วันที่ 22 แปลงอาถรรพ์เดือนพฤษภา เป็นพลังประชาธิปไตย…ให้ชีวิตดีขึ้น/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

วันที่ 22 แปลงอาถรรพ์เดือนพฤษภา

เป็นพลังประชาธิปไตย…ให้ชีวิตดีขึ้น

 

22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก.กทม. ไม่รู้ว่าตั้งใจจะถือเป็นฤกษ์หรือบังเอิญ เพราะเป็นวันครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหารของคณะ คสช. ปี 2557

และก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ก็เป็นวันครบรอบ 12 ปีของการล้อมปราบและสังหารประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

และครบรอบ 30 ปีของการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

 

ไม่ใช่อาถรรพ์

แต่คณะรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจ

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนั้นนำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 มาใช้และพยายามสืบทอดอำนาจโดยผ่านพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง นำตำแหน่งนายกฯ ชั่วคราว ไปมอบให้นายอานันท์ ปัญยารชุน โดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 อย่างรวดเร็ว ในเดือนธันวาคม 2534 ขอเวลาไม่นานแล้วเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 แล้วแพ้เลือกตั้ง ปี 2550 สืบทอดอำนาจต่อไม่ได้ จนเกิดความขัดแย้งตลอด 7 ปี หลังรัฐประหาร 2557 ยังคิดสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 ส.ว.มี 250 คน มาจากการแต่งตั้ง และมีสิทธิ์เลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศเลือก ส.ส.ได้เพียง 500 คน

รธน.2534 และ 2560 เขียนโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ มีเนื้อหาที่เปิดทางเพื่อสืบทอดอำนาจได้ทั้งสองฉบับ จะให้เสร็จเร็ว เสร็จช้า จัดให้ได้ รธน.ฉบับ 2534 ใช้เวลา 9 เดือน ฉบับ 2560 อยากอยู่ยาว กว่าจะเลือกตั้งใช้เวลาเกือบ 5 ปี

 

อยากแปลงกายเป็นนักเลือกตั้ง ต้องตั้งพรรค

ปี2535 รสช.ใช้วิธีสมคบนักการเมือง ตั้งพรรคของตนเอง เป็นพรรคทหารที่ไม่จำเป็นต้องมีพลเอก รสช.ออกหน้า ชื่อ พรรคสามัคคีธรรม เป็นพรรคการเมืองที่รวบรวมนักการเมืองมาจากหลายพรรค รสช.หนุนเต็มที่ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ (อดีตหัวหน้าพรรครวมไทย) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

ปี 2560 คสช.อยากสืบทอดอำนาจ จึงตั้งพรรคพลังประชารัฐ และทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญและกรรมการ แถมมีการซื้อ ส.ส. ยุบพรรคคู่แข่ง

สภาพการเมือง 2534 ไม่มีพรรคที่จะชนะ ได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา

แต่ยุคหลังมีเพื่อไทย

 

เปรียบเทียบสภาพแวดล้อม

ทางเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยี

2534-2535 และ 2557-2565

สมัยนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ 2534 เศรษฐกิจกำลังจะรุ่งเรือง คนจึงรู้สึกไม่พอใจรัฐประหาร

รัฐประหาร 2549 ก็เช่นกัน คนก็รู้สึกว่า ทำไมยังมีคนเสียสติทำรัฐประหาร ความรุ่งเรืองสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกทำลายไป

และยังมาทำซ้ำในปี 2557 ทำให้ประเทศไทยตกต่ำลงในเวทีโลก และเศรษฐกิจตกต่ำมาตลอด 7-8 ปี

2535 ระบบสื่อสารที่ทันสมัยคือโทรศัพท์มือถือ แต่ยังราคาแพง คนบางกลุ่มมีใช้ สามารถส่งข่าวสารได้ แต่ปัจจุบัน ระบบโซเชียลมีเดียพัฒนาไปจนกล่าวได้ว่ามีโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนคน สามารถส่งภาพ เสียง กระจายผ่านเครือข่าย ไลน์, เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆ ได้

รสช.มีกองหนุนที่อยู่นอกสายทหารน้อยกว่า คสช. จึงอยู่ยาวนานกว่า เพราะมีอำนาจเก่าหนุน แถมวางเครือข่ายได้มากกว่าทุกวงการ ทั้งกลุ่มทุน และวงการเมือง ก่อน 2535 ยังไม่ปรากฏ บทบาทที่มีผลทางการเมือง ขององค์กรอิสระ และตุลาการภิวัฒน์ แต่หลัง 2549-ปัจจุบัน มีผลมาก และสร้างความคับข้องใจแก่ประชาชน

2534 ความตื่นตัวของประชาชนที่กล้าแสดงออก ยังอยู่ที่ชนชั้นกลางในเมือง แต่ปัจจุบัน ความตื่นตัวทางการเมืองกระจายลงไปทุกชนชั้น ถึงชนบท โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน จนเกิดความขัดแย้งของมวลชนต่างสีขึ้น หลัง 2562 ยังมีการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

ถ้า คสช.ไม่ปรับตัว การปะทุของความขัดแย้งจะเกิดขึ้น

การต่อสู้ทางการเมือง 2535 คือการไม่ยอมให้คณะรัฐประหาร รสช.สืบทอดอำนาจต่อ

แต่ปี 2557-2565 สรุปได้ว่า คสช.สืบทอดอำนาจต่อได้

ความยุ่งยากในการช่วงชิงอำนาจ ยังคงดำรงอยู่ แฝงความขัดแย้งไว้ในรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่คณะ คสช.ทำมากกว่าคนอื่นก็คือ ได้ไปหยุดยั้งระบบเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น โดยเฉพาะใน กทม. ที่แต่งตั้งคนเข้ามาปกครองบริหาร

 

ทำให้ว่างเว้นจากการเลือกตั้งนานถึง 9 ปี

ต้องแก้อาถรรพ์

โดยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งดีที่สุด

คนในทีมวิเคราะห์อยู่ในวงการเมืองมา 50 ปี ได้รู้ได้เห็นการแย่งชิงอำนาจมาทุกรูปแบบ สรุปได้ว่าการเลือกตั้งเหมาะที่สุด เพียงแต่ต้องปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบประชาธิปไตยและละเอียดมากขึ้น พวกที่ต้องการเอาเปรียบมีมาก การคัดเลือกกรรมการต้องยุติธรรม ระบบนี้ก็จะเดินต่อไปได้

การที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษ สามารถเลือกตั้งผู้บริหารและสภา จากประชาชนได้โดยตรง ถือเป็นเรื่องที่โชคดียังไม่มีใครมาล้มระบบนี้ทิ้งไปเหมือนกับการฉีกรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะเป็นแนวทางใช้ในการเลือกตั้งระดับประเทศและสามารถขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเริ่มจากแรงขับเคลื่อนของพลังประชาชน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อก่อนมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังมี รธน.2540 ในปี 2543 มีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 58.87% ปี 2547 ผู้มาใช้สิทธิ์ 62.5% ปี 2556 มีผู้มาใช้สิทธิ์สูงที่สุดเกือบ 64% แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่มีการมาลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิ์ถึง 70%

หวังว่าครั้งนี้จะทำลายสถิติ ที่ว่าเมืองที่มีคนมีการศึกษามากที่สุด สูงที่สุด เศรษฐกิจดีที่สุด การคมนาคมสะดวก ผู้คนจึงควรจะตื่นตัวทางการเมือง ตื่นตัวในการที่จะใช้สิทธิ์และปกป้องสิทธิของตนเอง ตื่นตัวที่จะเลือกคนมาดูแลจัดการหน้าบ้านตนเอง คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความหวังอะไรมาก

เพียงคิดว่าเมื่อไหร่จะมีคนมาเก็บขยะที่หน้าบ้านให้ได้อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ไม่ต้องมาทุกวันก็ได้ ทำอย่างไรถนนหน้าปากซอยน้ำจะไม่ท่วม ทำอย่างไรค่ารถไฟฟ้าจะถูกลง

 

22 พฤษภาคม 2565

เลือกคนและนโยบาย ไม่เลือกข้าง

จะเปลี่ยนวิถีชีวิต

เพราะผลของการเลือกตั้งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตของตัวเราโดยตรงไม่เพียงเฉพาะหน้าไม่กี่ปี อาจหมายถึงระยะเวลาที่ยาวนานไปข้างหน้า อีกหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี เราอาจจะได้สิ่งใหม่ๆ ที่นำมาใช้เป็นประโยชน์และได้รับการปฏิบัติ

เช่น ในยุคผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล มีการเข้มงวดเกี่ยวกับการก่อสร้างที่จะต้องมีผ้าบังฝุ่นและกันสิ่งของตกหล่น เมื่อกวดขันกันหนักเข้า สุดท้ายก็เป็นธรรมเนียมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงวันนี้ก็เกินกว่า 20 ปีแล้ว บางอย่างอาจจะต้องใช้เวลานาน การพยายามเสนอสร้างสวนสาธารณะจากที่ดินโรงงานยาสูบ ก็เริ่มตั้งแต่ปี 2539 ใช้เวลานับ 10 ปี

แต่สิ่งง่ายๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชนจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เลือกผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์เข้าไปทำงาน จากสภาพปัญหาในปัจจุบันจะต้องขยันอดทนอย่างมาก แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต ไม่ได้มีความหมายเพียงว่าเราจะได้เลือกผู้บริหาร กทม.เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองเท่านั้น แต่คะแนนที่เลือกตั้งนั้นยังจะชี้ทิศทางของการเมืองระดับประเทศที่คาดว่าจะมีขึ้นใน 6-8 เดือนข้างหน้า ทุกคะแนนจะเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายปรับปรุงแนวทางการเมืองของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพื่อที่จะได้รับชัยชนะ ถือเป็นการก้าวเดินเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกหนึ่งก้าว

ชาว กทม.จะต้องแปลงอาถรรพ์แห่งเดือนพฤษภา ให้เป็นพลังประชาธิปไตย หวังว่าการเลือกข้างจะมีน้อยลง แต่จะได้เห็นการเลือกคนที่เหมาะสมเข้าไปทำงาน เพื่อสร้างความสุข และคุณภาพชีวิต ให้กับคนที่อยู่ คนที่มาทำงาน คนที่มาเที่ยว…

ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ ชีวิตไม่มีทางดีขึ้น