อัตตา อัตนียา เรื่องของ ตัวตน ของตน เรื่องของ ความว่าง

เหมือนกับว่าการเข้าใจ “โลก” ในสถานะอันเป็นส่วนหนึ่งของ “ธรรมชาติ” จะเป็นการเข้าใจในความเป็น “วัตถุ” ของโลก

เป็นการมองอย่างที่ดำรงอยู่

กระนั้น เมื่อพิจารณา “โลก” หรือ “ธรรม” ในฐานะที่เป็น “ธรรมชาติ” และในฐานะที่เป็น “ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าโลก”

องค์ประกอบก็ดำรงอยู่ 4 ส่วนด้วยกัน

1 ธรรมชาติ 1 กฎของธรรมชาติ 1 หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ 1 ผลที่ได้รับ

4 ส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน

สัมพันธ์ไปตามกฎที่ว่า โลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นหมายความว่า มันไม่หยุด มันปรุงแต่งกันเรื่อย

จาก “เหตุ” กลายเป็น “ผล”

ขณะเดียวกัน “ผล” ก็ปรุงแต่ง แปรเปลี่ยนกลายเป็น “เหตุ” วนเวียน เป็นวัฏจักร ก่อเกิดรูปใหม่ นามใหม่ ขึ้นมาไม่ขาดสาย

ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ธรรม” ทั้งหมดนี้เรียกว่า “โลก”

บทบาทของบทความ “ทำอย่างไรจึงจะว่าง” ของท่านพุทธทาสภิกขุจึงเป็นบทบาทอันแสดงให้เห็นลักษณะที่เรียกว่า “ว่าง”

คำถามก็คือ “ว่าง” จากอะไร ว่าอย่างไร

ทีนี้เราจะมองมันในแง่ที่ว่า “ว่าง” โลกทั้งหมดนี้ ตัวธรรมชาติก็ดี กฎธรรมชาติก็ดี หน้าที่ก็ดี ผลที่เกิดขึ้นก็ดี ให้มองดูในลักษณะที่เป็น “ของว่าง”

มีพระบาลีพุทธภาษิตระบุไว้ชัดว่า

“ว่างนี้หมายความว่า เพราะว่างจากตัวตน และว่างจากความเป็นของตน”

ว่างจากตัวตน คือว่างจากอัตตา ว่างจากของตน คือว่างจากอัตนียา มีอยู่ 2 คำที่เป็นภาษาบาลี

“อัตตา” แปลว่า ตัวตน

“อัตนียา” แปลว่า ของตน

โลกทั้งหมดนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน เพราะไม่มีส่วนไหนเลยที่จะเป็นตัวตนอันแท้จริงได้

นี่อย่าเพ่อพูดถึงความคิดของเรา อย่าเพ่อพูดถึงความรู้สึกของปุถุชน พูดถึงตัวธรรมชาติแท้ๆ ก่อน

มัน “ว่างจากตัวตน” ก็คือว่า ไปดูเถอะ ที่ส่วนไหนๆ มันเป็นตัวตนไม่ได้

เช่น เพราะมันไหลเรื่อยตามกฎที่ว่ามันปรุงแต่งกันเรื่อย มันไม่ยอมหยุด มันเหมือนกับของไหลเรื่อย

เช่น ความคิดในใจของเรานี้มันก็ไหลเรื่อยไป ดันมาเป็นการกระทำ ผลักมาเป็นการกระทำ มันก็มีการกระทำเรื่อย ไหลเรื่อย

ทีนี้ที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน ฯลฯ นี้มันก็ไหลเรื่อย

คือ ความเปลี่ยนแปลงจากที่ทีแรกไม่เคยมีอยู่ มันก็มีขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งไม่มีอีก ไม่ปรากฏอีก

อย่างนี้เรียกว่า มันไหลเรื่อย ในลักษณะอย่างนี้

เพราะฉะนั้น รูปธรรมล้วนๆ นี้ก็ไหลเรื่อย นามธรรมล้วนๆ นี้ก็ไหลเรื่อย เอามารวมกันเข้าทั้งรูปธรรม นามธรรม มันก็ยังไหลเรื่อยอยู่นั่นเอง

ไม่มีระยะไหนที่เป็นของตายตัว แน่นอนลงไปนานพอที่จะบัญญัติว่าเป็นตัวตนได้ มันมีแต่ไหลเรื่อย ฉะนั้น จึงว่า “ว่างจากตัวตน”

ทีนี้มัน “ว่างจากตัวตน” แล้วมันก็ไม่มีเวลาหรือส่วนไหนที่จะให้ใครเข้าไปยึดครองได้ว่าเป็นของตน ดังนั้น มันจึง “ว่างจากของตน” อีกทีหนึ่ง

“ว่างจากตัวตน” ด้วย “ว่างจากของตน” ด้วยอย่างนี้ทั้งหมด

เพื่อเข้าใจให้ดี ให้ประจักษ์ชัด ไม่ใช่เพียงแต่จำได้ตามที่อาตมาพูด ต้องไปมองดูด้วยตนเองจนเข้าใจชัดว่า

ธรรมชาติก็ดี

ว่างจากตัวตนของตน กฎธรรมชาติก็ดี ว่างจากตัวตน ของตน หน้าที่หรือการกระทำของมนุษย์ตามกฎธรรมชาตินั้นก็ดี

ก็ว่างจากตัวตน ของตน

ผลที่เกิดขึ้นมาก็ว่างจากตัวตนของตน

ทั้งหมดนี้อาจยังเป็น “นามธรรม” อาจยังเป็นความเข้าใจในทาง “ความคิด” ยังไม่เด่นชัดในทาง “รูปธรรม” หรือเป็นข้อมูลในเชิง “ประจักษ์”

กระนั้น พุทธทาสภิกขุก็ยังเสนอประเด็นในลักษณะ “ท้าทาย”

ท้าทาย 1 เน้นย้ำอย่างหนักแน่นให้เห็นว่า “ปริยัติ” ดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์กับ “ปฏิบัติ” ขณะเดียวกัน ท้าทาย 1 ความรับรู้ในทาง “ความคิด” จำเป็นต้องประสานกับ “การเคลื่อนไหว” ผ่านกระบวนการปฏิบัติ

การปฏิบัติต่างหากคือ เครื่องมืออย่างสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้อง เที่ยงตรงของความคิด หรือทฤษฎี

“ปริยัติ” จะห่างจาก “ปฏิบัติ” ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

วิเวกา นาคร