นิธิ เอียวศรีวงศ์ | รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์
Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

หมายเหตุ : บทความ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” เขียนโดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ [ตีพิมพ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ (พฤศจิกายน, ๒๕๓๔)]

 

ใครๆ ก็พูดกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะฝรั่งพูดขึ้นก่อนแล้วเราไปลอกตำราฝรั่งมาเรียน ได้แต่ท่องจำกันไปแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่มีความหมายจริงจังอะไรในวัฒนธรรมไทย เพราะถ้ามีความหมายจริงจัง รัฐธรรมนูญก็จะถูกฉีกอยู่บ่อยๆ ไม่ได้ และจะมีกฎหมาย, กฎกระทรวง, ระเบียบ ฯลฯ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

แต่ในเมืองไทยนั้นรัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อย และฉีกได้ง่ายเสียยิ่งกว่าระเบียบสะตึๆ อะไรสักอย่างของกระทรวงทบวงกรม นอกจากนี้มีกฎหมาย, กฎกระทรวง, ระเบียบ ฯลฯ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่มากมาย โดยเจ้าของระเบียบและผู้ถูกบังคับใช้ระเบียบไม่ได้ตะขิดตะขวงใจอะไรเลย เช่น การไม่รับผู้หญิงเป็นปลัดอำเภอของมหาดไทยนั่นปะไร ก็เท่ากับปฏิเสธว่ “เพศ” ทำให้เกิดความแตกต่างกันในบุคคลได้ หรือโรงเรียนแพทย์บางแห่งปฏิเสธไม่รับคนขาพิการเข้าเรียนก็ไม่เคยต้องพิสูจน์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ว่าขาพิการเป็นอุปสรรคต่อวิชาชีพอย่างไร

รัฐธรรมนูญคืออะไร? ตรงนี้ต้องเข้าใจกันให้ดี

รัฐธรรมนูญคือข้อกำหนดว่าบุคคลและสถาบันต่างๆ ในรัฐหนึ่งนั้นพึงสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจอย่างไร คำว่าสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจแปลให้เป็นภาษาชาวบ้านก็คือใครใหญ่กว่าใคร และใหญ่ได้ในเงื่อนไขอะไร

แต่มีปัญหาในการนิยามแบบนี้นิดหน่อยก็คือ ที่เรียกรัฐธรรมนูญว่า ข้อกำหนด จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธในมือกับคนที่มีปัญญาสูงจนสังคมยอมรับ คือต่างพากันไปคิดว่า “ถ้างั้นกูกำหนดให้เอง” เพื่อประโยชน์โพดผลแก่ตนเอง หรือเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองก็แล้วแต่จะว่ากันไป

แท้ที่จริงแล้ว ข้อกำหนดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครเป็นผู้กำหนดขึ้น แต่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลและสถาบันต่างๆ ในสังคมนั้น ได้ต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของตนมาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดการยอมรับกันในระดับหนึ่ง กลายเป็นประเพณีทางการปกครองและการเมืองขึ้น กล่าวได้ว่าวิถีชีวิต, วิถีความคิด และ ค่านิยม ของสังคมนั้นๆ เคยชินที่จะมองเห็นว่าอำนาจที่ชอบธรรมนั้นต้องสัมพันธ์กันอย่างนั้นๆ นั่นก็คือ วัฒนธรรมทางการเมือง

วัฒนธรรมทางการเมืองของทุกสังคมไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งแล้ว เพราะการต่อสู้ช่วงชิงและรักษาสถานะแห่งอำนาจของสถาบันและบุคคล ในทุกสังคมไม่ได้หยุดนิ่ง ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา คนในสังคมนั้นจึงอาจมีค่านิยมในทางการเมืองเปลี่ยนไป เช่น คิดว่าสถาบันนั้นควรสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสถาบันโน้นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก และที่เคยสัมพันธ์กันมาแบบนี้นั้นไม่ชอบธรรมเสียแล้ว

วัฒนธรรมทางการเมืองนี่แหละ ที่เป็นข้อกำหนดสูงสุดจริงๆในเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉีกไม่ออกไม่ว่าจะใช้รถหุ้มเกราะสักกี่คันก็ไม่สามารถฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ และกฎหมายอื่น กฎกระทรวง หรือระเบียบอะไรก็ไม่อาจล่วงละเมิดข้อกำหนดที่มีในวัฒนธรรมทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญฉบับแท้จริงนี้ได้ ฉะนั้นจึงจะขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับแท้จริงนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้ “ร่าง” ขึ้นไม่ได้ แต่ต้องใช้ประสบการณ์ยาวนานเป็นศตวรรษของสังคมก่อให้เกิดขึ้น ฉะนั้น นักปราชญ์ที่เป็นข้ารับใช้ของทหารจึงไม่เกี่ยว และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของทุกสังคมจึงเป็นฉบับที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น

ในบางสังคม รัฐธรรมนูญที่มีการร่างขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม รัฐธรรมนูญฉบับร่างจึงดำรงคงอยู่อย่างค่อนข้างถาวร แม้กระนั้นก็ต้องเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นได้ตลอดไป นอกจากนี้แม้ในประเทศที่รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรไม่มีปัญหาเพราะสอดคล้องกับฉบับวัฒนธรรม การเมือง การปกครองของรัฐเหล่านั้นก็ยังต้องอาศัยประเพณีซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกมาก ดังเช่น เป็นประเพณีว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะไม่ดำรงตำแหน่งเกินสองสมัย ก็หาได้มีการกำหนดไว้ที่ไหนในรัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ แต่ถือปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณีทางการเมืองที่ไม่ค่อยจะละเมิดกัน จึงนับว่าศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าข้อกำหนดอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร

ในทางตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญในบางสังคมที่ร่างขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองจึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อะไร กองทัพยกออกมาฉีกรัฐธรรมนูญกันตามใจชอบ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เฉยไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะประชาชนรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมซึ่งไม่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นกองทัพล่วงละเมิดไม่ได้ มีบางครั้งเหมือนกันที่ผู้นำกองทัพคึกคะนองไปล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้า ผลก็คือเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง บั่นทอนอำนาจของผู้นำเสียจนไม่สามารถดำรงรักษาอำนาจของตัวไว้ได้

เมืองไทยก็เป็นหนึ่งในกรณีอย่างนั้น คือมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดไม่ได้ (แต่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา) และมีรัฐธรรมนูญที่ข้ารับใช้ของทหารร่างขึ้นซึ่งต้องถูกฉีกทิ้งไปเป็นระยะ (ฉีกเมื่อไร ข้ารับใช้คนเก่าก็พร้อมจะร่างให้ใหม่ได้อีกด้วย) แต่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมีเนื้อหาอย่างไรยังไม่ค่อยได้ศึกษากันจริงจังนัก ความเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญทั้งในแง่ที่จะทำให้เข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย และเข้าใจว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอะไรในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยด้วย

ที่จะเสนอต่อไปนี้นั้น เป็นเพียงการพิจารณาถึงสถาบันสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่สามารถพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสถาบันเหล่านี้ได้มากนัก บางเรื่องก็ไม่มีความรู้เพียงพอจะพูดได้ บางเรื่องก็ไม่กล้าพูด

บางสถาบันในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม
สถาบันพระมหากษัตริย์ 

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรจะตราไว้หรือไม่ สถาบันพระมหากษัตริย์แทรกอยู่ในทุกส่วนของวัฒนธรรมไทย จนกระทั่งเป็นการยากมากที่จะขาดสถาบันนี้ไป ไม่ว่าจะมีการบัญญัติไว้หรือไม่พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นที่เคารพสักการะอันผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้อยู่นั่นเอง หมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญนั้นยกออกไปทั้งหมดก็ไม่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสั่นคลอนตรงไหน เพราะหมวดนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอย่างมั่นคงอยู่แล้ว และนี่คือเหตุผลที่ว่า ถึงจะฉีกรัฐธรรมนูญกันมากี่ครั้งกี่หนแล้ว หมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญที่ร่างกันใหม่จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเป็นพิเศษ

รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน ไม่ใช่บุคคล หมายความว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมวดนี้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสถาบันที่มีบทบาทและหน้าที่ของรัฐสมัยใหม่ เช่น ทรงเป็นพระประมุข, ทรงเป็นจอมทัพ, ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านอำนาจทั้งสาม, ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ฯลฯ

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม แนวคิดเรื่อง “สถาบัน” พระมหากษัตริย์แตกต่างไปจากนั้น

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” นักวิชาการสมัยใหม่ใช้คำนี้พื่ออธิบายสถาบันพระมหากษัตริย์ในความหมายใหม่ ซึ่งไม่ค่อยต่างจากความเป็นที่เคารพสักการะเท่าไรนัก แต่ความ “ศักดิ์สิทธิ์”ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมีความหมายตามแบบโบราณแปลได้ตามตัวทีเดียวว่า ทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) และทรงมีฤทธิ์ (สิทธิ์)

ในสมัยโบราณ สถาบันพระมหากษัตริย์ในเกือบทุกสังคมล้วนมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ตามความหมายนี้ทั้งสิ้น

ในยุโรปสมัยกลาง เชื่อกันว่าคนป่วยที่หมดทางรักษาแล้ว จะหายเจ็บไข้ได้ถ้าได้รับการสัมผัสจากพระราชา กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือพระราชามีอำนาจในทางรักษาพยาบาลที่ลี้ลับอยู่ในพระองค์ จักรพรรดิจีนเป็นโอรสสวรรค์ และพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระจักรพรรดินั้นส่อให้เห็นว่าทรงเป็นโอรสของสวรรค์จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความเปรียบเท่านั้น รวมทั้งพระราชพิธีที่จะต้องทรงกระทำบูชาแก่สวรรค์ที่ “จักรวาลจำลอง” ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วย จักรพรรดิญี่ปุ่นนั้นทรงเป็นโอรสของเทพีแห่งดวงอาทิตย์จริงๆ มาจนเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง

ในเมืองไทย มีการกระซิบกันมาแต่โบราณว่า เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ประชวรพระครรภ์ก่อนจะมีพระประสูติกรรมครั้งแรกนั้น เจ้าจอมเสือได้ทูลขอน้ำล้างพระบาทของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เสวยก็ปรากฎว่าพระอาการประชวรพระครรภ์ทุเลาลง แสดงอำนาจลี้ลับในทางรักษาพยาบาลของพระมหากษัตริย์ไทยเช่นเดียวกับกษัตริย์ยุโรป

ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์พระภิกษรูปหนึ่งซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ที่ครองเชียงแสน (และอ้างว่าเป็นเชื้อสายของราชวงศ์มังราย) ท่านได้เล่าถึงเรื่องที่เล่าสืบกันมาในวงศ์ตระกูลสมัยที่ถูกพระเจ้ากาวิละกวาดต้อนผู้คนลงมาอยู่เชียงใหม่ แต่ก็เหมือนการกวาดต้อนผู้คนโดยทั่วไปคือส่วนใหญ่ของประชาชนย่อมหลบหนีการกวาดต้อนไปได้ ต่อเมื่อตระกูลเจ้านายเชียงแสนและประชาชนที่ถูกกวาดต้อนลงมาได้ตั้งหลักแหล่งทำกินในบริเวณเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนเหล่านั้นจึงได้อพยพติดตามลงมาเองเป็นระลอก

ผู้เขียนถามท่านว่าเหตุใดจึงต้องอพยพตามลงมาด้วย ในเมื่อทางฝ่ายเชียงใหม่ไม่ได้ส่งทัพไปกวาดต้อนลงมาสมทบ ท่านตอบว่าเมื่อบ้านเมืองไม่มีเจ้านายแล้ว ฝนฟ้าก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ถึงจะตั้งอยู่ที่เชียงแสนต่อไปก็ลำบากลำบนในการทำมาหากิน

พระมหากษัตริย์ไทยจึงทรงมีอำนาจลี้ลับ (ศักดิ์) บางอย่างที่จะจรรโลงให้โลกเป็น “ปรกติสุข” อยู่ด้วย คนโบราณแสดง “ศักดิ์” เช่นนี้ด้วยเรื่องของฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีที่เกี่ยวกับน้ำ,ฝน, การทำนา ฯลฯ ซึ่งปรากฎอยู่ในกฎมณเฑียรบาลครั้งอยุธยาล้วนมีรากฐานมาจากความเชื่อใน “ศักดิ์” เช่นนี้ของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

ขัตติยราชประเพณีและพระราชพิธีอุปภิเษกทั้งหลายซึ่งรับจากอินเดียนั้น เป็นเพียงผิวบางๆ ที่เคลือบลงบนหลักความเชื่อของไทยมาแต่เดิมที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” (ในหมู่พวกไทยดำ พระเจ้าแผ่นดินมีกำเนิดจากแถนโดยตรง แตกต่างจากประชาชนทั่วไปซึ่งถือกำเนิดจากน้ำเต้าปุง) พระราชพิธีฮินดูเหล่านั้นอาจเลิกไป ขัตติยราชประเพณีโบราณของอินเดียอาจไม่มีการปฏิบัติอีกต่อไป แต่ความ”ศักดิ์สิทธิ์” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็ยังดำรงอยู่ในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่

ในทุกวันนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ มีผู้คนนำเอาผ้ามา รองพระบาทเพื่อนำกลับไปบูชาที่บ้านเรือน สิ่งใดที่ทรงสัมผัสเอาไว้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต้องเก็บไว้ในลักษณะเชิงบูชาทั้งสิ้น

สักวันหนึ่งในภายหน้า อาจมีนายกรัฐมนตรีหรือแม่ทัพที่ได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชนอย่างสูง ไม่ว่าเขาไปไหนจะมีฝูงชนออกมาโห่ร้องต้อนรับคับคั่ง แต่คงเป็นการยากที่จะหาบุคคลใดเข้ามาเเทนที่พระมหากษัตริย์ในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์ได้ คนที่ “popular” กว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อาจมีในเมืองไทยได้ (และในอดีตอาจเคยมีมาแล้ว เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในต้นรัชกาลที่ ๕) แต่ไม่มีใครที่ศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นอันขาด

เต็นท์ของหน่วยราชการและร้านค้าเอกชนตั้งที่แถบท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

ในแง่นี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงมีความมั่นคง เพราะถูกตราไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย แม้ว่าสถาบันมีความมั่นคงปลอดภัย แต่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนั้นไม่จำเป็นจะต้องมั่นคงปลอดภัยไปด้วย ในธรรมเนียมของชนเผ่าไทยลาวแต่เดิมมา เข้าใจว่าสิทธิโดยกำเนิดหรือการร่วมสายโลหิตในราชวงศ์เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดในการดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งนี้เพราะตำนานเก่าๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นของไทยดำ, หลวงพระบาง หรือไทยยวน ล้วนเน้นในเรื่องของโคตรวงศ์กษัตริย์ทั้งสิ้น ตำนานสิงหนวัติแต่เดิมก็คือเรื่องของโคตรวงศ์สิงหนวัติ ตำนานขุนบรมก็คือเรื่องของโคตรวงศ์ขุนบรม ทั้งไทยใหญ่, ไทยอาหม และไทยดำ ล้วนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสด็จลงมาจากฟ้าของบุคคลที่เป็นต้นโคตรวงศ์ของกษัตริย์

ประวัติศาสตร์ล้านนา, ไทยลื้อ, หลวงพระบาง หรือแม้แต่อยุธยาในตอนต้นๆ เองก็ล้วนชี้ให้เห็นว่าการโค่นล้มราชบัลลังก์ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนราชวงศ์ แต่เป็นการยกเอาเชื้อสายของราชวงศ์อีกองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ในล้านนา เมื่อราชวงศ์มังรายอ่อนแอลงจนอำนาจตกไปอยู่ในมือของขุนนางเสียแล้ว ขุนนางก็ยังจำต้องเลือกเอาชื้อวงศ์ของราชวงศ์มังรายขึ้นปกครองอยู่นั่นเอง แม้แต่ต้องนำเอาผู้หญิงขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องกระทำ

มีเรื่องเล่าจากการสัมภาษณ์พระภิกษุเชื้อราชวงศ์เชียงแสนที่กล่าวแล้วด้วยว่า ในตอนต้นสมัยราชวงค์กาวิละหรือทิพย์ช้างในเชียงใหม่นั้น ราชวงศ์ใหม่พยายามจะรับเอาบุตรหลานเจ้านายเชียงแสนมาเป็นชายา เพราะถือว่าเป็นเชื้อสายของราชวงศ์มังราย แต่ก็ถือกันในหมู่เจ้านายเชียงแสนว่าจะไม่ยอมให้บุตรหลานไปแต่งงานกับ “ตระกูลคนเลี้ยงช้าง” ซึ่งกลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินวงศ์ใหม่ของเชียงใหม่ ความจริงจะมีการแต่งงานกันระหว่างสองราชวงศ์นี้หรือไม่ ในระยะแรกๆ นั้นยังสืบค้นไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีตำนานพื้นเมืองที่แต่งในสมัยต้นๆ ของราชวงศ์กาวิละ ที่อ้างว่าราชวงศ์ใหม่นี้สัมพันธ์ทางสายโลหิตกับราชวงศ์มังราย แสดงให้เห็นบารมีของราชวงศ์มังรายว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในแดนล้านนาอย่างไร (ในขณะที่ราชวงศ์มังรายเอง ก็มีตำนานที่ “อ้าง” สายสัมพันธ์กับราชวงค์สิงหนวัติ)

การเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่อย่างเด็ดขาดนั้น เพิ่งมีมาไม่นานมานี้ในประวัติศาสตร์ไทย และออกเป็นการยากที่จะชี้ว่าเริ่มขึ้นในสมัยใด พระเจ้าปราสาททองนั้นมีพระมารดาเป็นเจ้านายในราชวงศ์ “สุโขทัย” และหากถือการนับญาติแบบไทย ซึ่งนับสายผู้หญิงด้วย ก็ต้องถือว่าเกี่ยวพันอยู่กับพระราชวงศ์

พระเพทราชานั้นแม้พระราชพงศาวดารกล่าวว่ามาจากตระกูลสามัญชนสุพรรณบุรี แต่หลักฐานร่วมสมัยกล่าวว่ามีพระขนิษฐาเป็นพระสนมเอกของพระนารายณ์ ซ้ำยังได้เป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระนารายณ์มาแต่เยาว์ด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนส่อให้เห็นว่าพระเพทราชาน่าจะเกิดในตระกูลผู้ดีของกรุงศรีอยุธยาอยู่แล้ว และไม่น่าประหลาดใจ แต่อย่างไรหากจะพบหลักฐานว่ามีเชื้อสายของราชวงศ์ปราสาททองอยู่ด้วย โดยเฉพาะทางสายพระมารดา

หากพระเพทราชาไม่ใช่สามัญชนคนแรกที่แย่งราชสมบัติพระเจ้าตากสินและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็เป็นสามัญชนกลุ่มแรกที่ได้ครองราชสมบัติ แต่ก็ขึ้นครองราชสมบัติในช่วงเวลาที่บ้านเมืองเกิดกลียุคไม่ใช่ยามปรกติ จะนับกันไปแล้วก็ต้องถือว่าเป็นข้อยกเว้น และก็ไม่มีการเปลี่ยนราชวงศ์อีกเลยจนบัดนี้ แม้ว่าในบางครั้งขุนนางบางตระกูลอาจมีอำนาจมากเสียยิ่งกว่าพระราชวงศ์ก็ตาม ก็ไม่มีการเปลี่ยนราชวงศ์อยู่นั่นเอง

ฉะนั้นที่กล่าวกันว่าในเมืองไทยนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ เอาเข้าจริงก็ปรากฎว่ามีอยู่พอสมควร กฎที่มีความสำคัญมากก็คือบุคคลที่จะสืบราชสันตติวงค์ได้ต้องเป็น “เจ้า” (คือกลุ่มคนที่ไต่บันไดลงมาจากฟ้าเพื่อมาปกครองตามคำสั่งของแถนในภาษาไทยดำ) แต่กฎเกณฑ์ของไทยไม่ละเอียดถึงขั้นระบุลงไปว่าบุตรชายคนโต (หรือคนสุดท้อง) ต้องเป็นผู้สืบมรดก ในขณะเดียวกันก็ไม่มีธรรมเนียมที่จะลำดับผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามหลักอะไรทั้งสิ้น จนมาในระยะหลังจึงได้ลอกธรรมเนียมอังกฤษมาปฏิบัติบ้าง

ตรงนี้เองที่เป็นกลไกทางการเมืองสำหรับสังคมไทย ในอันที่จะคัดเลือกเอาเจ้านายที่มีความสามารถเข้ามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน การแย่งชิงราชสมบัติเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีความซับซ้อนอยู่เบื้องหลังมากกว่าความทะเยอทะยานส่วนตัวของบุคคลที่ทำการแย่งราชสมบัติ ทั้งนี้เพราะบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในการปกครองราชอาณาจักรอยุธยา หลังการรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางของพระบรมไตรโลกนาถแล้วมีความสำคัญอย่างมาก บุคคลที่ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติได้สมตามความคาดหวังของกลุ่มชนชั้นนำ จึงไม่สามารถดำรงรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้ ต้องปล่อยให้พระญาติรวบรวมขุนนางและผู้คนมาแย่งชิงราชสมบัติ ถ้าปรากฎว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ยังไม่ได้เรื่องอยู่ในที่สุดก็จะมีการแย่งชิงราชสมบัติใหม่อีกครั้งหนึ่ง

หลักฐานฝรั่งในสมัยพระเพทราชากล่าวว่า หลังจากการแย่งชิงราชสมบัติแล้ว ทุกอย่างก็กลับคืนคงดังเดิมอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ การแย่งชิงราชสมบัติไม่เป็นเครื่องสั่นคลอนระบบการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง ผู้เขียนเข้าใจว่าส่วนใหญ่ของการแย่งชิงราชสมบัติในประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ต่างจากสมัยพระเพทราชา โดยเฉพาะการแย่งชิงราชสมบัติที่ประสบความสำเร็จในเร็ววัน

ในปัจจุบัน เรามักติดนิสัยฝรั่งที่จะมองหาสถาบันการสืบทอดอำนาจการเมือง เช่น กฎระเบียบ, สภาที่ตัดสินใจ ฯลฯ เพราะเชื่อว่าการแย่งชิงราชสมบัติหมายถึงความสั่นคลอนที่ระบบการเมืองการปกครอง เพราะฝรั่งแย่งราชสมบัติกันทีด้วยสงครามหลายชั่วคน (เช่นสงครามดอกกุหลาบในอังกฤษกินเวลาประมาณ ๑ ศตวรรษ)

แต่ในเมืองไทย การแย่งราชสมบัติเป็นเรื่องอึดใจเดียว ส่วนใหญ่เป็นการแย่งราชสมบัติกันด้วยรัฐประหารในราชสำนัก แอบวางยาพิษพระเจ้าแผ่นดินเสียบ้าง ยกกำลังจู่โจมไปจับมาปลงพระชนม์เสียบ้าง ฯลฯ แม้แต่ที่ถึงกับทำสงครามกลางเมืองกันก็กินเวลาไม่กี่วันก็รู้ว่าใครแพ้ใครชนะแล้ว ช่วงเวลาที่ใช้ในการเลือกตั้งสมัยนี้นับตั้งแต่เริ่มสาดโคลนเข้าหากันและสาดกระสุนเข้าใส่หัวคะแนนกันยังยาวนานเสียกว่าเขาแย่งราชสมบัติกันในสมัยโบราณมากนัก

เหตุผลสำคัญที่การแย่งราชสมบัติแบบไทยเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อยก็เพราะกลุ่มที่ขึ้นมาใหม่นั้นไม่ได้คิดจะล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย อะไรพึงวางไว้ตรงไหนก็รู้ๆ กันอยู่ ว่าแล้วเขาก็จะวางไว้ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้การรัฐประหารที่เกิดในสมัยหลังนี้ก็เหมือนกัน

ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ คนไทยจึงมีภูมิคุ้มกันในเรื่องรัฐประหารสูงมาก เพราะมองการรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาและการสืบทอดอำนาจตามปรกติธรรมดา ไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งหรือการผลัดแผ่นดินตามธรรมดา คนที่ควรหนีก็หนีไปเสีย คนที่ชนะก็เข้ามาเป็นใหญ่ตามระเบียบ ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไม่ถูกล่วงละเมิดการรัฐประหารคือการเปลี่ยนรัฐบาลธรรมดาๆ นี่เอง

แต่เพราะตำแหน่งพระมหากษัตริย์ไทยมีความสำคัญในการปกครองอย่างสูงนี้เอง ที่ทำให้ต้องมีการแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่บ่อยๆ เพื่อคัดเลือก “เจ้านาย” ที่เหมาะสม (แก่ผลประโยชน์ของประเทศหรือผลประโยชน์ของขุนนางก็ตาม) ขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้นมีความมั่นคงอย่างสูงมากในทางการเมือง แต่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้นอาจไม่ได้มั่นคงเท่าสถาบันก็ได้ เพราะอาจมีการแย่งชิงราชสมบัติได้ง่ายเพื่อยกพระญาติของพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน

แม้แต่ความพยายามจะจัดระเบียบการสืบราชสมบัติให้แน่ชัดมั่นคงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็หาได้เกิดระเบียบที่ตายตัวแน่นอนอย่างที่ตั้งใจไม่ หลังจากที่สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ไป แทนที่การสืบตำแหน่งนี้จะดำรงอยู่ในสายพระราชมารดาพระองค์เดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ตัดสินพระทัยเปลี่ยนเกณฑ์ของสายพระราชมารดาของสยามมกุฎราชกุมารไปทันที แม้มีขุนนางบางคนและเจ้านายบางพระองค์ทูลทัดทานไว้แล้วก็ตาม (ตามที่ผู้ใหญ่บางท่านเคยเล่าให้ฟัง)

คนไทยนับแต่โบราณมาเชื่อว่าบ้านเมืองต้องมีพระเจ้าแผ่นดิน แต่ใครจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สำคัญเท่าไร เพียงแต่ต้องเป็น “เจ้า” หรือมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับตระกูลที่เป็นเจ้าเท่านั้น

เรือแห่รัฐธรรมนูญในเจ้าพระยา ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

สถาบันพระพุทธศาสนา

ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรของประเทศไทยสักฉบับเดียวที่กำหนดศาสนาประจำชาติขึ้น ดูเผินๆ จึงเหมือนกับว่าประเทศไทยได้กลายเป็น “รัฐฆราวาส” โดยสมบูรณ์แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ปากีสถาน หรือพม่า แต่ความจริงแล้วประเทศไทยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการที่จะปลดปล่อยรัฐออกไปจากศาสนาโดยสิ้นเชิงเหมือนในยุโรป

อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องนิยามเสียก่อนว่า “รัฐศาสนา” ของไทยนั้นต่างจากฝรั่ง และด้วยเหตุดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้เป็นฆราวาสของรัฐไทยจึงน่าจะต่างจากฝรั่งด้วย ฝรั่งคิดว่า อำนาจ เหนือมนุษย์เป็นของพระเจ้า ฉะนั้นการปกครองหรือการใช้อำนาจบนพื้นโลกจึงถูกต้องไปไม่ได้ จนกว่าจะได้รับฉันทานุมัติจากพระเจ้า แต่คนไทยคิดว่า อำนาจ มีอยู่อย่างนั้นเองโดยธรรมชาติ ถ้าไม่มีรัฐบาลหนึ่งถืออำนาจไว้ก็จะมีรัฐบาลใหม่มาถืออำนาจนั้นแทนจนได้ และการถืออำนาจนั้นก็ถือไปได้เลยโดยไม่ต้องไปขอฉันทานุมัติจากใครทั้งสิ้น (ได้ความคิดจาก Benedict R.O’G. Anderson. “The Idea of Power in Javanese Culture,”ใน Language and Power, 1990 : 19-23)

แต่ความชอบธรรมของผู้ถืออำนาจนั้นพิสูจน์ได้ด้วยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา การถืออำนาจจึงมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมบำรุงพระพุทธศาสนา นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญๆ ของการปกครอง รัฐจึงมีขึ้นเพื่อพระพุทธศาสนา พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชภาระที่จะปกป้องพระพุทธศาสนาให้พ้นจากการเบียดเบียนของมิจฉาทิฐิ ในขณะเดียวกันก็ใช้พระราชอำนาจสร้างเงื่อนไขให้อาณาประชาราษฎรสั่งสมบารมีเพื่อก้าวหน้าในวัฏสงสารไปสู่พระนิพพาน เป้าหมายเช่นนี้เห็นได้ชัดอย่างน้อยนับตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา (ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา, ๒๕๒๓ : ๕๐-๖๘)

การปฏิรูปการปกครองและศาสนาในรัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เข้าไปแตะต้องหลักการสำคัญในข้อนี้ การปฏิวัติใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็ไม่ได้ปฏิเสธหลักการข้อนี้ แม้ไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย พระพุทธศาสนาจึงมีฐานะที่พิเศษกว่าศาสนาอื่นๆ

ความคิดเกี่ยวกับ “รัฐฆราวาส” แบบฝรั่ง แม้ว่าเป็นแบบอย่างสำหรับให้เราลอกเลียนสัญลักษณ์ของ “ชาติ” แบบใหม่ เช่น เพลงชาติ, ธงชาติ, ภาษาของชาติ ฯลฯ แต่สาระสำคัญของรัฐฆราวาสไม่ได้ซึมเข้าไปในความคิดทางการเมืองของคนไทย ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีความหมายให้คนไทยรู้สึกได้มากนัก เช่น สีขาวในธงชาติซึ่งจะให้หมายถึงศาสนา และการที่เลือกสีขาวก็น่าจะเป็นเพราะไม่ส่อไปอย่างชัดเจนว่าเป็นศาสนาใด (สีและรูปกับศาสนาสัมพันธ์กันในความคิดของคน เช่น สีเขียวและดาวกับศาสนาอิสลาม, สีเหลืองและธรรมจักรกับพระพุทธศาสนาฯลฯ) แต่ไม่นานนักหลังจากใช้ธงไตรรงค์ ก็มีผู้สร้างธงของพุทธศาสนาขึ้นต่างหาก ดังที่อาจเห็นประดับตามวัดวาอารามในเทศกาลทางศาสนาอยู่เสมอ  นั่นก็คือธงเหลืองที่มีตราธรรมจักรอยู่ตรงกลาง และมักจะติดคู่กับธงชาติ

พระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ศาสนาหนึ่งที่พลเมืองทุกคนมีเสรีภาพ จะเลือกนับถือไม่ต่างไปจากศาสนาอื่นๆ แต่พระพุทธศาสนามีสถานะพิเศษในรัฐไทย รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรทุกฉบับกำหนดให้องค์พระประมุขต้องเป็นพุทธมามกะ ราชพิธี, รัฐพิธี และพิธีกรรมที่หน่วยราชการจัดขึ้นแทบทุกอย่างมักมีพิธีสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย รัฐเข้ามาอุดหนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศด้วยเงินภาษีอากรซึ่งเก็บจากพลเมืองมุสลิม คริสต์ ฮินดู และซิกข์

ฉะนั้นรัฐไทยจึงไม่ใช่รัฐฆราวาสแท้ๆ เหมือนรัฐในยุโรปตะวันตก (และก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นด้วย เพราะเราไม่ได้ผ่านประสบการณ์อย่างเดียวกับเขา เพียงแต่ว่าเรามักไปถือเอารัฐแบบเขามาเป็นหลักไว้อ้างอิง ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เหมือนเขาเลย) จะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐไทยก็เป็นรัฐพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีโสเภณีและเราไม่กินเหล้า แต่หมายความว่าเราจัดให้พระพุทธศาสนามีสถานะพิเศษกว่าศาสนาอื่นๆ รัฐไทยเป็นกลางระหว่างศาสนาคริสต์ อิสลาม หรือฮินดู แต่รัฐไทยเจตนาและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าจะลำเอียงเข้าข้างพระพุทธศาสนา

ถึงจะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ และตราไว้อย่างเปิดเผยชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอยู่แล้ว

 

อำนาจและการคานอำนาจ

ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งมีส่วนทำให้ฝรั่งคิดว่าอำนาจนั้นอาจแบ่งแยกได้ เช่น เป็นเวลาหลายศตวรรษในยุโรปที่อำนาจถูกแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองทางโลกและผู้ปกครองทางธรรม การหวงแหนกีดกันแดนของอำนาจระหว่างอำนาจทางโลกและอำนาจทางธรรมนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งถึงกับทำให้เกิดความเป็นอริกันอย่างเปิดเผยระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและสันตะปาปา ฉะนั้นในสมัยใหม่ เมื่อฝรั่งคิดถึงการคานอำนาจ ฝรั่งจึงจัดให้อำนาจหลายอย่างซึ่งเป็นอิสระต่อกันนั้นมาคานกันไปคานกันมา

แต่คนไทยคิดว่าอำนาจนั้นแบ่งแยกไม่ได้ แม้แต่อำนาจทางโลกและทางธรรมก็เป็นอำนาจอันเดียวกัน เพราะบุคคลได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสูงสุดได้ก็ด้วยแรงแห่งกรรมของเขาเอง เมื่อสิ้นบุญแล้วอำนาจทางธรรมก็ย่อมทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งไปเอง ไม่โดยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง อำนาจทางโลกและทางธรรมในความคิดของไทยจึงไม่ใช่อำนาจสองอย่าง แต่เป็นอำนาจอย่างเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ว่าอำนาจทางธรรมเป็นอำนาจใหญ่สุด แต่อำนาจทางธรรมไม่สามารถปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นองค์กรหรือบุคคลได้ เพราะถ้าบุคคลหรือองค์กรใดมีอำนาจทางธรรมสูงสุด (หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือมีบารมีสูงสุด) อำนาจทางโลกย่อมตกเป็นของบุคคลหรือองค์กรนั้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นพระภิกษุที่ทรงคุณแก่กล้าสักเพียงใด ก็ย่อมต้องมีอำนาจน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดิน เพราะพระภิกษุรูปนั้นย่อมมีบารมีที่สั่งสมมาน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดิน หากมีมากกว่าที่ไหนจะเป็นพระภิกษุอยู่ได้ ก็ย่อมต้องมีเหตุทำให้ได้กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปจนได้ การที่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ได้จึงพิสูจน์อยู่แล้วว่าทรงมีอำนาจทางธรรมสูงสุด จึงได้มีพระราชอำนาจในทางโลกสูงสุดไปด้วย

แม้คนไทยคิดว่าอำนาจนั้นแบ่งแยกไม่ได้ แต่อำนาจอันสูงสุดและแบ่งแยกไม่ได้นี้กลับถูกขนาบด้วยข้อจำกัดสองอย่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การใช้อำนาจของผู้ปกครอง ทั้งสองอย่างนี้คนไทยใช้เป็นร่มเงาสำหรับหลบหนีจากอำนาจสูงสุดของผู้ปกครองได้ตลอดมา

ข้อจำกัดอย่างแรกคือผู้นำท้องถิ่น มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ผู้ปกครองของไทยไม่สามารถขจัดผู้นำท้องถิ่นลงได้เด็ดขาด ในสมัยโบราณ การขาดกองทัพประจำการ, ขาดเครื่องมือสื่อสารคมนาคม,ขาดระบบราชการที่มีเอกภาพในการบังคับบัญชา, ขาดการศึกษามวลชนภายใต้การกำกับของรัฐ ฯลฯ ทำให้พระราชอำนาจในทางปฏิบัติต้องมาสะดุดหยุดลงในที่ซึ่งผู้นำท้องถิ่นแข็งแกร่งอยู่แล้ว  อย่างไรก็ตามความขาดแคลนสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นยังเป็นเหตุผลชั้นรองเท่านั้น

เหตุผลที่เป็นหลักจริงๆ ก็คือ เมื่อในทางทฤษฎีอำนาจเป็นสิ่งสูงสุดและบ่งแยกไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินจะธำรงรักษาอำนาจนั้นไว้ได้ในทางปฏิบัติอย่างไร วิธีการก็คือ การแบ่งซอยกลไกของรัฐลงเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยที่ค่อนข้างเป็นอิสระต่อกันจนไม่สามารถท้าทายพระราชอำนาจได้ง่ายๆ ฉะนั้นแม้ว่าไทยมีระบบราชการมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ระบบราชการของไทยจึงเป็นระบบที่ถูกแบ่งซอยเป็นส่วนเล็กๆ ที่ไม่สามารถประสานร่วมมือเพื่อประกอบภารกิจอะไรได้สักอย่างเดียว แต่ละส่วนมีและแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ซึ่งได้มอบหมายจากพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยโบราณก็แย่งกันคุมไพร่ ในสมัยปัจจุบันก็แย่งกันออกกฎให้ตัวเองมีอำนาจอนุมัติเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อเรียกเก็บค่าหัวคิว

ระบบราชการของไทยนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั้น ไม่มีพลังจะร่วมมือกันบำรุงสุขของราษฎรได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีพลังจะรวมกันไปกดขี่ข่มเหงราษฎรได้อย่างเป็นระบบ ฉะนั้นถ้าถือเอาฮิตเลอร์หรือสตาลินเป็นมาตรฐานของระบอบเผด็จการแล้ว เผด็จการของไทยทุกยุคจึงเป็นแค่ตัวตลกเท่านั้น

ด้วยเครื่องมือการปกครองที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ ผู้ปกครองจึงต้องจำนนต่อ “อิทธิพล” นายโยชิฟูมิ ทามาดะ อธิบายคำว่า “อิทธิพล” ในระบบการเมืองไทยว่า คนไทยเห็นว่าอำนาจนั้นมีสองอย่าง อย่างแรกคืออำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือประเพณี คนไทยเรียกว่าอำนาจ อย่างที่สองคือ อำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรับรอง แต่ก็มีพลังเหมือนกับอำนาจอย่างแรก คนไทยเรียกว่า “อิทธิพล” (ดู Yoshifumi Tamada, “Itthiphon and Amnat : An Informal Aspect of Thai Politics,”ใน Southeast Asian Studies, Kyoto University, 1991/3)

อิทธิพล มีมาในสังคมไทยแต่โบราณ และไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกับอำนาจด้วย เพราะเมื่ออำนาจไปเจอ “อิทธิพล” เข้า แทนที่จะปราบปราม “อิทธิพล” ให้เหลือแต่อำนาจอย่างเดียว อำนาจไม่มีพลังจะทำเช่นนั้นได้ อำนาจจึงได้ประนีประนอมกับ “อิทธิพล” โดยรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ เช่น แต่งตั้งนักเลงในท้องถิ่นให้เป็นขุนน้ำขุนนาง หรือแต่งตั้งตระกูลใหญ่ที่มี “อิทธิพล” สูงสุดในส่วนนั้นๆ ให้เป็นเจ้าเมือง

กฎหมายปกครองสมัยใหม่ที่ลอกเลียนมาจากฝรั่ง ไม่สามารถจะประนีประนอมกับ “อิทธิพล” ได้ จึงปล่อย “อิทธิพล” ไว้นอกระบบราชการ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือมีการประนีประนอมระหว่างข้าราชการกับ “อิทธิพล” ทุกระดับ ขุนนางบ้านนอกก็รับเลี้ยงเหล้าและเบี้ยบ้ายรายทางจาก “อิทธิพล” ท้องถิ่น ขุนนางส่วนกลางก็ร่วมเป็นกรรมการธนาคาร, กรรมการสนามกอล์ฟ, รับหุ้นราคาพาร์ ฯลฯ จาก “อิทธิพล” ระดับชาติ

อิทธิพล” จึงเป็นตัวอุปสรรคแก่อำนาจบ้านเมืองมาแต่โบราณ “อิทธิพล” คือข้อจำกัดที่อำนาจอันแบ่งแยกมิได้ของผู้ปกครองไทยต้องเผชิญตลอดมา เมื่อใดที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนก็อาจวิ่งเต้นเข้าหาอำนาจอันถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองได้ หรือวิ่งเต้นเข้าหาความคุ้มครองจาก “อิทธิพล” ที่อำนาจต้องประนีประนอมก็ได้ แล้วแต่ว่ากรณีควรจะจัดการกับความเดือดร้อนนั้นอย่างไร จะพูดภาษาสมัยใหม่แบบฝรั่งว่าอำนาจปกครองของไทยถูก “คาน” จาก “อิทธิพล”ก็ได้

ข้อจำกัดที่ขนาบอำนาจของไทยอีกอย่างหนึ่งคือศีลธรรม หรือพูดให้ชัดคืออาการแห่งความมีศีลธรรม

พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นสามารถธำรงรักษาพระราชอำนาจไว้ได้ก็ต้องแสดงอาการให้เห็นว่าทรงทศพิธราชธรรมและทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ทั้งสองอย่างนี้คืออะไรคนไทยทั่วไปคงไม่รู้ แต่มีความประทับใจว่าต้องทรงพระเมตตาคุณอย่างสูง ทรงเที่ยงธรรมไม่ทรงมัวเมา และทรงศีล กษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นถูกนักปราชญ์ในราชสำนักต้นรัตนโกสินทร์ประณามว่าล้วนแต่ประพฤติผิดศีล เช่นปาณาติบาต, ประกอบมิจฉาจารในกาม, เสวยสุราเมรัย ฯลฯ

นับว่าน่าสังเกตด้วยว่าในแต่ละวัฒนธรรมนั้นเมื่อประสงค์จะประณามกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ เขาเลือกเอาอะไรมาประณาม กรณีของไทยเลือกเอาศีลห้าเป็นบรรทัดฐาน อาการของความมีศีลธรรมจึงเป็นเครื่องแสดงออกที่สำคัญในบรรดาผู้ปกครองไทย อาการที่ขาดศีลธรรมนำมาซึ่งการท้าทายอำนาจจากกลุ่มอื่นๆ ได้ เพราะทำให้ไม่ได้การยอมรับจากประชาชนทั่วไป

อาการของศีลธรรมไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงวัตรปฏิบัติส่วนที่เกี่ยวกับสาธารณะเท่านั้น คนไทยไม่แยกระหว่างวัตรปฏิบัติส่วนสาธารณะกับส่วนตัวออกจากกัน ถือเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นแม้แต่ในชีวิตส่วนตัวผู้ปกครองก็ต้องทำอาการของความมีศีลธรรมคุณธรรมเอาไว้ด้วย รัฐมนตรีมหาดไทยคนหนึ่งเคยต้องลาออกเพราะถูก ส.ส.อภิปรายว่าเปิดโรงแรมกกอีหนูอยู่บ่อยๆ

นอกจากวัตรปฏิบัติแล้ว การกำหนดนโยบายของผู้ปกครองก็จะต้องอธิบายด้วยเหตุผลทางศีลธรรมได้ด้วย กล่าวคือไม่ขัดแย้งกับศีลธรรมอย่างชัดแจ้ง ดังเช่นกฎหมายปรามการค้าประเวณีนั้น มีข้อเสนอให้ยกเลิกไม่เอาผิดกับโสเภณีกันมานานแล้ว แต่ผู้ที่คัดค้านมักจะยกเหตุผลทางศีลธรรมและ “หน้าตา” ขึ้นมาอ้างเสมอว่าเท่ากับส่งเสริมให้คนทำผิดศีลธรรมและเป็นการอับอายขายหน้าต่อประเทศ แต่การที่ประเทศไทยมีโสเภณีร่วมล้านคนนั้น ผู้คัดค้านไม่ค่อยยี่หระเท่าไรนัก เช่นเดียวกับกฎหมายที่จะเปิดให้มีการทำแท้งเสรีขึ้นก็ได้รับการคัดค้านเนื่องด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ทั้งๆ ที่การทำแท้งหรือ”ปรับประจำเดือน” ในเมืองไทยนั้นทำได้ง่ายแสนง่ายอยู่แล้ว ทั้งทำแท้งอย่างปลอดภัยและไม่ปลอดภัย

ฉะนั้น จึงสมควรย้ำไว้ด้วยว่า “ศีลธรรม” ซึ่งมีความสำคัญในการคานอำนาจของผู้ปกครองไทยนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองไทยกลายเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือทำให้นโยบายสาธารณะของผู้ปกครองไทย กอปรด้วยศีลธรรมอย่างเข้มข้นตรงกันข้าม อาการภายนอกของศีลธรรมกลับมีความสำคัญเสียยิ่งกว่าเนื้อหาสาระ พูดง่ายๆ ก็คือในสมัยปัจจุบันนั้น อยากมีเมียน้อยก็เชิญเถิด แต่อย่าให้อื้อฉาว

เยาวรุ่นทศวรรษ 2470 กับพานรัฐธรรมนูญกลางท้องสนามหลวง 2479

อย่างไรก็ตาม เพียงแต่อาการภายนอกของ “ศีลธรรม” ก็นับว่าเป็นพลังอย่างหนึ่งในการจำกัดอำนาจของผู้ปกครองเอาไว้บ้าง

สรุปก็คือ ผู้ปกครองไทยนั้นถูกกระหนาบอยู่ด้วยข้อจำกัดของอำนาจสองอย่าง หนึ่งคือนักเลงในท้องถิ่น และสองก็คืออาการภายนอกของศีลธรรม ทั้งสองอย่างเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถฉีกข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้งไปได้ ผู้ที่ยึดอำนาจบ้านเมืองไว้ได้แต่ละครั้งก็มักจะปราบนักเลงที่ไม่ใช่พวกตน แล้วสนับสนุนสร้างเครือข่ายของนักเลงในสายของตัวขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันก็ประณามบุคคลที่ตัวแย่งอำนาจเขามาได้ว่าไร้ศีลธรรม แม้ว่าผู้แย่งอำนาจก็ปฏิบัติตนไม่แตกต่างไปจากผู้เสียอำนาจก็ตาม

“อิทธิพล” และความหน้าไหว้หลังหลอกทางศีลธรรมไม่ใช่สิ่งที่คนไทยรังเกียจ นักเลงจริงก็ดีแล้วจะได้ช่วยคุ้มครองเราได้ และมีศีลธรรมอย่างหน้าไหว้หลังหลอกก็ยังดีกว่าปรามาสล่วงละเมิดกฎทางศีลธรรมอย่างไม่ยี่หระ ถึงอย่างไรอำนาจก็เหมือนไฟอยู่แล้ว อยู่ใกล้ก็ร้อน อยู่ไกลก็หนาว มีอะไรคานๆ อำนาจของไพไว้บ้างก็ดีแล้ว

กองทัพ

กองทัพก็เป็น “อิทธิพล” (คืออำนาจที่ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับ)อย่างหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากองทัพไม่มี “อำนาจ” (คืออำนาจที่มีกฎหมายและประเพณีรองรับ) กองทัพก็มี “อำนาจ” เหมือนกันเพียงแต่ว่าเป็น “อำนาจ” ที่น้อยนิดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองใด ยกเว้นเผด็จการทหารแล้ว กองทัพจะได้ส่วนแบ่งของ “อำนาจ” นิดเดียวเสมอ กล่าวคือจะปฏิบัติการอะไรได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน, หรือนายกรัฐมนตรี, หรือผู้เผด็จการ

ไทยเพิ่งมีกองทัพประจำการในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง (ที่ฉลองชัยชนะของกองทัพไทยก่อนหน้านั้นเป็นคนละกองทัพกับกองทัพที่เป็นผู้จัดฉลอง ชัยชนะเหล่านั้นเป็นชัยชนะของพระเจ้าแผ่นดินไทยที่นำชาวนาออกรบ) และไม่นานหลังจากมีกองทัพประจำการ กองทัพก็เริ่มไม่พอใจกับ “อำนาจ” ที่มีอยู่น้อยนิดนั้นแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๖กองทัพไม่พอใจกับการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแบ่งงบประมาณมาบำรุงกองทัพน้อย บางส่วนของกองทัพถึงกับพยายามโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัชกาลที่ ๖ ไม่ค่อยดีนักตลอดรัชกาล

กองทัพเริ่มขยายอำนาจของตัวแล้ว ด้วยการมี “อิทธิพล” ทั้งในระดับล่างและระดับที่ประชุมเสนาบดี น่าสังเกตด้วยว่าบทความหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นค่อนข้างจะเชียร์กองทัพ หนังสือพิมพ์ที่ออกโดยกองทัพ เช่น เสนาศึกษา  ได้รับความนิยมกว้างขวางกว่าแวดวงคนในกองทัพ เท่ากับเป็นการเพิ่ม “อิทธิพล” ของกองทัพในสังคมทั่วไปด้วย

แต่ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ประชาชน (อย่างน้อยก็ในกรุงเทพฯ)เชียร์ “อิทธิพล” ของกองทัพ “อิทธิพล” เป็นความจำเป็นต้องมีเพื่อจำกัด “อำนาจ” ในทัศนะของคนไทย ซ้ำกองทัพยังมี “อิทธิพล” ที่ไม่เหมือน “อิทธิพล” อื่นๆ ด้วย กล่าวคือไม่มีขอบเขตจำกัดอยู่แต่เพียงท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง กองทัพมีตำแหน่งแหล่งที่อยู่ในระบบราชการซึ่งเป็นทั้งตัว “อำนาจ” และเครื่องมือของ “อำนาจ” แต่กองทัพเองกลับไม่ค่อยมี “อำนาจ” มากนัก จึงทำอันตรายต่อใครได้ยาก กองทัพมีแต่ “อิทธิพล” ซึ่งคนทั่ไปสามารถเข้าไปพึ่งพิงหรือสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้ง่ายกว่า “อำนาจ” ฉะนั้นจะหา “อิทธิพล” อะไรมาจำกัด “อำนาจ” ที่เพิ่มขยายขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ปกครองในระบบราชการแบบใหม่และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ดีไปกว่ากองทัพเล่า

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กองทัพจึงเป็นแกนหลักในการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อสถานการณ์ของโลกไม่กีดขวาง กองทัพจะกลายเป็น “อิทธิพล” ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แม้ว่โดยกฎหมายและประเพณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว กองทัพย่อมมี “อำนาจ” อยู่นิดเดียวเหมือนเดิม

คนไทยส่วนใหญ่ให้การต้อนรับ “อิทธิพล” ของกองทัพด้วยดีและใช้ประโยชน์จาก “อิทธิพล” นี้อย่างเต็มที่เท่าที่จะใช้ได้ นับตั้งแต่ระดับบุคคลที่วิ่งเต้นเข้าหาทหารเพื่อเอา “อิทธิพล” นั้นไปบีบบังคับให้ “อำนาจ” ของข้าราชการพลเรือนซึ่งมักจะฉ้อฉลยอมตาม หรือฉ้อฉลไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตัว ไปจนถึงระดับที่เป็นกลุ่ม เช่น ร้องเรียนให้แม่ทัพภาคบีบกระทรวงมหาดไทยหรือกรมตำรวจให้ย้ายข้าราชการที่ไม่ชอบออกไปจากพื้นที่

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเป็น “อิทธิพล” ที่บริสุทธิ์ เมื่อมี “อิทธิพล” (ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่มีกฎหมายรับรอง จึงเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ จำกัดไม่ได้ เว้นแต่จะใช้ “อิทธิพล” อีกอันหนึ่งเท่านั้น)อยู่ในมือ ที่ไหนจะไม่ใช้ “อิทธิพล” นั้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ด้วย แต่คนไทยไม่ถือเรื่องนี้ จะใช้ “อิทธิพล” ไปในทางที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวบ้างก็ไม่เป็นไร เจ้าพ่อที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้ทหารปกป้องตัวในกรณีจำเป็นบ้างเท่านั้น

ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับว่า คนไทยได้ใช้ทหารมาปกป้องไม่ให้ข้าราชการสายอื่นๆ หรือโจรผู้ร้ายมารังแกตัวอยู่เสมอมา ถึงไม่ได้ผลทุกครั้งไปแต่ก็ยังดีกว่าไม่มี “อิทธิพล” อะไรมาขวาง “อำนาจ” ที่ตัวเองควบคุมไม่ได้เสียเลย (อย่าลืมด้วยว่าอำนาจในแนวคิดไทยย่อมสูงสุด ไม่อาจแบ่งแยกได้ ฉะนั้นเอาเข้าจริงคนไทยอาจไม่ได้คิดถึงการควบคุม “อำนาจ” ด้วยกลไกทางกฎหมายและสิทธิพลเมือง แต่คิดถึงการใช้ “อิทธิพล” ควบคุม “อำนาจ” มากกว่า)

พูดก็พูดกันตรงๆ เลยก็ได้ว่า ทหารนั้นเป็นที่รักของคนไทยกว่าข้าราชการทุกประเภท เพราะคนไทยไม่ได้มองทหารในฐานะผู้ปกครอง แต่มองในฐานะลูกพี่ ซึ่งช่วยคุ้มครองตัวให้ปลอดภัยจากผู้ปกครองมากกว่า แต่ความรักนั้นจะยั่งยืนอยู่ได้ตราบเท่าที่ทหารมีเพียง “อิทธิพล” แต่ไม่มี “อำนาจ” กล่าวคือไม่กลายตัวเป็นผู้ปกครองเสียเอง เพราะเมื่อเป็นผู้ปกครองหรือมี “อำนาจ” เสียแล้ว ทหารก็จำเป็นต้องเข้าไปอยู่เป็นพวกเดียวกับข้าราชการพลเรือนหรือผู้ปกครองประจำ เพราะต้องใช้ข้าราชการพลเรือนเป็นเครื่องมือในการใช้ “อำนาจ” หรือเป็นเครื่องมือในการปกครอง ถึงตอนนั้นก็ไม่สามารถใช้ทหารเป็นที่พึ่งเพื่อหลบภัยจาก “อำนาจ” ได้อีก ร้ายไปกว่านั้น แม้ทหารเป็นผู้ปกครองหรือมี “อำนาจ” ด้วยเหตุที่ทำรัฐประหารหรือปราบผู้ก่อการร้ายก็ตาม ทหารก็ยังมี “อิทธิพล” อยู่เหมือนเดิม แต่กลายเป็น”อิทธิพล” ที่ไปเสริม “อำนาจ” ทำให้ “อำนาจ” ของผู้ปกครองใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมจนยากแก่การควบคุมได้อีกต่อไป รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยจึงต่อต้านการที่ทหารจะมี “อำนาจ” เมื่อใดก็ตามที่กองทัพเข้าไปกุม “อำนาจ” ของบ้านเมืองไว้ ความนิยมชมชอบทหารของคนไทยก็ลดถอยลง ในทางตรงกันข้าม เวลาที่กองทัพไม่ได้กุม”อำนาจ” ของบ้านเมือง ทหารกลับได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนมากขึ้น จะดึงดูดศัตรูให้มา “ร่วมพัฒนาชาติไทย” ก็ได้ จะไม่เปิดเผยงบประมาณบางส่วนแก่สภาฯ ก็ได้ จะยึดรถโมบายของหลวงไปเก็บไว้คนก็เฮฮามากกว่าเห็นเป็นเรื่องใหญ่อะไร เพราะทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องของการใช้ “อิทธิพล”

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยชอบให้ทหารมี “อิทธิพล”แต่ไม่ชอบให้มี “อำนาจ”

ส.ส.

ส.ส. นั้นคล้ายทหารมากที่สุด กล่าวคือ ส.ส. ไม่ใช่ผู้ปกครอง แม้แต่หน้าที่ทางนิติบัญญัติก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่าไรนัก ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ส.ส. นั้นแทบไม่มี “อำนาจ” อะไรเลย จะแต่งตั้งใครเป็นกำนันยังไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ ส.ส. มี “อิทธิพล” ที่แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังเกรงใจ ส.ส. จึงเป็น “อิทธิพล” ให้ราษฎรได้พึ่งพิงช่วยวิ่งเต้นต่อรองกับผู้ปกครองได้อย่างดี

คนไทยไม่คิดจะให้ ส.ส. มี “อำนาจ” อะไรมากขึ้น อยากเห็นส.ส. เป็นคนกระจอกอย่างนั้น แต่ขอให้มี “อิทธิพล” มากๆ เป็นดี ฉะนั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลย่อมดีกว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน เนื่องจากคาดหวังกันว่า เมื่อเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วก็คงมี “อิทธิพล” มากขึ้น เช่น วิ่งเต้นบีบให้ย้ายผู้ว่าฯ ยังได้

หน้าที่ของ ส.ส. ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมจึงเป็นผู้วิ่งเต้นต่อรองกับราชการแทนประชาชน และเป็นผู้ใช้ “อิทธิพล” ปกป้องคุ้มครองราษฎรให้รอดพ้นจากพวกผู้ปกครองคนที่ราษฎรไม่ชอบ ส่วนจะไปยกไม้ยกมือออกกฎบัตรกฎหมายอะไรนั้นก็ทำไปเถิด เพราะดูจะทำให้มี “อิทธิพล” มากขึ้นดี แต่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่โดยตรงของ ส.ส.ทำก็ได้, หลับไปเสียบ้างก็ได้, หายหน้าไปจากสภาเลยก็ได้ ไม่เป็นไร

รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรจะเขียนไว้อย่างไรก็ตาม แต่หน้าที่ของ ส.ส. ตามความคาดหวังของคนไทยมีอยู่อย่างนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ส.ส. จึงพบว่าการมีและใช้ “อิทธิพล” นั้นเป็นหน้าที่หลักของตัวในการเป็น ส.ส. “อิทธิพล” นั้นใช้ได้ทั้งเพื่อคนอื่นและเพื่อตนเองและพรรคพวกของตนเอง ส.ส. ก็ใช้ “อิทธิพล” ไปในสองทางนี้ผสมปนเปกันไป ใช้เพื่อคนอื่นสำหรับไว้เป็นฐานความนิยมให้ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ ใช้เพื่อตนเองและพรรคพวกเพื่อประโยชน์ส่วนตนและเป็นฐานทางเศรษฐกิจให้ตัวได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่อีกเหมือนกัน จะเป็นผู้มี “อิทธิพล” ในเมืองไทยโดยไม่มีเงินในกระเป๋าให้ควักแจกได้เลยนั้นเป็นไปไม่ได้

ส.ส. แต่ละคนมี “อิทธิพล” มากกว่าทหารแต่ละคน แต่ ส.ส. ในฐานะกลุ่มมี “อิทธิพล” น้อยกว่ากองทัพ ในแง่นี้ทำให้ ส.ส. มีภาษีกว่าทหารเนื่องจาก ส.ส. คนเดียวก็มี “อิทธิพล” สูงสุดอยู่แล้ว ถึงไปรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มหรือเป็นพรรคก็ไม่เพิ่ม “อิทธิพล” ขึ้นมาได้สักกี่มากน้อย ในขณะที่ทหารคนเดียวมี อิทธิพล” จำกัด ทหารจะใช้ “อิทธิพล”ได้เต็มที่เมื่อสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพหรือของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ส.ส. จึงเป็นที่พึ่งได้ง่ายกว่าทหาร หากทำให้ ส.ส. ตกลงใจว่าจะช่วยเหลือ (ด้วยวาจาหรือทรัพย์ก็ตามแต่) ส.ส. ก็ลงมือใช้ “อิทธิพล”ได้เลย

นอกจากนี้  ในฐานะที่ ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ชาวบ้านก็รู้สึกว่าจะเข้าหาได้ง่ายกว่าทหารหรือเจ้าพ่อในท้องถิ่นอยู่แล้ว ฉะนั้น ส.ส. จึงเป็น “อิทธิพล” ที่มีความสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ถึงอย่างไรๆ ก็ต้องมี ส.ส. ซึ่งแปลว่ามี “อิทธิพล” ของคนที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง ซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมาเองและมีวาระการดำรงตำแหน่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าราษฎรจะเข้าหาได้ง่าย

“อิทธิพล” อื่นๆ ในเมืองไทยนั้น ถึงแม้ว่าคนไทยไม่รังเกียจแต่เป็น “อิทธิพล” ที่คนไทยไม่ได้สร้างขึ้น หากตัวเขาเป็นผู้สร้าง “อิทธิพล” นั้นขึ้นเองหรือคนอื่นสร้างขึ้นมา ส.ส. เท่านั้นที่เป็น “อิทธิพล” ที่ราษฎรเลือกจะหยิบยกให้แก่ใครก็ได้ การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม เพราะเป็นหลักประกันว่า “อิทธิพล” ที่ราษฎรสร้างขึ้นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อราษฎรบ้าง อาการที่ผู้สมัครส.ส. กราบกรานนอบน้อม, แจกปลาทู, แจกเงินซื้อเสียง ฯลฯ ล้วนเป็นอาการที่น่าพอใจทั้งสิ้น เพราะช่วยยืนยันว่า “อิทธิพล” ที่จะมีในภายหน้านั้นเป็น “อิทธิพล” ที่ราษฎรพอจะใช้ประโยชน์ได้เพราะควบคุมได้อยู่บ้าง

แท้ที่จริงการแจกเงินซื้อเสียง (หรือทำอะไรก็ตามที่ไม่ใช่การใช้พลร่มไพไฟ) นั้นเองเป็นการยืนยันใน “อธิบไตย” ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

 

กฎหมาย

“อิทธิพล” เป็นพลังที่คะคานได้ยาก เพราะ “อิทธิพล” ไม่ได้มีฐานมาจากกฎหมาย “อิทธิพล” จึงเป็นพลังที่น่ากลัวพร้อมกันไปกับเป็นพลังที่มีประโยชน์ วิธีที่คนไทยใช้ในการคะคาน “อิทธิพล” นั้นมีสองอย่าง หนึ่งก็คือการใช้ “อิทธิพล” อื่นที่ใหญ่กว่ามาคาน “อิทธิพล” ที่เป็นอันตรายต่อตัวเองอยู่ และสองก็คือการหันไปพึ่งพิง “อำนาจ” เพื่อมาคาน “อิทธิพล”

วิธีคาน “อิทธิพล” อย่างที่หนึ่งนั้น สมัยก่อนนี้อาจทำได้ไม่ยากนัก เพราะ “อิทธิพล” ต่างๆ ยังไม่ประสานเข้าหากันอย่างแนบแน่น การเอาอาร์พีจีหรือเอ็มสิบหกถล่มเจ้าพ่อจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากจนถึงที่สุด แม่ทัพนายกองที่อยู่ตามหัวเมืองก็อาจใช้ “อิทธิพล” ของตนสยบ “อิทธิพล” ท้องถิ่นลงได้ แต่มาในระยะหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ “อิทธิพล” ระดับต่างๆ ประสานเข้าหากัน ในบางท้องที่อาจมีการขยาย “อิทธิพล” ของเจ้าพ่อบางคนไปในอาณาบริเวณที่กว้างขวางมากๆ เกือบทั้งภาค ในบางท้องที่ “อิทธิพล” ประจำถิ่นประสานประโยชน์แบ่งพื้นที่หากินกันได้โดยสงบ จึงเป็นการยากที่จะดึงเอา “อิทธิพล” หนึ่งมาคานอีก “อิทธิพล” หนึ่งได้

ที่ร้ายที่สุดก็คือ “อิทธิพล” ในท้องถิ่นต่างๆ นั้นสามารถประสานประโยชน์กับ “อิทธิพล” ที่แฝงอยู่ใน “อำนาจ” ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการที่ “อิทธิพล” หนุนหลังนักการเมืองบางกลุ่ม จนกระทั่งในที่สุด “อิทธิพล” ก็มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี ทำให้ “อิทธิพล” ของข้าราชการหรือผู้ถือ “อำนาจ” กลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับ “อิทธิพล”ของเจ้าพ่อ

แต่อย่ายกเพียงตัวอย่างของนักการเมืองเลย เพราะไม่ยุติธรรมข้าราชการประจำทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนจำนวนมากก็มีผลประโยชน์ประสานสอดคล้องกับ “อิทธิพล” และใช้ “อิทธิพล” ซึ่งแฝงอยู่ใน”อำนาจ” ของตัวเพื่อกว้านซื้อที่ดินบ้าง, เพื่อลงทุนด้านการท่องเที่ยวบ้าง หรือเพื่อรับทรัพย์ในการเปิดบ่อนบ้าง เป็นต้น ในกรณีอย่างนี้การคาน “อิทธิพล” ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น และด้วยเหตุดังนั้นทำให้คนไทยต้องหันไปคาน “อิทธิพล” ด้วยวิธีที่สองกันมากขึ้น นั่นก็คือการดึงเอา “อำนาจ” มาคาน “อิทธิพล”

ได้กล่าวแล้วหลายครั้งว่า “อำนาจ” มีฐานอยู่ที่กฎหมายและประเพณี แม้ว่าคนไทยรังเกียจ “อำนาจ” เพราะเป็นตัวทำความเดือดร้อนให้ตัวอยู่เป็นประจำ แต่คนไทยก็รู้ว่าบ้านเมืองต้องมี “อำนาจ”เพราะถ้าปราศจาก “อำนาจ” เสียเลยแล้ว จะหาพลังอะไรมาคาน”อิทธิพล” ได้เล่า เหตุดังนั้นคนไทยจึงสนับสนุนทั้ง “อำนาจ” และ”อิทธิพล” ให้ดำรงอยู่ เพื่อให้ทั้งสองอย่างนี้คะคานกันเอง

เมื่อฐานของพลังของ “อำนาจ” มาจากกฎหมาย คนไทยก็เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ชอบให้ใครมาฉีกทำลายกฎหมาย (ที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ) ลงได้ง่ายๆ แต่เพราะเชื่อในความสำคัญของ”อิทธิพล” เหมือนกัน จึงไม่ยี่หระเท่าไหร่หากกฎหมายจะถูกล่วงละเมิดอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ว่าทุกคนต้องแสดงความเคารพต่อกฎหมายเท่านั้นเป็นพอ ทั้งนี้เพราะตราบเท่าที่กฎหมายยังดำรงอยู่ คนไทยก็สามารถสู้กับ “อิทธิพล” ที่เบียดเบียนตัวเกินไปได้ด้วยการเรียกร้องบรมเดชานุภาพของกฎหมายมาปราบ “อิทธิพล”

กฎหมายประเภทที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา,วิ. แพ่ง, วิ. อาญา, พระราชกฤษฎีกา, กฎกระทรวง, ระเบียบกรม ฯลฯ จึงมั่นคงยิ่งนักในสังคมไทย ใครมี “อิทธิพล” อยากฉีกรัฐธรรมนูญก็เชิญ แต่อย่าแตะกฎหมาย นอกจากต้องประกอบพิธีกรรมให้ถูกต้อง เช่น ตั้งพรรคพวกและสมุนให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเสียก่อน แล้วค่อยจัดการแก้กฎหมายได้ตามพิธีกรรม

นักรัฐประหารในเมืองไทยนั้นเป็นนักกฎหมายโดยสัญชาตญาณ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเอามากระทืบทิ้งต่อหน้าต่อตาคนอื่นได้ แต่กฎหมายเล็กน้อยอะไรเพียงแค่จะเรียกเก็บค่าน้ำชลประทานสัก ๑๐ บาท ก็ต้องดำเนินตามมาตรการที่ซับซ้อนยุ่งยากให้ถูกต้องตามพิธีกรรม ทั้งนี้เพราะนักรัฐประหารรู้ดีว่ากฎหมายมีความสำคัญแก่คนไทยอย่างมากสำคัญก็เพราะว่า กฎหมายทำให้พลังของ “อำนาจ” ตั้งมั่นอยู่ได้ แม้ว่า”อำนาจ” มักจะกดขี่เบียดเบียนให้เดือดร้อน แต่ถ้าไม่มี “อำนาจ”เสียเลยแล้ว “อิทธิพล” ก็จะเหลิงจนเอาไม่อยู่เสียเลย ซึ่งก็จะกดขี่เบียดเบียนให้เดือดร้อนได้มากไม่น้อยไปกว่า “อำนาจ”

คนไทยอาจไม่เชื่อใน the rule of law (การปกครองด้วยกฎหมาย) เหมือนฝรั่ง แต่คนไทยเชื่อใน the persistence of law (การดำรงคงอยู่ของกฎหมาย) และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็บัญญัติให้กฎหมายต่างๆ ดำรงอยู่อย่างมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง

กฎหมายดำรงคงอยู่ให้ประจักษ์ได้ไม่ใช่เฉพาะในกระดาษ แต่ส่วนสำคัญของกฎหมายที่ต้องดำรงคงอยู่ในทัศนะของคนไทยคือ”อำนาจ” ตุลาการ

ในอุดมคติของคนไทย “อำนาจ” ตุลาการเป็น “อำนาจ” ที่บริสุทธ์ที่สุด กล่าวคือปราศจากการแฝงเร้นของ “อิทธิพล” โดยสิ้นเชิง ผู้พิพากษาในทัศนะของคนไทยเป็นคนสะอาดบริสุทธิ์เพียงจุดเดียวในกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ ความเชื่อเช่นนี้ทำให้คนไทยอุ่นใจได้ว่า “อำนาจ” มีพลังในการคะคานกับ “อิทธิพล” ได้จริง เพราะหากสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไปจนคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว “อิทธิพล” ก็จะถูกยับยั้งหรือบรรเทาความร้ายกาจลงได้ด้วย “อำนาจ” อันบริสุทธิ์ของผู้พิพากษา

แต่ควรเข้าใจด้วยว่า คนไทยไม่ได้หวังเอาศาลเป็นที่พึ่งในทุกกรณีของความขัดแย้ง ตรงกันข้ามมีวิธีขจัดความขัดแย้งในวัฒนธรรมไทยอีกมากที่คนไทยใช้ เอาเข้าจริงแม้แต่การนำความขัดแย้งขึ้นสู่ศาล ก็เป็นเพียงส่วนเดียวของกระบวนการต่อรองเพื่อขจัดความขัดแย้ง คนไทยไม่ได้มองเห็นศาลเป็นที่พึ่งอันเด็ดขาดท้ายสุดของการตัดสินความขัดแย้ง (อย่างที่นักกฎหมายคิดว่าควรจะเป็น) เช่น ฟ้องศาลให้ยุติการก่อสร้างคอนโดข้างบ้านไม่ใช่เพื่อให้เขาหยุดสร้างคอนโด แต่เพื่อต่อรองกันในเรื่องเงินชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้บ้านเราทรุด เมื่อได้เงินตามที่ต้องการแล้วก็ไปถอนฟ้องเสีย เป็นต้น (ดู Divid M.  Engle, Code and Custom in a Thai Provincial Court, 1978, ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้บอกผู้เขียนบทความนี้เป็นการส่วนตัวเมื่อไม่นานมานี้ว่าเมื่อเขากลับไปทำวิจัยทำนองเดียวกันนี้ในชุมชนเล็กๆ ของอเมริกัน ก็พบว่าคนอเมริกันก็ใช้ศาลในลักษณะเดียวกับคนไทย คือเป็นเพียงส่วนเดียวของการต่อรองเพื่อขจัดความขัดแย้ง เขาคิดว่ามนุษย์ที่ไหนๆ ก็มีวิธีขจัดความขัดแย้งด้วยมาตรการอื่นๆ มากมายในทุกวัฒนธรรม กฎหมายมีหน้าที่น้อยมากในการขจัดความขัดแย้งของมนุษย์ในสังคม)

เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้ จะยิ่งเห็นได้ชัดว่ากฎหมายและตุลาการนั้นเป็นส่วนสำคัญของเกมอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมจึงบัญญัติให้กฎหมายและตุลาการเป็นสิ่ง “ศักดิ์สิทธิ์” ที่นักรัฐประหารจะไปแตะต้องง่ายๆ ไม่ได้เป็นอันขาด

ได้กล่าวแล้วว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันทำให้ “อิทธิพล” ประสานเข้าหากันมากขึ้น ดังนั้น ช่องทางที่จะคาน “อิทธิพล” โดยการใช้ “อิทธิพล” อื่นจึงทำได้ยากขึ้นไปด้วย นี่คงเป็นเหตุผลให้คนไทยต้องหันมาหาการคาน “อิทธิพล” อย่างที่สองมากขึ้น นั่นก็คือการดึงเอา “อำนาจ” มาคาน “อิทธิพล” ความใส่ใจของคนไทยในการแก้ไขกฎหมายหลังการรัฐประหารจึงดูคึกคักขึ้นตามไปด้วย เพราะถึงตอนนี้ข้อบัญญัติที่มีในกฎหมายนั้นจำเป็นต้องกระทบถึงชีวิตของเขาจริงมากกว่าที่เคยเป็นมา

น่าสังเกตด้วยว่า แนวทางการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของทางราชการในยุคนี้จะเป็นไปในสองแนวทาง หนึ่งคือสร้างหลักประกันสิทธิบางประการแก่ประชาชนมากขึ้น (เช่น เรียกทนายในระหว่างถูกตำรวจสอบปากคำได้ มาตรการการฝากขังที่รัดกุมขึ้น ฯลฯ) ทั้งนี้เพราะเมื่อต้องไปสัมพันธ์กับ “อำนาจ” อย่างหลีกเยงได้ยาก ก็จำเป็นจะต้องมีกฎหมายจำกัด “อิทธิพล” ของ “อำนาจ” ไว้ให้ปลอดภัยแก่การเข้าใกล้

แนวทางที่สองของการแก้ไขกฎหมายและระเบียบก็คือ การเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ “อำนาจ” ต้องทำหน้าที่ของตัว เช่น มีระยะเวลาที่แน่นอนว่าต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากที่ได้รับคำร้องจากราษฎรแล้ว หรือเริ่มมีเสียงเรียกร้องว่าการใช้ “อำนาจ” วินิจฉัยของราชการนั้นต้องมีข้อจำกัด กล่าวคือเมื่อไม่อนุมัติต้องสามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้ประจักษ์ได้ว่าผิดกฎเกณฑ์ในข้อใด และในขณะเดียวกัน ผู้เสียสิทธิ์ย่อมสามารถนำขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แม้แต่ความคิดที่จะมีศาลปกครองขึ้น ก็เพื่อลดทอน “อำนาจ” วินิจฉัยของฝ่ายปกครองลงนั่นเอง เพราะถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

แนวทางที่สองของการแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ก็คือความพยายามจะตรวจสอบ “อำนาจ” เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะใช้ “อิทธิพล” ไปคาน”อำนาจ” อย่างที่เคยทำมาได้ยากขึ้นเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องมาจัดการกับ “อำนาจ” ด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของตัวเอง หากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยจะเอนมาบัญญัติให้เกิด the rule of law มากขึ้นกว่า the persistence of law

ความเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมในแง่นี้ สะท้อนถึงการต่อสู้ของประชาชนไทยในท่ามกลาง”อำนาจ” และ “อิทธิพล” ซึ่งเขาคุมไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ และเบียด เบียนเขามาตลอดเวลา ทั้งอาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่ฉลาดลึกซึ้ง นับเป็นภูมิปัญญาของสังคมไทยโดยแท้

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของบางสถาบันที่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมกำหนดให้มี และกำหนดอำนาจหน้าที่เมื่อไปสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ เท่านั้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมฉีกไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อกำหนดที่กล่าวแล้วนั้นก็คงต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในภายหน้า ดังเช่นที่ข้อกำหนดในอดีตได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน ในที่นี้จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยเพื่อเป็นตัวอย่าง

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแต่เดิมนั้น ไม่เคยตราว่าบุคคลเท่าเทียมกัน ในทางตรงกันข้าม บุคคลไม่เท่าเทียมกันเพราะเหตุสองอย่างคือ หนึ่ง กำเนิด และสอง สถานะซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่บุคคล ความไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยในสมัยโบราณ

แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของบ้านเมือง ทำให้ความเสมอภาคเริ่มมีความสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมสมัยปัจจุบัน ความสูงต่ำจากกำเนิดเกือบจะไร้ความหมายไปเสียแล้ว บุคคลไม่สามารถอ้างกำเนิดเพื่อดำรง “อำนาจ” หรือ “อิทธิพล” ใดๆ ได้อีกต่อไป (ยกเว้นสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งยังมีความมั่นคงในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของปัจจุบัน) สถานะที่ได้รับพระราชทาน (หรือตำแหน่งแหล่งที่ในระบบการปกครอง) เท่านั้นที่ทำให้เกิด “อำนาจ” ลดหลั่นกันแต่ไม่ก่อ

ให้เกิด “สิทธิ” เป็นพิเศษแก่บุคคลแต่อย่างไร

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ “อำนาจ” ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างในเรื่องสิทธิ เพราะ “อำนาจ” มีที่มาจากกฎหมายจึงถูกตรวจสอบได้รัดกุมเมื่อนายทหารใหญ่อนุญาตให้บริษัทเอกชน (ซึ่งตนอาจเกี่ยวข้องด้วยทางใดทางหนึ่ง ใช้เฮลิคอปเตอร์ของหลวงไปบินสำรวจพื้นที่ทำสนามกอล์ฟ คนก็ด่ากันทั้งเมืองแม้ว่าจะอยู่ในภาวะรัฐประหารก็ตาม เพราะการดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพไม่เกิดสิทธิในแง่นี้

ในทางตรงกันข้าม “อิทธิพล” ก่อให้เกิดความต่างของ “สิทธิ” ได้มาก และคนไทยก็ยอมรับในความต่างของสิทธิที่เกิดจาก “อิทธิพล”ที่ต่างกัน คนมี “อิทธิพล” ย่อมได้รับอภิสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ ได้มาก นับตั้งแต่ประมูลโรงเหล้าด้วยเงื่อนไขที่ได้เปรียบ, ประมูลงานหลวงด้วยเงื่อนไขที่หลวงเสียเปรียบ, จับจองที่ปาสงวนฯ ไปทำรีสอร์ต, ลัดคิวเข้าโรงพยาบาลหลวง, หรือเปิดบริษัทการบินส่วนตัว ฯลฯ

หลักความเสมอภาคที่เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม จึงเป็นคนละหลักกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฝรั่ง เพราะมีกำเนิดและแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังแตกต่างกัน ดูเหมือนความเสมอภาคของไทยเป็นความเสมอภาคของตลาด นั่นก็คือเงินทำให้เกิดกำลังซื้อที่เท่าเทียมกัน คนจนๆ ก็ได้รับการเสริม “ศักดิ์ศรี” ด้วยระบบเงินผ่อน คนไทยไม่ค่อยอิจฉาคนขี่รถเบนซ์ เพราะคิดว่าถ้าเรารวยเท่าเขาเราก็มีสิทธิ์จะขี่รถเบนซ์เหมือนกัน รถเบนซ์จึงไม่มีฐานะเหมือนเสลี่ยงหรือคานหาม ซึ่งสิทธิในการใช้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเงินที่มีในกระเป๋า

จำโมษณาบัตรเครดิตได้หรือไม่ว่า “ทั้งร้านนี่เท่าไหร่” มันสะใจคนไทยยิ่งนัก เพราะตรงกับหลักความเสมอภาคของไทยในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมพอดี

คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน เพศ, กำเนิด, ฐานันดร, สีผิว,ศาสนา ไม่ทำให้เกิดความแตกต่าง ยกเว้นเงินในกระเป๋า

พิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในปี 2479

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเปลี่ยนเพราะเหตุใด?

คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ เมื่อ “วัฒนธรรม” เปลี่ยน รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็เปลี่ยน แต่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนอย่างไร และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมอย่างไรนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงได้โดยปราศจากการค้นคิดอย่างดีพอ

ฉะนั้น คงไม่มีที่ใดเหมาะไปกว่าที่นี้ในอันจะยุติบทความนี้ลงเสีย

[จาก ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ (พฤศจิกายน, ๒๕๓๔)]