เศรษฐกิจ/”รบ.บิ๊กตู่” หลังพิงฝา รีดภาษีเหล้า-เบียร์-บุหรี่ ทางเลือกตุนเงิน-โปะรายได้ต่ำเป้า

เศรษฐกิจ

“รบ.บิ๊กตู่” หลังพิงฝา

รีดภาษีเหล้า-เบียร์-บุหรี่

ทางเลือกตุนเงิน-โปะรายได้ต่ำเป้า

ผ่านพ้นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ไปเพียงไม่กี่วัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงการปรับขึ้นภาษีสุรา บุหรี่ ในระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สุพรรณบุรี ว่า

“รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย การปรับขึ้นภาษีใหม่ไม่ได้หวังรีดใคร คนสูบบุหรี่ คนดื่มสุราถึงอย่างไรก็ยังสูบและดื่มเหมือนเดิม พอขึ้นภาษีก็บอกว่ารัฐบาลตูดขาด จริงๆ แล้วการปรับขึ้นภาษีคิดมากี่รัฐบาลแล้ว เคยทำได้หรือไม่ หากไม่ทำวันนี้ วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หลายเรื่องที่รัฐบาลนี้ทำได้ โดยที่รัฐบาลอื่นทำไม่ได้ เพราะกลัวเสียคะแนน แต่รัฐบาลนี้ไม่เคยกลัวเสียคะแนน”

ทั้งนี้ ถ้าย้อนกลับไปดูภาพรวมการจัดเก็บภาษีตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา โดยในปีงบประมาณ 2558 พบว่า รายได้จัดเก็บของ 3 กรมภาษี คือสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร อยู่ที่ 2.28 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 2.25 แสนล้านบาท แต่มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 5.34 หมื่นล้านบาท

เมื่อรวมรายได้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1.17 แสนล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2559 รายได้ 3 กรมภาษีอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 1.24 แสนล้านบาท แต่มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.03 แสนล้านบาท เมื่อรวมรายได้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นภาพรวมยังเกินกว่าเป้าหมาย 6.35 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จาก 4 จี กว่า 5.62 หมื่นล้านบาทมาช่วยชีวิต และมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจนำส่งเกินกว่าประมาณการ 1.37 หมื่นล้านบาทมาช่วยเอาไว้

เมื่อมาดูในปีงบประมาณ 2560 ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณคือตุลาคม 2559-กรกฎาคม 2560 พบว่า รายได้ของ 3 กรมภาษีอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท ยังจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 6.66 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนยังมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น เกินกว่าเป้าหมาย 6.75 พันล้านบาท ที่น่าสนใจคือเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนจัดเก็บต่ำกว่า 6.04 หมื่นล้านบาท

ถือเป็นปีแรกในรอบ 3 ปี ที่การจัดเก็บรายได้ภาพรวมต่ำกว่าปีก่อน เพราะเมื่อปี 2559 มีรายได้พิเศษของ 4จี เข้ามา

ดังนั้น เมื่อดูภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 3 ปีถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะจากกรมภาษี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการหารายได้ให้รัฐ

ดังนั้น การขึ้นภาษีบาปเพื่อหาเงินเข้ารัฐ เป็นทางเลือกในอันดับต้นๆ

โดยมีการปรับภาษีบุหรี่เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ด้วยการปรับภาษีในขาราคาเต็มเพดาน 90% เดิมเก็บ 87% และปรับเพิ่มภาษีในขาปริมาณเป็น 1.10 บาทต่อกรัม จาก 1 บาทต่อกรัม

การปรับเพิ่มภาษีครั้งนั้นทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท!!

ล่าสุดในครั้งนี้การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นปีละ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น จากเหล้า-เบียร์ 5,000 ล้านบาท เครื่องดื่มมีความหวาน 2,500 ล้านบาท ยาสูบ 2,100 ล้านบาท รถยนต์ 2,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ ที่มีกำไรมาก จะเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิม

มีสินค้าที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มมี 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม เสียเพิ่มขึ้น 0.13-0.50 บาท, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เสีย 0.32-0.90 บาท, น้ำพืชผักผลไม้ 0.06-0.54 บาท, ชาเขียว 1.13-2.05 บาท, กาแฟ 1.35 บาท

2. กลุ่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เบียร์ 0.50-2.66 บาท, สุราขาว 0.84-3.49 บาท, สุรากลั่นในประเทศ 8-30 บาท, ไวน์นำเข้า 110 บาท

3. กลุ่มยาสูบ บุหรี่ เพิ่มขึ้น 2-15 บาท

และ 4. กลุ่มรถยนต์นำเข้าราคาแพงขาย 10 ล้านบาทขึ้นไป ภาษีเพิ่มกว่า 5 แสนบาทต่อคัน

จากโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพสามิต แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและกรมสรรพสามิตยังให้ความสำคัญภาษี สินค้าบาป โดยในกลุ่มยาสูบเป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงภาษีมากที่สุด เดิมภาษีบุหรี่ซิกาแร็ต เลือกเก็บจากมูลค่า (ราคา) มีเพดาน 90% ของราคาหน้าโรงงาน-ราคานำเข้า หรือเก็บจากปริมาณต่อกรัม (มวน) 1.1 บาท เท่ากับว่า 1 ซอง เสียภาษี 22 บาท แล้วแต่ว่าขาไหนภาษีไหนแพงกว่า

ของใหม่เปลี่ยนเก็บภาษี 2 ขาผสมกัน คือ ภาษีจากมูลค่า ถ้าบุหรี่ถูกว่า 60 บาทต่อซอง เสียภาษี 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ และเสียภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน หรือ 24 บาทต่อซองรวมไปด้วย ส่วนบุหรี่แพงกว่า 60 บาท เสียภาษี 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ และเสียภาษีตามปริมาณเท่าบุหรี่ถูก โดยในส่วนบุหรี่ถูกนั้นในอีก 2 ปี คือวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะปรับภาษีในส่วนของมูลค่าเท่ากับบุหรี่แพงคือ 40%

ส่วนของเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ภาษีใหม่ให้ความสำคัญกับความแรงแอลกอฮอล์ (ดีกรี) มากขึ้น โดยดีกรีมีสัดส่วนคิดภาษีถึง 55% จากเดิมมีสัดส่น 20% และลดน้ำหนักของภาษีที่เก็บจากมูลค่า (ราคา) ลงเหลือ 45% จากเดิมมีสัดส่วน 80%

เบียร์ เก็บภาษี 22% ของราคาขายปลีกแนะนำ และเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ 430 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรี ส่วนภาษีไวน์หากราคาไม่ถึง 1,000 บาท ไม่มีภาระภาษีด้านมูลค่า แต่จะเสียตามปริมาณคือ 1,500 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรี หากราคาเกิน 1,000 บาท เสีย 10% ของราคาขายปลีกแนะนำเพิ่มด้วย

สำหรับสุรากลั่น ถ้าเป็นสุราขาวคิด 2% ของราคาขายปลีกแนะนำ และขาปริมาณ 155 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรี สุราอื่นๆ เสีย 20% ของราคาขายปลีก และขาปริมาณ 255 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรี

นอกจากภาษีบาปแล้ว รัฐบาลเก็บภาษีเครื่องดื่มมีความหวานเพิ่มขึ้น สำหรับ ชา กาแฟ กระทบมากที่สุด เพราะแต่เดิมไม่เสียภาษี ของใหม่ต้องเสียภาษีใหม่ 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ และต้องเสียภาษีเพิ่มเติมในเชิงปริมาณความหวานรวมไปด้วย

กำหนดขั้นความหวานไว้ 6 ระดับ ตั้งแต่ไม่เกิน 6 กรัมต่อความหวาน 100 มิลลิลิตร ภาษีเป็น 0 บาทจนถึงเกิน 18 กรัม เสีย 1 บาท โดยอัตราดังกล่าวใช้แค่ 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะปรับภาษีค่าความหวานอีก 3 ครั้งจนถึงปี 2566 ถ้าค่าความหวาน 6 กรัมยังไม่เสีย แต่ความหวานในระดับอื่นจะเสียตั้งแต่ 1-5 บาท เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับพฤติกรรมทานหวานให้น้อยลง

ภาษีกลุ่มเครื่องดื่มคิดภาษี 2 ขา คือทั้งจากขามูลค่า (ราคา) และในขาปริมาณความหวาน ทำให้เครื่องดื่มส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 0.13-2.05 บาทต่อขวดหรือกระป๋อง เพราะส่วนใหญ่ค่าความหวานของเครื่องดื่มในไทย เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

สำหรับภาษีของสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซล อัตราภาษีไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเก็บจากปริมาณด้านเดียว เช่น เบนซินภาษี 6.5 บาทต่อลิตร ยังเป็นอัตราเดิม ไนต์คลับ ดิสโก้เธค ผับ บาร์ยังเก็บ 10% จากรายรับ

ส่วนที่ปรับภาษีลดลง เพราะเปลี่ยนฐานภาษีมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ แต่ภาระภาษีในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น แบตเตอรี่ เหลือ 8% ของราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมเสีย 10% ของราคาหน้าโรงงาน, จักรยานยนต์ เหลือ 2.5% ของราคาขายปลีกแนะนำจากเดิมเก็บ 3% ของราคาหน้าโรงงาน, น้ำหอมเหลือ 8% ของราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิม 15% ของราคานำเข้าหรือหน้าโรงงาน

สำหรับรถยนต์ ที่เคยเสีย 30% ของราคาหน้าโรงงานหรือนำเข้า ของใหม่ลดเหลือ 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ, เดิมเคยเสีย 40% ลดเหลือ 35%, จากเดิมเคยเสีย 50% ลดเหลือ 40%, อีโคคาร์เคยเสีย 17% ลดเหลือ 14%

จากอัตราดังกล่าวรถยนต์ส่วนใหญ่ผลิตในไทยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ภาระภาษีคงเดิม แต่รถยนต์นำเข้าราคาแพงเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีเพิ่มคันละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท เพราะในกลุ่มนี้เคยแจ้งราคานำเข้าต่ำ และขายในราคาแพง ดังนั้น เมื่อต้องมาคิดฐานภาษีจากราคาขายปลีก ภาระภาษีจึงสูงขึ้น

ถ้าถามถึงความกล้าคงต้องปรบมือให้รัฐบาลชุดนี้ กล้าขึ้นภาษีบาป 2 รอบติด แถมยังกล้าเก็บภาษีชาเขียว และกาแฟ ทั้งที่คิดจะเก็บมาหลายรัฐบาลแล้วแต่ก็ยังทำไม่ได้!!

แต่เมื่อดูการจัดเก็บรายได้ การขึ้นภาษีครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้รัฐเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะกรมภาษีจัดเก็บต่ำเป้าหมายต่อเนื่องทุกปี

เมื่อรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อดูแลเศรษฐกิจ และประชาชน ดังนั้น การขึ้นภาษีเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง จึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ยอมรับกันไปตรงๆ ก็จบ!!