คำ ผกา | จักรรวาลของคนป่าเถื่อน

คำ ผกา

จากข่าวเด็กหญิงอายุ 15 ปี ซึ่งเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสตรีพัทลุงฆ่าตัวตาย และจากข่าว “เล่าเรื่อง” เหตุแห่งการฆ่าตัวตายนี้ว่า แม่ของเด็กหญิงติดการพนัน พ่อแต่งงานใหม่ ไม่มีบ้าน ไม่มีใครดูแล ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เผชิญกับปัญหาภาวะซึมเศร้า ครูที่โรงเรียนบอกให้ย้ายโรงเรียนไปเรียนโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกลง สุดท้ายเมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ข่าวเช่นนี้ในสังคมไทยมักจะถูกเล่าผ่านโครงเรื่องว่าด้วยเด็กหญิงที่น่าสงสาร แม่ชั่ว พ่อเลว ครูใจร้าย และขาดตัวละครสำคัญคือ ถ้ามีตัวละครนักบุญสักคนที่ยื่นมือมาอุปการะเด็กคนนี้ เรื่องก็จบลงอย่างสวยงาม โลกเราน่าอยู่เพราะน้ำใจ และมีคนที่จิตใจดีพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้มีแต่คนเลวๆ หรือแม่ใจยักษ์

สถิติของกรมสุขภาพจิตในปี 2561 ระบุว่ามีเด็กและเยาวชนอายุ 10-19 ปี ฆ่าตัวตายถึง 131 คน และผู้ที่มีอายุ 20-29 ปี ฆ่าตัวตายถึง 645 คน โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตายทั้งในวัยรุ่นและวัยทำงาน

แต่สำหรับประเทศไทย นอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ ภาวะเข้าตาจน ไร้ทางออก ไร้เงิน ไร้บ้าน ไร้งาน เป็นสาเหตุหลักที่ผลักคนไปสู่ความตาย

สําหรับฉันสาระสำคัญของข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องแม่ติดการพนัน พ่อทิ้งไปมีครอบครัวใหม่ ไม่รับว่าเด็กคนนี้เป็นลูก เพราะฉันเชื่อเสมอว่าในหน่วยสังคมการเมืองที่เรียกว่า “ประเทศชาติ” ที่รัฐบาลทำงานบนภาษีประชาชน นโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนต้องได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับชีวิตของประชาชนที่ทุกข์ยากขาดแคลนเปราะบางที่สุด เช่น ชีวิตของเด็กหญิงที่ฆ่าตัวตายไปในข่าว

เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่รัฐจะมานั่งออกแบบนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยคิดว่าเด็กทุกคนที่มีพ่อแม่ที่ขยันขันแข็ง มีลูกเมื่อพร้อม เสียสละเพื่อลูก มีเงินพร้อมจ่ายค่าเล่าเรียน พร้อมจ่ายค่ากิจกรรมเสริมหลักสูตร ดนตรี กีฬา มีเวลาพาลูกไปเดินเล่น อ่านนิทานให้ฟังทุกวัน

เราในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี เราคาดหวังว่า ถ้าคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมได้รับการดูแล โอบอุ้มจากรัฐให้มีชีวิตไม่ตกเส้นมาตรฐานความเป็นคน เราย่อมรู้สึกสบายใจว่า ถ้าคนเปราะบางที่สุดยังอยู่รอด ยังอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนพอสมควร เราซึ่งไม่ใช่คนที่เปราะบางที่สุดก็จะยิ่งไม่มีวันตกอับลำบากยากจนจนเกินกว่าเหตุ

ยกตัวอย่างเช่น เราอยู่ประเทศที่รัฐมีที่พักพิงให้คนไร้บ้าน ไม่เพียงแต่มีที่พักพิงให้คนไร้บ้าน แต่ยังอนุญาตให้คนไร้บ้านมีสัตว์เลี้ยงและพาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ด้วยได้ เพราะมองว่าสัตว์เลี้ยงจะช่วยคลายทุกข์ คลายเศร้าให้คนที่เราก็ไม่รู้หรอกว่า ทำไมเขากลายมาเป็นคนไร้บ้าน แทนที่จะคิดว่า คนไร้บ้านเป็นคนไม่เอาถ่าน ขี้เกียจ ขี้เมาติดยา อุตส่าห์ทำบ้านให้พักอาศัย มีข้าวให้กิน ยังจะสะเออะมีหมามีแมว ตัวเองเอาตัวให้รอดก่อนเถอะค่อยริจะอยากเลี้ยงสัตว์

ถามว่าภายใต้รัฐแบบไหนที่เราจะรู้สึกปลอดภัย สบายใจมากกว่ากันว่า เออ วันหนึ่งที่เราตกต่ำลำบาก ชีวิตเราก็ยังมีรัฐที่ดูแล โอบอุ้มอยู่ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเราอยากรู้ว่ารัฐบาลของประเทศไหนให้ความสำคัญกับประชาชนของดีหรือไม่ดี ขอให้เราดูว่ารัฐบาลนั้นๆ ดูแลคนที่ “แย่ที่สุด” ในสังคมอย่างไร

ประเทศที่มีรัฐบาลรักและให้เกียรติพลเมืองเจ้าของประเทศดูจากอะไร

สำหรับฉันให้ดูว่าประเทศนั้นดูแลเรือนจำอย่างไร? ถ้าแม้แต่คนคนที่ทำผิดกฎหมายต้องไปติดคุกแล้วได้ไปอยู่ในคุกที่ถูกออกแบบเพื่อฟื้นฟูจิตใจของผู้ต้องหา คุกถูกออกแบบมาเพื่อเติมความรักความอ่อนโยนลงไปในจิตใจของผู้กระทำผิด คุกถูกออกแบบเพื่อให้ห้วงเวลาที่เขาถูกจำกัดอิสรภาพ เป็นห้วงเวลาที่เขาจะค้นพบศักยภาพ ความสามารถของเขาที่ซ่อนอยู่

ไม่ใช่คุกที่ออกแบบมาเพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ และเพื่อให้เขาหมดโอกาสจะใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติ ตีตราเขา สร้างข้อจำกัดให้เขาไม่สามารถไปสมัครที่ไหนได้อีก และสุดท้ายก็ทำให้มนุษย์คนหนึ่งต้องกาลเป็นอาชญากรไปจนวันตาย

นี่คือประเทศที่เจริญแล้ว ประเทศที่เจริญแล้วไม่ใช่แค่ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่โต แต่คือประเทศที่สร้างความมั่งคั่งผาสุกจากการเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์

คุณค่าของความเป็นมนุษย์คืออะไร

คือการที่เราเชื่อในศักดิ์ศรี และศักยภาพของปัจเจกบุคคล ว่าคุณค่าของมนุษย์ผู้หนึ่งไม่เกี่ยวกับชาติกำเนิด เวรกรรม ผลกรรม ผลบุญจากชาติปางก่อน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าบุญพาวาสนาส่ง แต่เกิดจากการที่มนุษย์ มีความสามารถ มีสมอง มีเหตุ มีผล

รัฐบาลมีหน้าที่เคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของพลเมืองของตนเองเท่านั้น

บนปรัชญาเช่นนี้ เราจะเห็นว่าพื้นฐานของการเป็นผู้ที่เจริญแล้วคือหลักการประชาธิปไตยเพราะมีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่เชื่อในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ในสังคมศักดินา คนจนจะได้รับ “ทาน” จากผู้มีบุญ เศรษฐี ได้ของบริจาค ได้รับการสงเคราะห์ แต่ในสังคมประชาธิปไตยจะเป็นคนจนหรือคนมั่งมีก็มีความเป็นคนเหมือนกัน และไม่มีใครต้องให้ “ทาน” ใคร ทว่า บนหลักการบริหารประเทศเยี่ยงผู้เจริญแล้วจะมีสิ่งที่เรียกว่าการกระจายโอกาส ความมั่งคั่ง ผ่านระบบการจัดเก็บภาษี การทำรัฐสวัสดิการ

และรัฐมีหน้าที่ในการซัพพอร์ตพลเมืองที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งหมด โดยไม่ต้องมาเสียเวลาตั้งคำถามว่า ทำไมขี้เกียจ ทำไมติดยา

ย้อนกลับไปอ่านข่าวเด็กหญิงฆ่าตัวตายเพราะไม่มีค่าเทอม และครูบอกว่าถ้าไม่มีค่าเทอม ไม่มีผู้ปกครองมาเซ็นยินยอมรับรองบลา บลา ขอแนะนำให้ย้ายโรงเรียน

ฉันอยากให้เราจินตนาการว่า เราไม่ต้องหรูหราขนาดมีรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ เพียงแค่เรามีระบบราชการที่ไม่ใช่อวตารของสังคมฟิวดัล อย่างน้อยที่สุด เราจะมีโรงเรียนเป็นหลุมหลบภัยให้กับเด็กที่ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีพ่อและแม่เป็นที่พึ่ง ไม่ได้มีโรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการใช้อำนาจกดขี่ ควบคุม บังคับ อย่างทุกวันนี้

กรณีเด็กหญิงที่ฆ่าตัวตาย ฉันคิดว่าเราต้องคิดอย่างจริงจังว่า โรงเรียนไม่ใช่แต่สถานการศึกษา แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจากทุกสถานะและชนชั้น และการออกแบบให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยต้องจินตนาการถึงกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดเพื่อเราจะสบายใจว่าแม้แต่เด็กที่เปราะบางที่สุดยังรอด เด็กที่มีปัญหาน้อยกว่าก็จะยิ่งรอด

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่สำหรับห้องสมุด กีฬา ศิลปะ มีห้องให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต มีนักจิตวิทยา มีการออกแบบเพื่อรองรับให้มีกระบวนการจิตบำบัด มีคลินิกเยียวยาจิตใจ ปัญหาพ่อแม่ และบุคลากรในโรงเรียนจะไม่ได้มีแค่ “ครู” แต่มีนักการศึกษาหลายแขนงทำงานร่วมกัน

และทั้งหมดนี้ต้อง “ฟรี” เป็นบริการจากรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นโครงการนำร่องของโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ

สำหรับฉันนี่คือบันไดขั้นแรกของการเป็นสังคมผู้เจริญ พลเมืองของประเทศจะเป็นทรัพยากรที่สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้ต้องเริ่มจากการที่ความเป็นมนุษย์ของเขาได้รับการเชิดชูมาตั้งแต่เกิด ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามมาโดยตลอด

ทำให้ทุกวันนี้เราจึงยังอยู่ในจักรวาลของคนป่าเถื่อนและกรอบศีลธรรมศาลเตี้ยปาหิน เผาไฟบูชายัญ หาแพะรับบาปสนองความสะใจกันไปวันๆ