เทศมองไทย : 6 เดือนผ่านไป ยังไม่มี “เซฟตี้โซน”

ไม่ใช่เป็นการทวงถามความคืบหน้า แต่เป็นเพราะความตกลงที่จะจัดตั้ง “เซฟตี้โซน” ขึ้นมานั้นมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงตอนนี้ปาเข้าไป 6 เดือนแล้ว ย่อมมีการถามไถ่กันบ้างเป็นธรรมดา

ความตกลงดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจาก คณะผู้แทนการเจรจาของรัฐบาลไทย กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มที่รวมตัวกันอยู่ภายใต้ชื่อ “มารา ปาตานี” สาระสำคัญของข้อตกลงก็คือ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะทดลองจัดทำพื้นที่ปลอดเหตุรุนแรงขึ้นพื้นที่หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่าเป็น “เซฟตี้โซน”

เรื่องเซฟตี้โซน เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเพียรพยายามให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ท่ามกลางอาการ “ลุ้น” มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่

เรื่องนี้คืบไปถึงขนาดทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกัน จัดให้มี “การประชุมเชิงเทคนิค” โดยตัวแทนของสองฝ่ายร่วมประชุมกันแบบเห็นหน้าค่าตาเดือนละครั้ง ครั้งหลังสุดก็คือการหารือซึ่งแล้วเสร็จลงเมื่อ 12 กันยายน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้ที่ทำหน้าที่ “อำนวยความสะดวก” ให้เกิดการเจรจากันขึ้น

เบนาร์ นิวส์ สำนักข่าวออนไลน์ที่น่าสนใจ ส่ง รัซลัน ราชิด ไปรายงานข่าวจากกัวลาลัมเปอร์ แล้วมี ภิมุข รัขนาม รายงานข่าวไปจากกรุงเทพมหานคร

 

ที่บอกว่าน่าสนใจนั้นเป็นเพราะอย่างที่ อาบู ฮาเฟซ อัล ฮาคิม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โฆษก” ของมาราปาตานีบอกไว้หลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า นี่คือการประชุมแบบปิด ดังนั้น โดยเทคนิคแล้วจะไม่มีแถลงการณ์หลังการประชุมแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับที่ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย ซึ่งไม่ได้เดินทางไปร่วมการประชุม ก็บอกกับเบนาร์ นิวส์ ที่กรุงเทพฯ เพียงว่า “เป็นการประชุมเชิงเทคนิค ผมกำลังรอรายงานการประชุมอยู่” เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ คนที่ไปทำข่าวย่อมแน่ใจอยู่ดีว่า ไปแล้วจะสามารถได้ “ความคืบหน้า” หรือ “อุปสรรค” ของการเจรจามาบอกกล่าวกันได้บ้าง

นั่นหมายถึงการมี “แหล่งข่าว” อยู่ในการประชุม

กระนั้น อาบู ฮาเฟซ บอกเอาไว้เหมือนเป็นการสรุปผลการประชุมหารือกลายๆ ว่า การหารืออยู่ระหว่างดำเนินการ “ยังไม่แล้วเสร็จ ยังต้องว่ากันต่อตอนปลายเดือนนี้”

แต่ดูเหมือนมีแหล่งข่าวที่ “ไม่ขอระบุชื่อ” บอกเล่าความคืบหน้าให้กับเบนาร์ นิวส์ ไว้มากกว่านั้นมาก

 

ตั้งแต่เรื่องที่การประชุมเชิงเทคนิคครั้งนี้ ได้ข้อตกลงว่าต่างฝ่ายจะจัดตั้ง “ทีมทางเทคนิค” ขึ้นมา เพื่อเดินทางเข้าไปยัง “พื้นที่หยุดยิง” ที่มีการเสนอขึ้นมาพิจารณา จากนั้นจึงรายงาน “ความคิดเห็นประกอบการพิจารณา” กลับไปยัง “คณะทำงานร่วม” ที่มีตัวแทนจากทั้งฝ่ายไทยและมาราปาตานีทำหน้าที่อยู่ร่วมกัน

ตกลงกันด้วยว่า ขณะที่เดินทางไปไหนมาไหนในพื้นที่ที่ถูกเสนอให้เป็น “เซฟตี้โซน” นั้น “ทีมทางเทคนิค” ของมาราปาตานี จะอยู่ภายใต้ “การคุ้มครองของทหารไทย” ในช่วงของการเจรจาเรื่อยไปจนถึงวันที่เริ่มมีการหยุดยิง

เบนาร์ นิวส์ ระบุว่า แหล่งข่าวของตนที่เป็น “นักสังเกตการณ์ไทย” รายหนึ่งบอกว่า การเจรจาเพื่อดำเนินความพยายามจัดตั้งเซฟตี้โซนนี้ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด” ในทัศนะของแหล่งข่าวรายนี้ก็คือ “การให้เอกสิทธิ์คุ้มครอง”

“มีสมาชิกมาราปาตานีจำนวนหนึ่งซึ่งมีหมายจับติดตัวอยู่ในไทย และฝ่ายไทยก็ลังเลที่จะระบุชัดลงไปให้เป็นลายลักษณ์อักษร ว่าเป็นผู้ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองคนเหล่านี้ไม่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายหากข้ามแดนเข้ามาในไทย เพราะกฎหมายเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนอยู่มาก”

คือคำกล่าวของ “นักสังเกตการณ์” รายนั้น

 

อุปสรรคสำคัญอีกอย่างก็คือ การเจรจาทางเทคนิคนี้เป็นการเจรจากันต่อหน้า ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีผลดี แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้จัดการประชุมทำได้ยากจนเหลือแค่เดือนละหน ซึ่ง “ไม่บ่อยพอ”

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เป็นอุสรรคของการเจรจาครั้งนี้ก็คือ ความเป็น “ทางการ” ของผู้แทนบีอาร์เอ็น ที่อยู่ในมาราปาตานี

ในมาราปาตานี มีผู้แทนบีอาร์เอ็นอยู่ 3 คน คือ อาหวัง จาบัต, สุกรี ฮารี กับ อาหมัด ชูวอล โดยมีอาหมัดทำหน้าที่เป็น “ท่อ” เชื่อมต่อระหว่าง มาราปาตานี กับ สภาปกครอง บีอาร์เอ็น

นักสังเกตการณ์รายนี้ย้ำว่า เป็นเพราะมี “อาหมัด” อยู่ในมาราปาตานี รัฐบาลไทยจึงยังคงการเจรจากับมาราปาตานีอยู่ต่อไป

ประเด็นก็คือ ในขณะที่การเจรจาดำเนินไป การก่อเหตุรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง มิหนำซ้ำ อับดุลการิม คาหลิด ตัวโฆษกของบีอาร์เอ็นเอง ก็ยังแสดงนัยเหมือนจะ “ปฏิเสธ” การเจรจา ทั้งๆ ที่มีตัวแทนของตนอยู่ในการเจรจา เหตุผลสำคัญก็คือ บีอาร์เอ็น ต้องการมีบทบาท “ตรง” กับการเจรจา

ถามว่าทำไมการเจรจาตรงกับบีอาร์เอ็นถึงไม่เกิดขึ้น คำตอบก็คือ เพราะบีอาร์เอ็นมีเงื่อนไขล่วงหน้าว่า การเจรจาดังกล่าวจะต้องมี “ผู้ไกล่เกลี่ย” และ “พยาน” รวมอยู่ด้วย

และต้อง “อย่างน้อยที่สุด” ก็ต้องเป็นสมาชิกของประชาคมนานาชาติ

ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ยอมรับเด็ดขาดนั่นเอง