จุดเริ่มต้นแห่ง “มหาวิทยาลัยสงฆ์” [ดังได้สดับมา]

 

สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิด ณ บ้านในตลาดบางไทรป่า ต.บางไทรป่า อ.บางปลา (ปัจจุบันคือ อ.บางเลน) จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2460

เนื่องจากเป็นบุตรคนเดียวที่เหลือรอดจากทั้งหมด 12 คน จึงได้ชื่อว่า “บุญรอด”

เรียนชั้นประถมศึกษาที่วัดสัมปทวน ต.วัดแค อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จนจบชั้นประถมปีที่ 5 แม้ประสงค์จะเรียนต่อในชั้นมัธยม แต่ฐานะทางบ้านไม่อำนวยให้ได้เรียนโดยตรง เจ้าอาวาสวัดสัมปทวนจึงบรรพชาเป็นสามเณรและนำไปฝากอยู่วัดกันยาตุมาราม อ.สัมพันธวงศ์ จ.พระนคร เมื่อเดือนมิถุนายน 2473

ปี 2475 สอบบาลีเปรียญธรรม 3 ประโยคได้

ปี 2476 สอบบาลีเปรียญธรรม 4 ประโยคได้ ปี 2477 สอบบาลีเปรียญธรรม 5 ประโยคได้ ปี 2478 สอบบาลีเปรียญธรรม 6 ประโยคได้ ปี 2479 สอบบาลีเปรียญธรรม 7 ประโยคได้

ปี 2480 อุปสมบท ณ อุโบสถวัดกันมาตุยาราม

โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โฮทาตวัณโณ) วัดสัมปทวน เป็นกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมานุกูล (กลิ้ง เกสโร) วัดกันมาตุยาราม เป็นอนุสาวนาจารย์ ฉายาของท่านคือ พระมหาบุญรอด สุชีโวภิกขุ

พรรษาแรกในปี 2480 เข้าสอบบาลีเปรียญธรรมประโยค 8 แต่ไม่ผ่าน ที่ไม่ผ่านก็มีสาเหตุ

สาเหตุสำคัญอันหนังสือ ประวัติและงาน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุก็คือ “เพราะทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาสันสกฤตควบคู่กันไป ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะดูหนังสือ”

จะเอาภาษาอังกฤษ จะเอาภาษาสันสกฤต จึงสะเทือนถึงภาษาบาลี

อย่างไรก็ตาม ในพรรษาที่ 2 ปี 2481 เมื่ออายุได้ 22 ก็สอบบาลีเปรียญธรรมประโยค 8 ได้ และในพรรษาที่ 3 ปี 2482 ก็สอบบาลีเปรียญธรรมประโยค 9 ได้

ทั้งนี้ โดยสังกัดสำนักนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส

จากนั้น ในปี พ.ศ.2484 เมื่ออายุ 25 พรรษา 5 ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก “สังฆสภา” ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่เพิ่งประกาศและบังคับใช้

เหตุผลอันหนังสือ ชีวประวัติและงาน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุ

มิใช่เพราะมีอายุพรรษาอยู่ในระดับเถรภูมิหรือดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางคณะสงฆ์ใดๆ แต่หากเป็นเพราะมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก มีความสามารถในการเผยแพร่ ทั้งการพูดและการเขียนโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

ตลอดจนมีอาจาระเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาและเป็นที่ไว้วางใจจากคณะสงฆ์และรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยงานพระศาสนาในฐานะสมาชิก “สังฆสภา” อย่างมีประสิทธิภาพ

หากตรวจสอบจากคำบอกเล่าของ สุชีพ ปุญญานุภาพ เมื่อปี 2535 ก็จะประจักษ์

ตอนนั้นกระผมบวชอยู่วัดกันมาตุยาราม วัดกันมาตุยารามเป็นวัดเล็กขึ้นอยู่กับวัดเทพศิรินทราวาส ถ้าจะเดินไปที่วัดเทพศิรินทราวาสก็ประมาณ 15 นาที

ก็ใช้วิธีการอย่างนี้ที่ดำเนินการภายใน

เปิดสถานที่ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาจะสอบเปรียญ 3 ประโยคและที่ศึกษาสูงกว่าเปรียญ 3 ประโยค สอนภาษาบาลีด้วย สอนภาษาอังกฤษด้วย สอนเลขด้วย โดยกระผมเป็นผู้สอนเอง

ที่ทำอย่างนั้นก็เพื่อเป็นการช่วยตัวเองประการหนึ่ง คือคนที่จะสอนเขาได้นั้นจะต้องไปหาความรู้ เป็นการบังคับตัวเองให้หาความรู้ ฉะนั้น สอน 3 วิชาเลข ภาษาอังกฤษ และภาษาบาลี

มีพระ 2 วัดไปเรียน วัดเทพศิรินทราวาส กับ วัดกันมาตุยาราม ทำอย่างนี้มาได้สัก 6 เดือน พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ประธานกรรมการสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านเรียกกระผมมาพบและพูดว่า

“อย่าไปทำเลยที่วัด มาทำที่นี่เถอะ ต้องการทุนเท่าไรทางนี้จะจัดให้หมด ตอนนี้ขอหมื่นบาทให้ 2 หมื่น”

ปี2488 มีคำสั่งตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดการศึกษารุ่นแรก เมื่อปี 2489 สุชีโวภิกขุในบรรดาแห่งพระศรีวิสุทธิญาณ เป็นเลขาธิการคนแรก

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

จุดเริ่มต้นจากคำปรารภที่ว่า “จะปล่อยให้ภิกษุสามเณรมีความรู้เฉพาะภาษาบาลีแต่ไม่มีความรู้วิชาการต่างๆ ที่สามารถจะนำเอาพระพุทธศาสนามาผสมกลมกลืนไปเผยแผ่แก่ประชาชนเลยหรือ”

นั่นคือจุดเริ่มต้นแห่ง “มหาวิทยาลัยสงฆ์”