ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับ กมธ. อะไรเข้าท่า อะไรไม่เข้าท่า/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับ กมธ.

อะไรเข้าท่า อะไรไม่เข้าท่า

 

ปิดจ๊อบไปแล้ว สำหรับการประชุมต่อเนื่องยาวนานสำหรับกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แม้จะเป็นการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการซึ่งจะต้องไปลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่สอง และลงมติรับหรือไม่รับทั้งฉบับในวาระที่สามอีกครั้งหนึ่ง แต่การทำงานในขั้นกรรมาธิการกลับมีประเด็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจ

บางเรื่องเป็นเรื่องก้าวหน้า เป็นเรื่องดีเข้าท่า

แต่บางเรื่องกลับเป็นเรื่องที่ถอยหลัง ฟังแล้วไม่เข้าท่า เหมือนว่าน่าจะทำให้ดีได้แต่กลับอ้างข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญทำให้เป็นออกแบบใหม่ที่ล้าหลังกว่าเดิม

เรื่องใหม่ที่เข้าท่าใน ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.

1) เปิดโอกาสให้ประชาชนสังเกตการณ์นับคะแนน

จริงอยู่ว่า กฎหมายและระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีข้อห้ามในการสังเกตการณ์นับคะแนนของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนที่เข้าไปสังเกตการณ์การนับคะแนน มักจะได้รับการปฏิบัติจากกรรมการประจำหน่วยในลักษณะที่แตกต่างกัน บางที่ถึงขนาดว่าแค่ประชาชนยกกล้องหรือโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพ ก็ได้รับการข่มขู่จากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วย ทำให้การนับคะแนนเป็นไปด้วยความไม่โปร่งใส

ในร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงมีการเพิ่มข้อความเกี่ยวกับการที่กรรมการประจำหน่วยจำต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการบันทึกและเผยแพร่ภาพและเสียงระหว่างการนับคะแนน ทั้งนี้ โดยไม่ไปขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในสถานที่นับคะแนน

เรียกได้ว่า ครั้งต่อไปนี้ อยากถ่าย อยากบันทึกภาพ คลิปวิดีโอ หรือจะไลฟ์ถ่ายทอดสดให้คนทั้งประเทศดูการนับคะแนนของหน่วยที่ตนเองไปสังเกตการณ์ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่เพื่อให้การนับคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด

2) ประกาศผลรายหน่วยทุกหน่วยในอินเตอร์เน็ต

สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ผลการนับคะแนนรายหน่วยที่มีอยู่เฉลี่ย 300 หน่วยในแต่ละเขตเลือกตั้งหรือรวมทั้งประเทศประมาณ 90,000 ถึง 100,000 หน่วยนั้น เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเหตุผิดปกติ การทุจริตการเลือกตั้งและใช้ในการวางแผนการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

แต่การได้มาซึ่งคะแนนรายหน่วยทุกหน่วยในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ยากเย็นและมีค่าใช้จ่ายสูงยิ่ง เช่น จะต้องจัดหาอาสาสมัครเท่ากับจำนวนหน่วยเลือกตั้งเพื่อถ่ายภาพเก็บบันทึกข้อมูล หรือแม้แต่หลังเลือกตั้ง การขอข้อมูลดังกล่าวก็มักจะถูกปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงจากสำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง และมีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าถ่ายเอกสารรวมแล้วนับแสนบาท

ในกฎหมายที่พิจารณาในขั้นกรรมาธิการ จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตมีหน้าที่ในการเผยแพร่ผลการนับคะแนนรายหน่วยทุกหน่วยของเขตเลือกตั้งที่ถูกต้องภายในเวลา 72 ช.ม. นับแต่ปิดหีบเลือกตั้ง ผ่านทางช่องทางอินเตอร์เน็ต เช่น เผยแพร่ผ่านเว็ปไซต์ของ กกต.จังหวัด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้ว่าอาจเป็นการเพิ่มภาระต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ประโยชน์ที่ได้กลับมากมายมหาศาล ทั้งต่อการสร้างความโปร่งใสในการเลือกตั้ง ที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถตรวจสอบผลลงคะแนนหน้าหน่วยของตน องค์กรภาคเอกชนที่มีหน้าที่สังเกตการณ์สามารถนำคะแนนไปตรวจสอบการทุจริต นักวิชาการสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ

และพรรคการเมืองยังสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อความเข้าใจคะแนนนิยมในพื้นที่เพื่อการวางแผนการเลือกตั้งที่เป็นระบบต่อไปในอนาคต

3) การนับคะแนนที่สถานทูตสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ที่ผ่านมา บัตรเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักรนั้น สถานทูตไทยแต่ละแห่งต้องคัดแยกเป็นรายเขตและส่งกลับประเทศไทยผ่านระบบถุงเมล์ของสายการบินโดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องส่งกลับถึงแต่ละเขตเลือกตั้งให้ทันเวลา 17.00 น. ของวันเลือกตั้ง หากเลยเวลาที่กำหนดให้ถือเป็นบัตรเสีย

หากยังจำกันได้ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ถุงเมล์บัตรเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์มาถึงประเทศไทยช้ากว่ากำหนด ทำให้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งราว 1,700 ใบต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงการสูญเสียดังกล่าว

การกำหนดให้สถานทูตสามารถนับคะแนนแล้วส่งเพียงผลการนับคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นการทางออกโดยอาศัยนวัตกรรมใหม่ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่เสียเวลา ตลอดจนลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการจัดการแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เขียนขึ้นใหม่ในกฎหมายไม่ได้มีผลบังคับให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมที่อาจแตกต่างกันไปของสถานทูตไทยแต่ละแห่งในต่างประเทศโดยที่ใดพร้อมก็ดำเนินการ หากไม่พร้อมก็ใช้วิธีการส่งบัตรกลับแบบเดิม

 

เรื่องใหม่ที่ไม่เข้าท่า ในร่าง พ.ร.ป.ส.ส.

เรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง กลับเป็นการทำให้กฎหมายฉบับนี้ดูถอยหลังกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาทิ

1) พรรคเดียว เบอร์เดียว ทำไม่ได้

เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้การเลือกตั้งแบบบัตรสองใบสะดวกแก่คนทุกฝ่ายคือ การให้หมายเลขของผู้สมัครที่มาจากพรรคเดียวกันเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งประชาชนจดจำง่าย กกต.จัดการง่าย และพรรคการเมืองก็หาเสียงง่าย

ถึงล่าสุดตอนนี้ กมธ.เคาะว่า ต้องเป็นต่างเขตต่างเบอร์ แล้วยังเป็นคนละเบอร์กับเบอร์พรรค เนื่องจากข้อจำกัดของการไม่แก้ไขมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนจึงจะสามารถส่งแบบบัญชีรายชื่อได้

ประโยคเพียงแค่นี้ที่ กมธ.ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าหาวิธีการพลิกแพลงเพื่อให้กลายเป็นเบอร์เดียวทั้งประเทศ ดังนั้น หากเป็นไปตามนี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ภาพของป้ายโฆษณาที่มีหมายเลขของผู้สมัครของพรรคเดียวกันที่หลากหลายคงเกิดขึ้นคล้ายกับการเลือกตั้งของ กทม.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2) เลือกตั้งต้องใช้บัตร ปิดทางเลือกใช้เทคโนโลยี

ด้วยประโยคที่อยู่ในวรรคสอง มาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่ระบุว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ”

ทำให้การตีความและเขียนในกฎหมายในร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ต้องปิดทางเลือกอื่นๆ ที่อาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (EVM. : Electronic Voting Machine) การลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต (IV. : Internet Voting) ซึ่งหลายประเทศในโลกมีการใช้วิธีการดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายฉบับนี้จึงกลายเป็นกฎหมายที่ถอยหลังจากฉบับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเลือกใช้วิธีการอื่นที่นอกเหนือจากบัตรเลือกตั้ง หากสามารถดำเนินการแล้วมีประสิทธิภาพสูงกว่า ประหยัดกว่า และป้องกันการทุจริตได้ดีกว่าด้วย

3) กับดักที่อาจจะถูกส่งตีความในอนาคต

มาตรา 130 และ 131 ของ พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับปัจจุบัน เป็นการเขียนเพื่อขยายความรายละเอียดของมาตรา 93 และ มาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งกล่าวถึงการคำนวณ ส.ส.พึงมีและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่มาตรา 130 และ 131 ของร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ที่ผ่านในขั้นกรรมาธิการ กลับมิได้มีสาระที่สอดคล้องกับมาตรา 93 และ 94 ในรัฐธรรมนูญด้วยเหตุอ้างว่ากรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สะเด็ดน้ำ เปลี่ยนเป็นใช้บัตรเลือกตั้งสองใบตั้งใจยกเลิกระบบการคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมแต่กลับไม่แก้ มาตรา 90, 93 และ 94 ให้สอดคล้อง

นี่เท่ากับจงใจให้เกิดผลต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่ากฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ มีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แล้วกฎหมายฉบับนี้จะไปรอดหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องติดตามคำตอบ