แผนสกัดชัชชาติ…สกัดให้ใคร คอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอนคะแนน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

แผนสกัดชัชชาติ…สกัดให้ใคร

คอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอนคะแนน

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 50 เขต ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เหลือเวลาประมาณอีกเกือบ 10 วัน

จากผลสำรวจความคิดเห็นของหลายสำนักพบว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีคะแนนนำมาโดยตลอด ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งคิดว่าจะต้องสกัดไม่ให้ชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ ด้วยวิธีการสารพัด

และเสนอแนวทางที่ว่าผู้สมัครหลายคนที่เคยเป็นพวกเดียวกัน ควรจะโอนคะแนนเสียงไปให้คนใดคนหนึ่งจะมากพอเพื่อจะเอาชนะ ดร.ชัชชาติได้

แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เพราะการเลือกข้างทำให้ประเทศไทยเสียหายติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

ประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาไปได้ จะต้องยึดหลักการและดำเนินการตามกระบวนการประชาธิปไตยให้ครบถ้วน มิฉะนั้นเราจะได้คนบ้าอำนาจ คนโกง คนโรคจิต ปกติคนเหล่านี้ก็มีอยู่ในสังคม แต่การให้ขึ้นมามีอำนาจ จะสร้างปัญหาให้คนส่วนใหญ่ ตั้งแต่ระดับเมือง ระดับประเทศ และบางครั้งสร้างปัญหาให้กับโลก

การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงต้องระวัง ไม่ทำเพียงเพื่อความพอใจของคนบางกลุ่ม แต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย

 

หลักการในการเลือกตั้งผู้บริหารเมือง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คือการคัดเลือกผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ ต้องการคนมีความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์มาทำงาน

การให้ประชาชนหลายล้านคนเป็นผู้เลือกนั้นหมายความว่าเขาต้องพยายามเลือกคนที่คิดว่าดีที่สุด มีความสามารถที่สุด เพื่อบริหารกรุงเทพฯ ให้ฟันฝ่าวิกฤตปัญหาต่างๆ และพัฒนาต่อไปได้

การเลือกตั้งนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะโค่นล้มฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อเอาชนะทางการเมือง นี่ไม่ใช่การสกัดการสืบทอดอำนาจของผู้ทำการรัฐประหาร

คนกลุ่มที่ต้องการสกัด ดร.ชัชชาติ ไม่เคยคิดสกัดการสืบทอดอำนาจของผู้มาจากการรัฐประหารสองครั้งหลัง ในการจัดตั้งรัฐบาล หลายคนยังสนับสนุนด้วยซ้ำ

ในทางตรงข้ามไม่มีใครคิดสกัดผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ที่ได้เป็นผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และเป็นมายาวนานถึง 5 ปีครึ่ง ถ้ามองว่าเป็นสิทธิของผู้ว่าฯ อัศวินที่สามารถจะมาลงสมัครเลือกตั้งได้ ก็ไม่ควรคิดสกัดผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 31 คน

วิธีการแข่งขันทางการเมือง ที่จะคัดเลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกต้องก็คือ เสนอนโยบายว่าจะพัฒนาและแก้ปัญหากรุงเทพฯ อย่างไร แล้วก็ให้ประชาชนตัดสินใจเลือกจากคุณสมบัติของตัวบุคคลและนโยบาย

 

ทำไมฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย

ยังต่อสู้กันเองอย่างดุเดือด

การเสนอตัวชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ผ่านมาจนถึงวันนี้ไม่มีใครคิดจะเทเสียงให้ใครใดๆ ทั้งสิ้น ทำไมพวกเขาไม่กลัวว่าผู้ว่าฯ อัศวินซึ่ง คสช.แต่งตั้งจะชนะ หรือกลัวว่าคุณสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งได้รับแรงเชียร์จากสุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส.จะชนะ หรือไม่กลัวว่า ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากประชาธิปัตย์จะชนะ

พรรคก้าวไกลที่มีฐานเสียงไม่น้อยกว่า 600,000 ก็ไม่มีลดราวาศอกแม้สักก้าวเดียว พรรคไทยสร้างไทยของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ลุยหนุนศิธา ทิวารี อย่างเต็มกำลัง ส.ก.ก้าวไกลกับเพื่อไทยปะทะกันทั้ง 50 เขต

นี่คือการให้สิทธิประชาชนในการพิจารณาเลือกสิ่งที่เหมาะสมทั้งคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ในเขตต่างๆ ซึ่งอาจจะเลือกไม่เหมือนกัน

บางเขตอาจจะเลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่เลือก ส.ก.จากพรรคก้าวไกล และก็มีที่เลือกชัชชาติและ ส.ก.จากเพื่อไทย อาจจะมีเลือกผู้ว่าฯ สกลธีและ ส.ก.จากประชาธิปัตย์ อาจจะมีที่เลือกผู้ว่าฯ อัศวิน แต่เลือก ส.ก.อิสระ หรือเลือกผู้ว่าฯ อย่างรสนา โตสิตระกูล แต่เลือก ส.ก.พรรคกล้า

การเคารพสิทธิอัตวินิจฉัยทางการเมืองของประชาชน จึงเป็นบทเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย

 

1.วิธีวิเคราะห์ การลงคะแนนเสียง

ผลจากโพลหลายสำนักสามารถชี้ทิศทางได้ แต่ดูจากตัวอย่างที่ใช้สำรวจมีจำนวนน้อยมาก เกรงว่าค่าความคลาดเคลื่อนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทีมวิเคราะห์เรามีวิธีการวิเคราะห์ที่ใช้ฐานคะแนนเดิมจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด บวกกับผลสำรวจความนิยมของหลายสำนักและประเมินจากสถานการณ์การเมืองเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงประเมินทิศทางคะแนนว่าจะไหลไปทางไหน ประมาณเท่าไร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4 ,374,000 คาดว่าจะมาใช้สิทธิ 68-70% คือประมาณ 3 ล้านคน การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นไปได้เพราะมีผู้สมัคร ส.ก.เป็นคนช่วยกระตุ้นหลายร้อยคน ซึ่งจะทำลายสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งล่าสุดที่มีคนมาลงคะแนนประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์

ผู้ที่ชนะเลือกตั้งถ้าจะมีคะแนนถึง 1 ล้าน จะต้องได้เสียงถึง 35% จะได้ 1,050,000

แต่ถ้าจะทำลายสถิติคะแนนเกิดขึ้นในปี 2556 ของการเลือกผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร 1,256,349 จะต้องได้คะแนนถึง 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ

การได้คะแนนเกิน 1 ล้านคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะครั้งนี้มีผู้สมัครที่เป็นตัวเด่นถึง 4 คน และมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 4 พรรค

ผู้ว่าฯ กทม.คะแนนเกินล้านย่อมเป็นที่เกรงใจของมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลเขตปกครองพิเศษ กทม. มากกว่าคะแนนน้อยๆ

 

2.ฐานคะแนนเพื่อไทย-ก้าวไกล แปรไปมาได้บางส่วน

ถ้าดูตามโครงสร้างฐานการเมืองของพรรคต่างๆ โดยอิงจากฐานการเลือกตั้ง ส.ส.ใน กทม.ครั้งล่าสุดปี 2562 จะพบว่า ตามสถานการณ์การเมืองจริง ทำให้ความพึงพอใจต่อพรรคการเมืองเดิมอาจแปรเปลี่ยนไปได้ โดยเฉพาะในกรณีการเลือกผู้ว่าฯ กทม. คุณสมบัติของตัวบุคคลที่สมัครก็มีความสำคัญ

พรรคก้าวไกลส่งทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต แต่โอกาสที่จะมีคะแนนเบี่ยงเบนออกไปก็มี 1-2 แสนคะแนน

พรรคเพื่อไทยก็เช่นกัน เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ กทม. คะแนนส่วนใหญ่จึงน่าจะเทไปให้ชัชชาติ

เลือก ส.ส. 2562 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนประมาณ 600,000 แต่ไม่ได้ส่งลงเลือกตั้งถึง 8 เขต จาก 30 เขต ประเมินเป็นคะแนนที่หายไปประมาณ 180,000 คะแนน

ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ส่งครบ 30 เขตได้คะแนนประมาณ 8 แสนคะแนน เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้ความนิยมของผู้คนแปรเปลี่ยนไปตามการเมือง อนาคตใหม่เปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล ฐานคะแนนของสองพรรคนี้ใน กทม.อาจอยู่ใกล้เคียงกันมาก ประมาณพรรคละ 700,000 คะแนน

แต่เมื่อพิจารณาจากโพล เห็นว่าคะแนนที่เบี่ยงเบนจากเดิม ชัชชาติได้มากกว่าวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แต่เมื่อเป็นคะแนน ส.ก. ก้าวไกลน่าจะไม่เสียเปรียบ เพราะชัชชาติไม่ได้ส่ง ส.ก.

แม้คะแนนที่เบี่ยงเบนไปมาส่วนใหญ่ก็จะวนอยู่ใน 2 คนนี้ แต่มีคะแนนบางส่วนที่อาจจะไหลไปที่ศิธา ทิวารี จากไทยสร้างไทย แต่ไม่มาก อาจแค่ 1 แสน ถ้าไทยสร้างไทยไปดึงคะแนนส่วนอื่นเพิ่มไม่ได้ จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก

 

3.ทุกกลุ่ม รุมแย่งฐานคะแนนพลังประชารัฐ

ส่วนคะแนนที่เคยลงให้พลังประชารัฐ 790,000 คราวนี้ส่งแต่ ส.ก. ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ และกำลังอยู่ในขาลง คงจะไหลไปให้ผู้ว่าฯ อัศวิน ถ้าผู้คนนิยมในผลงานเก่าของผู้ว่าฯ อัศวิน หนุนรัฐบาล จะดึงคะแนนตรงนี้ไปได้ 3-4 แสน และผู้ว่าฯ อัศวินก็ต้องไปลุ้นเอาว่าคะแนนจัดตั้งและเตรียมการมีอยู่เท่าไหร่ เพราะคะแนนของพรรคอื่นๆ นั้นคงจะไม่ไหลมาที่ผู้ว่าฯ อัศวิน

ส่วนคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในปี 2562 อยู่ที่ 470,000 อาจจะหายไปบ้าง จากวิกฤตต่างๆ ของพรรค แต่ก็น่าจะเหลือไม่น้อยกว่า 370,000

ถ้า ดร.เอ้หาคะแนนส่วนตัวมาเสริมได้ก็จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น คะแนนที่มาเสริมจะมาจากไหน ก็มาจากคะแนนของพรรคพลังประชารัฐที่เดิมก็เป็นคะแนนของประชาธิปัตย์ ซึ่งความจริงแล้วประชาธิปัตย์ควรดึงกลับมาได้เยอะมาก แต่เมื่อมีวิกฤตในพรรค จึงถือว่าผิดแผนที่วางไว้ โอกาสที่จะดึงคะแนนกลับมาถึงครึ่งหนึ่งก็ยากมาก ถ้าดึงมาได้ 2-3 แสน ก็จะทำให้มีคะแนนรวมขึ้นไปถึง 6 แสน รักษาหน้าประชาธิปัตย์และผู้สมัครไว้ได้

ส่วนสกลธีที่สมัครอิสระก็ต้องหวังคะแนนที่เคยลงให้พลังประชารัฐเช่นกัน แต่คงแย่งไปได้ไม่มากเท่าไร ได้ถึง 2 แสนก็เก่งแล้ว ต้องไปหาจากส่วนอื่นมาเสริม

แม้แต่ชัชชาติและผู้สมัครอิสระจำนวนยี่สิบกว่าคนก็ยังอาจได้คะแนนจากกลุ่มนี้บ้าง

 

4.คะแนนลอย

คะแนนกลุ่มสุดท้ายมาจากกลุ่มที่ชอบเลือกผู้สมัครอิสระแบบที่ไม่ใช่คนดัง และไม่เป็นไปตามกระแส บางคนก็ไม่เลือกใครเลย ประมาณ 3-4 แสน ตัวเต็งจะมาแบ่งคะแนนจากตรงนี้ไปได้บ้างไหม และจะได้ถึง 1 แสนหรือไม่

ทุกครั้งที่มีการเลือกผู้ว่าฯ คะแนนส่วนนี้จะอยู่ในระดับ 2-3 แสน กระจายลงคะแนนให้ผู้สมัครทุกคนมีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น คนที่ลงคะแนนจะไม่สนใจว่าจะมีผลแพ้ชนะอย่างไร อาจจะรู้จักผู้สมัคร หรือชอบนโยบายบางด้าน ลงแล้วคะแนนจะไปไหนก็ไม่ว่า ถือว่าได้มาใช้สิทธิแล้วอย่างถูกต้อง ใครทำให้คนกลุ่มนี้ยอมรับได้ จะมีคะแนนเพิ่มไม่น้อย

และในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิตั้งแต่ 2562 อายุ 18-21 อีกประมาณ 255,000 คน คาดกันว่าชัชชาติและวิโรจน์จะได้คะแนนจากกลุ่มนี้มากกว่าคนอื่น

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะคิดเองได้แล้วว่าใครน่าจะได้คะแนนประมาณเท่าไร

นี่เป็นการคาดการณ์และวิเคราะห์ไม่ใช่ผลสำรวจ อยู่บนพื้นฐานที่ว่ามีผู้มาลงคะแนนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าคนมาลงคะแนนน้อยหรือมากของคะแนนก็จะแปรตามไป

แต่การแปรตามคนที่เพิ่มนั้นจะให้ประโยชน์กับผู้ที่มีคะแนนนำมากกว่าผู้ที่มีคะแนนตามเพราะการที่คนมากขึ้นแสดงว่าเป็นไปตามกระแส

แต่ถ้าคนมาลงคะแนนน้อย ผู้ที่มีคะแนนนำตามโพลจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ฝนตกฟ้าร้อง และสภาพอากาศล้วนมีผลต่อจำนวนคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

การเรียกร้องให้ เทคะแนน…เทให้ใคร

ถ้าจะเรียกร้องให้คนไม่ต้องสนใจอะไรขอให้เลือกพวกเราเข้ามาก็พอ ไม่เลือกเราเขามาแน่อะไรทำนองนั้น ตอนนี้ความยากลำบากของชาวบ้านบวกกับหนี้สินล้นพ้นตัว เขาต้องการคนมีความสามารถมาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่

แต่ถ้าดูจากคนที่ออกมาเรียกร้องก็น่าจะมีเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม ขึ้นอยู่กับว่าไปตกลงกันไว้ว่าจะได้อะไรตอบแทน บ้างบอกว่า ” ให้พี่วิน” บ้างก็บอกว่า “สกลธี ดีที่สุด” แต่หลังเลือกตั้ง คะแนนจะบอกสถานะการเมืองของแต่ละคนว่าอยู่ระดับไหน

อีกเหตุผลที่การเทคะแนนยากเพราะ ส.ก.ทุกกลุ่มไม่มีใครยอมแพ้ คะแนนอาจแพ้-ชนะกันแค่หลักร้อย การสำรวจระดับเขตพบว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลมาแรงและสูสีกันมาก ได้ไม่น้อยกว่าพรรคละ 15 คน และอาจถึง 18 คน

ขณะที่ผลสำรวจของหน่วยงานหนึ่งแจ้งว่า ปชป.สามารถแทรกเข้ามา น่าจะได้ถึง 10 คน ดังนั้น ในสภา กทม.จึงน่าจะมีอย่างน้อย 3 พรรค และกลุ่มหรือ ส.ก.อิสระจำนวนหนึ่ง

ส่วนผู้ว่าฯ คะแนนของที่ 1 ห่างจากที่สองและสามประมาณ 10%

ถ้าคนมาลงคะแนนน้อย สถานการณ์อาจเปลี่ยนได้

ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าใครจะมา แต่หวังว่าคนที่มาใหม่ต้องดีกว่าของเดิม

แต่ที่สำคัญที่สุดคือตอนนี้ทุกพรรคต้องการคะแนนเสียงเป็นพื้นฐานเพื่อสะสมกำลังไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีมาในอีกไม่นานนี้ ซึ่งฐานกำลังเหล่านี้เป็นที่ต้องการของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย พรรคกล้า ใครจะยอมทิ้ง

การเทคะแนนไม่ใช่สั่งให้ทำกันง่ายๆ นี่เป็นสิทธิทางการเมืองที่ประชาชนที่ถูกปล้นไปต้องอัดอั้นมา 9 ปีสำหรับการเลือกผู้ว่าฯ และ 12 ปี สำหรับ ส.ก. การหลอกให้โอนคะแนน เหมือนคอลเซ็นเตอร์ มันไม่ง่ายไปหน่อยหรือ