ฟื้นตัวแบบ K-shape จริง / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

ฟื้นตัวแบบ K-shape จริง

 

หลังจากโควิด-โอมิครอนแนวโน้มลดลงหลังสงกรานต์ หลังจากผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ทั้งภายในประเทศ และการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 เพิ่งมีโอกาสเดินทางไปแวะพัทยา เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ

ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร พบว่า

โรงแรมระดับ 4 ดาว 5 ดาว มีแขกเข้าพักมากกว่าที่คาด บางแห่งดีถึงประมาณ 70% ของอัตราเข้าพักช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิดแล้ว

ร้านอาหารดังๆ ที่ลูกค้าขับรถมากิน ลูกค้าเริ่มแน่นร้านช่วงเที่ยงช่วงเย็น

แขกหรือลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นกำลังซื้อภายในประเทศเป็นกลุ่มผู้มีรายได้กลางบนขึ้นไป มากันเป็นจำนวนมากในระยะนี้ จะเป็นการเข้าสู่สภาพปกติเหมือนก่อนโควิด หรือจะเป็นการทะลักเพราะอั้นมานานแล้วค่อยปรับเข้าสู่สภาพจริง ต้องรอเวลาให้นานกว่านี้พิสูจน์

นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เริ่มมีเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่ใช่กลุ่มลูกค้าหลัก

แต่สำหรับโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมา ยังเงียบ บางแห่งยังไม่เปิดดำเนินการเพราะไม่คุ้ม ร้านอาหารที่อาศัยกำลังซื้อจากกลุ่มทัวร์ราคาไม่แพง หรือลูกจ้างกินเงินเดือนในท้องถิ่น ถือว่ายังไม่ฟื้นตัว

ถือว่าเป็นการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเป็นรูปแบบ K-shape อย่างแท้จริง เป็นการฟื้นตัวแบบกลุ่มธุรกิจหนึ่งจะฟื้นตัวเร็วแบบหางตัว K บนที่ชี้ชันขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งจะยังคงปักหัวทิ่มลงต่อไปเหมือนหางตัว K ล่างที่ปักลง

 

เหมือนกับรูปแบบการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โครงการบ้าน คอนโดฯ

บ้านเดี่ยวราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ขายดีมาตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2563 จนถึงปัจจุบัน 2565 ธุรกิจรับสร้างบ้านก็มียอดขายบ้านระดับราคาหลายสิบล้านบาทเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ส่วนที่อยู่อาศัยใหม่ระดับราคา 2-3 ล้านบาทลงมา แม้ยังคงมีความต้องการมาก แต่กำลังซื้ออ่อนขายยาก และยังเจอปัญหาเมื่อจองทำสัญญา ผ่อนดาวน์แล้ว ผู้ซื้อกู้เงินกับสถาบันการเงินไม่ผ่านในอัตราส่วนที่สูงมาก

ดูจากผลประกอบการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาสแรกปี 2565 ก็จะเห็นได้ชัดเจน ผลกำไรไม่ได้แตกต่างกันในลักษณะมีกำไรมากกับมีกำไรน้อยเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นกลุ่มบริษัทส่วนหนึ่งมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่อีกปลายข้างหนึ่งมีกลุ่มบริษัทที่ผลประกอบการขาดทุน

K-shape จริงๆ มีหางที่ทะยานขึ้นฟ้า กับหางที่ปักทิ่มลง

เชื่อว่า ธุรกิจอื่นๆ ก็คงไม่ต่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ปานกลาง มีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการครองชีพอยู่กินแพงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) สูงลิ่ว

ตรงกันข้ามผู้มีรายได้ระดับสูงมากๆ ที่มีต้นทุนการเงินต่ำ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเป็นโอกาสสร้างรายได้เพิ่มพูน

ดูว่า 2 หางของตัว K จะถ่างห่างออกไปถึงจุดใด •