‘ทุกข์สุขจะไม่เปลี่ยนปณิธาน ยากง่ายจะไม่เปลี่ยนความตั้งใจ’| กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

‘ทุกข์สุขจะไม่เปลี่ยนปณิธาน

ยากง่ายจะไม่เปลี่ยนความตั้งใจ’

 

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียเป็นหัวข้อที่มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมืองกับความสลับซับซ้อนแห่งผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

ยิ่งเมื่อเกิดสงครามยูเครนก็ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์ต้องวิ่งหาข้อมูลที่สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าเดิม

ในวันที่ 21 เมษายน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าวประจำปี 2022 พร้อมกล่าวคำปราศรัยผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล

โดยกล่าวว่า “ทุกข์สุขจะไม่เปลี่ยนปณิธาน ยากง่ายจะไม่เปลี่ยนความตั้งใจ”

และย้ำต่อว่า “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์สอนให้เรารู้ว่ายิ่งยากลำบากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้มากขึ้นเท่านั้น ความขัดแย้งไม่ได้เลวร้าย …”

พร้อมเสริมว่า

“ความขัดแย้งนี่แหละที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ ไม่มีอุปสรรคใดสามารถหยุดกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ได้ เมื่อเผชิญกับความท้าทายมากมาย เราต้องไม่ละทิ้งความมั่นใจ ไม่ย่อท้อ แต่มีความมั่นใจมากขึ้นและก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ…”

ความข้อนี้จะมีความโยงใยกับความสัมพันธ์ของจีนกับตัวละครอื่นๆ ในสงครามยูเครนหรือไม่ย่อมเป็นเรื่องที่ถกแถลงกันได้

แต่วลีเด็ดนี้ย่อมจะสามารถนำมาประกอบกับการพิจารณาจุดยืนของจีนในภาวะที่มีความย้อนแย้งหลายด้าน

โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียภายใต้ภาวะท้าทายแห่งสงคราม

ผู้รู้ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมองว่า

จีนมีผลประโยชน์ 3 อย่างที่ต้องการปกป้องสุดฤทธิ์

นั่นคือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย

รักษาบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย

แต่ก็ต้องไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับตะวันตกเช่นกัน

ในช่วงเริ่มต้นของสงครามยูเครน สี จิ้นผิง อาจจะหวังว่าความขัดแย้งนี้จะช่วยเร่งความเสื่อมโทรมของตะวันตกและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับพันธมิตร

ซึ่งอาจจะทำให้แรงกดดันจากตะวันตกต่อปักกิ่งลดน้อยถอยลง

แน่นอนว่านโยบายหลักของจีนยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย

และพยายามผลักดันสถานการณ์ระหว่างประเทศไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อตน

ในมุมมองของจีน ยูเครนเป็นรัฐอิสระ และสี จิ้นผิง ย่อมไม่อะไรที่กระทบความสัมพันธ์นั้น

แต่หากต้องเลือก ปักกิ่งย่อมให้ความสำคัญกับมอสโกมากกว่ากับกรุงเคียฟแน่นอน

 

ในอีกแง่หนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนยังต้องการที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์อีกด้วย

ที่ผ่านมา ผู้นำจีนได้พูดถึงความทะเยอทะยานของปักกิ่งที่จะเป็นคู่แข่งทางเทคโนโลยีระดับโลกในแผนฟื้นฟูของเขา

แต่นี่เป็นพื้นที่ที่รัสเซียทำไม่ได้

ดังนั้น ในอีกสถานะหนึ่ง สีจึงต้องระมัดระวังไม่ทำลายความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปและเศรษฐกิจขั้นสูงอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นให้ขาดสะบั้นลง

ต้องยอมรับว่ารัสเซียและจีนมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนใคร

หลายประเทศอาจจะมองไม่ทะลุ แต่บ่อยครั้งจะเห็นว่าจีนไม่ได้มองกรอบความสัมพันธ์แบบเดียวกับที่สหรัฐ หรือยุโรปคิดและมอง

นี่แหละ “ความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์” ที่จีนออกแบบไว้สำหรับตัวเอง

อาจจะเรียกมันว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับชาติอื่น…ที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

ล้อ “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

จีนไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เพราะเงื่อนไขประวัติศาสตร์, ปัจจุบันและเป้าหมายอนาคตต่างไปจากประเทศใหญ่อื่นๆ ทั้งสิ้นทั้งปวง

ฝรั่งบางสำนักอาจจะเรียกความสัมพันธ์เช่นนี้ว่าเป็น “marriage of convenience” หรือ “การแต่งงานด้วยเหตุเพื่อประโยชน์ชั่วขณะ”

แต่นักวิเคราะห์ที่ติดตามจีนมาตลอดอีกบางค่ายบอกว่าอย่ามองความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนผ่าน “ปริซึ่ม” ของประสบการณ์และรูปแบบสร้างพันธมิตรของทางตะวันตกเท่านั้น

ซึ่งอาจจะทำให้มองภาพผิดเพี้ยนและบูดเบี้ยวจากความเป็นจริงได้

นั่นย่อมแปลว่าการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างปูตินและสี จิ้นผิงต่ำกว่าความเป็นจริงไป

เพราะทั้งสองคนมี “เคมี” ที่ตรงกันและสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศได้มากกว่าที่ตะวันตกประเมิน

เมื่อเกิดสงครามยูเครนจึงเกิดคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจีนจะหนุนหลังรัสเซียอย่างเต็มที่หรือไม่?

 

คําตอบจากผู้รู้หลายสายบอกว่าปักกิ่งอาจจะเลือกตัดสินใจเป็นกรณีๆ ไป

ตัวอย่างจีนโหวตให้รัสเซียในมติที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ขณะที่สมาชิกอีก 13 ประเทศงดออกเสียง

จาง จุน เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติของจีนกล่าวว่า จีนยินดีต่อการริเริ่มและมาตรการใดๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาและแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครนได้

แต่ไม่เอ่ยถึงการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน

ต่อมา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติในกรุงเฮกได้สั่งให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน ด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 2

โดยผู้พิพากษารัสเซียและจีนลงคะแนนคัดค้านคำสั่งดังกล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน จีนอาจจะงดเว้นการแสดงออกอยู่ข้างมอสโกในบางประการหากเกี่ยวกับ “บูรณภาพแห่งดินแดน” หรือ “อธิปไตยแห่งชาติ”

จีนยืนยันเสมอมาว่าจะยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ

และจีนต้องกังวลต่อปัญหาภายในที่เกี่ยวกับการประกาศ “แยกดินแดน” ของบางกลุ่มในซินเจียง, ไต้หวัน, ทิเบต เป็นต้น

จาง จุน ของจีนกล่าวในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคง

ว่าจีนจะระมัดระวังในการรักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้าของตนโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี

แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย

 

คําถามต่อมาก็คือ จีนรู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่ารัสเซียกำลังจะบุกยูเครน?

นักวิเคราะห์หลายค่ายเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่าปูตินบอกกับสี จิ้นผิง ว่าเขากำลังวางแผนที่จะใช้กองทัพของเขาในยูเครน

แต่อาจไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมด

หรือเป็นไปได้ว่าปูตินอาจเชื่อว่าเรื่องนี้จะจบลงภายใน 48 หรือ 72 ชั่วโมงเพราะมันเป็น “ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ”

ซึ่งแปลว่าปูตินเชื่อว่าสี จิ้นผิง คงจะไม่ว่าอะไรหากเป็นการ “ผ่าตัดสั้นและเร็ว” ไม่มีผลกระทบกว้างไกลอะไรถึงพันธมิตรอย่างจีนที่จะต้องออกมาแสดงการสนับสนุน

เพราะประสบการณ์ปี 2014 ตอนรัสเซียปฏิบัติการผนวกไครเมียเข้ามาเป็นของตนก็เป็นเช่นนั้น

ทูตจีนย้ำเตือนว่า

“สันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวของยุโรปขึ้นอยู่กับหลักการรักษาความปลอดภัยที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ จะต้องมีสถาปัตยกรรมความปลอดภัยแบบยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน…”

และยังให้ความสำคัญต่อการหยุดยิงเพื่อปกป้องพลเรือนจากสงคราม โดยตอกย้ำว่า

“จีนในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและประเทศหลักที่รับผิดชอบ จีนจะยังคงประสานความพยายามที่แท้จริงเพื่อบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืน…”

และเสริมว่า

“เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างที่ทำได้และทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ จุดประสงค์สูงสุดของเราคือยุติสงครามและสนับสนุนเสถียรภาพระดับภูมิภาคและระดับโลก”

 

ผมอ่านเจอบทวิเคราะห์ของอดีตบรรณาธิการ Global Times “หูซีจิ้น” ในสื่อโซเชียลมีเดียของจีนแล้วทำให้เข้าใจ “วิธีคิด” หรือ mindset ของผู้ปกครองจีนในเรื่องนี้พอสมควรทีเดียว

เขาบอกว่าในระดับผิวเผิน จีนและรัสเซียสนับสนุนซึ่งกันและกันทางการทูต ในไต้หวัน ซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์แบบ back-to-back ของสองประเทศ

จีนเป็นคู่แข่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอเมริกามากกว่ารัสเซีย อเมริกาโฟกัสที่รัสเซียตอนนี้

แต่อย่างที่ไมค์ เพนซ์ (อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐสมัยโดนัลด์ ทรัมป์) บอก พอเวลาผ่านไป สหรัฐก็จะกลับมาโฟกัสที่จีน

“และเมื่อถึงวันนั้น เราจะขอบคุณรัสเซียที่เป็นพันธมิตรของเรา หรืออย่างน้อยก็รักษาความเป็นกลาง…” อดีต บก.จีนบอก

เขาบอกว่าสงครามยูเครนทำให้รัสเซียเข้าสู่การแข่งขันระดับแนวหน้ากับสหรัฐ

ซึ่งก็เท่ากับเข้ามาแทนที่จีนชั่วคราว ทำให้เรามีพื้นที่หายใจเพื่อจัดกลุ่มใหม่หลังจากสงครามการค้าที่โหดร้ายของทรัมป์

เขาย้ำว่า “สองมหาอำนาจที่ต่อต้านอำนาจของสหรัฐดีกว่าอำนาจเดียว”

เขาเชื่อว่าการเป็นหุ้นส่วน “อย่างไม่มีขีดจำกัด” กับรัสเซียจะช่วยจีนตรงที่สามารถยับยั้งนโยบายไม่เป็นมิตรของสหรัฐต่อปักกิ่ง

“หากเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ ความสามารถตามแบบแผนของจีนก็สามารถแซงหน้าสหรัฐได้อยู่แล้ว ด้วยพลังนิวเคลียร์ของรัสเซียมาเสริมช่วยจีน ก็จะเป็นการยากสำหรับสหรัฐที่จะเล่นงานจีนได้…”

อีกทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างรัสเซียและจีนมีประโยชน์ในการป้องปรามญี่ปุ่นและอินเดียอีกด้วย

พอไปยืนมุมเดียวกับจีน…ก็พอจะเห็นว่าทำไมปักกิ่งจึงมีท่าทีเช่นที่เห็นและเป็นไปจริงๆ