เดน / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

เดน

 

‘กาก – เดน – ชาน’ ล้วนเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่มีใครต้องการ

เนื่องจาก กาก คือ สิ่งที่เหลือเมื่อเอาส่วนดีออกไปแล้ว เช่น กากมะพร้าว

เดน เป็นได้ทั้งของเหลือที่ไม่ต้องการไปจนถึงของที่เหลือเลือกและทิ้งแล้ว

ชาน คือ กากอ้อยหรือกากหมากพลูที่เคี้ยวแล้ว หมดรสชาติที่เคยมี กากอ้อยสิ้นรสหวาน เรียกว่า ชานอ้อย กากหมากพลูที่จืดแล้ว เรียกว่า ชานหมาก

วรรณคดีสมัยสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงเปรตกับอาหารพิเศษประจำวันว่า

“แลยังมีเปรตจำพวกหนึ่งไส้ ย่อมกินแต่เสลษม์แลรากแลน้ำลายกินไคลกินน้ำเน่าน้ำหนอง แลกินลามกอาจมอันร้ายแลเหม็นอยู่ทุกเมื่อแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

อาหารนี้เป็นผลจาก ‘กรรมจัดสรร’

“เปรตนั้นเมื่อชาติก่อนนั้น เขาย่อมเอาเข้าแลน้ำอาหารอันเป็นเดนเป็นชานนั้นไส้ แลเอาไปให้แก่พระสงฆเจ้าผู้มีศีล ด้วยบาปกรรมเขาอันได้ให้เข้าแลน้ำอาหารที่เป็นเดนเป็นชานนั้นแก่พระสงฆเจ้าฉันนั้น ครั้นว่าเขาตาย จิงได้เป็นเปรต ก็กินแต่เสลษม์แลราก แลน้ำลาย แลน้ำเน่าน้ำหนองลามกอาจมอันเหม็นเป็นอาหารทุกเมื่อ เพื่อบาปกรรมเขาดั่งนี้แล”

ผู้ใดนำ ‘ของเหลือเดน’ ไปถวายพระสงฆ์ทรงศีล ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้นั้นหมดลมหายใจเมื่อใด ชีวิตหลังความตายไม่ต้องกลัวอด มีเมนูเด็ดรออยู่

ผู้มีพฤติกรรมข้างต้นน่าจะเข้าข่าย ‘คนกาก’ หรือ ‘กากมนุษย์’ หรือ ‘กากเดนมนุษย์’ สองคำหลังยังมีใช้ในปัจจุบัน ความหมายตรงกับคำแรกซึ่งเป็นคำพ้นสมัยไปแล้ว

 

“อักขราภิธานศรับท์” สมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายคำนี้ว่า “คนกาก, คือคนโง่, คนไม่ดี, คนดีหมดแล้ว, ไม่มีใครปรารถนา,

เหมือนอย่างกากมพร้าว แลกากปลาร้า เปนต้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คนที่ทั้งโง่ทั้งเลว หาความดีในตัวไม่เจอ เป็นคนที่ไม่มีใครต้องการก็คือ ‘คนกาก’ นั่นเอง

ตอนหนึ่งในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างกลางดึกเพื่อพาเมียเก่าหนีผัวใหม่ นางวันทองซึ่งตอนนี้เป็นเมียขุนช้างได้ตอบโต้ขุนแผนอย่างเผ็ดร้อนว่า

“อีวันทองชั่วชาติอุบาทว์แล้ว พ่อพลายแก้วจะเลี้ยงมันไหนได้

มานั่งใกล้ไม่กลัวตัวจัญไร โอ๊ยโดดไปมั่งแล้วกระมังนา

ไม่พอที่ที่หม่อมจะกินเดน มันนอกเกณฑ์ดอกไม่สมเสมอหน้า

อย่าวนเวียนระไวอยู่ไปมา เหมือนปล่อยนกปล่อยกาให้ปลอดไป”

นางวันทองเปรียบตัวเองกับ ‘เดน’ เป็น ‘คนเหลือเดน’ ไม่มีค่า เป็นตัวซวยอัปมงคลไร้คนต้องการ ไม่ควรที่ขุนแผนจะมาข้องเกี่ยว ทำให้พลอยชั่วช้าตกต่ำตามไปด้วย

 

นอกจากคำว่า ‘กาก เดน ชาน’ ที่ใช้ตามลำพัง ยังมี ‘เดนห่า’ และ ‘เดนแร้ง’

“มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก บรรยายถึงบรรดานางพราหมณ์คุกคามนางอมิตตดาทั้งวาจาและท่าทีว่านางคงจะทำบาปทำกรรมหนักถึงต้องมาอยู่กับชูชก

“ผัวเฒ่าชราแร่ แก่สิมันแก่ไม่น้อยหนอ แก่แทบจะเป็นบ้อห้อพ่อเอ็งก็จะได้ดูอดสู…ถ้าอ้ายเฒ่าจะพูดจะจาเยาะเย้ยหยอกกันเล่น เห็นก็ไม่เหมือนเขาที่หนุ่มๆ…ถ้าออเฒ่าจะอ้าปากออกพูดนี่มันเหม็นฟุ้งทั้งฟันฟางก็ห่างหักเห็นเวทนา”

นางพราหมณีขยี้จุดอ่อนตรงช่องว่างระหว่างวัยทุกวิถีทาง กดดันนางอมิตตดาสาวน้อยให้คล้อยตาม

“เมื่อสิ้นบุญวาสนาแล้วก็ตาม ก้มหน้าตายไปเป็นผีดีกว่าอยู่เป็นคน ยํ ปสฺเส ชิณฺณกํ ปตึ มันไม่เหมือนอยู่กับอ้ายเฒ่าทรพลทดถ่อยเขาชังนี่ถ้วนหน้า นตฺถิ ขิฑฺฑา นตฺถิ รติ เออก็ความยินดีนั้นมันจะมีมาแต่ไหนเพราะอ้ายผัวผีเฒ่าจัญไรรูปร่างดั่งเดนห่า

‘เดนห่า’ คือ รอดตายจากโรคห่า ในที่นี้ใช้เป็นคำด่าว่า ห่ายังไม่กิน หรือห่ายังเมิน ที่ห่าไม่สนใจเพราะดูสภาพชูชกแก่หงำเหงือก เป็นเสนียดจัญไรเลวทรามต่ำช้าเสียจนกินไม่ลง ขนาดห่ายังไม่เอา แล้วนางอมิตตดาจะมาจมปลักอยู่กับชูชกทำไม

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อสร้อยฟ้าคิดทำเสน่ห์พระไวยให้หลงใหล ก็ส่งอีไหมสาวใช้คนสนิทไปสืบหาเถนขวาดจนพบ เถนขวาด (พระดื่มเหล้าฉันข้าวเย็น) พอเห็นสาวเมืองเดียวกัน ก็เย้าสาวคราวหลานอย่างคะนองปาก

“เถนขวาดทักว่าสีกาไหม ช่างนานมานานไปเหมือนคนอื่น

ให้รูปคอยน้อยฤๅทุกวันคืน ไม่มีชื่นจนจะหง่อมลงงอมแงม

สีกาลงมาแต่เชียงใหม่ ค่อยสบายฤๅไรดูเห็นแจ่ม

ห่มสอดสีรับสลับแกม สองแก้มเป็นกระติกน่าเอ็นดู”

ทักทายคลายเหงาปากแล้วก็ถามถึงนางสร้อยฟ้า

“เจ้านายใช้มาเป็นหยังหั้น อยู่ดีด้วยกันฤๅไฉน

ฤๅว่าเกิดทุกข์โศกมีโรคภัย นางไหมมีผัวแล้วฤๅยัง”

ถามถึงนายแต่ลงท้ายถามบ่าว นางไหมบอกว่าอยู่กันลำพังบ่าวนายไม่เคยไปไหน ‘นี่เจ้าใช้มาดอกจึงออกมา’ ขอให้เถนขวาดช่วยทำเสน่ห์พระไวย ดับทุกข์ใจนางสร้อยฟ้า มีค่าเหนื่อยให้ด้วย

“เจ้าหัวโปรดด้วยไปช่วยกัน เชิญขวัญหม่อมมาให้จงได้

ให้นอนด้วยองค์นางพอสร่างใจ ท่านจะให้ทองมาห้าตำลึง”

เถนขวาดรับปากช่วยเต็มที่ แต่ขอให้นางไหมตกลงเรื่องนี้

“ถ้าสิ้นทุกข์โศกดีจะขอเจ้า

เอาไว้อยู่คู่ชีวิตแทนศิษย์เรา พอหุงข้าวกลางวันให้ฉันเพล”

พระรุ่นปู่รุ่นตาเกี้ยวสาวคราวหลาน สาวก็โต้กลับฉับพลัน

“นางไหมว่าไฮ้ขรัวตาขวาด ข้าบ่ปรารถนาเจ้าเอาผัวเถน

ตาจนเป็นน้ำข้าวมาเร้าเกน เดนแร้งถามข่าวทุกคราววัน

หาคิดถึงตัวไม่อยากได้สาว จะสึกห่อผ้าขาวฤๅไรนั่น

อายุเก้าสิบปีบ่มีฟัน แมลงวันตัวเมียบ่บินตอม”

นางไหมตอบปฏิเสธเด็ดขาด กระตุกสติเถนขวาดด้วยคำพูดเปรียบเปรยเจ็บแสบ อะไรกันแก่จนตาขุ่นขาว ‘เดนแร้งถามข่าวทุกคราววัน’ แก่จวนตายยังอยากมีเมียสาว ไม่ดูตัวเองบ้างเลย ‘จะสึกห่อผ้าขาวฤๅไรนั่น’ จะสึกไปตายหรือไร ‘ห่อผ้าขาว’ ความหมายคือกระดูกห่อผ้าขาวนั่นเอง ‘อายุเก้าสิบปีไม่มีฟัน แมลงวันตัวเมียบ่บินตอม’

แหม! แก่ขนาดนี้ไม่ต้องถึงผู้หญิงหรอก แค่แมลงวันตัวเมียยังไม่อยากจะตอมเลย

คำว่า ‘เดนแร้ง’ ในที่นี้มิได้หมายถึงเศษเหลือที่แร้งไม่ต้องการกิน เมื่ออยู่ในข้อความว่า ‘เดนแร้งถามข่าวทุกคราววัน’ มีความหมายว่า สารรูปแก่จวนเจียนจะตายเต็มที มีแร้งกำลังคอยกินศพ ตายปุ๊บ กินปั๊บ

‘กาก เดน ชาน’ ไม่ใช่คำชมหรือยกย่อง อยู่ห่างๆ แหละดี •