 

ท่านพุทธทาสได้มอบมรดกธรรมสามข้อคือ

หนึ่ง ศาสนิกชนพึงทำความเข้าใจและเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน

สอง ศาสนิกชนพึงทำความเข้าใจหัวใจของศาสนาอื่นด้วย

สาม ไม่พึงเป็นทาสวัตถุหรือวัตถุนิยม

ทั้งสามข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญให้ทุกคนทุกศาสนามาร่วมมือร่วมใจทำความเข้าใจเพื่อยังทั้งศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องต่อสิ่งที่เป็นหลักคิด อันทุกคนมีอยู่เพื่อขจัดความทุกข์ทั้งปวงอันเกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ ก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว แตกแยกและรบราฆ่าฟันกันอยู่ในโลกวันนี้

โลกที่เราพยายามมุ่งสู่อารยวิถีมิใช่กลียุคอนารยะ

ดังที่เห็นและเป็นอยู่

 

สําคัญอีกเรื่องคือบทสรุปเรื่องความยึดมั่นถือมั่นจากคำบรรยายของท่านพุทธทาสเรื่องภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม

“ไม่มีภูเขาอะไรอื่น นอกไปจากภูเขาแห่งความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตน และไม่มีความยึดมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตนอะไรจะยิ่งไปกว่าความยึดมั่นในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งแห่งตน”

วันที่ 27 พฤษภาคมเป็นวันพุทธทาส ขอถวายสักการะ

สาธุ แด่ท่านผู้ถอดรหัสธรรม

 

พุทธทาส

พุทธทาส นามท่าน ปานขุนเขา

ทว่าเบาสบายอย่าง ว่างน้ำหนัก

และตัวตนของท่าน นั้นใหญ่นัก

ใหญ่ด้วยหลัก ให้สละ ละตัวตน

เราต้องรอไม่น้อย นับร้อยปี

จึงจะมีคนอย่างนี้ เกิดสักหน

อาจร้อยปีพันปี มีสักคน

อยู่ในโลกแต่หลุดพ้น เหนือโลกไป

อยู่ในโลกและได้ เข้าใจโลก

อยู่เหนือโศก เหนือสุข เหนือยุคสมัย

จุดประทีปธรรมสว่าง ที่กลางใจ

สะอาดใส สว่างภพ สวยงาม

ควรดีใจได้เกิด เป็นมนุษย์

ได้พบพุทธศาสน์แพร้วพระแก้วสาม

ได้ฟังธรรม จากสวนโมกขพลาราม

ได้เดินตามรอยพระ อริยมรรค

พุทธทาส นามท่าน ปานขุนเขา

ทว่าเบาสบายอย่าง ว่างน้ำหนัก

และตัวตนของท่าน นั้นใหญ่นัก

ใหญ่ด้วยหลัก ให้สละ ละตัวตน ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •