โฟกัสพระเครื่อง/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก พ่อท่านเอ็น โกสิโย วัดเขาราหู สุราษฎร์ธานี

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

พ่อท่านเอ็น โกสิโย วัดเขาราหู สุราษฎร์ธานี

“พระครูสุคนธวิศิษฏ์” (เพริ้ม โกสิโย) หรือ “พ่อท่านเอ็น” เจ้าอาวาสวัดสถิตคีรีรมย์ (วัดเขาราหู) อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ที่ชาวเมืองสุราษฎร์ให้ความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

เกียรติคุณความแก่กล้าในวิทยาคม ยังได้รับการกล่าวขาน พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่ปรารถนา มีหลายรุ่น ได้รับความนิยมสูง

โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก”

เหรียญดังกล่าวสร้างในปี พ.ศ.2542 เพื่อแจกในคราวได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูสุคนธวิศิษฏ์” และฉลองอายุครบ 69 ปี ในปี พ.ศ.2543 แต่ไม่สามารถทำได้ทันตามที่กำหนด จึงได้เลื่อนมาแจกตอนอายุ 70 ปี ในปี พ.ศ.2544

ประกอบด้วย เหรียญเนื้อเงิน, เงินลงยา, นวโลหะ, อัลปาก้า, ทองฝาบาตร และทองแดง

จำนวนการสร้างรวมกันทุกเนื้อไม่เกิน 3,000 เหรียญ ซึ่งต่อมาได้สร้างเพิ่มอีก 5,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดง โดยมีโค้ดเลข “๙” อยู่ด้านหลัง เพื่อแยกรุ่นการจัดสร้างให้ชัดเจน

ลักษณะพิมพ์ทรงของเหรียญเป็นการรวมเอา 2 พระอาจารย์ที่เคารพของพ่อท่านเอ็นมารวมเป็นหนึ่ง โดย “พิมพ์ทรงเหรียญพุ่มข้าวบิณฑ์” นำมาจากเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อพัว ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์

ลักษณะการนั่งเต็มองค์ก็เอาแบบมาจากเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อเชื่อม ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ส่วนพิมพ์ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์ครู “หัวใจนอโม” ของหลวงพ่อพัว หนุนด้วยยันต์หนุนธาตุทั้ง 4 “นะ มะ พะ ทะ” และพระคาถายันต์พระเจ้า 5 พระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” ต่อด้วยยันต์อิติปิโส 8 ทิศ ด้านขวาว่าด้วยพระบทคาถากระทู้ 7 แบก “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา” ด้านซ้ายว่าด้วยยันต์พระคาถาบทฝนแสนห่า “ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง” เรียกได้ว่าเป็นการรวมสุดยอดแห่งยันต์

เนื่องจากเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ทำให้เป็นที่ต้องการของบรรดาศิษย์และนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างมาก

พ่อท่านเอ็น มีนามเดิม เพริ้ม ทองสัมฤทธิ์ พื้นเพเป็นชาวอำเภอคีรีรัฐนิคม เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2474 ที่หมู่ที่ 3 ต.บ้านยาง อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี

ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก ต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว แต่ยังมีเวลาที่จะศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนบ้านย่านยาว อ.คีรีรัฐนิคม จนจบชั้น ป.4

เข้าพิธีบรรพชา ที่วัดปราการ อ.คีรีรัฐนิคม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2493 มีพระครูสถิตสันตคุณ ซึ่งขณะนั้นปกครองวัดสถิตคีรีรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดฑีฆาราม อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2494 มีพระครูสถิตสันตคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูปราการสมานคุณ วัดปราการ ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูมนูญธรรมธาดา วัดถ้ำสิงขร ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท ท่านพากเพียรศึกษาหาความรู้ จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

บําเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อศาสนา พัฒนา ทำนุบำรุงสาธารณสมบัติ สร้างคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ที่ปรากฏแก่ชาวบ้านมากมาย จนได้รับการแต่งตั้ง เป็นพระสมุห์เพริ้ม พ.ศ.2498 และ พ.ศ.2508 ได้รับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดสถิตคีรีรมย์

ต่อมาในปี พ.ศ.2512 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสถิตคีรีรมย์

พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูสุคนธวิศิษฏ์

พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

ด้านถาวรวัตถุนั้น ด้วยบารมีและคุณงามความดี สามารถรวบรวมศรัทธาจากชาวบ้านทั้งใกล้และไกล เพื่อสมทบทุนสร้างวัดให้เจริญรุ่งเรือง

งานด้านการปกครอง ยึดถือกฎระเบียบในการปกครองวัด ตามหลักพระธรรมวินัย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ โดยได้เข้ารับการศึกษาพิเศษ เข้ารับการอบรมพระธรรมทูต พระธรรมกถึก ครูพระแผนใหม่ จนมีความชำนาญในการบรรยายธรรม ซึ่งได้รับนิมนต์เป็นผู้บรรยายธรรม ในที่ประชุมประจำอำเภออยู่เสมออีกด้วย

ศึกษาเล่าเรียนพุทธาคมจากพระครูสถิตสันตคุณ (หลวงพ่อพัว เกสโร) วัดบางเดือน ผู้เป็นพระอาจารย์ เป็นศิษย์เอกเพียงรูปเดียวของหลวงพ่อพัว วัดบางเดือน

ด้านวัตถุมงคล จัดสร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น ต่างเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมีอยู่หลายรุ่น

ในส่วนของงานด้านเผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้นำชุมชน ในการประกอบพิธีทางศาสนาวันสำคัญต่างๆ เสมอมา จัดอบรมแก่บุคคลต่างๆ ทั้งอบรมศีลธรรมแก่นักเรียน ข้าราชการ ตลอดจนผู้หลงผิดติดยา ให้กลับตัวดำเนินชีวิตในทางที่ถูก

และจัดให้มีการอบรมพระนวกะทุกปีในงานด้านสาธารณูปการ

ช่วงเช้ามืดวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2560 พ่อท่านเอ็น มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด

สิริอายุ 86 ปี 68 พรรษา ที่โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม หลังพักรักษาตัวมาเป็นเวลา 6 เดือน

สร้างความเศร้าสลดอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง