คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เด็กกับพระเจ้า : ประสบการณ์เล็กๆ จากอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งเดินทางกลับจากอินเดีย พูดแบบเท่ๆ คือมีนัดกับพระเจ้า ในการไปงานคเณศจตุรถี (อีกแล้ว) ครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้

แม้จะไปงานเดิมซ้ำๆ ทุกปี เพราะมีสัญญาใจกับ คุณนเรนทร์ ดูเบย์ แห่ง TRL เนื่องจากท่านชวนผมไปบรรยาย เรารู้จักกันตั้งแต่ปี 2548 จากนั้นผมก็ไปอินเดียกับคุณนเรนทร์อยู่ทุกบ่อย ทุกครั้งที่ไปก็ได้พบเห็นอะไรใหม่ๆ เสมอ

คุณนเรนทร์ซึ่งผมนับถือเหมือนพี่จึงประดุจ “เทวทูต” (ไม่ใช่ยมทูตนะครับ) ผู้นำผมไปพบทวยเทพและวัฒนธรรมอินเดียแบบ “เดินด้วยตีน เห็นด้วยตา ” นี่แล จึงอยากจะกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้

ครานี้ผมไปแคว้นมหาราษฎร์ตามเดิม มีเรื่องให้ประทับใจอยู่หลายสิ่ง โดยเฉพาะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ “เด็ก” ในที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาในอินเดียครับ

 

ในบ้านเรา คล้ายๆ พื้นที่ของเด็กถูกกันออกไปค่อนข้างมากในพิธีกรรมทางศาสนา อาจเพราะเห็นว่าเด็กยังไม่มีความเข้าใจ หรืออีกทางคือเด็กอาจรบกวนพิธีกรรมได้ เรื่องพิธีกรรมจึงดูเป็นเรื่องของผู้ใหญ่

เราจึงตื่นเต้นมากเมื่อเด็กสามารถมีบทบาทในทางศาสนา หรือมีความสามารถพิเศษในทางพิธีกรรม เช่น ผมจำได้ว่า สมัยจตุคามรามเทพรุ่งเรือง มีเด็กชายคนหนึ่งถูกกล่าวขวัญว่าเป็น “เจ้าพิธี” ที่อายุน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังมี “น้องกร” เด็กน้อยผู้ใกล้ชิดพระที่น่ารัก และรายการเรียลิตี้โชว์สามเณรที่คนติดตามกันมาก

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า เพราะเด็กสามารถแสดงบทบาท “ผู้ใหญ่” ได้ไงครับ และยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เองก็ทำได้ยากอย่างเรื่องศาสนพิธี คนจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษ

ซึ่งก็แสดงด้วยว่า บทบาทและพื้นที่นี้มันไม่ใช่ของเด็ก

 

ในอินเดีย ผมว่าสถานการณ์ต่างออกไปบ้าง ผมสังเกตจากช่วงงานคเณศจตุรถีโดยเฉพาะ และตามเทวสถานต่างๆ ของพระคเณศ พบว่าเด็กมีบทบาทมาก

ในงานคเณศจตุรถี “ซุ้มพระ” (แขกเรียก มณฑล – Mandal) ไม่ว่าจะตามบ้านหรือองค์กร หลายที่เขาให้เด็กเป็นผู้นั่งเฝ้าปรนนิบัติเทพเจ้าดุจเดียวกับหน้าที่ของพราหมณ์ผู้บูชา คือรับเครื่องบูชาจากศาสนิกชนไปถวายยังเทวรูป และนำของที่สักการะแล้วหรือ “เทวประสาท” เช่น ขนมต่างๆ มามอบให้ศาสนิกชนอีกที

นอกจากตามซุ้มแล้ว เมื่อผมไปยังเทวสถานโมรยาโคสาวี นักบุญในนิกายคาณปัตยะ หรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นสำคัญ ในเทวสถานชั้นในหรือห้องครรภคฤหะที่ประดิษฐานเทวรูป ซึ่งปกติเป็นที่หวงห้ามเฉพาะพราหมณ์ ไม่เพียงมีเด็กๆ เป็นผู้นำสักการะ แต่เขายังให้เด็กสาวเป็นผู้รับและแจกจ่ายเครื่องบูชาด้วย ซึ่งผมเข้าใจว่า น้องสาวท่านนั้นเป็นคนในตระกูลพราหมณ์ผู้ดูแลเทวสถานนั่นเอง

เหตุการณ์แบบนี้ท่านจะไม่เจอในเทวสถานของเทพเจ้าอื่นๆ สักเท่าใด เพราะอย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่า ปัจจุบัน ศาสนาพราหมณ์แบบผู้ชายหรือแบบหลวงนั้น พื้นที่ต่างๆ ในทางศาสนาจึงเป็นของผู้ชายเสียส่วนมาก เว้นแต่ในท้องถิ่น หรือบางนิกายให้ให้ความสำคัญกับเด็กอย่างนิกายพระคเณศ

พวกผู้ใหญ่ จะใหญ่มาจากไหนก็ต้องรับพรจากเด็กๆ เหล่านี้ด้วยความเคารพนะครับ จะคิดว่า อ่อ เป็นเด็กเองไม่ต้องให้ความเคารพนั้นไม่ได้ เพราะเด็กเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่ “ใกล้” พระเจ้ามากกว่าตน

และเด็กๆ เหล่านี้กำลังแสดง “บทบาทศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งน่าสนใจว่า บทบาทเช่นนี้ในอินเดียเลื่อนไหลได้พอสมควร เช่น หากผมเป็นพราหมณ์ แต่วันนั้นผมเป็นเจ้าภาพพิธีกรรม ผมก็ต้องแสดงความเคารพต่อพราหมณ์อาวุโสน้อยกว่าที่กำลังทำพิธีให้ผม แต่พอออกจากพิธีกรรม พราหมณ์คนนั้นก็กลับมาเคารพผมอีก เพราะผมอาวุโสกว่า เป็นต้น

 

ที่อินเดีย ธรรมเนียมการเคารพนบไหว้จึงสนุก เพราะมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ บางครั้งก็เคารพด้วยอาวุโส แต่ไม่เสมอไป เพราะหลายครั้งที่คนอาวุโสน้อยแต่ได้รับการเชิดชูด้วยอะไรบางอย่างเช่น คุณธรรมหรือความรู้ ก็จะได้รับการเคารพจากผู้อาวุโสกว่าอย่างจริงใจ บางครั้งด้วยบทบาทในบางช่วงขณะ เช่นในพิธีกรรม

บางครั้งด้วยอุดมคติบางอย่าง เช่น มีบางท่านถือตามคติในพระธรรมศาสตร์ว่า แขกผู้มาเยือนคือเทพ (อติถิ เทโว ภว) ฉะนั้น ใครที่เผอิญโผล่มา จะแปลกหน้าหรือไม่ก็ตาม ก็จะได้รับการเคารพสักการะอย่างดีที่สุด

ผมไปเยือนเทวสถานอีกแห่งของท่านโมรยาโคสาวี คือ มงคลมูรติ วาฑา ซึ่งมีสถานะเป็นศูนย์กลางนิกายคาณปัตยะ ที่นี่ยังมีอาศรมพระเวทหรือคุรุกุล สำหรับเด็กๆ ยากจนมาเรียนด้วย

เด็กๆ หรือพรหมจารีเหล่านี้มาจากหลากหลายที่ มาเรียนเพื่อเป็นพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมในอนาคต ทำนองเดียวกับการบวชเรียนของเราที่รับสามเณรยากจนมาเรียนหนังสือ

เราไปขอให้พรหมจารีเหล่านี้สวดมนต์ให้เรา และได้ทำบุญถวายแต่ละท่านเป็นทุนการศึกษาและกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ

โดยธรรมเนียมแล้ว แม้ท่านเหล่านี้จะเด็กมาก มีอายุตั้งแต่เจ็ดแปดขวบไปถึงสิบห้าสิบหกปี นอกจากถวายเงินให้กับมือ เราควรต้อง “แตะเท้า” (จรณสปรศะ) คล้ายกราบเท้าตามธรรมเนียมแขก เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงด้วย ซึ่งผมและหลายท่านที่ไปก็ทำ โดยไม่ได้คิดว่าท่านเหล่านี้เป็นเด็ก

อ่อ จะบอกว่าก็เหมือนกราบเณรก็ไม่เชิงนะครับ เพราะพรหมจารีในอินเดียมีสถานภาพไม่เหมือนเณร ตรงที่ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ “นักบวช” แต่เป็นคฤหัสถ์ เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ เพียงแต่ในช่วงเป็นพรหมจารีนั้น ท่านห้ามเรื่องเพศและเรื่องบันเทิงอื่นๆ

 

อีกอย่างที่อยากจะเล่าและผมประทับใจมาก เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับเด็กในอินเดีย คือ พี่สาวท่านหนึ่งในคณะที่ไปด้วยกัน ท่านพาลูกชายตัวน้อยอายุเจ็ดเดือนเพื่อไปขอพรต่อองค์พระคเณศ ทำนองว่า ขอท่านแล้วได้ลูกเลยพาลูกมาไหว้

วันที่เราไปซุ้มพระชื่อ อัณเธรีจาราชา ในเมืองมุมไบ ขณะที่พี่สาวท่านนั้นก้มกราบพระบาทเทวรูปพระคเณศ และฝากลูกกับเจ้าหน้าที่ซุ้มชาวอินเดีย พี่เจ้าหน้าที่ชาวอินเดีย ก็ยกเด็กน้อยเอาศีรษะไปสัมผัสพระหัตถ์ของเทวรูปดุจท่านให้พร จากนั้นก็อุ้มเด็กน้อยไปนั่งที่ตักของเทวรูป

ผมกลับมาแซวว่า ลูกชายของพี่สาวท่านนั้นเป็นแขกเวรี่เวรี่วีไอพี เพราะใครมาไหว้จะใหญ่แค่ไหนเขาก็ให้กราบพระบาท นี่เป็นคนเดียวที่ได้นั่งตักเทพเจ้า ไม่ธรรมดาๆ

 

เหตุใดเขาถึงให้เด็กมีบทบาทและความสำคัญขนาดนี้ ผมคิดว่าด้วยสองเหตุผล

อย่างแรก เพราะเขาก็คิดคล้ายๆ เราครับว่า เด็กนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาดกว่าผู้ใหญ่ เด็กๆ เหล่านี้จึงควรใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้ามากกว่า คนแบบนี้แหละที่พระเป็นเจ้ารักมากกว่าพวกผู้ใหญ่ตอแหล

พูดแบบนี้ก็ให้คิดถึงคำสอนคล้ายๆ กันนี้ในคริสต์ศาสนา ซึ่งให้ความสำคัญกับจิตใจแบบเด็กๆ เช่นกัน

มีตำนานเล่าว่า ท่านรามานุชาจารย์ ปฐมาจารย์ของไวษณพนิกายผู้ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งท่านเดินพร้อมสานุศิษย์ผ่านไปยังกลุ่มเด็กๆ ที่ “เล่นบูชาพระ” กันอยู่ เด็กๆ เหล่านี้ เอาหินดินทรายมาเล่นเป็นเครื่องบูชา ท่านก็เข้าไปสักการะซุ้มพระวิษณุของเล่นของเด็กๆ ด้วยความเคารพ รับเอาเทวประสาทคือก้อนกรวดของเด็กมาจรดศีรษะและหลั่งน้ำตาด้วยความศรัทธา

สานุศิษย์ของท่านถามว่า ไฉนท่านจึงทำเช่นนั้น นั่นก็แค่การเล่นของเด็กๆ ท่านตอบว่า เพราะเด็กเหล่านี้มีใจบริสุทธิ์ และการเล่นนี้ก็เป็นการเล่นอันเป็นทิพย์ เนื่องด้วยเล่นเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าอย่างใจซื่อ จะไม่ให้ท่านเคารพได้อย่างไร

 

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะเทพเจ้าในอินเดีย โดยเฉพาะพระคเณศนั้นมี “สภาวะของเด็ก” แฝงอยู่ด้วย เทพเจ้าผู้มีร่างกายอ้วนท้วนดุจเด็กน้อย (สมนาม ปิลไลยาร์ หรือ “ลูกช้าง” ในภาษาทมิฬ) เชื่อกันว่า พระคเณศนั้นเป็นเทพที่ “เราทรภาวรหิตัม” คือปราศจากความโกรธ ความดุร้าย จึงเหมาะที่เด็กๆ จะเข้าหาและสนิทสนม

มีอีกตำนานหนึ่งที่เกี่ยวข้องระหว่างเด็กๆ กับเทพ ซึ่งผมอยากจะเล่าปิดท้าย คือเรื่องของเทวสถานศรีพัลลาเลศวร เมืองปาลี หนึ่งในอัษฏวินายก ตำนานเล่าว่า เดิมมีเด็กชายชื่อพัลลาล (อ่านแบบแขกคือ บัลลาล) เด็กน้อยคนนี้ เล่นบูชาพระด้วยความศรัทธา เอาก้อนหินมาเขียนพระนาม เอากิ่งไม้มาสร้างเป็นวัดพร้อมเครื่องบูชาประสาเด็ก และชวนเพื่อนในหมู่บ้านมาเล่นบูชาจนมืดค่ำ

ตกค่ำบรรดาพ่อแม่ที่ลูกหายไปก็ออกตามหา เมื่อเจอว่าลูกมาเล่นไม่ยอมกลับบ้านก็ไล่ตี และไปฟ้องพ่อเด็กชายพัลลาล พ่อเด็กชายโกรธมาก จับมัดไว้กับต้นไม้ทั้งคืน ทำนองว่ารักมากนักก็อยู่อย่างนี้ไปละกัน

รุ่งเช้าพราหมณ์หนุ่ม (คเณศแปลง) ก็มาแก้มัด และขอให้เด็กชายขอพรเพราะมีความภักดี เด็กชายไม่ขออะไรให้ตนเอง แต่ขอว่า ในอนาคตเมื่อผู้ใดมาสักการะพระคเณศที่นี่ ขอให้เขาได้รับความสำเร็จ พระคเณศพึงใจมาก จึงให้พรเพิ่ม

เด็กชายขอให้พระองค์อยู่กับเขาตลอดไป พระคเณศจึงพาเด็กชายพัลลาลหายเข้าไปในเทวรูปพระองค์ นับแต่นั้น เทวสถานที่นั่นจึงชื่อว่า พัลลาเลศวร หรือพระเป็นเจ้าของพัลลาล เป็นเกียรติประวัติชั่วนิรันดรแก่สาวกเด็กน้อย

วลีศักดิ์สิทธิ์ของที่นั่นคือ “คณปติ สทา สหายะ”

แปลว่า “พระคเณศเป็นเพื่อนกันเสมอ”