ทำงาน เพื่องาน ทำงาน อย่าง “จิตว่าง” บนฐาน สุญญตา

บทสนทนาระหว่าง “ตาแก่” กับ “หลวงตา” ภายใต้หัวข้อ “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง” นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2504

เป็นงานของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนไปบรรยายที่หอประชุมคุรุสภา

ครั้งแรกเมื่อวันอาสาฬหบูชา 6 กรกฎาคม 2506 ในหัวข้อเรื่อง “ธรรมในฐานะเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างชาติ และสร้างโลก” โดยมีผู้ซักถามประกอบด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ และ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์

เป็นการจัดร่วมกันระหว่าง สภาพระธรรมกถึก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ชุมนุมจริยศึกษา และสถานีโทรทัศน์กองทัพบก

จุดที่ไม่ควรมองข้ามคือ “กรอบ” ในการบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ

“อาตมามีหัวข้อย่อยออกไปว่า (1) งานคือการปฏิบัติธรรม และ (2) การทำงานด้วยจิตว่าง และ (3) หมวดธรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับจะทำงานด้วยจิตว่าง หรือสร้างโลก สร้างชาติ ให้สำเร็จ

บทสนทนานี้จึงเท่ากับเป็นการตระเตรียมในทาง “ความคิด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามของ “ตาแก่” ที่ว่า “เป็นอยู่อย่างไรเรียกว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง” อันเท่ากับเป็นชื่อของบทสนทนานี้

คำตอบจาก “หลวงตา” คือ

เป็นอยู่ด้วยจิตว่างนั้นมิใช่เป็นอยู่ด้วยการนั่ง หรือนอนตัวแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ดังที่เข้าใจกันเอาเอง

นั่นเป็นการว่าเอาเองตามความเขลา เพราะไม่เข้าใจคำว่าสุญญตาของพระพุทธเจ้า

คำว่า “ว่าง” หมายถึงว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวกูหรือของกูดังที่กล่าวมาแล้ว ตัวเรามีขึ้นมาก็เพราะเรามีความรู้สึกว่าตัวเรามี ความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่นั้นจะมีแต่ชั่วขณะที่เรารู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกอย่างนั้นเรียกว่าอุปาทาน

เมื่อจิตกำลังมีอุปาทานอย่างนี้เรียกว่าเป็นจิตโง่ หรือการเป็นอยู่ด้วยความโง่

เมื่อใดไม่มีอุปาทานก็เรียกได้ว่าไม่มีความโง่ แต่เป็นการอยู่ด้วยสติปัญญา หรืออย่างน้อยก็มีผลเท่ากันกับการเป็นอยู่ด้วยสติปัญญา มีผลเป็นความไม่มีทุกข์เลย มีแต่สติปัญญาและมีการเคลื่อนไหวไปตามอำนาจของสติปัญญานั้น

นี่แหละควรจะเรียกว่ามหากุศลที่แท้จริง เพราะเป็นยอดสุดของความฉลาด

กุศลแปลว่าดี ว่าฉลาด ว่าตัดเสียซึ่งอกุศล มหาแปลว่าใหญ่หลวง กุศลใหญ่หลวงคือการเป็นอยู่ด้วยจิตที่ไม่ยึดอะไรไว้ว่าเป็นตัวตนหรือของตน ไม่มีความทะเยอทะยานด้วยตัณหาด้วยสิ่งใด

ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อธรรม บริโภคผลงานเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่สำหรับบรมธรรม คือ นิพพาน ซึ่งเป็น “ความว่าง” อย่างสุดยอด

นี่แหละคือใจความของการมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ซึ่งขอสรุปเป็นคำกลอนสำหรับจะจำไว้ได้ง่ายๆ แก่การคิดนึกว่า จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน

ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที

ได้ยินดังนั้น “ตาแก่” แสดงความเห็นออกมาว่า “ดู ดู ยิ่งพูดไป จะยิ่งฟังยากสำหรับคนทั่วไปเข้าทุกที”

“อีก 5-10 ปี จะง่ายเหมือนเรื่อง “มหากุศล” ในเวลานี้” เป็นคำตอบจาก “หลวงตา”

ช่วยเทศน์ให้เข้าใจกันเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ” เป็นข้อเรียกร้องจาก “ตาแก่”

“ได้เหมือนกัน แต่ต้องขอเครื่องกัณฑ์ที่มากสมกัน” ถือได้ว่าเป็นอีกลูกเล่นหนึ่งจาก “หลวงตา” นั่นก็คือ

“คือนั่งฟังนิ่ง นิ่ง ไม่เอ่ยปากพูดอะไรหมด ติดต่อกัน ไม่ลุกเป็นเวลา 3 เดือน”

“ถ้าอย่างนั้นวันนี้ก็ต้องขอลาก่อน” เท่ากับเป็นการร้องอุทธรณ์จากตาแก่ “ขอเอาไปตรึกตรองในส่วนที่พอจะตรึกตรองได้ด้วยตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้เหลือส่วนที่จะต้องถามให้น้อยที่สุด แล้วจึงค่อยมาถาม”

“นั่นแหละ คือวิธีดีที่สุดสำหรับศึกษาธรรมะขั้นนี้ในพระพุทธศาสนา” เป็นการย้ำสุดท้ายอันมาจาก “หลวงตา”

สะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูงของ “หลวงตา” สะท้อนลักษณะชี้แนะผ่านไปยัง “ตาแก่” อย่างเหมาะสม

สอดรับกับสภาพการณ์

ลูกล่อ ลูกชน ระหว่าง “ตาแก่” กับ “หลวงตา” ยืนยันให้เห็นจุดหนึ่งซึ่งหลายคนไม่ได้นึกคำนึงถึงเท่าใดนัก

นั่นก็คือ “อารมณ์ขัน”

เพียงแต่เมื่ออารมณ์ขันนั้นสะท้อนผ่านทางงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุก็มิได้เป็นอารมณ์ขันในแบบโล่งโจ้ง เปิดเผย

ตรงกันข้าม กลับเป็นอารมณ์ “ขัน” อันจำเป็นต้อง “ขบ”

และบทสรุปที่ว่า “ต้องขอเครื่องกัณฑ์ที่มากสมกัน คือ นั่งฟังนิ่ง นิ่ง ไม่เอ่ยปากพูดอะไร หมดติดต่อกัน ไม่ลุกเป็นเวลา 3 เดือน”

เป็น 3 เดือนแห่งการบรรยายในเรื่อง “ความว่าง”

นั่นเป็นข้อเสนอเมื่อเดือนเมษายน 2504 และในกาลต่อมา เราก็ได้รับรู้ในทางเป็นจริงเมื่อมีการบรรยายอย่างยาวเหยียดโดยท่านพุทธทาสภิกขุ

วิเวกา นาคร