
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
รู้จัก จอห์น ลี
จากตำรวจปราบม็อบสู่ผู้นำฮ่องกงคนใหม่
จอห์น ลี กาชิว อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง ที่ไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานความมั่นคงของฮ่องกง ผู้รับหน้าที่ปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยสัดส่วนคะแนนเสียง 99 เปอร์เซ็นต์ จากคณะผู้เลือกตั้งที่รัฐบาลจีนตั้งขึ้นทั้งหมด 1,461 เสียง
แน่นอนว่า ลี ผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำฮ่องกงได้เป็นครั้งแรก ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนชาวฮ่องกง 7.4 ล้านคนเลย
นั่นส่งผลให้ลีมีคะแนนนิยมในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเพียง 34.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีในฮ่องกงมองว่า ลีในวัย 64 ปีเป็นคนเดียวที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าจะจะสามารถปกครองฮ่องกงในฐานะผู้นำหุ่นเชิดที่ไว้ใจได้
ลีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำฮ่องกงด้วยเส้นทางที่แตกต่างจากผู้นำฮ่องกงคนก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่จะมาจากภาคธุรกิจหรืออาจมีประสบการณ์ในด้านบริการพลเรือน
แต่ลีกลับเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง
ลีเข้ารับราชการตำรวจตั้งแต่อายุได้ 20 ปี ในปี 1977 โดยในช่วงแรกงานหลักของลีคือการจัดการปัญหาอาชญากรรมในฮ่องกง
ลี คุณพ่อลูกสอง เป็นทั้งพลเมืองฮ่องกงและมีสิทธิพลเมืองอังกฤษด้วย จนกระทั่งลีได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานความมั่นคงในปี 2012
หลังจากลีได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานความมั่นคงของฮ่องกง ภายใต้การบริหารของนางแคร์รี หล่ำ ผู้นำฮ่องกงคนก่อนหน้า ลีตัดสินใจละทิ้งสิทธิพลเมืองอังกฤษ และมีบทบาทสำคัญให้การผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 ที่ส่งผลให้เกิดการประท้วงที่ขยายวงกว้างในฮ่องกงในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของลี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการสลายการชุมนุมด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง, แก๊สน้ำตา, กระสุนยาง หรือบางครั้งก็ถึงขั้นกระสุนจริง
ขณะที่ลีออกมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมนั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย “ก่อการร้าย” และ “หัวรุนแรง” ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นจำเป็นต้องทำตามหน้าที่เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
การจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ลีกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตร โดยสหรัฐให้เหตุผลว่าเป็นการกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยของประชาชน
นอกจากนี้ “ยูทูบ” ยังประกาศบล็อกบัญชีที่ใช้ในการหาเสียงของนายลีลงด้วย
ขณะที่ลียืนยันว่าตนเพียงแต่ทำหน้าที่ของตนในการปกป้องความมั่นคงของฮ่องกงเอาไว้เท่านั้น
ลีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีอาวุโสด้านบริหารของฮ่องกง ตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับสองของฮ่องกง ในเดือนมิถุนายนปี 2021 และดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ถึงปี ก่อนจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ลีในฐานะผู้นำสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีแนวนโยบายที่เน้นไปในเรื่อง “ความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่” โดยลีมีความเห็นเกี่ยวกับ “กฎหมายความมั่นคง” ที่จีนออกเพื่อบังคับใช้กับฮ่องกงในในปี 2020 ที่ผ่านมาและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ฮ่องกงฟื้นจากความวุ่นวายกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
ลีเองมีแนวคิดสนับสนุนให้ฮ่องกงออกกฎหมายห้ามการก่อกบฏ, แบ่งแยกดินแดน, ปลุกปั่น และล้มล้างรัฐบาลจีน ด้วยแนวคิดที่ไม่เคยมีผู้นำฮ่องกงคนใดเสนอมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2003 หรือราว 19 ปีมาแล้ว
บีบีซีรายงานว่า ลีเองมีฉายาที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองตั้งให้ด้วยว่า “ปิกาจู” ชื่อที่พ้องเสียงมาจากชื่อจีนของลีอย่าง “กาชิว” ตัวการ์ตูนสีเหลืองที่มักถูกนำมาใช้ล้อเลียนว่า ลีนั้นเป็นเหมือนกับ “โปเกมอน” ในครอบครองของ “หมีพูห์” ตัวการ์ตูนที่ถูกนำมาล้อเลียนเปรียบเทียบกับสี จิ้นผิง ประธานานธิบดีจีนก่อนหน้านี้เช่นกัน
ชีวิตวัยเด็ก ลีเกิดในครอบครัวยากจนในย่านซัมซุยโปว หนึ่งในย่านคนทำงานที่ร่ำรวยของฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ลีสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนชายล้วน โรงเรียนชั้นนำที่บริหารโดยคณะสงฆ์เยซูอิตได้ในเวลาต่อมา
ปีเตอร์ ไหล อดีตนายธนาคารที่เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับลี ระบุว่า ลีเป็นเด็กวัยรุ่นที่ฉลาดและตามแฟชั่นด้วยการไว้ผมยาวและใส่กางเกงขากระดิ่งตามสมัยนิยมในเวลานั้น
ลีเลือกที่จะเดินทางเข้าสู่เส้นทางสายตำรวจแทนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยตามเพื่อนๆ ร่วมรุ่น โดยลีอธิบายเหตุผลว่าตนมีแรงบันดาลใจจากการถูกนักเลงท้องถิ่นข่มเหงรังแก อย่างไรก็ตาม เพื่อนร่วมรุ่นก็เปิดเผยด้วยว่า เหตุผลสำคัญก็คืออาชีพตำรวจเป็นอาชีพมั่นคงที่จะสามารถดูแลภรรยาของลีที่มีชื่อว่า “จาเน็ต” ได้ โดยกิลเบิร์ต ลูกคนแรกของลี เกิดได้ไม่นานหลังจากลีเรียนจบในปี 1978 ก่อนที่แจ๊กกี้ ลูกคนที่ 2 จะลืมตาดูโลกในอีก 6 ปีต่อมา
สำหรับบทบาทของลีในฐานะผู้นำสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง หลายฝ่ายมองว่าจะมีการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเข้มข้นเช่นเดิม
และแน่นอนว่าจะต้องเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องที่ลีไม่คุ้นเคยตลอดชีวิตการทำงาน นั่นก็คือปัญหา “เศรษฐกิจ”
จากนี้ไปคงต้องจับตาว่า ลีจะสามารถนำฮ่องกงกลับมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคได้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ตามแบบจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนั่นส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงต้องหยุดชะงักลงไป
อย่างไรก็ตาม ชาร์ลส์ มก อดีตสมาชิกสภาฮ่องกงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ระบุว่า การแต่งตั้งลีนั้นเป็นการยืนยันแล้วว่า จีนให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงในฮ่องกงมาก่อนเรื่องเศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ของผู้คน
“ในอดีตจีนอาจประนีประนอมให้กับเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่เวลานี้ดูเหมือนจีนจะต้องการให้ประชาชนรู้สึกว่าโลกนั้นเต็มไปด้วยภัยคุกคาม และทางเดียวที่จะปลอดภัยก็คือการอยู่ใกล้ชิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาไว้” ชาร์ลส์ระบุ