TOLKIEN ‘บิดาแห่งจินตนิยายสุดบรรเจิด’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์
'Tolkien.' /Fox Searchlight Pictures

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

TOLKIEN

‘บิดาแห่งจินตนิยายสุดบรรเจิด’

 

กำกับการแสดง

Dome Karukoski

นำแสดง

Nicholas Hoult

Lily Collins

Colm Meaney

Derek Jacobi

Harry Gilby

 

ถ้ารู้จักมหากาพย์แฟนตาซีชุด The Lord of the Rings ซึ่งปีเตอร์ แจ็กสัน นำมาสร้างเป็นหนังไตรภาคที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรและส่งให้กิตติศัพท์ของนิยายขจรขจายไปทั่วโลกยิ่งขึ้นไปอีก ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อผู้แต่งมหากาพย์บรรลือโลกผู้นี้ คือ เจ. อาร์. อาร์ โทลคีน หรือจอห์น โรนัลด์ รูล โทลคีน มาบ้างแล้ว

ในแฟนตาซีของโทลคีน ดินแดนที่เรียกว่า “มิดเดิลเอิร์ธ” มีเผ่าพันธุ์ของสรรพชีวิตหลากหลายที่พูดจาสื่อสารกันได้ในหลายภาษา นอกเหนือไปจากมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็น “ฮอบบิต” ซึ่งเป็นคนตัวเล็กที่อาศัยอยู่ในโพรง

“เอลฟ์” ภูตผมทองหน้าตางดงาม

“ออร์ก” เผ่าพันธุ์ดุร้าย ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายตัวเอก

รวมทั้งคนแคระ ผู้วิเศษฝ่ายดี ผู้วิเศษฝ่ายชั่วร้าย ยักษ์…สารพัดประเภท ฯลฯ

Tolkien เป็นเรื่องราวชีวิตของบุคคลผู้ได้ฉายาว่า “บิดาแห่งจินตนิยายสุดบรรเจิด” (Father of High Fantasy)

 

เจ. อาร์. อาร์ โทลคีน (แฮร์รี่ กิลบี ตอนเป็นเด็ก และนิโคลัส ฮูลต์ ตอนโตเป็นหนุ่ม) หรือที่ใครๆ เรียกว่า “โรนัลด์” เป็นเด็กกำพร้าพ่อมาแต่เล็ก มีแม่เลี้ยงดูมาคนเดียวโดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของบาทหลวงฟรานซิส (คอล์ม มีนีย์) ในคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก

แม่ปลูกฝังความรักในเรื่องปรัมปราอันมีเวทมนตร์คาถาและจินตนาการบรรเจิด โดยเล่านิทานให้ลูกทั้งสองคนฟังทุกค่ำคืน

ครั้นแม่จากไปอย่างกะทันหัน ความมั่นคงอย่างเดียวในชีวิตของเด็กที่กำพร้าพ่ออยู่แล้ว ก็พังครืนลง บาทหลวงฟรานซิสกลายเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของเด็กทั้งสอง และจำต้องต้องหาผู้อุปการะเพื่อส่งเสียให้ร่ำเรียนในโรงเรียนดีๆ

‘Tolkien.’/Fox Searchlight Pictures

แต่ปัญหาของเด็กยากจนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงชั้นนำก็คือการต้องเผชิญกับความไม่ทัดเทียมเพื่อนฝูงที่เป็นลูกคนมีชาติตระกูลและร่ำรวยทั้งนั้น

กลายเป็นปมอย่างหนึ่งในชีวิตอันแร้นแค้นของโรนัลด์ ผู้ที่โดดเด่นเกินหน้าเพื่อนในชั้นเรียนด้วยไหวพริบและความเก่งกาจด้านภาษาอย่างหาตัวจับยาก

ในที่สุดโรนัลด์ก็เข้าไปอยู่ในกลุ่มของเพื่อนสนิทที่ร่ำรวยและมีชาติตระกูลดี ซึ่งต่างมีความฝันในชีวิตของตนในโลกของศิลปะ แต่จำต้องตั้งเข็มชีวิตทำตามความปรารถนาของพ่อแม่ ซึ่งล้วนอยากให้ลูกเป็นทนายความ เป็นหมอ หรือมีอาชีพมั่นคงเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม

กลุ่มเพื่อนสนิทสี่คนนี้ก่อตัวเป็น “กลุ่มเพื่อน” หรือ Fellowship อันโดดเด่น ดังที่จะปรากฏต่อมาในงานเขียนของโทลคีน

‘Tolkien.’/Fox Searchlight Pictures

เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม โรนัลด์เริ่มติดเนื้อต้องใจอีดิธ แบรตต์ (ลิลี คอลลินส์) เด็กสาวในอุปการะของเศรษฐินีคนเดียวกัน ซึ่งต้องใช้ชีวิตไปตามบงการของผู้อุปถัมภ์เหมือนกัน

โรนัลด์เกือบจะพลาดโอกาสการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอันทรงเกียรติ เพราะคะแนนทั่วไปไม่ถึงขั้นจะได้ทุนการศึกษา

เป็นเหตุให้บาทหลวงฟรานซิส “ห้าม” ไม่ให้เขาคบหากับอีดิธขณะอยู่ในความดูแลของบาทหลวง เมื่อเขาดื้อดึง บาทหลวงก็บอกว่าเขาจะตัดสินใจเองได้ก็ต่อเมื่อเขาอายุครบ 21 ปีแล้วเท่านั้น

ณ จุดนี้ ในชีวิตจริงตามประวัติของโทลคีน เขาทำตามคำของบาทหลวงตรงตามตัวอักษรเลย คือรอจนถึงวันที่เขาอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อเวลา 00.01 น. เขาเขียนจดหมายไปขอแต่งงานกับอีดิธ ณ เวลาที่เขามีอิสระในการตัดสินใจชีวิตของตัวเองได้ แต่ว่าหนังไม่ได้ตามประเด็นต่อมาในเรื่องนี้ ซึ่งน่าเสียดายเพราะเรื่องนี้บ่งบอกนิสัยมุ่งมั่นและเถรตรงของโทลคีนอย่างชัดเจน

ก่อนหน้านั้น เขาพบ “ทาง” ของตัวเองในด้านการใช้ภาษา และเบนเข็มไปเรียนด้านภาษาศาสตร์กับศาสตราจารย์ไรต์ (ดีเรก จาโคบี) ผู้ที่มองเห็นอัจฉริยภาพด้านภาษาของโทลคีนก่อนใครอื่น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้น โรนัลด์ไปร่วมรบที่ฝรั่งเศส และหนังนำเสนอช่วงหนึ่งของการรบที่ซอมม์ (The Battle of the Somme) ในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นมโนภาพที่เขาจะนำเสนอในดินแดนในจินตนาการที่จะสร้างชื่อเสียงให้เขาต่อมา

โรนัลด์เป็น “ไข้สนามเพลาะ” (trench fever) เพ้อถึงเพื่อนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า และฝ่าสมรภูมิเข้าไปในเขตฉนวนระหว่างกองทัพสองฝ่ายที่ตั้งประจันสู้รบกันอยู่

ภาพอันทารุณโหดร้ายต่างๆ ที่ประสบพบพานนั้นจะเป็นที่มาของดินแดนมอร์ดอร์อันน่าสยดสยอง และ “นัยน์ตาแห่งซอรอน” ซึ่งแฟนหนังน่าจะยังจำได้ติดตาจากหนังอภิมหากาพย์อันตราตรึงของปีเตอร์ แจ็กสัน

น่าเสียดายที่ Tolkien ไม่ได้เล่าเรื่องในแง่ที่จะโยงใยให้เรารู้ถึงจินตนาการบรรเจิดของโทลคีนมากไปกว่าเป็นเพียงโครงร่างคร่าวๆ ต่อมาในแง่ของ “Fellowship” และนิทานที่แม่เล่าให้ฟังสมัยเด็ก

แม้แต่การคิดประดิษฐ์ภาษาทั้งภาษาที่ใช้พูดจากันในนิยายของเขา ก็เล่าเพียงผ่านๆ โดยไม่ได้ทำให้เราเห็นถึงความอุตสาหะหรือแรงบันดาลใจที่เป็นรูปธรรม

หนังจบลงในจุดที่โทลคีนมีครอบครัวและเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอันทรงเกียรติ และจรดปากกาเขียนประโยคแรกของ The Hobbit ซึ่งจะยืดยาวกลายเป็นอภิมหากาพย์ไตรภาคชุด The Lord of the Ring ต่อมา

 

ถ้าไม่ได้อ่านงานเขียนของเจ.อาร์.อาร์. โทลคีน โดยตรงก็จะไม่ได้รู้ถึงความอุตสาหะพากเพียรในแง่ของภาษาศาสตร์และจินตนาการอันไร้ขอบเขตของเขา

ผู้เขียนขอสารภาพว่าหลังจากได้ดูหนังไปแล้ว ก็หามาอ่านเหมือนกันค่ะ แต่ความยาวและเรื่องราวรำพันชมนกชมไม้ไประหว่างการเดินเรื่อง ทำให้อ่านไม่จบสักที

ถือโอกาสว่าได้ดูหนังไตรภาค รวมทั้ง Hobbit ไปแล้ว ก็เลยได้แต่หมายมาดว่าจะหยิบมาอ่านอีก ยามเมื่อมีเวลาว่างล่ะค่ะ •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ TOLKIEN ได้ที่นี่