เมื่อหมอผี?…บุกขยี้จับพระ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อภิเชต ผัดวงค์

 

เมื่อหมอผี?…บุกขยี้จับพระ

 

วงการศาสนาครึกโครมเป็นระยะๆ ข่าวหมอปลาบุกทลายวัด บุกสำนักผู้อ้างตนเป็นพระบิดา ล่าสุดสร้างความสลดใจ บุกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อหลวงปู่แสง กระทั่งเกิดกระแสตีกลับ

พระสงฆ์ถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมไทย ภายใต้ข้อวัตรปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ยังอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 กฎกระทรวงหลายฉบับออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และมติของเถรสมาคม บางส่วนที่เห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันก็ได้มีการปรับปรุงเพื่อเอื้อต่อการทำนุบำรุงพระศาสนามาโดยลำดับ

กฎหมายต่างๆ เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.1484 แม้จะมีการแก้ไขปรับปรุงมาตามลำดับก็ยังคงมีลักษณะบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ล่าสุดมีการออกกฎกระทรวงการดูแลรักษาและการจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ.2564 เพราะมีการโอนภารกิจการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์จากกรมการศาสนาไปเป็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดังนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นๆ ด้วย

เจ้าอาวาสมีสถานะเป็นทั้งผู้ปกครองของวัด ตามมาตรา 37 (2) เป็นผู้แทนวัดตามมาตรา 31 วรรคสาม และเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 45 ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง

ข่าวคนขับรถเจ้าอาวาสวัดดังยักยอกเงินวัดหลายร้อยล้าน สร้างกระแสความสนใจถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินของบางวัด และเกิดคำถามถึงการแยกแยะระหว่างทรัพย์สินของวัดกับทรัพย์สินส่วนตัวของพระสงฆ์

การถอนเงินวัดเพื่อนำไปวิ่งเต้นปิดข่าวกรณีกาโตะกับสีกาตอง ผู้เกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดีหรือไม่ ผู้เกี่ยวข้องระดับไหนจะต้องได้รับโทษ ก็ยังเป็นคำถามคำโตที่ทิ้งให้กังขา

 

กระแสข่าวว่าภาครัฐอาจรื้อกฎหมายเก่าเพื่อนำมาใช้กับองค์กรศาสนา เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัว เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ออกสื่อ ชวนให้ตื่นเต้น

ตื่นเต้นตรงที่จะนำกฎหมายของฝ่ายบ้านเมืองมาสร้างให้องค์กรคณะสงฆ์เข้มแข็งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการตื่นตัวยึดหลักพระธรรมวินัย หาได้เพียงมุ่งแต่จะเน้นจับผิด หรือมุ่งแต่จะเอาโทษ

ควรมุ่งให้พระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) มีบทบาท อำนาจหน้าที่ ส่งเสริมการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ให้มีกองทุนช่วยเหลือระหว่างพระถูกกล่าวหา เพราะบางรูปอาจไม่มีเงิน หรือหลักทรัพย์ประกันตัว

กฎกระทรวงฉบับใหม่ พ.ศ.2564 ที่เพิ่งประกาศใช้ ข้อ 7 กำหนดให้การเก็บรักษาเงินในส่วนที่เกินหนึ่งแสนบาทขึ้นไปให้นำฝากไว้ธนาคารในนามของวัด หรือตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด

ข้อ 9 ระบุว่า ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร หรือผู้จัดถูกฟ้อง หรือถูกหมายเรียกให้เป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาและการจักรศาสนสมบัติของวัดให้เจ้าอาวาสวัดในเขต กทม.แจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือเจ้าอาวาสวัดในเขตจังหวัดอื่นให้แจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจังหวัดนั้นภายในห้าวันนับแต่วันรับหมาย

ในด้านการต่อสู้ทางกฎหมาย กฎกระทรวงมิได้กำหนดหน่วยงาน หรือกองทุนใดที่จะสามารถนำไปดำเนินการระหว่างต่อสู้คดีในศาล เนื่องเพราะหากผลีผลามเบิกเงินวัดมาใช้จะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

ในอดีตกรณีพระพิมลธรรม พระมหาเถระระดับรองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏ ถูกกล่าวหาโดนจับขัง 5 ปี ตลอดระยะเวลาการพิสูจน์ตนเอง กระทั่งศาลยกฟ้องชี้ว่าท่านบริสุทธิ์ ระหว่างถูกคุมขังต้องสละผ้าเหลือง

เมื่อท่านพ้นวิบากกรรม ได้มานุ่งสบงครองจีวรกลับมาครองสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เป็นคดีสะเทือนขวัญในอดีต

หรืออย่างกรณีล่าสุด “เงินทอนวัด” พระเถระหลายรูป ต้องสละผ้าเหลือง บัดนี้ บางรูปศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา กลับมาครองผ้าเหลือง บางฝ่ายยังมีข้อกังขาด้านกฎหมายและพระธรรมวินัยว่าท่านยังครองตนเป็นพระหรือไม่ หรือเพียงแต่งกายเลียนแบบพระ

เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ เห็นสมควรปรับปรุงกฎหมายให้มีสถานที่กักตัวหรือที่พำนักระหว่างที่พระสงฆ์ถูกกล่าวหา ไม่ใช่จับท่านสึกดึงผ้าเหลืองออกจากร่างโดยท่านไม่ยินยอม มิควรนำท่านไปฝากขังเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะจะปล่อยให้สวมผ้าเหลืองเข้าไปปะปนกับผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำมิได้

โดยอาจใช้พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ระหว่างถูกดำเนินคดี

โครงสร้าง ลำดับการปกครอง และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรศาสนา ควรให้ทันเหตุทันสมัย ส่งเสริมการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและการเผยแผ่พระศาสนายิ่งขึ้น

การจัดการทรัพย์สินของวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการพระศาสนา

 

พักหลังมานี่ บทบาทหมอปลามีพื้นที่ปรากฏตามสื่อบุกทลายหลายวัด บางกรณีถูกใจสังคม บางกรณีก็เห็นว่าความผิดของพระไม่ถึงขั้นปาราชิกที่จะต้องถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ เพราะศีลของพระมี 227 ข้อ ลำดับความผิดถึงขั้นต้องสึกมีเพียง 4 ข้อ

หมอปลามีอำนาจหน้าที่อะไร ถึงกล้าบุกวัดซึ่งเป็นนิติบุคคล บางวัดกล้าบุกแม้ในเวลาค่ำคืน บางกรณีพระท่านก็ผิดศีลในข้อที่ไม่รุนแรงถึงขั้นปาราชิก แต่คณะของหมอปลายกโขยงกันไปลักษณะคล้ายข่มขู่ ดูหมิ่นเจ้าอาวาส

ต้องยอมรับว่าข้อมูลการบุกแต่ละวัดของหมอปลายังไม่พลาด และหมอปลาเน้นคู่กรณีไปที่เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมาย หากผู้มีอำนาจถูกจับสึก หรือยอมลาสิกขา ย่อมไม่มีใครไปฟ้องร้อง

หมอปลาบุกขยี้เจ้าอาวาสผู้มีสิทธิ์ในฐานะนิติบุคคล แม้หมอปลาไม่มีหน้าที่โดยตรง ภารกิจหมอปลาถือว่าโดนใจกระแสสังคม ยอมเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญา เพียงแต่หลายกรณีที่หมอปลาบุกนั้น… เกิดโป๊ะแตก…สามารถทะลวงเจ้าอาวาสต้องพ่ายจำนนต่อหลักฐาน ต้องลาสิกขาไปหลายรูป

หากมองอีกด้าน บางกรณีพระท่านมีความผิดไม่ถึงขั้นต้องปาราชิก แต่ก็โดนกดดันด้วยพลังมวลชนที่ไปพร้อมหมอปลา ซึ่งก็ดูเหมือนพระท่านถูกย่ำยี

ปมล่าสุด การตั้งกล้องเหมือนจงใจล่อซื้อ เหตุการณ์ล้อมหน้าล้อมหลัง น้ำเสียงคำพูด กิริยาอาการของหมอปลาและสื่อบางคนที่กระทำต่อหลวงปู่แสง พฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ปรากฏตามสื่อ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสังคม

พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทุกฝ่ายจะต้องร่วมปฏิบัติหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนา อภิบาลพระดี ปราบอลัชชีให้สิ้นไป

บทบาทเหล่านี้ หรือจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอผี? ที่ไม่ได้มีการควบคุมหรือตรวจสอบดีพอ