“รูป” กับ “นาม” ระหว่างวัตถุ กับ ความคิด “อายตนะ” เชื่อม

การเน้นในเรื่องใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานของท่านพุทธทาสภิกขุคล้ายกับจะยกให้ทุกอย่างเริ่มต้นจากใจ

อาจเป็นเช่นนั้น

กระนั้น การเริ่มต้นของใจก็มิได้เป็นการเริ่มต้นอย่างชนิดคิดนึกเอาเองโดยอัตโนมัติ ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีรากที่มา

ตรงกันข้าม เมื่อศึกษาพุทธทาสภิกขุมากขึ้น มากขึ้น ก็จะประจักษ์

ธรรมบรรยายครานี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ ยึดโยงกันระหว่าง 2 สิ่งอันเป็นพื้นฐานในทางความคิด

อาจเริ่มต้นจาก “โลก”

แต่มิได้เป็นโลกอันดำรงอยู่อย่างว่างเปล่า หากแต่เป็นโลกอันดำรงอยู่ตามกฎแห่งธรรม กฎแห่งธรรมชาติ

ตรงนี้แหละคือ ความละเอียดอ่อน

ตรงนี้แหละคือ ความสัมพันธ์ความยึดโยงอันยืนยันฐานที่มาแห่งใจ ฐานที่มาแห่งความคิดที่ดำรงอยู่

ต้องอ่าน

เราจะมองโลกอย่างไรจึงจะเห็นว่าโลกนี้เป็นของว่าง

ชั้นแรก บางทีจะต้องพูดกันเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าโลก โลกนั้นคืออะไร

ถ้ากล่าวได้ว่า โลก คือ ธรรมชาติทั้งหมดได้ก็จะเป็นการดี “ธรรมชาติทั้งหมดนี้เรียกว่าโลก” คือ ไม่ยกเว้นอะไร และเป็นอันเดียวกันกับคำว่า “ธรรม” ในภาษาบาลี

ธรรมนี่แหละในภาษาบาลีหมายถึงธรรมชาติทั้งหมด ไม่ยกเว้นอะไร

เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา อยากจะขอร้องให้ทบทวนความจำเกี่ยวกับคำนี้ไว้เรื่อยไป

คำว่า “ธรรม” นี้ก็ตาม คำว่า “ธรรมชาติ” ก็ตาม ถ้าเราจะเล็งถึงธรรมชาติทั้งหมดแล้วเราควรจะนึกถึงตัวธรรมชาติแท้ๆ และตัวกฎของธรรมชาติด้วย หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำตามกฎธรรมชาตินั้นด้วย และผลที่เกิดจากการทำหน้าที่นั้นๆ ด้วย

มันมีอยู่ถึง 4 ชั้นซ้อนกันอยู่

ตัวธรรมชาติแท้ๆ ดินฟ้าอากาศ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นรูปและเป็นนาม

ที่เป็นรูปคือวัตถุ ที่เป็นตัวโลกเป็นของแข็ง กระทั่งสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยผิวกาย นี่เรียกว่าวัตถุ

แม้แต่เสียงภาษาบาลีก็เรียกว่ารูป กลิ่นก็เรียกว่ารูป คือเป็นพวกวัตถุ

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางผิวหนังนี้จัดเป็นพวกรูปหมด ที่เราเห็นง่ายๆ ก็เอาอย่างนี้ แผ่นดิน ต้นไม้ แผ่นฟ้า ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ เป็นวัตถุ เป็นรูป นี้พวกหนึ่ง

อีกพวกหนึ่งเป็นนาม

คือเป็นจิตใจ หมายถึงความรู้สึกนึกคิด คือ ตัวจิตที่คิดนึก อย่างนี้เรียกว่านาม

เพราะฉะนั้น รูปกับนาม คือ โลก โลกก็คือ รูปกับนาม ไม่มีอะไรมากกว่านี้ แล้วถ้ามันไม่สัมพันธ์กันมันไม่มีอะไรด้วยซ้ำ

ถ้ามันสัมพันธ์กันระหว่างกายกับใจ รูปกับนาม มันจึงทำหน้าที่ให้รู้นั่น รู้นี่ได้ โลกจึงปรากฏขึ้น เพราะจิตเป็นผู้รู้สึก ถ้าจะรู้สึกตามลำพังจิตก็ไม่ได้ ต้องมีร่างกายเป็นเหมือนออฟฟิศให้มันทำงาน เป็นที่ทำงาน

มันจึงรู้ คิด นึก ได้

โลกมีขึ้นมาเพราะจิตรู้สึกได้นั่นเอง ถ้าจิตรู้สึกไม่ได้ โลกนี้ก็เท่ากับไม่มี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือ รูปกับนาม

ก็คือทุกสิ่งนั่นเอง ไม่เว้นอะไร

วัตถุภายนอกมนุษย์ก็ดี ร่างกายของมนุษย์ก็ดี จิตใจของมนุษย์ก็ดี รวมอยู่ในคำคำนี้ เรียกว่าโลกหรือธรรม

ในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ธัมมะ ธรรมะ ธรรม

ในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาตินี้ชั้นหนึ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “โลก”

ศึกษามาถึงตรงนี้อดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงบทความขนาดสั้นของ “เหมาเจ๋อตง” ที่ว่า “ความคิด” ของคนมาจากไหน

หล่นลงมาจากฟากฟ้า อย่างนั้นหรือ

เกิดขึ้นเองอย่างนั้นหรือ

จากนั้น ก็นำไปสู่กระบวนการเกิดขึ้นของความคิดว่าสัมพันธ์กับสภาพการดำรงอยู่อย่างไร และดำเนินไปอย่างไร

ไม่ว่าจะมองในเชิง “วัตถุนิยม” ไม่ว่าจะมองในเชิง “พุทธธรรม” ใกล้เคียงกัน

พุทธรรมเน้นระหว่างรูปกับนาม ระหว่างวัตถุกับจิต อธิบายอย่างพิสดารผ่านสิ่งที่เรียกว่า “อายตนะ” ซึ่งเท่ากับเป็น “สะพาน” หรือ “เครื่องเชื่อม”

หากไม่มี “รูป” ก็ยากที่ “นาม” จะบังเกิด

หากไม่มี “วัตถุ” ก็ยากที่ “ความคิด” จะบังเกิด

จึงนำไปสู่สภาพความเป็นจริงในการประกอบส่วนอย่างที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ สรุปเอาไว้อย่างรวบรัดว่า

“โลกนี้มิได้อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ร่วมสร้าง”

วิเวกา นาคร