ดีลควบแสนล้านใกล้ปิดจ๊อบ สงครามชิงลูกค้าระอุ เอไอเอส ไม่ปล่อย… ไฟส่อง กสทช. ชี้ชะตา/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ดีลควบแสนล้านใกล้ปิดจ๊อบ

สงครามชิงลูกค้าระอุ

เอไอเอส ไม่ปล่อย…

ไฟส่อง กสทช. ชี้ชะตา

 

จวนถึงเวลาดีลควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค สองผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศ เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง ตามกรอบเวลาที่วางไว้ช่วงปลายเดือนกันยายน 2565

จึงเห็นภาพการทำการตลาดของเน็ตบ้าน และเน็ตมือถือ เดือดปุดๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วยันช่วงใกล้โค้งสุดท้ายปีนี้ โดยเฉพาะแคมแปญดึงลูกค้าย้ายค่าย

ส่วนของ ‘เอไอเอส’ หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ยอมเสียชื่อผู้นำตลาด เดินเกมการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ระดมพรีเซ็นเตอร์ในฐานะครอบครัวเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็น ลิซ่า แบล็กพิงก์, เป๊ก ผลิตโชค, เบลล่า ราณี, เจมส์ จิรายุ ฯลฯ จนทำให้แฮชแท็ก #อยู่กับเอไอเอสดีที่สุด พุ่งทะยานขึ้นเป็นแฮชแท็กที่นิยมบนทวิตเตอร์ทันที

ฟาก ‘ทรู’ ไม่น้อยหน้า ขนพรีเซ็นเตอร์ออกมาสู้เช่นกัน ทั้ง เฌอปราง BNK48, ไบร์ท วชิรวิชญ์, ไอซ์ พาริส, สองพ่อลูก คือ เจ้าขุน และเจ เจตริน, โค้ชเช เช ยอง ซอก หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย และกันต์ กันตถาวร พีธีกรชื่อดัง ด้วยการโฆษณาสื่อสารข้อความว่า ‘ยุคนี้ เวลานี้ต้องทรู 5 G ที่ดียิ่งกว่า’

ส่วน ‘ดีแทค’ ก็ออกแคมเปญลูกค้าย้ายค่ายเบอร์เดิม สมัครแพ็กเกจ ให้ส่วนลด Online Exclusive สูงถึง 60%

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงจากลูกค้าเก่า ว่าอย่าลืมจัดโปรโมชั่นให้ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะน้อยใจ หนีหายย้ายค่ายได้เช่นกัน

 

การทุ่มงบฯ การตลาดมหาศาล แข่งขันกันเดือด ทำให้รายได้และกำไรสุทธิไม่เป็นอย่างฝัน โดยข้อมูลไตรมาสแรกปี 2565 ‘เอไอเอส’ ส่วนธุรกิจมือถือ รายได้ลดลง 1.7% จากปีก่อน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะด้านราคา แต่มีลูกค้าย้ายซบกว่า 5.06 แสนเลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีลูกค้ามือถือรวม 44.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นรายเดือน 11.7 ล้านเลขหมาย เติมเงิน 32.9 ล้านเลขหมาย ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 45,279 ล้านบาท ลดลง 1.3% เทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิอยู่ที่ 6,311 ล้านบาท ลดลง 5.0% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ส่วน ‘ดีแทค’ รายได้อยู่ที่ 20,131 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากปีก่อน กําไรสุทธิ 726 ล้านบาท ลดลง 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 3.05 แสนเลขหมาย เป็น 19.9 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นรายเดือน 6.2 ล้านเลขหมาย เติมเงิน 13.7 ล้านเลขหมาย

ขณะที่ ‘ทรู’ จะประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2565 ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ข้อมูลไตรมาส 4/2564 พบว่า ส่วนธุรกิจมือถือ รายได้อยู่ที่ 79,756 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า โดยมีลูกค้าอยู่ที่ 32.25 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นรายเดือน 10.97 ล้านเลขหมาย เติมเงิน 21.28 ล้านเลขหมาย ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 143,655 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 106,256 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อนหน้า

จากข้อมูลดังกล่าว หากรวมลูกค้ามือถือของทรู และดีแทค คร่าวๆ พบว่า ภายหลังควบรวมกิจการ จะมีลูกค้า 52.15 ล้านเลขหมาย มากกว่าเอไอเอสถึง 7.55 ล้านเลขหมาย

รวมทั้งจะถือครองคลื่นความถี่ 6 ย่าน รวม 1,260 เมกะเฮิร์ตซ์ ขณะที่เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ 6 ย่าน รวม 1,420 เมกะเฮิร์ตซ์ มากกว่าถึง 160 เมกะเฮิร์ตซ์ สูงสุดในอุตสาหกรรม

แต่ปริมาณคลื่นความถี่บางย่านของทรูและดีแทคจะสูงกว่า ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 900, 2100 เมกะเฮิร์ตซ์

 

ทําให้ ‘เอไอเอส’ ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นถกกลางวงโฟกัสกรุ๊ป ที่ ‘กสทช.’ หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดขึ้นรอบแรก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยนายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ระบุว่า การประมูลคลื่นความถี่แต่ละครั้ง กสทช.กำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุดที่กำหนดไว้ และผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยงโยงกัน เช่น บริษัทแม่ลูกกันหรืออยู่ในเครือเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน หรือถูกกินรวบ

แต่กรณีนี้เมื่อทรูและดีแทค ต่างคนต่างประมูลแล้วควบรวมกิจการ ทำให้มีคลื่นความถี่เกินกว่าที่หลักเกณฑ์กำหนด ทั้งที่ไม่ได้เข้าประมูลด้วยตนเอง อีกทั้งคลื่นความถี่จะตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว กฎ กติกาของการประมูลที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลใช้บังคับได้จริง ทำให้ ‘เอไอเอส’ เสียโอกาสจากการแสวงหาคลื่นความถี่ ซึ่งมุ่งทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล

“เอไอเอสพยายามอย่างมากในการจัดหาคลื่นความถี่เพื่อให้บริการมากที่สุด พัฒนานวัตกรรมดิจิตอลของประเทศ คุณภาพบริการ ภายใต้กฎและกติกา แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งหากเรื่องนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียผลประโยชน์ อาจมีการพิจารณาเพื่อฟ้องร้องศาลปกครอง และหาก กสทช.ยินยอมให้ควบรวมได้ ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่เอไอเอสด้วย”

นายศรัณย์กล่าวตอนท้าย

 

ขณะที่เสียงจากผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ โดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ กล่าวว่า การเหลือผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้ไม่ต้องค้างสต๊อกสินค้า ที่สำคัญสัญญาณ 5 G ของดีแทคก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้านตัวแทนจากสมาคมมีความเห็นว่า การควบรวมนั้นจะทำให้มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและทำให้บริษัทคนไทยแข็งแกร่งขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องราคาค่าบริการไม่น่าเป็นประเด็น เพราะ กสทช.ควบคุมราคาได้ดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การมีเจ้าของเป็นคนไทย ข้อมูลของคนไทยจะได้นำมาจัดเก็บในประเทศไทย ไม่ต้องนำออกไปเก็บบนคลาวด์ของต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือโฟกัสกรุ๊ปอีก 2 รอบ คือ ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งดีลแสนล้านบาทนี้จะจบท่าไหน ‘กสทช.’ ต้องตัดสิน ใต้ความเป็นธรรมในการแข่งขัน โปร่งใส และตรวจสอบได้

ไม่กี่อึดใจรู้เรื่อง