ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ
โลกเปลี่ยน-โรคระบาด-น้ำมันแพง
ธุรกิจรถทัวร์ทยอยปิดตำนาน
‘เจ๊เกียว’ ยกธง ‘เชิดชัยทัวร์’ จอดแค่นี้
การออกมาประกาศขายกิจการธุรกิจรถโดยสาร “นางสุจินดา เชิดชัย” หรือ “เจ๊เกียว” เจ้าแม่รถร่วม บ.ข.ส.รายใหญ่ เจ้าของบริษัท เดินรถเชิดชัยทัวร์ จำกัด และอู่เชิดชัย จ.นครราชสีมา ที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 65 ปี
หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นไปลิตรละ 32 บาทเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพวิกฤตซ้อนวิกฤตของผู้ประกอบการรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ หรือรถทัวร์ที่หนักหนาสาหัสจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้วให้รุนแรงขึ้น
จนถึงระดับที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หลังพยายามประคับประคองสถานการณ์มาโดยตลอด
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบกิจการรถทัวร์เหล่านี้ประสบปัญหาหนักจากการแย่งชิงผู้โดยสาร
ทั้งจากผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่มาวิ่งทับเส้นทาง วิ่งรวดเร็วทันใจ แถมบริการส่งผู้โดยสารในแต่ละเส้นทางได้ใกล้บ้าน ต่างกับรถ บ.ข.ส. หรือรถร่วม บ.ข.ส. ซึ่งมีจุดรับส่งเฉพาะ ทำให้ผู้โดยสารหันไปนิยมใช้บริการกันมาก แม้ว่าราคาค่าโดยสารรถตู้จะแพงกว่า
ตามมาด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่กำหนดอัตราค่าโดยสารเกือบจะลงมาใกล้เคียงกัน ที่สำคัญผู้โดยสารสามารถประหยัดเวลาการเดินทางไกลได้มาก จากที่ต้องนั่งรถเป็นวันๆ ใช้เวลาบินเพียง 1 ชั่วโมงไปถึงจุดหมายปลายทาง
ซึ่งในแง่ของผู้โดยสารถือเป็นเรื่องดีที่มีตัวเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ของผู้ประกอบการรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะถูกช่วงชิงผู้โดยสารไปจำนวนมาก
เมื่อผนวกกับวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้การเดินทางลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทาง โดยหันไปใช้บริการรถส่วนตัวมากขึ้น ซ้ำเติมให้สภาพธุรกิจที่เริ่มย่ำแย่ของผู้ประกอบการรถทัวร์ ประสบปัญหารายได้ลด และขาดทุนมากขึ้นในการประกอบการ
นั่นจึงเกิดภาพที่ผู้ประกอบการเดินรถขนส่ง ทยอยปิดกิจการเดินรถโดยสารทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
กรณี “สยามเฟิสท์ทัวร์” ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสายเหนือในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 หลังจากดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 41 ปี และปรับไปสู่การทำเฉพาะธุรกิจขนส่งพัสดุ เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่หันไปนั่งสายการบินราคาประหยัดแทน
“สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) ออกมายอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจ ส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 20,000 คนต่อวัน จากที่เคยใช้บริการ 1 แสนคนต่อวัน ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรถโดยสารทยอยยกเลิกสัญญา และส่วนที่ยังวิ่งอยู่ ลดเที่ยววิ่งลง
ต่อมาก็เป็นคิวของเชิดชัยทัวร์ ทั้งนี้ จากคำให้สัมภาษณ์ของเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมรถโดยสาร บ.ข.ส. และเจ้าของอู่รถเชิดชัย และบริษัทเดินรถเชิดชัย บอกว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งค่าน้ำมันดีเซลที่ดีดขึ้น 32 บาทต่อลิตร เกินจากที่คำนวณไว้ 27 บาทต่อลิตรแพงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้บริษัทเชิดชัยได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“ตั้งแต่โควิดระบาด ผู้ประกอบการรถทัวร์หยุดวิ่ง และเลิกกิจการไปหลายราย จากที่เรามีรถอยู่กว่า 3,000 คัน ตอนนี้เหลือยู่เพียง 30% เพราะวิ่งไปก็ไม่คุ้ม ไม่มีผู้โดยสารมาใช้บริการ ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกให้ผู้ประกอบการวิ่งวันละ 1 ขา ใน 1 จังหวัด คือ ไป 1 เที่ยว กลับ 1 เที่ยว ซึ่งแต่ละจังหวัดมีรถร่วม 4-5 บริษัทที่สลับวิ่งบริการได้ หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งหยุดวิ่ง”
ปัจจุบันได้นำรถวิ่งให้บริการอยู่ประมาณ 20-30% จากทั้งหมดมีอยู่กว่า 200 คัน และได้หยุดวิ่งบางเส้นทางเป็นการชั่วคราวในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะไม่มีผู้โดยสาร และลดภาระค่าใช้จ่าย
ส่วนรถที่เหลือจอดทิ้งไว้ และปรับเป็นรถรับจ้างวิ่งรับส่งพนักงานบริษัทและรัฐวิสาหกิจ ส่วนพนักงานบริษัทนั้น ไม่มีเงินเดือนให้ จะมีเฉพาะค่าเบี้ยขยันให้เท่านั้น
เจ๊เกียวบอกว่า ทำธุรกิจรถทัวร์มา 65 ปีแล้ว เป็นธุรกิจครอบครัว ตอนนี้รายได้ไม่มีเหลือเลย ถ้าหากนำรถออกวิ่งทุกคันในตอนนี้ ต้องรับภาระขาดทุนน้ำมันเดือนละ 4 ล้านบาท คงรับไม่ไหว เลยต้องวิ่งบ้าง หยุดบ้าง สลับกันไป เพราะวิ่งไปก็ไม่มีคน เดี๋ยวนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ค่อยนั่งรถทัวร์ ซึ่งธุรกิจรถทัวร์ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2560 จากโลว์คอสต์ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 เจอโควิดระบาด ทำให้คนเปลี่ยนไปใช้รถส่วนตัว ไม่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเหมือนเมื่อก่อน
ประกอบกับลูก 3 คนมีกิจการเป็นของตัวเอง ไม่มีใครอยากสานต่อธุรกิจเดินรถ บ.ข.ส. ตนเองปีนี้อายุ 85 ปีแล้ว จึงไม่อยากเหนื่อยกับการต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในบริษัทที่ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างนี้อีกต่อไป
สำหรับการขายกิจการจะขายทั้งตัวรถบัสและเส้นทางสัมปทานเดินรถ ไม่ต้องการแยกขาย จะขายเฉพาะกิจการเดินรถสายยาว ในเส้นทางสายภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ส่วนกิจการการเดินรถโดยสารประจำทางสายสั้น โดยเฉพาะเส้นทางหลัก กรุงเทพฯ-โคราช ไม่ขาย ตอนนี้กำลังคำนวณราคารถบัสและเส้นทางเดินทางที่จะขาย รวมมูลค่าประมาณหลายร้อยล้านบาท
นอกจากกิจการเชิดชัยทัวร์ที่จะประกาศขายกิจการเดินรถสายยาวแล้ว ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการรถทัวร์รายเล็กในจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศขายกิจการไปแล้วเช่นกัน
โดยนายมานิต อัครวงศ์วัฒนา อายุ 69 ปี ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรถโดยสาร บ.ข.ส.มานานกว่า 40 ปี และได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการน้อยลง ราคาน้ำมันดีเซลแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นสวนทางรายได้ ทนแบกรับภาระไม่ไหว จนต้องตัดสินใจขายรถทัวร์ 5 คันทิ้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่พ่นพิษต่อราคาน้ำมันยังไม่ทีท่าว่าจะยุติ จึงมีแนวโน้มที่จะได้เห็นธุรกิจเดินรถโดยสารทยอยปิดกิจการตามมา เพราะแม้จะขอปรับขึ้นราคา แต่จำนวนผู้โดยสารที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ คงไม่เพียงพอในการบริหารต้นทุนกิจการ นั่นหมายถึงคนขับและพนักงานที่จะตกงานเพิ่มขึ้น ได้แต่หวังให้ภาครัฐหาหนทางเยียวยาให้ภาคธุรกิจเดินรถก้าวต่อไปได้ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการเดินทาง
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คือสภาพการณ์ถดถอย กระทั่งต้องยุติกิจการของบรรดาธุรกิจเดินรถรับส่งผู้โดยสาร อันเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป, วิกฤตโรคระบาด, ปัญหาราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
และนั่นทำให้ธุรกิจชนิดนี้ยากที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีก