พฤษภารำลึก (1) 30 ปีแห่งความหลัง/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (1)

30 ปีแห่งความหลัง

 

“แรงขับเคลื่อนในเบื้องต้นสำหรับการยุติระบอบอำนาจนิยมเดิม มาจากการตัดสินใจของผู้นำในรัฐบาลทหาร”

Alfred Stepan (1986)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งเกิดจากการใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมของประชาชนในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 จะเดินทางมาเป็นระยะเวลาถึง 30 ปีแล้ว แต่ก็อดที่จะมองย้อนกลับไปรำลึกถึงความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นไม่ได้

ดังนั้น บทความนี้อยากจะขอเริ่มต้นด้วยการแสดงคารวะต่อ “วีรชนประชาธิปไตย 2535” ที่การต่อสู้ของบรรดา “นักรบประชาธิปไตย” เหล่านี้ เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะอีกครั้งของนักศึกษาประชาชนใน “บางกอกสปริง” หรือที่อยากขอเรียกด้วยสำนวนการเมืองว่า “ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่สอง” ที่กรุงเทพฯ หลังจากชัยชนะในการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชนในฤดูใบไม้ผลิรอบแรกในปี 2516 ซึ่งทั้งในปี 2516 และ 2535 ทหารต้องถอยจากการเมือง

แน่นอนว่าสายลมอุ่นทางการเมืองของ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่กรุงเทพฯ ในปี 2535 เป็นทั้งความฝันและความหวังอย่างมากถึงการมาของ “กระแสประชาธิปไตย” ที่น่าจะถึงเวลาลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้แล้ว…

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความฝันไม่ต่างจากหลายคนในขณะนั้น แต่ด้วยความที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ และสนใจเรื่อง “ทหารกับการเมือง” มาก่อน จึงทำให้ลึกๆ แล้วไม่ค่อยแน่ใจว่า การคิดเช่นนั้นจะไปถึงฝั่งฝันได้จริงเพียงใด ซึ่งผมเองก็เคยเป็น “เหยื่อการเมือง” คนหนึ่งจากการรัฐประหารในปี 2519 มาแล้ว

การจะทำตัวแบบ “นอนเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์” ด้วยความเชื่อว่า การยึดอำนาจของทหารในปี 2534 คือการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของทหารไทยนั้น น่าจะขัดกับความเห็นในทางวิชาการของตัวเองในขณะนั้น

แม้จนบัดนี้ก็ไม่กล้าเชื่อว่า ไทยจะมีรัฐประหารครั้งสุดท้าย

 

วันวานของชีวิต

โดยชีวิตที่เข้าไปมีบทบาทในขบวนการนิสิตนักศึกษาจากช่วง 2516-2519 ทำให้ผมสนใจในเรื่องบทบาทของกองทัพ

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสกลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ผมจึงพยายามที่จะเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยเฉพาะในมิติทางยุทธศาสตร์ เพราะในขณะนั้นของยุคสงครามเย็น หนึ่งในสาขาหลักของคณะรัฐศาสตร์คือ “ยุทธศาสตร์ศึกษา” และสาขานี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

สำหรับผม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เรียนเรื่องทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ มากกว่าจะเรียนแบบ “ครูพักลักจำ” ที่ไร้ทิศทาง การเรียนวิชาทางยุทธศาสตร์ในระบบมีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยให้ผมได้เรียนรู้เรื่องทางทหารมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอาวุธและสงคราม ทั้งยังได้เรียนเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ด้วย

ซึ่งต้องยอมรับว่า การเรียนวิชาทหารในมหาวิทยาลัยพลเรือนในระดับปริญญาเอกเช่นนี้ ถูก “จริต” กับความสนใจในวิชาทหารของผมโดยตรง

ด้วยเงื่อนไขของยุคสงครามเย็น การเรียนในสาขาดังกล่าวจึงมีความเข้มข้นอย่างมาก แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ช่วยให้ผมเห็นประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวโยงกับกองทัพอย่างชัดเจนขึ้น

การเรียนในวิชาทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ได้กลายเป็นรากฐานของชีวิตและวิชาชีพของตัวเองไปตลอดชีวิต อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมุมมองทางยุทธศาสตร์ต่อปัญหาของกองทัพไทย ในวันที่ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่สอนวิชา “ความมั่นคงศึกษา” ในบ้านตัวเอง

แต่ในอีกด้านก็เป็นโอกาสที่ผมเริ่มเรียนรู้ถึงเรื่องทหารในมิติทางการเมืองด้วย การกลับมาเรียนปริญญาเอกในสหรัฐทำให้ผมต้องหันกลับมาสนในเรื่องทหารกับการเมือง คู่ขนานกับเรื่องทหารกับการรบ

ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ ผมถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้มากกว่าเรื่องของทหารกับการเมืองไทย เพราะการศึกษากับเพียงประเด็นของทหารไทยนั้น ไม่เพียงพอที่เราจะสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ในทางวิชาการ

หากแต่จำเป็นต้องเรียนรู้ในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อที่จะช่วยให้เราเห็นปัญหาเชิงปฏิบัติและมุมมองทางทฤษฎีได้มากขึ้น อันจะเป็นการขยาย “พรมแดนความรู้” ของผู้เรียนอีกด้วย

สำหรับคนทำวิจัยในหัวข้อดังกล่าว ไม่มีภูมิภาคไหนที่ทหารมีบทบาทอย่าง “น่าตื่นเต้นและเร้าใจ” เท่ากับภูมิภาคละตินอเมริกา

และในช่วงเวลาดังกล่าว ผมจึงไม่ได้เรียนเรื่องทหารกับการเมืองในละตินอเมริกาเท่านั้น หากแต่เป็นช่วงที่สาขา “เปลี่ยนผ่านวิทยา” กำลังเป็นกระแสวิชาการที่รองรับต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก

โดยมีคำถามหลัก 3 ประการ คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบอบเผด็จการทหารยอมถอยตัวเองออกจากอำนาจ และกองทัพในภาวะเช่นนี้ จะปรับตัวกับการมาของประชาธิปไตยอย่างไร อีกทั้งรัฐบาลพลเรือนจะดำรงอยู่อย่างไรในอนาคตที่จะไม่ถูกทำให้ต้องจบชีวิตทางการเมืองลงอีกครั้งด้วยการรัฐประหาร…

แน่นอนว่าคำถามสามประการนี้ตอบไม่ง่ายเลยทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับในทางวิชาการว่า ไม่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในภูมิภาคไหน จะมีบทเรียนให้นักเรียนเรื่องทหารกับการเมืองได้เรียนรู้มากเท่ากับในอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับมิติของปัญหาสงครามก่อความไม่สงบ หรือ “สงครามปฏิวัติ” นั้น ก็ไม่มีภูมิภาคไหนจะมีข้อคิดให้นักศึกษาทางยุทธศาสตร์ได้เรียนรู้มากเท่ากับการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายและการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของฝ่ายขวา มากเท่ากับตัวอย่างในอเมริกาใต้เช่นกัน…

ภูมิภาคละตินอเมริกาจึงเป็นเสมือน “ต้นธารทางความคิด” ของผมในการมองบทบาทของทหารกับการเมืองไทย

 

ก่อนฤดูใบไม้ผลิ

การเรียนรู้ข้ามภูมิภาคเช่นนี้ ทำให้ผมได้คำตอบที่ชัดเจนจากบริบทในอเมริกาใต้ ถ้าจะแยกกองทัพออกจากการเมือง ภาคประชาสังคมและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องมี “ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย” ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองภาคพลเรือน

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจึงมิได้มีความหมายเพียงการโค่นรัฐบาลทหาร หากแต่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่จะช่วยกำกับ “ทิศทางและจังหวะก้าว” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลพลเรือน และเพื่อทำให้การลดบทบาททางการเมืองของทหารไม่กลายเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหารในครั้งหน้า

ดังนั้น ผมเรียนจบคอร์สเวิร์กและกลับบ้านด้วยข้อสรุปของฝ่ายประชาธิปไตยในละตินอเมริกาว่า รัฐบาลเลือกตั้งที่ก้าวเข้าสู่อำนาจโดยปราศจากยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย รวมถึงการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของทหารและปัญหายุทธศาสตร์แล้ว ก็คือการนั่งรอเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ จะปะทุและจบลงด้วยการยึดอำนาจอีกครั้ง

ผมถูกเตือนจากบทเรียนในอเมริกาใต้ว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไม่ใช่คำตอบแบบสำเร็จรูป ที่จะถือว่าประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับทหารได้ออกจากการเมืองกลับเข้ากรมกองหมดแล้ว และจากนี้ทุกอย่างจะเดินไปข้างหน้าอย่างสะดวกสบาย ไม่มีประเด็นเรื่องทหารกับการเมืองให้ต้องคิดอีก

หากสิ่งที่ต้องตระหนักคือ การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของระบอบทหาร และรัฐประหารจะไม่หวนคืน หากคิดโดยปราศจากความตระหนักดังกล่าว ก็เสมือน “พาประชาธิปไตยไปสู่พื้นที่สังหาร”

กล่าวคือ ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารของสังคมจะไม่ถูกจัดการ และปล่อยให้การเปลี่ยนผ่านเดินไปข้างหน้าตาม “ยถากรรม” สุดท้ายแล้ว มักจะสะดุดล้มลงด้วยการยึดอำนาจของทหาร

แต่ความท้าทายคือ ผมอาจถูกวิจารณ์ว่า “นำเข้า” บทเรียนจากภูมิภาคอื่น ที่นักเคลื่อนไหวและปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยในไทยอาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป

แต่ในอีกด้าน “มรดกทางความคิด” จากความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในละตินอเมริกากลายเป็นพื้นฐานอย่างดีที่ช่วยให้ผมได้พัฒนามุมมองในการคิดเรื่องทหารไทยกับการเมืองได้มากขึ้น

เพราะการจัดการปัญหาบทบาทของกองทัพในยุคหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากภูมิภาคดังกล่าว เป็นข้อคิดที่ดีให้กับไทยได้เสมอ

อย่างน้อยเราคงต้องยอมรับว่า หลังจากเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในละตินอเมริกาจนถึงปัจจุบันนั้น ยังไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แต่การไม่มีรัฐบาลทหารก็มิได้บอกกับเราว่า การเมืองของประเทศในภูมิภาคไม่มีปัญหา และระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งแล้ว หากแต่การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป แต่กองทัพไม่มีบทบาทแบบเดิมในการแทรกแซงทางการเมือง… รัฐประหารในละตินอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เคยเป็นเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญของทหารกับการเมืองฉันใด การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและการถอนตัวของกองทัพออกจากการเมืองในภูมิภาคที่เริ่มในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก็เป็นเส้นแบ่งเวลาที่สำคัญอีกแบบของทหารกับการเมืองด้วยฉันนั้น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในระหว่างที่เป็นนักเรียนปริญญาเอกและมีโอกาสเรียนรู้เรื่องทหารกับการเปลี่ยนผ่านในละตินอเมริกา ทำให้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทหารไทยจะถอนตัวออกจากการเมืองได้จริงหรือไม่…

การถอนตัวดังกล่าวจะยั่งยืนไหม…

รัฐบาลพลเรือนจะพาตัวเองให้รอดจากการยึดอำนาจได้จริงเพียงใด รัฐประหารทำลายทุกรัฐบาลพลเรือนแทบไม่มีข้อยกเว้นได้เลย

 

คำถามที่คาใจ

การเรียนมาถึงจุดสำคัญ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกหัวข้อการวิจัย ผมออกมาจากประเทศไทยด้วยความตั้งใจอย่างมากว่า ผมจะเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “นโยบายป้องกันประเทศของไทย”

แต่หลังจากเรียนปีแรกผ่านไป ผมพบกับนักศึกษาชาวอิหร่านรุ่นพี่ ที่ทำเรื่อง “นโยบายป้องกันประเทศของอิหร่าน” และเตือนว่าหัวข้อดังกล่าวดูน่าสนใจ แต่เมื่อต้องทำออกมาเป็นงานเชิงทฤษฎีแล้ว อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเขาเองติดอยู่กับหัวข้อดังกล่าว และไม่แนะนำให้ผมเลือกหัวข้อนี้

ในปีที่สอง ผมเริ่มต้องคิดเรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์ใหม่ และเมื่อผมหันกลับมาสนใจเรื่องทหารกับการเมือง พร้อมกับได้อ่านเกี่ยวกับทหารกับการเมืองในภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ผมเริ่มต้องคิดถึงประเด็นกองทัพกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

และหวังว่าหัวข้อนี้จะช่วยให้ผมทำความเข้าใจกับกองทัพไทยได้มากขึ้น เพราะการเมืองไทยคงหลีกพ้นจากอิทธิพลของกองทัพได้ยาก

นอกจากประเด็นเรื่องทหารไทยในทางยุทธศาสตร์แล้ว ประเด็นทหารในทางการเมืองเป็นประเด็นที่ชวนให้ผมต้องคิดในทางวิชาการมากขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2519 ว่า ทหารไทยจะยุติการแทรกแซงการเมืองได้จริงหรือ

ถ้ายุติไม่ได้แล้ว กองทัพไทยจะเป็นทหารอาชีพได้อย่างไร แต่กลุ่มผู้มีอำนาจที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังรัฐประหารจะยอมให้ประชาธิปไตยเกิดอย่างเข้มแข็งในสังคมไทยจริงหรือ?