ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
มงคล วัชรางค์กุล
กรณีตัวอย่างในอเมริกา
การป้องกันการผูกขาดการค้า
เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายควบคุมการผูกขาดในสหรัฐอเมริกานั้น เข้มงวดมาก ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
กรณีตัวอย่าง เช่น ในอเมริกา นอกจากจะมีซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่มาก เช่น Walmart หรือ Giant ที่มีสาขาอยู่แทบทุกเมือง แทบทุกรัฐแล้ว ในแต่ละรัฐ แต่ละเมืองก็จะมีซูเปอร์สโตร์ของตัวเอง ให้บริการสินค้าราคาประหยัดแก่คนในเมือง
อย่างในเมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย จะมีซูเปอร์สโตร์ของเมืองชื่อ Redner’s อยู่ 5-6 สาขาตามมุมเมืองต่างๆ
คนเมืองเรดดิ้งจะพยายามช่วยอุดหนุนซูเปอร์สโตร์ของเมืองให้อยู่ได้ เพราะ Redner’s นอกจากให้บริการสินค้าในราคายุติธรรมแล้ว ยังให้ผลตอบแทนแก่ชาวเมืองเรดดิ้ง เช่น เป็นสปอนเซอร์จัดดนตรีในสวนให้ชาวเมืองได้ฟังดนตรีฟรีในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน, เป็นสปอนเซอร์จุดพลุฉลองวันชาติ เป็นสปอนเซอร์คอนเสิร์ตวง Reading Symphony Orchestra (RSO) วงออร์เคสตราของเมือง
เหนืออื่นใด Redner’s จะนำเสนอสินค้าราคายุติธรรมให้ชาวเมือง เพราะสินค้าส่วนใหญ่จะจัดหาในรัฐเพนซิลเวเนีย ค่าขนส่งถูกกว่าจัดหามาจากรัฐอื่น
ตัวอย่างเช่น ไข่ไก่ขนาด Large (เทียบเบอร์ 1 เมืองไทย) เคยอยู่ที่ราคาโหลละ 1 เหรียญ ถึง 1.25 เหรียญ บางครั้งเคยลงไปอยู่ที่โหลละ 95 Cents ในขณะที่ซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ราคาโหลละประมาณ 1.75-2.00 เหรียญ
แต่ตอนนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันขึ้นราคา ราคาไข่ไก่ใน Redner’s ขึ้นราคาเป็นโหลละ 2.25 เหรียญ แต่ยังถูกกว่าในซูเปอร์สโตร์ยักษ์ใหญ่ เฉลี่ยแล้วที่ Redner’s ไข่ไก่ตกฟองละ 18 เซนต์ = 6.237 บาท (1 เหรียญ = 34.67 บาท อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565) ผมเห็นที่ Big C เมืองไทย ไข่ไก่เบอร์ 1 10 ฟอง 70 บาท ตกฟองละ 7.00 บาท
ไข่ไก่เมืองไทยแพงกว่าไข่ไก่อเมริกา เป็นไปได้อย่างไร แต่ก็เป็นไปแล้ว
ต้องไม่ลืมว่า ค่าแรงขั้นต่ำเมืองไทยวันละ 300 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกา ชั่วโมงละ 15 เหรียญ หรือเท่ากับชั่วโมงละ 520 บาท ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้ 120 เหรียญ ตกค่าแรงวันละ 4,160 บาท
คนอเมริกันรายได้มากกว่าคนไทยเกือบ 14 เท่า แต่ซื้อไข่ไก่ราคาถูกกว่าคนไทย 10%
รวมทั้งอาหารประเภทเนื้อหมู, ไก่ และผักหลายชนิดก็ราคาถูกกว่าเมืองไทย
เป็นเพราะในอเมริกา กฎหมายป้องกันการผูกขาดแข็งแรงมาก ไม่มีกลุ่มธุรกิจใดสามารถผูกขาดควบคุมราคาสินค้าได้ ผู้บริโภคได้รับการป้องกันจากรัฐบาลเต็มที่

ขอยกตัวอย่างการป้องกันการผูกขาดในอเมริกาให้เห็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
ในเมืองเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย มีสถาบันการผ่าตัดชื่อ Surgical Institute of Reading – SIR เกิดจากการลงขันลงทุนของบรรดาหมอผ่าตัดที่มีชื่อเสียงในเมืองเรดดิ้ง ทำมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว บรรดาหมอผ่าตัดเมื่อมีเคสก็ส่งคนไข้มาผ่าตัดที่สถาบันนี้ กิจการเจริญรุ่งเรืองขนาดมี Robot ผ่าตัดถึง 2 ตัว
ผมผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่าขวาเมื่อปีที่แล้ว หมอผ่าตัดก็นัดมาผ่าที่สถาบันนี้
Surgical Institute of Reading ทำให้เคสผ่าตัดของโรงพยาบาล Reading Hospital โรงพยาบาลใหญ่สุดของเมือง ลดน้อยลงไปอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โรงพยาบาล Reading Hospital จึงเสนอขอซื้อกิจการ Surgical Institute of Reading เป็นเงิน 43 ล้านเหรียญ
เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ของ Federal Trade Commission – FTA คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคชาวอเมริกันแห่งชาติ (Protecting America’s Consumers) รายงานข่าวว่า FTA และอัยการสูงสุดแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania Attorney General) ได้ออกมาคัดค้านการควบรวมกิจการด้านสุขภาพ (Health Systems’ Proposed Acquisition) คือการที่ Reading Health System – RHS เจ้าของกิจการและผู้บริหารโรงพยาบาลเรดดิ้ง จะควบรวมสถาบันผ่าตัดเมืองเรดดิ้ง (Surgical Institute of Reading) เข้ามาไว้ด้วยกัน
โดยให้ความเห็นว่า หากการผ่าตัดถูกควบรวมเข้ามาไว้ด้วยกันที่โรงพยาบาลเรดดิ้ง จะลดการแข่งขันลง (Reduce Competition) เกิดการผูกขาด นำไปสู่ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น (Higher Health Care Costs)
คนไข้จะไม่มีทางเลือก ไม่เกิดความเป็นธรรม ดีล 43 ล้านเหรียญจึงยุติลงเพียงแค่นี้
ทั้งที่ ณ ขณะนั้น เมืองเรดดิ้งยังมีโรงพยาบาล St. Joseph Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทางศาสนาอยู่อีกโรง ต่อมา Penn State Health มาซื้อกิจการของโรงพยาบาลนี้ ดังนั้น การจะควบรวม RHS กับ SIR เข้าด้วยกันจึงยังไม่ใช่การผูกขาดเสียทีเดียว
แต่ทางการก็ไม่ยอมให้เกิดขึ้น
เพราะที่นี่คือประเทศที่ปกป้องประชาชนจากการถูกผูกขาดโดยแท้จริง
ประเทศไทยตอนนี้กำลังมีดีลควบรวมกิจการโทรศัพท์มือถือแสนล้าน
ก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ดีลแสนล้านนี้จะมีผลออกมาอย่างไร
ข้อสำคัญ ผู้ใช้โทรศัพท์ในเมืองไทยจะถูกผูกขาดเรื่องราคาค่าโทร.อย่างไร
คุณอาจจะแปลกใจว่า ทำไมจึงมีการ “ผูกขาด” กิจการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้ามองย้อนเข้าไปในโครงสร้างการปกครองประเทศ จะเข้าใจได้ว่า การ “ผูกขาด” เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะการ “ผูกขาด” เกิดขึ้นมาตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว
ตรงที่มีการเขียนกฎหมายให้ “ตัวเอง” มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน มาลงคะแนนเลือก “ตัวเอง” เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะนี่คือดีล “ผูกขาด” ประเทศไทย
(ดังนั้น การ “ผูกขาด” อะไรๆ ต่อมา ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ)