ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นคนสนใจเรื่องเก่าแก่ทั้งหลาย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเรื่องประวัติศาสตร์ก็เห็นจะพอได้
ผมย่อมมีความคุ้นเคยกับคำว่า “ผีบุญ” หรือ “กบฏผีบุญ” พอสมควร
เพราะคำคำนี้อ่านพบได้ในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม
บางเล่มเป็นเรื่องย้อนหลังขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาก็มี ในขณะที่กบฏผีบุญในยุคที่ผมยังเป็นเด็กก็ยังปรากฏให้ได้ยินได้ฟังกันอยู่
คำว่า “ผีบุญ” ในที่นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับล่าสุดให้นิยามความหมายว่า ผู้อวดคุณวิเศษว่ามีฤทธิ์ทำได้ต่างๆ อย่างผีสางเทวดาทำให้คนหลงเชื่อ
ลองดูตัวอย่างกันสักเรื่องหนึ่งไหมครับ
ในปีรัตนโกสินทร์ศก 120 ซึ่งก็ตรงกันกับพุทธศักราช 2444 เวลานั้นเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ที่จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีผู้แสดงตนเป็นผู้วิเศษป่าวร้องว่า ก้อนกรวดที่อยู่ที่วัดชื่อนั้นชื่อนี้ พอถึงวันที่กำหนดจะกลายเป็นทองคำขึ้นมา
ตัวไหมที่ราษฎรเลี้ยงไว้สำหรับทอผ้าจะกลายเป็นงูและลุกขึ้นมาขบกัดผู้คนให้ได้รับอันตราย
เวลาเดียวกันเงินทองทั้งหลายซึ่งในเวลานั้นราษฎรส่วนใหญ่มีเพียงแค่เงินปลีกที่เป็นเหรียญกษาปณ์ จะกลายเป็นเหล็กธรรมดาไม่มีราคา เพราะฉะนั้น จึงต้องรีบใช้เงินที่มีอยู่ในครอบครองให้หมดสิ้นก่อนถึงวันเวลาที่ว่า
แค่พูดมาเพียงนี้ก็วุ่นไหมล่ะครับ เพราะมีคนหลงเชื่อเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยที่ไปกอบโกยเอาก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้นมาทะนุถนอมเก็บรักษาไว้รอวันที่จะกลายเป็นทองคำขึ้นมา
ส่วนเงินตราที่มีอยู่จริงก็รีบใช้ออกไปให้พ้นตัว ของจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ซื้อไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยให้เงินตรากลายเป็นก้อนเหล็กไร้ราคา
เรื่องตัวไหมจะกลายเป็นงูขึ้นมาก็น่ากลัวครับ ที่ว่าน่ากลัวนี้ไม่ได้กลัวจะเป็นงูขึ้นมาจริงๆ แต่น่ากลัวเพราะความเชื่ออย่างนี้จะทำให้คนเลิกทอผ้า เลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมซึ่งเป็นวิถีชีวิตมาแต่เก่าก่อน ถ้าทำอย่างนี้โดยพร้อมเพรียงกันแล้วต่อไปจะเอาผ้าอะไรมานุ่งมาห่มเล่า
ทีเด็ดสุดยังมีอีกข้อหนึ่งครับ ผู้หญิงที่มียังไม่มีสามีต้องรีบหาสามีเสียให้ทันกำหนดเวลาวันที่ว่าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จงรีบหาผัวเสียเถิด เพื่อให้การร้อนเรื่องนี้เดินหน้าไปได้โดยไม่ขลุกขลัก ยังมีการกำหนดด้วยว่าให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายไปสู่ขอผู้ชาย และให้กำหนดค่าสินสอดเพียงแค่ 1 อัฐ กับอีก 1 โสฬส
ฮั่นแน่! มีการควบคุมราคาเสียด้วย
ตรงนี้ขออธิบายแทรกหน่อยครับว่า เงินบาทที่เรารู้จักกันนั้น แบ่งเป็นสี่สลึง ถ้าแบ่งครึ่งของสลึงออกไป จำนวนนี้แหละครับที่เรียกว่าอัฐ เพราะอัฐแปลว่าแปด เงินหนึ่งอัฐคือเงินที่มีมูลค่าหนึ่งในแปดของ 1 บาท บอกเป็นตัวเลขชัดๆ ก็แปลว่า 12.5 สตางค์
ส่วนโสฬสนั้นหนึ่งใน 16 ครับ คนรุ่นราวคราวเดียวกับผมคงเคยได้ยินคำว่าสวรรค์ชั้นโสฬสมาแล้ว นั่นแหละครับสวรรค์ชั้น 16
เพราะฉะนั้น หนึ่งโสฬสจึงมีราคาเท่ากับ 6.25 สตางค์
นั่นแปลว่าผีบุญกำหนดราคาสินสอดสำหรับผู้หญิงไปสู่ขอผู้ชายว่าต้องมีราคาตายตัวอยู่ที่ 18.75 สตางค์
และถ้าผู้หญิงโสดหาผู้ชายโสดมาแต่งงานด้วยไม่ได้ จะไปแต่งงานกับผู้ชายที่มีเมียแล้วก็ไม่ว่ากัน แต่มีกติกาว่าต้องเสียเงิน 4 อัฐให้ภริยาที่เขามีอยู่แล้ว อารมณ์ประมาณว่าขอซื้อสามีของเขามาทำสามีของเรา แค่คิดตามไปก็สนุกเป็นบ้าแล้ว
ถ้าผู้หญิงคนไหนยังหาสามีไม่ได้ภายในกำหนดเวลา ยักษ์มาจับตัวไปกินเสียทั้งสิ้น
เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้วต้องอย่าลืมนึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 120 ปีมาแล้ว การศึกษาของบ้านเราเพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้น เมื่อมีผู้มีบุญที่ทางราชการเรียกชื่อเสียน่ากลัวว่า “ผีบุญ” มาป่าวร้องดังกล่าว ผู้คนก็หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
ทางราชการก็ต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดา เพราะจะปล่อยให้หลอกหลวงสร้างความปั่นป่วนเช่นว่าต่อไปได้อย่างไร
เมื่อทางราชการยกพลเข้าไปแต่จับกุม แน่นอนว่าผู้มีบุญที่เป็นหัวหน้าคณะก็ต้องคิดต่อสู้โดยมีกำลังราษฎรหนุนหน้าหนุนหลัง
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่เรียกว่าผีบุญเกิดขึ้น ลงท้ายแล้วก็จะกลายเป็นกบฏขึ้นมาเสียทุกที เพราะกลายเป็นการท้าทายอำนาจรัฐขึ้นมาเสียแล้ว ทางราชการต้องจัดการอย่างเด็ดขาด
มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการประหารชีวิตผู้ที่ร่วมขบวนการผีบุญจำนวนหลายสิบคน เรื่องจึงพอจะสงบลงไปได้
เรื่องผีบุญยุคเก่านี้มีคนทำวิทยานิพนธ์หรือทำการศึกษาค้นคว้าหลายราย เท่าที่ผมเคยอ่านผ่านตา โดยมากก็มักจะสรุปว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความพอใจของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไม่พอใจกับอำนาจการปกครองจากส่วนกลางที่คืบคลานเข้าไปในภูมิภาคดั้งเดิมของเขา
หรือมิเช่นนั้นก็เป็นเรื่องของการแสดงความไม่พอใจความคับแค้นใจกับความยากจน เรื่อยไปจนถึงฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนที่มีปัญญาเหนือกว่าก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อและตัวเองก็ได้ทรัพย์ได้ประโยชน์จากการนั้น
แถมยังได้เมียด้วย นับว่าประเสริฐแท้
เวลาผ่านไป 120 ปี ในขณะที่ปีนี้เราเพิ่งฉลองกำหนดเวลา 240 ปีนับแต่การตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเข้าใจของผมที่นึกว่ากบฏผีบุญหรือผีบุญเป็นของหมดยุคพ้นสมัยไปแล้วถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง ด้วยข่าว “พระบิดา” ที่เกิดขึ้นที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
พระบิดาที่ว่านี้อายุ 70 กว่าปีแล้ว แกเที่ยวป่าวร้องว่าแกมีความรู้มีเวทมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ สานุศิษย์ที่นับถือต้องกินของที่ไม่ควรกินต่างๆ มีอุจจาระ ปัสสาวะ และของน่าขยะแขยงต่างๆ โดยอธิบายว่ากินแล้วจะเป็นการดีอย่างโน้นอย่างนี้
ในสำนักของพระบิดาเองก็มีศพที่ยังไม่ได้จัดการปลงศพค้างคาอยู่สิบกว่าศพ ส่วนจะตายด้วยเหตุใด ในวันเวลาที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้อยู่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ให้ได้ความแน่ชัด
ขณะที่เขียนนี่ก็ต้องพยายามไม่นึกภาพตามไปนะครับ เดี๋ยวคนเขียนจะหน้ามืดไปเสียเปล่าๆ
พอมานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และอาจจะสงเคราะห์ว่าเป็นผีบุญในปีพุทธศักราช 2565 ได้
ผมพบกับตัวเองว่าคำอธิบายที่มีงานวิชาการเขียนอธิบายกันมาแต่ก่อนข้อแรกนั้นไม่สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องนี้ได้แน่ เพราะหมดยุคของความไม่พอใจที่อำนาจรัฐบาลกลางแผ่ออกไปกระทบกับอำนาจของท้องถิ่นอย่างเมื่อ 120 ปีมาแล้ว ผมคิดว่าพระบิดาไม่ได้นึกถึงประเด็นนี้แน่
ส่วนข้อที่สองนั้นยังตัดประเด็นไม่ขาดเสียทีเดียว เพราะถ้าเราพูดโดยรวมก็อาจจะบอกได้ว่า ผู้คนที่เศรษฐกิจชักหน้าไม่ถึงหลัง มองไม่เห็นทางแก้ไขปัญหาชีวิตในระยะยาว เปรียบเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ เห็นไม้จิ้มฟันลอยมาหนึ่งชิ้นก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน จะไปรอท่อนซุงท่อนสักเห็นจะไม่ได้การ เรื่องอย่างนี้ใครไม่อยู่ในฐานะอย่างนั้นก็ยากที่จะเข้าใจครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดกันให้ชัด คือความยากจนข้นแค้นมองไม่เห็นอนาคตข้างต้น พอมาบวกรวมกันเข้ากับคุณภาพการศึกษา และเรื่องของความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของชาวเราอย่างที่ผมเคยฝากไว้เป็นข้อคิดในที่นี้เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน
สองอย่างนี้รวมกันเข้าแล้วก็ไม่ยากเลยที่จะมีผีบุญเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ผีบุญพระบิดา” ครั้งนี้ จึงเหมือนกระจกเงาที่คนไทยจะได้ใช้ส่องให้เห็นภาพความจริงอะไรบางอย่าง ภาพอะไรหรือครับ
ภาพแรกคือความยากจนและมองไม่เห็นทางแก้ทางออก ประเด็นนี้อาจจะหมายความรวมไปถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขหรือการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและใครอีกหลายคนมีความภาคภูมิใจว่าเราทำเรื่องนี้ได้ดีมาก เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็ควรตั้งคำถามตัวเองไหมครับว่า ทำไม?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อหวังพึ่งอำนาจรัฐให้ช่วยแก้ความทุกข์นานาสารพันของเขาไม่ได้ เพราะรัฐอยู่ไกลเกินเอื้อมของเขาหรือเพราะเหตุอะไรก็ตามทีเถิด ชาวบ้านก็ต้องหวังพึ่งผีบุญไปตามเพลง
ภาพที่สองคือเรื่องของคุณภาพการศึกษา และอาจจะแถมเรื่องของการรับรู้เพื่อแก้ปัญหาของภาครัฐด้วยว่า เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ จากวันแรกที่เกิดกรณีขึ้นจนเป็นข่าวคราว ใครทำอะไรอยู่ที่ไหนกันบ้าง รู้กันมานานแล้วหรือยัง ถ้ารู้แล้วทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือนอนหลับฝันดีอยู่ได้อย่างไร
ในแวบแรกของความรู้สึกที่รับรู้ข่าวสารเรื่องนี้ ผมจึงนึกถึงคำว่า “ผีบุญ” ขึ้นมาทันที
พร้อมกับความกังวลว่า ทางราชการจะทำอะไรกับเรื่องนี้บ้าง
สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่มิติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ หากแต่มีประเด็นทางจิตวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การศึกษา และอีกสารพัดวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง
ถ้าจะเดินเกมกันแบบโบราณ โดยจับพระบิดาคนนี้ไปติดคุกหรือขึ้นศาล แต่ไม่แก้ปัญหาเชิงระบบหรือวางวิธีทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นอีก
วันข้างหน้าเราก็จะพบพระบิดาคนใหม่อยู่เรื่อยๆ รอบต่อไปไม่รู้เหมือนกันว่าท่านจะมาบอกให้เรากินอะไรอีก
แค่คิดก็พะอืดพะอมแล้วครับ