กางแผน ศธ.สกัดโควิด-19 รับเปิดเรียน ‘ออนไซต์’ รอบ 2 ปี!! / การศึกษา

การศึกษา

 

กางแผน ศธ.สกัดโควิด-19

รับเปิดเรียน ‘ออนไซต์’ รอบ 2 ปี!!

 

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัด “การศึกษา” อย่างมาก ทำให้การจัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไป จากเดิมเรียนในห้องเรียน เป็นการเรียนรูปแบบอื่น เช่น ออนไลน์ ออนดีมานด์ ทำให้นักเรียนต้องห่างหายไปจากห้องเรียนกว่า 2 ปี

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อ “คุณภาพ” การศึกษาของนักเรียนทั้งประเทศ เกิดภาวะ “เรียนรู้ถดถอย” และเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น…

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศชัดเจนว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 17 พฤษภาคม โรงเรียนในสังกัด ศธ.พร้อมเปิดเรียนออนไซต์ 100%

เพราะเชื่อว่าการเรียนการสอนที่ดีที่สุด คือการเรียนผ่านห้องเรียน

จึงนับเป็นครั้งแรกหลังพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นักเรียนทั่วประเทศจะได้หวนกลับเข้าห้องเรียน…

 

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ประกาศมาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19 ด้วยหลักการพื้นฐาน คือ 3T 1V “ตัดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน” และมาตรการ 6-6-7 ซึ่งเป็นสิ่งที่เน้นย้ำกันมาตลอด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องดำเนินการตามมาตรการต่อไปนี้

เริ่มจาก 1. เร่งรัดการฉีดวัคซีน เพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม

2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus (TSC+) โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่าร้อยละ 95

3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียน หรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน

และ 4. เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) ให้ปฏิบัติตามมาตรการโดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษา

 

ขณะที่นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ลงนามออกประกาศ ศธ.เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตร 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37) โดยมีหลักเกณฑ์ 5 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 มาตรการรองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 1/2565 ของสถานศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ จำแนกตามพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้ สถานศึกษาในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง (เหลือง) ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมเปิดเรียน TSC+ เคร่งครัดตามมาตรการ 6-6-7 และต้องประเมินความเสี่ยง อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

ส่วนที่ 2 ข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการ (SSET-CQ), และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา

โดยสถานศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนในอาคารสถานที่โดยปฏิบัติตาม 6-6-7 อย่างเคร่งครัด

 

ส่วนที่ 3 หลักเกณฑ์พิจารณาเตรียมการใช้อาคาร หรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ประเภทพักนอน และประเภทไป-กลับ สำหรับประเภทพักนอน มีข้อปฏิบัติสำคัญดังนี้ ต้องจัดให้มี School Isolation สำหรับรองรับการดูแลรักษาเบื้องต้น กรณีนักเรียน ครู และบุคลากรติดเชื้อ

ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องจัดอาคารพื้นที่โดยรอบให้เป็นอาณาเขต ดังนี้ จัดให้มี Screening Zone เพื่อคัดกรองที่เหมาะสม Quarantine Zone จัดให้มีที่กักกัน และสังเกตอาการสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ที่ยังต้องสังเกตอาการ และ Safety Zone คือพื้นที่ปลอดภัย สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ส่วนการจัดการเรียนการสอน สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบออนไซต์ หรือออนไลน์ หรือแบบผสมผสานหากมีความจำเป็น

สำหรับสถานศึกษาประเภทไป-กลับ สถานศึกษาควรมีพื้นที่แยกกักชั่วคราวเป็น School Isolation หรือ Community Isolation เพื่อรองรับหากพบนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษาติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับจัดพื้นที่ให้เป็นจุดคัดกรองที่เหมาะสม และจัดจุดรับส่งสิ่งของ จุดรับส่งอาหาร หรือจุดเสี่ยงอื่นด้วย

ส่วนการจัดการเรียนการสอน สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งรูปแบบออนไซต์ หรือออนไลน์ หรือแบบผสมผสานหากมีความจำเป็น

 

ส่วนที่ 4 แนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาประเภทพักนอก กรณีครู นักเรียน เป็นผู้เสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียนออนไซต์ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 และ Universal Prevention กรณีครู นักเรียน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากไม่ได้รับวัคซีน ให้จัดการเรียนการสอน หรือดำเนินกิจกรรมใน Quarantine Zone เป็นเวลา 5 วัน และติดตามสังเกตอาการอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบโดส หากไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักตัว แต่ถ้ามีอาการให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK กรณีครู นักเรียน เป็นผู้ติดเชื้อ ให้สถานศึกษาพิจารณาร่วมกับสาธารณสุข ให้แยกกักตัวที่โรงเรียน กรณีไม่มีอาการให้จัดการสอนตามความเหมาะสม

สำหรับสถานศึกษาประเภทไป-กลับ กรณีครู นักเรียน เป็นบุคคลเสี่ยงต่ำ ให้เรียนในสถานศึกษาตามปกติ และปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention กรณีครู นักเรียน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากไม่ได้รับวัคซีนโควิด ให้กักตัวเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน

กรณีได้รับวัคซีนครบโดส หากไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักตัว ควรพิจารณาให้ไปเรียนได้ กรณีครู นักเรียน เป็นผู้ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือพิจารณาจัดทำ School Isolation

 

ส่วนแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสถานศึกษา กรณีไม่พบผู้ติดเชื้อยืนยัน ให้สถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ปกติ เน้นเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรองกลุ่มเปราะบาง

กรณีพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน 2 ห้องเรียน และไม่เกิน 5 ราย ให้ปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาด และให้เปิดใช้ห้องเรียนต่อได้

ส่วนห้องเรียนอื่นเปิดเรียนออนไซต์ตามปกติ งดกิจกรรมรวมกลุ่ม หากพบผู้ติดเชื้อยืนยันตั้งแต่ 3 ห้องเรียนขึ้นไป หรือตั้งแต่ 6 รายขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อ เฉพาะห้องนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาด และให้เปิดใช้ห้องเรียนได้ ห้องเรียนอื่นให้เปิดเรียนตามปกติ ส่วนการปิดเรียนทั้งชั้นเรียน หรือปิดสถานศึกษาเป็นอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

และส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการใช้อาคาร หรือสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาเพื่อการสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่า 1,000 คน ในพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ผู้ขออนุญาตต้องจัดทำมาตรการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาต่อไป

 

แม้มาตรการเหล่านี้ ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ยังมี “โจทย์ใหญ่” ที่รอ ศธ.เร่งแก้ไข และผลักดันอย่างมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาด้วย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปีที่อัตราการฉีดยังน้อยอยู่

การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หรือเด็กกว่า 2 ล้านคน ที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) จากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้ง ยังมีเด็กกว่า 3.6 แสนคน ที่เสี่ยงอยู่ในภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี!!

รวมถึง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาด้านอารมณ์ และการปฏิสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งกำลังรอให้ ศธ.แก้ไขอยู่เช่นกัน!! •