คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์ ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์

ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี

พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (จบ)

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักในปี 2020 เนื่องจากการล็อกดาวน์และการปิดพรมแดนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มีการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตในภูมิภาค

ส่งผลให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคนประสบปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2020 เนื่องจากงาน 9.3 ล้านตำแหน่งหายไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์พื้นฐานที่ไม่มีโควิด

แต่หลังจากการระบาดใหญ่ 2 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวยังคงไม่เท่ากัน และยังคงเปราะบาง

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า

“ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 ในเมืองอูฮั่น ประเทศจีน ได้สร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากในติมอร์-เลสเต เนื่องจากประเทศของเรายังขาดความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตนี้ดังที่หลายประเทศทั่วโลกประสบ รัฐบาลของเราได้จัดตั้ง “ศูนย์การจัดการวิกฤต” (Center for Crisis Management) และจัดการกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจากทุกประเทศที่เป็นมิตรทั่วโลก”

“จนถึงปัจจุบัน ติมอร์-เลสเตมีผู้ป่วยเพียง 22,842 ราย เสียชีวิตรวม 130 ราย และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จนถึงสิ้นสุดการระบาดใหญ่ครั้งนี้”

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย

ความร่วมมือระหว่างไทยและติมอร์-เลสเตมีมาอย่างยาวนาน โดยได้มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (MOU on Economic and Technical Cooperation) ระหว่างกันตั้งแต่ปี 2003

และมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ อีกหลายโครงการเพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต

ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น 3 สาขาหลัก

ได้แก่ การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข

และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไทยยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางร่วมการรับมือกับโรคโควิด-19 ของทั้งสองประเทศ และการฟื้นฟูประเทศร่วมกันต่อไปอีกด้วย

สาวติมอร์ที่โบสถ์ Fatima ในหมู่บ้านหาปลา Suai

เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยปรากฏชนชาติต่างๆ ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค ความเป็นชุมชนพหุสังคมถือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการบูรณาการและการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมอาเซียน ชนชาติต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนจึงควรมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเน้นการเสาะหารูปแบบวัฒนธรรมร่วมประจำกลุ่ม

เรื่องนี้ นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ มีความเห็นว่า

“ในแง่ของวัฒนธรรม ระหว่างประเทศไทยและติมอร์-เลสเตมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น การให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว สถานะทางสังคม จริยธรรม ความรักชาติ การต้อนรับขับสู้ ความเชื่อในไสยศาสตร์ ความเคารพนับถือศาสนา”

“ส่วนความแตกต่างนั้น เป็นเพียงในด้านภาษา ศาสนา อาหาร การปฏิบัติ พิธีกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมบางส่วน”

 

เกร็ดความประทับใจฐานะนักการทูต

“แน่นอนว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความประทับใจ เราสามารถจดจำได้ดีทุกครั้งที่นึกถึง เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของประเทศ ไปทำงานเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมืองและประชาชน เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และได้ทำความรู้จักพบปะกับผู้คนทั่วโลก”

“ตัวอย่าง สมัยที่เป็นเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ ประจำประเทศมาเลเซีย ผมประทับใจในมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้า มีศักยภาพสูง ผู้คนมีระเบียบวินัย บ้านเมืองสะอาดเป็นเยี่ยม”

เกาะอาเตารู (Atauro)
ทัศนียภาพของกรุงดิลี สามารถมองเห็นเกาะอาเตารูฝั่งตรงข้าม

“ผมสามารถสื่อสารกับคนมาเลย์ได้ง่ายมากเพราะคนมาเลย์พูดภาษา BM คือ “บาฮาซามลายู” อันเป็นภาษาที่คนมาเลเซียพูดได้ทุกคน และผมก็พูดภาษาอินโดนีเซีย เพราะอยู่ภายใต้อินโดนีเซีย 24 ปี พวกเขาเรียกมันว่า “บาฮาซา อินโดนีเซีย” ซึ่งบาฮาซามาเลย์ และบาฮาซาอินโดนีเซียก็เหมือนกัน”

บาฮาซา (bahasa) เป็นคำในภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งแปลว่า “ภาษา”

“ส่วนอาหารมาเลย์และไทยค่อนข้างแตกต่างกันแต่ที่เหมือนกันคือผู้คนที่มีความเป็นมิตร”

“เมื่อย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ก็ไม่ยากสำหรับผมที่จะเข้าใจภาษาท้องถิ่น เพราะคนที่นี่ก็พูดภาษามลายูด้วยเช่นกัน ส่วนศาสนา เราก็นับถือศาสนาเดียวกันคือ คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก”

ฟิลิปปินส์เคยตกเป็นอาณานิคมของสเปนและสหรัฐอเมริกา จึงเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกก่อนจะได้มีโอกาสพัฒนาวัฒนธรรมของตัวเอง มีภาษาพูดในฟิลิปปินส์ คือ ภาษาฟิลิปีโน ภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน และภาษามลายู มีสโลแกนเชื้อเชิญให้ไปเยือนประเทศคือ “It’s More Fun in the Philippines”

“เนื่องจากไทยและติมอร์-เลสเตสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2002 และเวียนมาบรรจบครบ 20 ปีในปีนี้ เราได้มีการปรึกษาหารือถึงการจัดกิจกรรมในวาระพิเศษนี้ โดยหวังว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจะไม่เป็นอุปสรรค”

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย

เอกอัครราชทูตมาร์ติงซ์จบการสนทนาด้วยการเชื้อเชิญคนไทย

“ถึงมิตรสหายชาวไทยที่รักทุกท่าน…

ท่านมีน้องชายคนหนึ่งอยู่ทางใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีชื่อว่า ติมอร์-เลสเต

อย่างที่ทราบกันว่า เราได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1975 วันชาติของติมอร์-เลสเตจึงตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายนของทุกปี ถึงแม้ว่าหลังจากปีนั้นชาวติมอร์จะต้องต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซียอีกกว่า 24 ปี ก่อนที่จะได้ประกาศเอกราชในวันที่ 20 พฤษภาคม 2002

จนมาถึงวันนี้ มีแนวโน้มว่าเราจะได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนในอีกไม่นาน

ความปรารถนาของเราคือได้ร่วมมือกับท่านในทุกด้านของชีวิตทั้งในการเมือง วัฒนธรรม สังคม และโดยเฉพาะกับประชาชน

เราขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงสำหรับการสนับสนุนที่มีให้กับติมอร์-เลสเตตลอดมาตั้งแต่ปี 1999 ทั้งนี้ เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะมองหาความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านจะได้รับความปลอดภัยในประเทศของเรา ไม่ว่าท่านจะมองหาโอกาสในการเดินทางไปทำธุรกิจ หรือท่องเที่ยวก็ตาม

ติมอร์-เลสเต เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนทุกท่านอย่างอบอุ่นและจริงใจ ด้วยความยินดีเสมอ” •

 

 

ประวัติ

จูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์

(H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins)

เกิด : วันที่ 25 มกราคม 1961 ที่กรุงดิลี ติมอร์-เลสเต

ภาษา : โปรตุเกส อังกฤษ อินโดนีเซีย เตตุน (ภาษาประจำชาติของประเทศติมอร์-เลสเต)

ประสบการณ์การทำงาน :

2022 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรประจำ UNESCAP กรุงเทพฯ

2021 : อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

2017-2020 : อธิบดีกรมพิธีการทูตและกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

2013-2017 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศฟิลิปปินส์

2011-2012 : อธิบดีกรมความสัมพันธ์ภายนอก กระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำเมียนมา ถิ่นพำนัก ณ กรุงดิลี ติมอร์-เลสเต

2006-2010 : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำประเทศมาเลเซีย เขตอาณาครอบคลุมประเทศเวียดนามและเมียนมา

2005-2006 : ผู้อำนวยการร่วมคณะกรรมการแห่งความจริงและมิตรภาพติมอร์-เลสเต และอินโดนีเซีย (CTF)

พฤษภาคม-พฤศจิกายน 2005 : ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาค กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

2001-2005 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

1982-1991 : ข้าราชการ แผนกภาษี กระทรวงการคลัง ประเทศอินโดนีเซีย

การศึกษา :

1984-1990 : มหาวิทยาลัยติมอร์ ติมูร์ (Universitas Timor-Timur – UNTIM) มหาวิทยาลัยอีสต์ ติมอร์ (วิชาภาษาอังกฤษ) ประเทศอินโดนีเซีย •