จดหมายรัก / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : “หนุ่มเมืองจันท์”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

“หนุ่มเมืองจันท์”

 

จดหมายรัก

 

 

วันนี้ น้องที่ “เทคโนโลยี่ชาวบ้าน” มาที่สวนสันติเกษตรอินทรีย์

เขามาขอสัมภาษณ์เรื่องการมาทำสวนและการขายทุเรียน-มังคุดออนไลน์

เพราะเห็นจากเพจว่าผมพูดถึงสวนบ่อยมาก

และเปิดขาย “ทุเรียน-มังคุด” หลายครั้ง

ก่อนอื่น ผมบอก “เหน่ง-โหน่ง” ว่าไม่ได้มาเป็น “ชาวสวน” เต็มตัว

แค่กลับจันท์เพิ่มมากขึ้น

เข้าสวนบ่อยขึ้น

แต่ไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวสวน” ได้เลย

อาย “มืออาชีพ” ตัวจริงเสียงจริงที่คลุกคลีกับการทำสวนอย่างจริงจัง

เพราะคนที่ทำจริงๆ คือ “จอย” น้องสาว และ “ตู่” น้องเขย

ส่วนผมเป็น “นักลงทุน” และรับผิดชอบด้าน “การสื่อสารการตลาด”

งานฝ่ายขายก็ดูแลเรื่องการขายออนไลน์

ใช้ศัพท์แสงสูงส่งเหมือนเป็นธุรกิจร้อยล้านเลยครับ

ตอนที่พาเดินชมสวนรกๆ ผมถามว่ารู้ไหมว่าอะไรที่เป็น “จุดเด่น” ของสวนแห่งนี้

น้องส่ายหน้า

ผมชี้ให้ดูฮวงซุ้ยของ “ป๋า-แม่”

“เป็นสวนที่มีฮวงซุ้ยอยู่ด้วย”

ผลไม้ไม่เคยหาย ไม่มีใครกล้าขโมย

พูดเล่นครับ

ไม่ได้ออกแนว “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” แบบนั้น

แต่“ฮวงซุ้ย” ในสวนเป็นสัญลักษณ์ของ “ความรัก” ที่ “ป๋า” มีต่อสวนแห่งนี้

ไม่มี “ป๋า”

ไม่มี “สวนสันติเกษตรอินทรีย์”

 

“ตอนที่ “ป๋า” ปั่นจักรยานมาจองที่แปลงนี้ ถนนจากแยกเขาไร่ยาจนถึงสวนยังเป็นถนนลูกรัง

“ป๋า” เริ่มปลูกทุเรียนต้นแรก มังคุดต้นแรก จากผืนดินที่ไม่มีอะไรเลย

เขามีความสุขกับการทำสวนมาก

ลูกๆทุกคนรู้ว่า สวนแห่งนี้ คือ ชีวิตและลมหายใจของ “ป๋า”

ตอนที่แม่เสีย “ป๋า” ก็ทำฮวงซุ้ยให้แม่ในสวน

แต่มีชื่อ “ป๋า” ติดอยู่ป้ายชื่อด้วย

เหมือนจะบอกลูกๆ ว่าถ้าวันไหนที่อำลาจากโลกไป

ให้เอา “ลมหายใจ” ของ “ป๋า” ฝังไว้ที่สวนแห่งนี้”

เป็นข้อความเริ่มต้นใน “จดหมายรัก” ที่ส่งถึงคนที่ซื้อทุเรียนและมังคุดผ่านเพจของผม

เล่าที่มาและความเปลี่ยนแปลงของสวนสันติเกษตรอินทรีย์

สวนที่เกิดขึ้นจาก “ความรัก”

และเปลี่ยนแปลงไปเพราะ “ความรัก”

แต่คงเล่าเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้

ถ้าอยากรู้ต้องซื้อทุเรียนหรือมังคุดของที่สวนครับ 555

“จดหมายรัก” จะอยู่ในกล่องทุกกล่อง

ผมพยายามลงรายละเอียดทุกเรื่อง

คิดในมุม “คนซื้อ”

ผมใช้คำว่า “คนซื้อ” หรือ “คนที่จ่ายเงิน”

แต่ไม่ใช่ “ลูกค้า”

เพราะคนในเพจ “หนุ่มเมืองจันท์” นั้นเหมือนพี่-เพื่อน-น้องที่รู้จักกันมานาน

คุยกันจนรู้นิสัยใจคอกันแล้ว

พอคิดว่าเรากำลังขายของให้เพื่อนหรือน้อง

วิธีคิดจะเปลี่ยนไปเลยครับ

อยากขายของแต่ไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด

“มังคุด” มั่นใจว่าอร่อย ก็พูดเต็มปากเต็มคำเหมือนเจอร้านอาหารอร่อยแล้วอยากแนะนำให้เพื่อนไปกิน

แต่ “ทุเรียน” ที่ไม่เชี่ยวชาญ ไม่มั่นใจเหมือน “มังคุด”

ก็จะถ่อมตัวมาก เตือนเพื่อนๆ ทุกครั้งว่าเป็นทุเรียนบ้านๆ ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น

การขายทุเรียนเป็นการขายที่แปลกมาก

เพราะแทนที่จะคุยว่าอร่อย สุดยอด ซื้อเถอะ

ผมกลับ “ด้อยค่า” ทุเรียนของสวน

เพราะคนต้องการซื้อเยอะมาก

ขายหมดภายในเวลาไม่ถึงนาที

จนผมกลัว..

กลัว “ความคาดหวัง”

ก็เลยต้อง “ด้อยค่า” ทุเรียนตัวเองเพื่อลดความคาดหวัง

และเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ทุเรียนเสียหรืออ่อน หรือไม่พอใจ

ง่ายๆ เลยครับ รับเคลมทุกลูก

เพราะคิดว่ากำลังขาย “ทุเรียน-มังคุด” ให้กับพี่-เพื่อน-น้องที่คุ้นเคยกันมานาน

ผมจึงทำ “จดหมายรัก” แนบไปในกล่องด้วย

จังหวะที่ “ทุเรียน” หรือ “มังคุด” ถึงบ้าน

ผมก็ส่ง “จดหมายรัก” ฉบับที่ 2 เข้า inbox ของทุกคน

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ทุเรียน” หรือ “มังคุด”

เช่น ก่อนจะปอกทุเรียนควรทำอย่างไรบ้าง

หรืออธิบายว่า “ทุเรียน” อาจสุกช้า เพราะเราไม่ได้ป้ายยาที่ขั้วเพื่อเร่งสุก

ส่วน “มังคุด” ก็เล่าว่าในกล่องทำไมต้องแบ่งมังคุดเป็น 2 ช่อง

ช่องหนึ่งเป็น “มังคุด” ที่ดำระดับ 5 และ 6

ส่วนอีกช่องหนึ่ง เป็น “มังคุด” ดำระดับ 3-4

“เพราะเรารู้ว่าคุณไม่สามารถกินมังคุดกล่องนี้หมดภายในวันเดียว”

เมื่อคุณทยอยกิน

เราก็คัดมังคุดที่ทยอยสุก

เป็น “รายละเอียด” เล็กๆ น้อยๆ ที่ตั้งใจทำ

การขายทุเรียน-มังคุดออนไลน์ เหมือนเป็นสนามฝึกซ้อมการคิด content ของผม

จะเล่าเรื่องนี้แบบไหนดี

อย่างเช่น ผมอยากเล่าเรื่องข้อดีมังคุดเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมี

จะเล่าแบบไหนดี

ให้สนุกและรู้สึกได้

ผมเล่าแบบนี้ครับ

“วันก่อน คุยกับ “จอย” น้องสาวผู้ดูแลสวนตัวจริง

ผมบอกน้องว่าระหว่าง “ทุเรียน” กับ” มังคุด”

คนจะรู้สึกถึงความเป็น “อินทรีย์” ของ “มังคุด” มากกว่า “ทุเรียน”

เพราะ “ทุเรียน” เปลือกหนากว่าจะถึงเนื้อ เราจะรู้สึกถึงความปลอดภัยจากสารเคมีน้อยกว่า

ในขณะที่ “มังคุด” เราใช้มือสัมผัสผิวของมังคุด บางคนกินเร็วๆ ก็ใช้การบีบหรือนิ้วจิกเปลือก

พอเห็นเนื้อก็ใช้ปากงับเลย

หรือถ้าใช้มีดกรีด ก็มีโอกาสที่มีดจะผ่านเปลือกไปสัมผัสเนื้อก็มีสูงมาก

ความรู้สึกเรื่อง “ความปลอดภัย” จากสารเคมีจะมากกว่า

ผมถาม “จอย” ว่าที่สวนเรา บนเปลือกมังคุดจะมีสารอะไรบ้าง เพราะต้องฉีดยาป้องกันแมลงเหมือนกัน

น้องไม่ตอบ

เธอส่งภาพสูตรยาฉีดป้องกันเพลี้ย หนอน และโรคต่างๆ มาให้ดู

ป้องกันไม่ให้น้องเพลี้ย น้องหนอนมาเบียดเบียนมังคุด

ครับ ถ้าเปลือกมังคุดของที่สวนจะมีรสเปรี้ยว ก็น่าจะมาจาก “น้ำส้มควันไม้”

ขมไปนิด เพราะ “สะเดา” อาจจะมากไปหน่อย

หากมีรสเผ็ดร้อน ก็อาจจะมาจาก “ข่า” หรือ “ยาเส้น”

แม้ว่าเปลือกมังคุดจะปลอดภัยจากสารเคมี

แต่คำเตือนที่ดีที่สุด คือ อย่ากินเปลือกมังคุดดีกว่าครับ 555

ให้กินแต่ “เนื้อมังคุด” อย่างเดียว”

ใต้โพสต์นี้ผมแนบภาพสูตรน้ำหมักสมุนไพรที่ “จอย” ส่งมาด้วย

คอมเม้นท์ส่วนใหญ่ก็ชอบเนื้อหา มีบางคนที่ได้มังคุดไปแล้วก็ส่งรูปพร้อมคำชม

แต่มีความเห็นหนึ่งที่เหนือความคาดหมาย

“พี่คะ ขอสูตรปุ๋ยหมักด้วยค่ะ”

5555 •