22 พ.ค.2557-2565 พลังประชาธิปไตย ล้างคราบรัฐประหาร/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

22 พ.ค.2557-2565

พลังประชาธิปไตย

ล้างคราบรัฐประหาร

22 พฤษภาคม 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการปฏิวัติ

แม้เวลาผ่านไป 8 ปีแล้ว หากแต่มีผลสืบเนื่องถึง 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างปฏิเสธไม่ได้

ด้วยตัวบุคคลในเหตุการณ์ปี 2557 และปี 2565 ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไป พ.ศ.2557 วิกิพีเดียบันทึกไว้ว่า คสช. อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การรัฐประหารเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อมีการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับนายทักษิณ ชินวัตร กับพวก

โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ขึ้นต่อต้าน

เดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

แต่ก็ถูกประท้วงต่อต้านขัดขวาง

ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากย้ายโดยมิชอบ

แต่รัฐมนตรีที่เหลืออยู่ก็สู้ต่อโดยเลือกนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นผู้ปฏิบัติราชการนายกรัฐมนตรีแทน

 

ระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ร่วมขับเคลื่อนถอนรากถอนโคนอิทธิพลของนายทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยอ้างว่า ไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้ โดยค่อยๆ วางกำลังกระชับอำนาจในพื้นที่ต่างๆ

จนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส.

วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กอ.รส.เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในประชุมร่วม 7 ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์สอบถามนายชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ นายชัยเกษมตอบว่า ต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์จึงประกาศ “หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ”

มีการสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี รวมถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ

ผลของรัฐประหารทำให้สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองถูกระงับ ประเทศเข้าสู่ยุคที่กองทัพชี้นำประชาธิปไตย

ขณะที่แกนนำ กปปส.และแนวร่วมต่างพึงพอใจกับการรัฐประหารครั้งนี้ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาต่อมาว่า กปปส.มีส่วนสร้างเงื่อนไขเพื่อปูทางสู่การยึดอำนาจครั้งนี้

 

คสช.ออกคำสั่งให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง

แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญตามใจแป๊ะ เพื่อให้เขาอยู่นานๆ และมีเป้าหมายที่สืบอำนาจต่อไป

6 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

16 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับเข้ามาเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ แม้จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามระบอบประชาธิปไตย

แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์กลับชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างยาวนานหลายปี

โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา เพิ่งจะมีการยินยอมให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้

กล่าวเฉพาะผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร แม้หลังการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป

แต่เป็นการยินยอมท่ามกลางการจับตาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้นคนจากพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายสุเทพแยกตัวออกไปตั้ง กปปส.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเปิดเผย

ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์อยู่ในตำแหน่งต่อไป

แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจเหล็กตามมาตรา 44 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์พ้นจากตําแหน่ง

และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน

หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงมติดำเนินการเอาผิดการทุจริตโครงการประดับตกแต่งไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณลานคนเมืองของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 39.5 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ระบุว่า แพงเกินจริง และมีบทสรุปเบื้องต้นจะเอาผิดกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ข้าราชการ กทม. และคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์รวม 9 คน

แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยืนยันว่าไม่ได้ทุจริตและประกาศพร้อมสู้

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็ปิดโอกาส สั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แม้ว่าในภายหลัง ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แต่กล่าวหาเฉพาะรองผู้ว่าฯ กทม.กับพวกขณะนั้น รวมทั้งหมด 14 ราย

แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะพ้นบ่วงหนามแต่ก็ไม่ได้หวนกลับตำแหน่ง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กลายเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 16 ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร

และอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 5 ปี

โดยมีนายสกลธี ภัททิยกุล แกนนำ กปปส. ถูกแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมทำงานกับ พล.ต.อ.อัศวินกว่า 4 ปี

 

บุคคลข้างต้น ปัจจุบันส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ทั้งในฐานะผู้สมัคร และผู้สนับสนุน

และถูกจัดกลุ่ม จัดขั้ว อย่างที่นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอ

โดยแบ่งสนาม กทม.ออกเป็น 2 ขั้วการเมืองใหญ่ที่เชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ

อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่แล้ว เมื่อ 3 มีนาคม 2556

ที่มีการแบ่งฐานคะแนนเสียงอย่างชัดเจน เป็นกลุ่มที่เอาทักษิณกับกลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ

กลุ่มไม่เอาทักษิณ เทคะแนนเสียงให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ 1,256,349 คะแนน จนเบียดชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย 1,077,899 คะแนน

ในครั้งนี้นายเทพไทระบุว่า มีการแบ่งฐานเสียง 2 ฐานเสียงเช่นกัน

เป็นของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ 2 คน

กลุ่มที่ไม่เอาทักษิณ เป็นผู้สมัครอยู่ 4 คน กลุ่มนี้มีฐานเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และกลุ่ม กปปส.

 

แม้ว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ถูกนายเทพไทจัดกลุ่ม อาจจะไม่เห็นด้วย เพราะต่างยืนยันถึงความเป็นอิสระของตน มิได้อยู่กับขั้วใด

และแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย

แต่กระนั้น น่าสังเกตว่า ในฝ่ายกองเชียร์ โดยเฉพาะในฝั่งฟากไม่เอาทักษิณ ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักขณะนี้

โดยรณรงค์ให้มีการเลือกในเชิงยุทธศาสตร์

หลังจากที่ฝ่ายที่ถูกระบุว่าเอาทักษิณ ที่อาจตีความกว้างถึงฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย โพลสำนักต่างๆ ระบุสอดประสานกัน มีคะแนนนำโด่ง

ด้วยเหตุนี้ อีกขั้วหนึ่งจึงต้องออกมาสกัดด้วยการเสนอการเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์

ดังนายเสรี วงษ์มณฑา ได้ออกมาปลุกกระแสว่าควรจะใช้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์

โดยเทคะแนนเสียงให้ผู้สมัครขั้วไม่เอาทักษิณที่มีคะแนนเสียงมีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะมากที่สุด เพื่อให้เกิดคะแนนเป็นกลุ่มก้อนไม่พ่ายแพ้

เช่นเดียวกับนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บอกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ขอให้เห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าภายหลังการเลือกตั้ง โดยหันมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์ให้กับผู้สมัครที่มีแนวโน้มจะชนะมากที่สุด

สอดคล้องกับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ระบุว่า การที่โพลทุกสำนักชี้ว่าผู้สมัครบางคนนำโด่งมาโดยตลอดจนเหมือนชัยชนะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ชัยชนะนี้คือ การเริ่มต้นแลนด์สไลด์ที่ กทม.

เป็นการแลนด์สไลด์ตามยุทธการ “กินทีละคำ” ของทักษิณ

คำแรก คือการหลอกล่อให้พรรคใหญ่ตกหลุมด้วยการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

กินคำที่สอง ก็คือชนะแลนด์สไลด์ในกรรมาธิการแก้กฎหมายลูกให้คิด ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยการหารด้วย 100 และยกเลิกระบบ ส.ส.พึงมี

คำที่สาม คือการแลนด์สไลด์ในการเลือกผู้ว่าฯ กทม.

คำที่สี่ ที่กำลังล็อบบี้ ส.ส.ในสภาให้ทำการคว่ำนายกฯ ให้ได้ เพราะถ้าสามารถทำได้ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีหัวหน้าพรรคการเมืองใดมาแข่งกับคนของฝ่ายตนได้

คำที่ห้า คือการชนะเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส. 253 คน เพื่อไทยเข้าเป็นรัฐบาล

คำที่หก ซึ่งเป็นคำสุดท้าย ซึ่งก็คือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทักษิณกลับบ้าน

จากยุทธการกินทีละคำนี้ นพ.ระวีจึงเชิญชวนให้โหวตทางยุทธศาสตร์ โหวตให้คนที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะชนะคนที่โพลระบุว่าคะแนนนำได้

โดยขู่ไม่เช่นนั้นนายทักษิณมาแน่นอน

 

ยุทธศาสตร์แบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ที่ถูกปลุกขึ้นในห้วงโค้งสุดท้ายนี้จะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

แต่กระนั้น ภูมิทัศน์การเมืองไทยโดยเฉพาะในสนาม กทม.แม้ผู้เล่นจะซ้ำเดิม แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะความรู้สึกต่อการรัฐประหารที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า มิหนำซ้ำยังถ่วงดุลให้ประเทศถอยหลังไปหลายก้าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะ คสช. กล่าวถึงการรัฐประหารปี 2557 ว่า

“แล้วใครจะไปรัฐประหาร ใครจะทำล่ะ ที่ผ่านมาเขาทำกันเมื่อไหร่ ทำเพราะอะไร ย้อนกลับไปดูพฤติกรรมสมัยก่อนก็แล้วกัน ถ้าใครจะว่าแล้วบ้านเมืองอยู่มาถึงวันนี้ได้ สงบแบบนี้มันเพราะอะไร แล้วใครอยากจะให้มันเกิดขึ้นอีกหรือ ไม่มีหรอก ผมก็ไม่อยากทำ”

ซึ่งแม้จะอ้างความจำเป็นต้องทำ แต่ก็ออกตัวว่า “ไม่อยากทำ”

สะท้อนว่า ณ เวลานี้ก็ไม่ได้ยืนหยัดเต็มร้อยกับวิธีการนี้

อันสอดคล้องกับข้อมูลจากนายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เกี่ยวกับความเห็นของคน กทม. ต่อการรัฐประหารของ คสช. พ.ศ.2557จากจำนวนตัวอย่างที่สำรวจ 1,200 คน พบคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คสช. 2557 อย่างชัดเจนถึง 93% เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2557 เพียง 2.7% ไม่มีความเห็น 4.3%

แนวโน้มเช่นนี้ จึงอาจทำให้คนกรุงเทพฯ ใช้การไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่รอมาร่วม 8 ปี ล้างคราบการรัฐประหาร

รวมถึงปฏิเสธคนที่เชื่อมโยงไปถึงการยึดอำนาจในปี 2557

การโหวตทางยุทธศาสตร์ จึงอาจไม่เป็นจริง!?