National Honesty Day วันแห่งความซื่อสัตย์แห่งชาติ/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @PITSANUOFFICIAL

 

National Honesty Day

วันแห่งความซื่อสัตย์แห่งชาติ

 

วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวัน “เนชั่นนอล ออนเนสตี้ เดย์” (National Honesty Day) วันแห่งความซื่อสัตย์แห่งชาติ ที่อเมริกาจัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้คนซื่อสัตย์ พูดความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักการเมืองอเมริกัน

เหตุผลที่เลือกวันที่ 30 เมษายน ก็เพื่อให้อยู่ในเดือนเดียวกับวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวัน April Fools’ Day หรือ “วันแห่งการโกหก” ซึ่งเป็นวันที่คนแกล้งกัน อำกัน ด้วยเรื่องโกหก เช่น ปล่อยข่าวลือต่างๆ ว่าคนนี้ตาย คนนั้นท้อง และเมื่อคนโกหกเผยทีหลังว่าเรื่องที่เล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องไม่จริง คนที่ถูกโกหกต้องไม่โกรธ เพราะเป็นวัน April Fools’ Day

นอกจากนี้ วันที่ 30 เมษายน 1789 หรือเมื่อ 233 ปีก่อน เป็นวันที่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ดังนั้น จึงเลือกวันที่ 30 เมษายนของทุกปีเป็นวัน National Honesty Day เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง พูดความจริง

คนเราเริ่มพูดโกหกตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบ พอภาษาเริ่มแข็งแรง ก็เริ่มโกหกกันเลย

แม้การโกหกเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนทำ แต่ถ้าพยายามโกหกให้น้อยลงเท่าไหร่จะมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ

คณะนักจิตวิทยาแห่ง University of Notre Dame รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานผลการศึกษาชื่อ Science of Honesty หรือศาสตร์แห่งความซื่อสัตย์ พบว่าคนเราถ้าพูดโกหกให้น้อยลงจะมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ ลดอาการปวดหัว เจ็บคอ เครียด และหดหู่น้อยลง

การโกหกน้อยลงทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น เพราะเมื่อไม่พูดโกหก ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ และความสัมพันธ์กับคนรอบตัวก็ดีขึ้นตามไปด้วย

 

แม้การโกหกน้อยลงจะมีผลดีต่อสุขภาพ แต่ว่าคนสมัยนี้กลับนิยมโกหกเรื่องการใช้ชีวิตอย่างรักสุขภาพของตัวเอง

จากการสำรวจจัดทำโดย wow (ว้าว) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผลไม้ ทำโพลสำรวจคนอังกฤษที่อายุระหว่าง 20-45 ปี จำนวน 1,500 คน

พบว่าคนเกือบ 50% ขยันโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตัวเองมากกว่าเรื่องอื่นๆ และยอมรับว่าโพสต์เรื่องราวตัวเองเกินจริงเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์สุดฟิต

การสำรวจพบว่าคนจำนวน 1 ใน 10 โกหกเพื่อนร่วมงานว่าตัวเองวิ่งจ๊อกกิ้ง หรือปั่นจักรยานไปทำงาน ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ขึ้นรถเมล์หรือนั่งรถไฟใต้ดินมา และจำนวนเดียวกันนี้ก็พยายามลบภาพที่เพื่อนแชร์และแท็กตัวเองว่าไปเที่ยวไปดื่มด้วยกันมาเมื่อคืนก่อน แล้วก็โกหกว่านอนอยู่ที่บ้านเพื่อจะรักษาภาพพจน์ของคนรักสุขภาพ

มีคนจำนวน 14% เคยโกหกผ่านทวิตเตอร์, อินสตาแกรม และเฟซบุ๊กว่าได้เดินทางไปออกกำลังกายที่ยิม ทั้งที่ความจริงไม่ได้ไป

10% ยอมรับว่าเดินทางไปที่ยิมแบบแต่งตัวเต็มยศ พร้อมออกกำลังกาย เพียงเพื่อจะถ่ายเซลฟี่แล้วอัพโหลดรูปลงโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นไม่กี่นาทีก็เปลี่ยนชุดและออกจากยิมทันที

20% บอกว่าชอบอัพโหลดรูปอาหารสุขภาพที่ตัวเองกิน เช่น Superfood Salad ซึ่งเป็นสลัดที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งๆ ที่ปกติตัวเองกินแต่อาหารขยะที่เน้นรสชาติอร่อยมาก่อนคุณค่าทางอาหาร

โดยจากการสำรวจสถิติ พบว่าหลังจากโพสต์รูปตัวเองกินอาหารสุขภาพไปแล้ว อีก 47 นาทีให้หลังพวกเขาก็จะนั่งกินอาหารขยะอย่างเอร็ดอร่อยเพื่อให้อิ่มท้อง

 

สําหรับรูปถ่ายยอดฮิตที่หลายคนใช้หลอกผู้ติดตามบนโลกโซเชียลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ไลฟ์สไตล์สุดฟิต มีดังนี้

1. รูปตัวเองวิ่งจ๊อกกิ้งหรือปั่นจักรยานในสถานที่สวยๆ

2. รูปรองเท้าออกกำลังกายคู่ใหม่

3. รูป Superfood Salad

4. รูปน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ

5. รูปเครื่องดื่มโปรตีนเชค (Protein Shake)

6. รูปจากฟิตเนส แอปแสดงจำนวนก้าวที่เดินหรือวิ่งได้

7. รูปเซลฟี่เหงื่อชุ่ม (ซึ่งบางคนใช้น้ำพรมหน้า)

8. รูปบรรยากาศในฟิตเนสที่ตนเองเป็นสมาชิก

9. รูปหน้าจอบนเครื่องออกกำลังกายแสดงจำนวนแคลอรีที่เผาผลาญได้

10. รูปถ่ายขณะยกน้ำหนักหรือกำลังยืดเส้นยืดสาย

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกรูปในโลกโซเชียลที่โชว์ไลฟ์สไตล์รักสุขภาพจะเป็นเรื่องหลอกลวงไปซะทั้งหมด เพราะยังมีหลายคนที่ใช้ชีวิตแบบที่เราเห็นในรูปจริงๆ เรื่องแบบนี้ใครทำจริงจังคนนั้นก็ได้รับประโยชน์

สิ่งเดียวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครทำจริงใครสร้างภาพก็คือพัฒนาการด้านสุขภาพของคนเหล่านี้ เช่น รูปร่างที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ส่วนใครที่ทำไปตามกระแส ไม่ได้รักสุขภาพจริง เราจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผ่านไปกี่เดือน ร่างกายของพวกเขาก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง