สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (1)

 

“เราต้องการเห็นยูเครนคงเป็นประเทศที่มีอธิปไตย เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สามารถปกป้องอาณาเขตใต้ อำนาจอธิปไตยของตนได้ เราต้องการเห็นรัสเซียถูกทำให้อ่อนแอลงจนถึงจุดที่มันไม่สามารถก่อเหตุอย่างการรุกรานยูเครนได้”

(รมว.กลาโหมสหรัฐ ลอยด์ ออสติน กล่าวในการแถลงข่าวชายแดนโปแลนด์-ยูเครนหลังเข้าพบประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน ณ กรุงเคียฟ ร่วมกับ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ แอนโทนี บลิงเคน, 24 เมษายน 2022 https://www.theguardian.com/world/2022/apr/25/us-diplomats-to-return-to-ukraine-and-fresh-military-aid-unveiled-after-blinken-visit )

 

สังหาร 12 นายพล

รูปธรรมของการทำให้รัสเซียอ่อนแอลงดังกล่าวได้แก่การแบ่งปันข่าวกรองลับที่สหรัฐสืบค้นประมวลได้เกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังของหน่วยทหารรัสเซียในสมรภูมิให้แก่ฝ่ายยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำเลที่ตั้งของกองบัญชาการเคลื่อนที่แนวหน้าของรัสเซีย ส่งผลให้ยูเครนตามแกะรอยและถล่มโจมตีมันด้วยปืนใหญ่และอาวุธหนักอื่นๆ ได้จนอ้างว่าสามารถสังหารนายพลรัสเซียไปแล้วถึง 12 คนนับแต่รัสเซียเปิดฉากสงครามรุกรานเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้มา

การเสียนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาชั้นนายพลไปถึง 12 นายในช่วงทำสงครามไม่ถึง 3 เดือนบ่งชี้ความบกพร่องร้ายแรงของกองทัพรัสเซียเมื่อเทียบกับสงครามยึดครองอัฟกานิสถานของกองทัพอเมริกันซึ่งสูญเสียนายพลไปเพียงหนึ่งหรือสองคนตลอดช่วงการรบ 20 ปี (Julian E. Barnes นักข่าวสายข่าวกรองของ The New York Times ให้สัมภาษณ์ในรายการข่าว podcast “Ukraine targets Russian generals with US support,” The World, 5 May 2022, https://www.npr.org/podcasts/381444246/pri-s-the-world)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สาเหตุก็เพราะจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของกองทัพรัสเซียซึ่งลำดับชั้นการบัญชาการเป็นแบบรวมศูนย์จากบนลงล่างที่ให้อำนาจตัดสินใจเฉพาะแก่ผู้บัญชาการระดับสูงสุด ทำให้บรรดานายพลรัสเซียต้องเสี่ยงเดินทางไปแนวหน้าสุดเพื่อสั่งการแก้ปัญหาการส่งกำลังบำรุงหรือปฏิบัติการรบด้วยตัวเอง (เทียบกับโครงสร้างกองทัพอเมริกันที่กระจายอำนาจมากกว่าและผลักดันให้นายทหารชั้นผู้น้อยหรือบุคลากรอาวุโสที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ตัดสินใจสั่งการเรื่องต่างๆ มากหลายในสนามรบ)

นอกจากนี้ นายพลรัสเซียยังออกจะมักง่าย เปิดช่องให้การสื่อสารของตัวเองถูกข้าศึกลอบดักฟังได้ทางอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้โทรศัพท์หรือวิทยุที่ไม่มั่นคงปลอดภัย จน เฟรเดอริก บี. ฮอดจ์ อดีตผู้บัญการทหารบกสูงสุดของสหรัฐในภาคพื้นยุโรปซึ่งปัจจุบันสังกัดศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรปวิจารณ์ว่า “มันแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัสเซียวินัยหย่อนยาน ขาดประสบการณ์ ผยองลำพองและล้มเหลวที่จะหยั่งรู้สมรรถภาพของฝ่ายยูเครน การระบุตำแหน่งที่ตั้งใครสักคนที่กำลังพูดโทรศัพท์โดยไม่เข้ารหัสน่ะมันไม่ยากเลยนะครับ” (https://www.nytimes.com/2022/05/04/us/politics/russia-generals-killed-ukraine.html)

รายงานข่าวนี้ถูกบอกปัดแก้เกี้ยวโดยโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐว่า การแบ่งปันข่าวกรองในสนามรบแก่ฝ่ายยูเครนนั้น สหรัฐมิได้ทำไป “ด้วยเจตนาจะสังหารเหล่านายพลรัสเซีย” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่ไม่ใช่ปฏิบัติการลอบสังหารของฝ่ายอเมริกันเอง แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายยูเครนนำข่าวกรองไปใช้โจมตีทางทหารต่อกองบัญชาการเคลื่อนที่ของรัสเซีย…ซึ่งเผอิญมีนายพลรัสเซียประจำอยู่ด้วยต่างหาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะสหรัฐไม่อยากเข้าเป็นคู่สงครามกับรัสเซียโดยตรง จึงไม่ต้องการผลักไสปูตินให้ไต่ระดับความขัดแย้งสูงขึ้นหรือขยายวงออกไป แต่ขณะเดียวกันอเมริกันก็ต้องการให้ยูเครนชนะสงครามด้วย ดังที่เอเวอลิน ฟาร์คาส อดีตรองผู้ช่วยหญิง รมว.กลาโหมรับผิดชอบกิจการด้านรัสเซีย ยูเครนและยูเรเชีย สมัยประธานาธิบดีโอบามา และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันแม็กเคน แจกแจงว่า :

“เราจะให้ทุกอย่างที่พวกเขา (ฝ่ายยูเครน) ต้องการเพื่อได้ชัยชนะ และเราก็ไม่กลัวปฏิกิริยาของวลาดิมีร์ ปูติน ต่อเรื่องนั้นด้วย เราจะไม่เหนี่ยวรั้งจำกัดตัวเองค่ะ”

เดิมพันสูงของสงครามตัวแทน

แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนของอเมริกาไม่ได้คาดหวังอะไรกับฝ่ายยูเครนมากนัก ดังที่แดเนียล ไฟรด์ อดีตนักการทูตอเมริกันระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญกิจการยุโรป ซึ่งปัจจุบันสังกัดสภาแอตแลนติก อันเป็นหน่วยงานคลังสมองด้านกิจการระหว่างประเทศของสหรัฐชี้แจงว่า :

“รัฐบาลไบเดนอ่านใจรัสเซียทางทหารออกแจ่มแจ้งแต่ต้น ได้เตรียมมาตรการลงโทษรัสเซียทางเศรษฐกิจร่วมกับฝ่ายยุโรปเอาไว้ แต่รัฐบาลไบเดนก็คิดเห็นด้วยว่ามัน (หมายถึงการที่ยูเครนจะต้านทานรัสเซีย) เป็นภารกิจที่สิ้นหวัง ว่าฝ่ายยูเครนจะสู้รบอย่างห้าวหาญและปราชัยอย่างรวดเร็ว แต่แล้วพอมาถึงทุกวันนี้ กลับมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้หลากหลายเป็นทิวแถวทีเดียว” อเมริกันได้ตบรางวัลตอบแทนยูเครนที่สร้างความแปลกใจให้ในสงครามต่อต้านรัสเซียด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พิเศษพิสดารยิ่งขึ้นและจำนวนมากขึ้นไปให้อย่างต่อเนื่อง

ด้วยการต่อสู้เสียสละอย่างวีระอาจหาญเพื่ออธิปไตยของตน ประชาชนชาวยูเครนได้กลายมาเป็นเสมือนกองกำลังติดอาวุธให้แก่สหรัฐและยุโรปในการเข้าปะทะคะคานของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายอำนาจนิยมซึ่งมีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นตัวแทน นี่เป็นแกนหลักเด่นชัดประการหนึ่งในแนวนโยบายของโจ ไบเดน ตั้งแต่ครั้งรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว

กล่าวได้ว่าเดิมพันแท้จริงของฝ่ายตะวันตกอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในสมรภูมิรบยูเครนจากลวีฟถึงดอนบาส และจากคาร์เคียฟถึงโอเดสซาคือตำแหน่งแห่งที่ในโลก สมรรถภาพในการระดมกำลังและป้องกันตัวเอง การยึดมั่นหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งราคาที่พร้อมจะยอมจ่ายให้แก่ทั้งหมดนั้น

 

สามอัศวินอเมริกันแห่งทีมไบเดน

ต่างจากระบอบอำนาจนิยมรัสเซียซึ่งรวมศูนย์ผูกขาดการตัดสินใจไว้ที่ประธานาธิบดีปูตินแทบจะเพียงลำพัง ระบบการเมืองการบริหารพหุธิปไตย (polyarchy) ของอเมริกันเอื้ออำนวยให้อำนาจตัดสินใจด้านการระหว่างประเทศ ความมั่นคงและการทหารของประธานาธิบดีไบเดนกระจายแบ่งปันไปในทีมบริหาร ซึ่งที่สำคัญได้แก่ แอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศ, ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหม, และเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ

ดังที่บลิงเคนได้ให้การแสดงความเชื่อมั่นแทนทีมของตนในกรณีสงครามยูเครนกับรัสเซียต่อคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อ 26 เมษายนศกนี้ว่า :

“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้สึกสะเทือนใจในสิ่งที่ประชาชนชาวยูเครนได้ทำให้ประจักษ์เป็นจริงขึ้นมา และมันก็เป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกันที่จะไม่เชื่อว่าพวกเขาจะยังคงประสบความสำเร็จสืบต่อไปเนื่องจากพวกเขารู้ดีว่าตัวเองสู้รบไปทำไม” (https://www.c-span.org/video/?519653-1/secretary-blinken-ukrainians-won-battle-kyiv)

ปัญหาอยู่ตรงมันเป็นความเชื่อว่าสงครามตัวแทนจะชนะโดยไม่ได้วาดวางเค้าโครงให้เห็นชัดว่าจะแปรสงครามนี้ไปเป็น “ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์” ของทางการเครมลินดังที่บลิงเคนกล่าวอ้างอย่างไร มันเป็นความใฝ่ฝันโดยไม่เอ่ยออกมาโต้งๆ ว่าจะเกิดอาการลัดวงจรทั่วไปในระบอบปกครองรัสเซีย

นี่ดูจะเป็นขอบฟ้าใหม่ของสามอัศวินอเมริกันแห่งทีมไบเดน

(ต่อสัปดาห์หน้า)