อำนาจรัฐยังมิใช่ของราษฎร์ | เหยี่ยวถลาลม

เดิมทีเดียวสิ่งที่คณะราษฎรตั้งใจจะสถาปนาขึ้นนั้นคือ “รัฐราษฎร์” หรือรัฐที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

แสดงผ่าน-ฝ่ายบริหาร 1

ผ่าน-รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 1

และอีก 1 ผ่าน-สถาบันตุลาการที่มีอิสระอย่างมั่นคงแข็งแรง

แต่ไปๆ มาๆ ยังไม่ทันจะได้จัดวางระบบปฏิบัติการที่เกื้อกูลให้การเมืองของ “ราษฎร์” ได้เจริญวัย “คณะราษฎร” ก็เริ่มพ่ายในเกมตั้งแต่การใช้ถ้อยคำสำนวนในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ตามมาด้วยลูกไม้แพรวพราวจากหัวหน้าฝ่ายบริหาร อย่าง “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ที่ผ่านไปแค่อึดใจก็ใช้อำนาจ “สั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร” และ “สั่งงดใช้รัฐธรรมนูญ” ในบางมาตรา

ไม่นานหลังจากนั้น “ปรีดี พนมยงค์” ก็ถูกป้ายสีแดงให้เป็น “คอมมิวนิสต์” ตั้งแต่ยังไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถัดจากนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมก็ระดมถล่มโจมตี “ปรีดี” ว่าเป็นเผด็จการร้ายเสียยิ่งกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“ราช” ผนึกเป็นปึกแผ่นมีความเข้มแข็งกว่า ช่วงชิงลงมือก่อนจึงปิดฉากบทบาทคณะราษฎรและเขี่ย “ปรีดี พนมยงค์” พ้นไปจากเส้นทางอำนาจรัฐ

“คณะราช” ยึดอำนาจปกครองและครอบงำมาตั้งแต่ “รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490” จากนั้นก็ลงหลักปักฐานแน่นหนาตั้งแต่ “ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศจึงมากไปด้วยจำนวนครั้งของ “รัฐประหาร” ซึ่งแม้กฎหมายจะบัญญัติว่าเป็นความผิดอุกอาจร้ายแรง แต่ก็ไม่เคยปรากฏการดำเนินคดีและประหารชีวิตนักรัฐประหารเลยสักครั้ง

ตรงกันข้าม-ที่ต้องสังเวยชีวิต หรือหนีหัวซุกหัวซุน หรือติดคุกติดตะรางนั้นกลับกลายเป็นคนต่อต้านรัฐประหารและต้องการเห็นประชาธิปไตยเบ่งบาน

มาจนถึง พ.ศ.นี้วันนี้จึงยังคงมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่คุ้นชินและยินดีกับการล้มล้างการปกครองด้วยกำลังอาวุธและกำลังพลจากกองทัพ

รสนิยมการเมืองที่นิยมความรุนแรงที่ฝังรากลึกไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมอำนาจนิยม ก่อรูปเป็น “ความเชื่อทั่วไป” ในสังคมไทยว่า เพียงแค่เลือกยืนให้ถูกฝั่ง หนักก็จะเป็นเบา ข้อหาที่เบาๆ อยู่ก็จะหายวับ

หลายคนที่มีชนักติดหลังก็ลอยนวล!

 

การเมืองแบบไทยๆ ที่รัฐประหารกัน 6 ปีต่อ 1 ครั้งจึงไม่ต่างอะไรกับการหักโค่นช่วงชิงผลประโยชน์กันของบรรดาเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเมื่อ 30-40 ปีก่อน

ลูกชายและเครือข่าย “หลงจู๊เกียง” เจ้าพ่อภาคตะวันออก ถูกมือปืนยิงตายเกลี้ยง ไม่นาน ดาวจรัสแสงดวงใหม่ “เสี่ยจิว” จุมพล สุขภารังสี ก็ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้ยิ่งใหญ่คนนี้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักการเมืองดังๆ สมัยนั้นหลายคน เช่น ธรรมนูญ เทียนเงิน บุญชู โรจนเสถียร

แต่กลางปี 2524 “เสี่ยจิว” ก็ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสิ้นชื่อกลางเมืองชล ถัดมา “เสี่ยฮวด” พิพัฒน์ โรจน์วานิชชากร ถูกยิงถล่มกลางวันแสกๆ บนถนนสายบ้านบึง-ชลบุรี จากนั้นจบชีวิต “ปาน สุขภารังสี” ลูกชายคนเล็กของเสี่ยจิว และสังหาร “กำนันยูร” อ่างศิลา

ในที่สุดคนที่ “อยู่เป็น” เช่น “กำนันเป๊าะ” แห่งตำบลบางแสน ก็ยืนยงเป็นผู้ยิ่งใหญ่เพียง 1 เดียว

“กำนันเป๊าะ” อ่านการเมืองออก เล่นการเมืองเป็น หลัง “รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534” จึงส่งทั้ง “สนธยาและวิทยา” ลูกชายลงสมัคร ส.ส.ในนาม “พรรคสามัคคีธรรม” สายเขียว

เช่นเดียวกับ “พลังชล” ในปัจจุบันซึ่งนำโดย “สนธยา คุณปลื้ม” ที่ไม่ยอมตกอยู่ในสภาพ “ริมฝีปากหาย-ฟันจะหนาวยะเยือก”

นักการเมืองในภูมิภาคจำนวนหนึ่งมีความเข้าใจดีว่า “คนในเครื่องแบบ” ถือตัวว่า “มีเกียรติ” เหนือกว่า “ผู้ทรงเกียรติ”

เป็นความจริงว่านักการเมืองระดับชาติจำนวนหนึ่งเลื่อนชั้นมาจากนักการเมืองท้องถิ่น คหบดี หรือผู้มีอิทธิพลซึ่งสร้างตัวจากลำแข้งลำขา ใจถึง กล้าได้กล้าเสีย กล้าให้ กล้าเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ทำให้หลายคนมีชนักติดหลัง บางยุคผู้มีอำนาจถึงกับระแวงว่า วันหนึ่งอาจจะต้องยืนทำความเคารพ “รัฐมนตรี” ที่เป็นอดีตเจ้าพ่อมาเฟีย?

“วิตกจริต” นั้นมีอยู่จริง

แต่ไม่ขอยืนยันว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นนี้

 

หลังรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ของ “รสช.”

วันที่ 5 เมษายน 2534 ขณะที่รถของ “แคล้ว ธนิกุล” หรือเหลา สวนมะลิ เจ้าพ่อเมืองหลวง เคลื่อนถึง ก.ม.ที่ 54-55 ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เขตสามพราน นครปฐม กลุ่มมือปืนไม่ทราบสังกัดใช้ปิกอัพขับประกบแล้วยิงถล่มด้วยอาวุธสงคราม

ทั้งเอ็ม 79 อาก้า เอ็ม 16 รวมแล้วกว่า 100 นัด ไม่มีคำว่าแคล้วคลาดอีกต่อไป เจ้าพ่อเมืองหลวง “แคล้ว ธนิกุล” ดับดิ้นสิ้นชื่อ ท่ามกลางข่าวก่อนหน้านั้นว่า “แคล้ว” กำลังจะกระโจนสู่เส้นทางการเมือง

ทางด้านฟากตะวันตก “กำนันเซี้ย” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกาญจนบุรี เป็น ส.ส.ของ “ประชาธิปัตย์” แต่ภายหลังจากศาลฎีกาพิพากษาจำคุกหลายคดี “กำนันเซี้ย” ต้องหนี ปิดจบบทบาทมาถึงทุกวันนี้

หากแต่เมื่อมีรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 “กำนันเซี้ย” อ่านการเมืองออก-เล่นการเมืองเป็น ให้ลูกชาย 2 คนโบกมือลาประชาธิปัตย์ หันไปเข้าสังกัด “พลังประชารัฐ”

อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนสถิตอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แต่ทัศนคติและพฤติกรรมของ “ข้าราชการ” ยังคงเหมือนสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เห็นว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม” และ “ไม่เหมาะ” กับประชาธิปไตย

ต่างกันแต่เพียงว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นคำว่า ยังไม่พร้อม กับยังไม่เหมาะ นั้นหมายถึง พวกขุนนาง หรือข้าราชการ ถึงกับมีคำดูถูกดูแคลนว่า เป็นพวกผู้ดีก็ไม่ใช่ ไพร่ก็ไม่เชิง!

แต่ในสมัยนี้ “ข้าราชการ” ผู้ใช้อำนาจรัฐเป็น “ชนชั้นสูง” เมื่อมองลงไปเบื้องล่างเห็นผู้คนมีความตื่นตัวทางการเมือง มีสำนึกในสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมก็กล่าวหาว่าเป็นพวกก่อความไม่สงบ เป็นภัยความมั่นคง

จะต้องใช้กำลังและความรุนแรงเข้าแย่งยึดกำราบปราบปราม

การก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ใช่ “ความจำใจ” ที่ลงมือด้วย “ความจำเป็น” เพื่อระงับยับยั้งเหตุเภทภัยอันใด

แต่เป็นการกลับมาของ “อำนาจรัฐ” ที่เคยถดถอยย่อยยับภายหลัง “พฤษภาทมิฬ 2535”

มีคดี 99 ศพ จาก “พฤษภา ’53” เป็นชนักติดหลัง!?!!