‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ : ‘บาป’ ที่ยังคงอยู่? ของ ‘คนชั้นกลางในเมือง’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ : 

‘บาป’ ที่ยังคงอยู่?

ของ ‘คนชั้นกลางในเมือง’

 

เพิ่งมีโอกาสได้ดูซ้ำภาพยนตร์ไทยเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2544) ผลงานการกำกับของ “เป็นเอก รัตนเรือง” ซึ่งดัดแปลงจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์

ผลปรากฏว่านี่อาจเป็น “หนังไทยยุคหลังต้มยำกุ้ง” (หนังไทยในครึ่งแรกของทศวรรษ 2540) เพียงไม่กี่เรื่อง ที่พอมานั่งชมใหม่ในอีก 1-2 ทศวรรษถัดจากนั้นแล้ว ผมกลับรู้สึกชอบหรือพบว่าตัวงานมีอะไรบางอย่างน่าสนใจมากกว่าตอนดูหนแรกๆ

ระหว่างรับชม “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในปี 2565 ผมรู้สึกประทับใจหนังเรื่องนี้ของเป็นเอกด้วยเหตุผลใหญ่ๆ 2 ข้อ

เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ “มนต์รักทรานซิสเตอร์”

ข้อแรก เมื่อแรกดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในปี 2544 ผมกำลังเป็นคนหนุ่ม เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 และกำลังมีอารมณ์แอนตี้/วิพากษ์/ต่อต้าน “กระฎุมพี/ชนชั้นกลาง” อย่างรุนแรง

หลังเดินออกจากโรงภาพยนตร์ ผมจึงได้ข้อข้อสรุปในทันทีว่า ภาพยนตร์ว่าด้วยชีวิต-ความฝันอันล่มสลายของหนุ่มสาวต่างจังหวัด ที่สร้างสรรค์โดยคนทำโฆษณา-นักเรียนนอกอย่างเป็นเอก นั้นมีบทลงเอยด้วยการนำพาตัวละครหวนกลับไปหา “ความพอเพียง” ในชนบท ตามโลกทัศน์ของชนชั้นกลาง (ที่เดินตามรอยชนชั้นนำ) หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

อย่างไรก็ตาม ครั้นได้ดูหนังซ้ำหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมกลับพบว่ามี “สารสำคัญ” ประการหนึ่ง ที่ตนเองแทบจะ “มองไม่เห็น” หรือ “ไม่ได้ยิน” เลยเมื่อ 21 ปีก่อน นั่นคือ การที่เป็นเอกกำหนดให้ตัวละครของเขาพูดถึงแนวคิด “คนเท่ากัน” ออกมาซ้ำๆ หนแล้วหนเล่า

ผมเข้าใจว่าที่วลีนี้ตกหล่นไปจากการรับรู้ของตัวเองในวันนั้น ก็อาจเป็นเพราะแนวคิด “คนเท่ากัน” ยังไม่ใช่ไอเดียติดตลาด แม้กระทั่งในหมู่หนุ่มสาวหัวก้าวหน้า (ที่โปรประชาธิปไตย รำคาญชนชั้นกลาง เริ่มวิจารณ์สถาบันทางการเมืองสำคัญๆ) เมื่อกลางทศวรรษ 2540

นอกจากนั้น ฉากหนึ่งของหนังที่วิพากษ์สภาวะ “คนไม่เท่ากัน” ได้เป็นอย่างดีและเจ็บแสบ ก็คือ ฉากที่กลุ่มเศรษฐีมั่งมีในกรุงเทพฯ แสร้งทำตนเป็นผู้ใจบุญระดมทุนช่วยเหลือคนยากจน ผ่านการจัดงานปาร์ตี้-ประกวดการแต่งชุดแฟนซีเป็นคนจนที่โรงแรมหรู

แต่พอพบว่ามี “คนจนจริงๆ” แฝงตัวเข้ามาหาของกินในงานด้วย “เศรษฐีแกล้งจน” ทั้งหลายก็พากันขับไล่ถีบส่ง “คนจนจริงๆ” คู่นั้น ให้กระเด็นกระดอนออกจากโรงแรมอย่างไร้ปราณี

ขณะดูฉากที่น่าเศร้าและตลกร้ายดังกล่าวใน “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ทางเน็ตฟลิกซ์ ผมก็พลันนึกถึงเนื้อหาของเพลง “Common People” (ค.ศ.1995/พ.ศ.2538) โดยวงดนตรีคณะ “Pulp” ซึ่งวิจารณ์ลักษณะสังคมชนชั้นในสหราชอาณาจักรเอาไว้อย่างเผ็ดร้อน ด้วยนิทานเปรียบเทียบอันคล้ายคลึงกัน

ข้อสอง ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ที่ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ออกฉายครั้งแรก นั้นเป็นบริบทที่ผมและคนรุ่นเดียวกันบางส่วน เกิดอาการไม่ไว้วางใจต่อ “การเขียนวัฒนธรรมชุมชน” หรือ “การวาดภาพสังคมชนบท” ผ่านมุมมองของชนชั้นกลาง (ผู้มีเสียงดัง) ในเมืองหลวง

ผมจึงพิพากษาหนังของเป็นเอกว่า ต่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีความปรารถนาดีต่อผู้คนชนบทและสังคมต่างจังหวัดสักเพียงใด แต่สุดท้าย ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงหรือพูดแทนบรรดาตัวละครในหนัง/นิยายได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยแท้จริง

ความเชื่อดังกล่าวยิ่งถูกตอกย้ำให้หนักแน่นขึ้นไปอีก ณ ช่วงทศวรรษ 2550 เมื่อคนชนบทจำนวนมหาศาลลุกฮือเคลื่อนพลเข้ามาเรียกร้องทวงคืนระบอบประชาธิปไตย และยืนหยัดในคะแนนเสียงเลือกตั้งของตนเองถึงใจกลางเมืองหลวง (ก่อนจะโดนปราบปรามเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยม)

นั่นคือหมุดหมายที่ยืนยันว่าคนต่างจังหวัดสามารถส่งเสียงสะท้อนความปรารถนาของพวกเขาได้เอง โดยมิต้องพึ่งพาชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นได้แค่พวก “เสื้อเหลือง” หรือ “สลิ่ม” ผู้ไร้เดียงสา ไม่ก็เห็นแก่ตัวอย่างน่ารังเกียจ

อย่างไรก็ดี เมื่อมาดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในปี 2565 ผมกลับคิดถึงอะไรบางอย่างที่สูญหายไป

กล่าวคือนับจากทศวรรษ 2550 ที่คนชั้นกลางในเมือง (รวมถึงคนทำหนัง) บางส่วนเริ่ม “สำนึกบาปทางการเมือง” ของตนเอง ผลลัพธ์ก็กลายเป็นว่าพรมแดนของเรื่องเล่าใน “หนังไทยยุคใหม่” นั้นได้ค่อยๆ หดแคบลงไปด้วย

เราอาจได้เห็นหนัง (หรือซีรีส์) ว่าด้วยสังคมชนบทที่แสนซื่อตรง โดยคนต่างจังหวัดรุ่นใหม่ที่เข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างภาพยนตร์จากสถาบันอุดมศึกษา

เราได้เห็นภาพยนตร์สารคดีที่สำรวจตรวจสอบแง่มุมเร้นลึกของสังคมเมืองได้อย่างแหลมคมลึกซึ้ง หรือหนังส่วนตัวที่มีเนื้อหาชวนไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างน่าทึ่ง โดยคนทำหนังที่เติบโตมาในกรุงเทพฯ หรือมีโอกาสเดินทางออกไปเรียนรู้โลกกว้างถึงต่างประเทศ

ทว่า ในตลอดสิบกว่าปีหลัง เรามักไม่ค่อยได้พบกับหนังของคนเมือง ที่พยายามจะทำความเข้าใจสังคมชนบทด้วยท่าที ทัศนคติ และจุดยืนที่ไม่เลวเลย ดังเช่น “มนต์รักทรานซิสเตอร์” อีกแล้ว

นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย หากคำนึงถึงบริบทปัจจุบันที่ว่า คนกรุงเทพฯ จำนวนมาก ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมสุดขั้ว-เหลืองหมด-สลิ่มล้วน เหมือนในทศวรรษ 2550 (แม้นักวิเคราะห์บางรายยังยึดติดกับการทึกทักหรือเหมารวมทำนองนั้นอยู่)

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ในเมืองจำนวนไม่น้อยก็กำลังตื่นตัวในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนการรณรงค์ให้ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง

“คนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่” เหล่านี้ คงตระหนักดีว่าพวกตนนั้นได้รับมอบ “มรดกบาป” บางประการมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

แต่พวกเขาและเธอก็คล้ายจะพยายาม “ชำระบาป” ด้วยวิถีปฏิบัติ-รูปแบบกิจกรรม ซึ่งขับเน้นไปที่ “การร่วมกันสู้” หรือ “ร่วมกันเปลี่ยนแปลง” มากกว่าจะมัวใส่ใจและรู้สึกอ่อนไหวกับ “ความแปลกแยก” ซึ่งนำไปสู่การเกลียดชังตนเอง และการถอยห่างออกจาก “คนอื่น” •