พื้นที่สีเขียว : ปัญหาที่แท้จริงสำหรับผู้ว่าฯ คนใหม่/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พื้นที่สีเขียว

: ปัญหาที่แท้จริงสำหรับผู้ว่าฯ คนใหม่

 

สัปดาห์ก่อน แม้ผมจะเสนอว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ กทม. มิใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน หากเทียบกับการเพิ่มพื้นที่ไฟเขียว (ทางการเมือง) แต่ก็มิใช่ว่า ผมจะมองไม่เห็นความจำเป็นของการมีพื้นที่สีเขียวแต่อย่างใดนะครับ

เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยที่ปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อคนในพื้นที่กรุงเทพฯ หากคิดแยกตามเขต ยังมีมากถึง 37 เขตที่ปริมาณพื้นที่สีเขียวไม่ถึงเกณฑ์ 9 ตารางเมตรต่อคน

ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบรรจุวาระนี้เป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนากรุงเทพฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

อย่างไรก็ตาม หากเราลองพิจารณาประเด็นนี้ในรายละเอียด ผมคิดว่าเราอาจแยกประเด็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวออกได้เป็น 2 ส่วนอย่างกว้าง ๆ คือ ปัญหาในเชิงการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวทางกายภาพ กับปัญหาในเชิงคุณภาพของพื้นที่สีเขียวที่ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

ในเชิงปริมาณ จากข้อมูลของ The Visual by Thai PBS ที่ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2562 พบว่า หากเราสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มลงไปในพื้นที่ใต้ทางด่วนทั้งหมด (ที่มิได้ใช้ประโยชน์) ที่มีอยู่ประมาณ 600 ไร่, พื้นที่ราชพัสดุที่หน่วยงานราชการหรือทหารใช้อยู่, พื้นที่ในศาสนสถานประมาณ 700 แห่ง, พื้นที่จอดรถในสถานที่ราชการขนาดใหญ่, สองข้างทางของถนนสายหลักทั้งหมด, พื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่, สนามกอล์ฟทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง และพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารขนาดใหญ่ทั้งหมด จะทำให้ กทม.มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 24.4 ตารางเมตรต่อคน เทียบเท่ากับนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (ดูรายละเอียดใน https://thevisual.thaipbs.or.th/bangkok-green-space/main/)

แน่นอน ในความเป็นจริง หลายพื้นที่ข้างต้นคงทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเจ้าของเป็นเอกชน

แต่ถ้าคิดเพียงพื้นที่บางประเภทที่เป็นของภาครัฐและไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน, ลานจอดรถ, สองข้างถนนสายหลัก และพื้นที่ศาสนสถานทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนมากเกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างสบายๆ

จากข้อมูลข้างต้น เราน่าจะเห็นภาพร่วมกันแล้วนะครับว่า ในเชิงปริมาณทางกายภาพ กรุงเทพฯ มีพื้นที่พร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ทันที โดยแทบไม่ต้องเสียงบประมาณในการหาซื้อที่ว่าง หรือแม้แต่ไล่รื้อชุมชน ไล่รื้อตลาด เพื่อนำมาสร้างเป็นสวนสาธารณะแต่อย่างใดเลย

ขอแวะออกนอกเรื่องสักหน่อยนะครับ เอาเข้าจริงแล้ว (จากการพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่) สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ พื้นที่ราว 11 ไร่ ที่เกิดขึ้นจากการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อราวปี พ.ศ.2561 จึงเป็นโครงการที่แทบไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย เพราะในความเป็นจริง มีพื้นที่ว่างรอการพัฒนาอีกมหาศาล แต่ กทม.ไม่ยอมไปทำ

ยังไม่นับรวมความล้มเหลวของสวนแห่งนี้ อันเกิดจากตำแหน่งและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้นำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะแต่อย่างใด เพราะเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดล้อม 4 ด้าน จากคลองโอ่งอ่างบางลำพูทางทิศตะวันออก คลองหลอดวัดเทพธิดารามทางทิศใต้ ป้อมมหากาฬทางทิศเหนือ และแนวกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันตก โดยมีเพียงประตูเล็กๆ 4 ช่องเพื่อใช้เข้าออกสวนเท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงสำหรับการนำมาพัฒนาเป็นสวน

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นอีกกรณีตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่น่าผิดหวัง

กทม.ทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปในตำแหน่งที่ไม่ควรจะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเท่าที่ควร โดยเฉพาะหากมองเทียบกับพื้นที่อื่นๆ อีกมาก ที่สามารถพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องเสียงบประมาณทำโครงสร้างขนาดใหญ่คร่อมลงบนแนวคลองแบบกรณีคลองช่องนนทรี

ในทัศนะผม ความพยายามดึงดันทั้ง 2 โครงการข้างต้นจนสำเร็จ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากสาเหตุของการขาดพื้นที่ทางกายภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวแต่อย่างใดเลย

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการสร้างข้ออ้างปลอมเรื่องการไม่มีพื้นที่สีเขียวที่มากพอ

เพื่อจะไล่รื้อชุมชนแออัดในสายตาภาครัฐ (กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ) ออกจากพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์

ในขณะที่โครงการบริเวณคลองช่องนนทรี ก็เป็นเพียงความต้องการของ กทม. ที่อยากจะสร้างเปลือกปลอมของ “ชองเกซอนแห่งกรุงเทพฯ” ให้เกิดขึ้นเท่านั้น

 

ในเชิงคุณภาพ พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ หลายแห่งก็ไร้คุณภาพและไม่สามารถใช้งานได้จริง

จากข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่จำแนกพื้นที่สีเขียวประเภทต่างๆ ใน กทม. หากเรามีเวลาว่างพอที่จะกดเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ เราจะพบรายละเอียดที่น่าตกใจ

ตัวอย่างเช่น ในเขตพระนคร ได้ระบุว่าลานจอดรถวัดมหรรณพาราม ขนาด 1 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งๆ ที่ลักษณะกายภาพของพื้นที่ดังกล่าว คือลานคอนกรีตสำหรับจอดรถที่มีต้นไม้ประปรายอยู่ตามขอบของลาน ลักษณะดังกล่าว หากเราไม่หลอกตัวเองมากจนเกินไป (แม้มันจะสามารถจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สีเขียวตามนิยามได้) แต่ในแง่ของการใช้งานจริง เราคงไม่มีทางที่จะนับรวมมันเข้ามาเป็นพื้นที่สีเขียวอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือ พื้นที่ลานจอดรถคอนกรีตขนาดใหญ่ในลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก (รวมเป็นพื้นที่หลายสิบไร่) ได้ถูกนับรวมเข้ามาเป็นพื้นที่สีเขียวตามนิยามของ กทม. โดยมิได้มีการพิจารณาในเชิงคุณภาพการใช้งานจริงแต่อย่างใด

ในหลายพื้นที่ เช่น เกาะกลางถนนและสวนหย่อมขนาดเล็กในพื้นที่เอกชนหลายแห่ง แม้ในเชิงกายภาพจะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ดี แต่การเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวก็แทบเป็นไปไม่ได้ ทั้งด้วยการมีรั้วล้อม หรืออันตรายเกินกว่าจะเดินเข้าไปใช้งาน และถึงแม้จะเข้าถึงได้

แต่เกือบทั้งหมด การออกแบบในระดับรายละเอียดก็ไม่เอื้อให้เกิดการใช้งานในพื้นที่ได้จริง

 

กรณี “สนามหลวง” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ด้วยขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มากถึง 76 ไร่ และมีการปลูกต้นไม้รวมถึงสนามหญ้าคลุมผิวดินครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ตรงตามนิยามของพื้นที่สี่เขียวที่มีศักยภาพ

แต่น่าเสียดายที่การเข้าถึงพื้นที่กลับแสนลำบากและถูกปิดกั้นในหลายส่วน

เราสามารถเข้าใช้สนามหลวงได้เพียงทางเดินโดยรอบเท่านั้น โดยในส่วนสนามหญ้าตรงกลาง คิดเป็นพื้นที่หลายสิบไร่ กลับถูกแผงกั้นเหล็กปิดกั้นตลอดเวลา

ซึ่งลักษณะเช่นนี้ น่าสงสัยว่าเราจะยังสามารถนับรวมพื้นที่ส่วนใหญ่ของสนามหลวงว่าเป็นพื้นที่สีเขียวได้หรือไม่

เพราะเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ส่วนใหญ่ของสนามหลวงได้เพียงด้วยสายตาเท่านั้น

หรือ “สวนหย่อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงจากถนนโดยรอบและจากเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าไปทำกิจกรรม จนเรียกได้ว่าเป็นสวนที่ไร้คุณภาพโดยสิ้นเชิง

แต่ กทม.ก็ยังกล้าที่จะนับรวมเป็นพื้นที่สีเขียว

 

จากข้อมูลของ “ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง” (UddC) ที่ให้ไว้เมื่อราวปี พ.ศ.2562 (อ้างถึงใน The Visual by Thai PBS) พบว่า เฉพาะสวนสาธารณะขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริงนั้น อาจมีพื้นที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.92 ตารางเมตรต่อคน

หากเชื่อตามข้อมูลข้างต้น ก็น่าเป็นห่วงอย่างมากสำหรับพื้นที่สีเขียวของ กทม.ที่เต็มไปด้วยปริมาณแต่ไร้ซึ่งคุณภาพ

ดังนั้น สำหรับใครก็ตามที่อาสาจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. การแก้ปัญหาพื้นที่สีเขียวอย่างเร่งด่วนอันดับแรกอาจไม่ใช่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเชิงปริมาณ (แน่นอนนะครับ การเพิ่มในเชิงปริมาณ หากเพิ่มได้ ย่อมดีกว่าไม่ได้เพิ่ม เพียงแต่ในทัศนะผม อาจจะไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนมากนัก) แต่คือการเพิ่มคุณภาพของพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

การนำรั้ว กำแพง หรือแผงเหล็กกั้นออก เพื่อเปิดการเข้าถึงให้มากขึ้น, การออกแบบเก้าอี้ ม้านั่ง อย่าเพียงพอในตำแหน่งที่เหมาะสม, การปลูกต้นไม้ใหญ่ให้มากขึ้น, การเพิ่มจุดบริการน้ำดื่มที่สะอาด, รวมไปถึงการจัดไฟส่องสว่างให้เพียงพอเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาในการใช้พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นขยายเพิ่มมากขึ้นได้ในเวลาค่ำ

ที่สำคัญคือ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ควรมองอดีตเป็นบทเรียน และอย่าทำผิดซ้ำซาก เช่นกรณีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ และสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ที่แทบไม่ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกรุงเทพฯ แต่อย่างใด