ล้านนา-คำเมือง : ลำไย

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ลำไย”

ลำไยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Dimocarpus longan Lour นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ

ทุกคนรู้จักลำไย แต่มักจะไม่รู้ที่มาที่ไปของต้นลำไยในบ้านเรา ว่าแท้ที่จริงลำไยเป็นพืชที่มีพื้นเพในอินเดีย และลังกา ขึ้นบนภูเขาในแถบตะวันออกของอ่าวเบงกอล

ต่อมาได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศจีนตอนใต้ ที่ยูนนาน กวางตุ้งและฮกเกี้ยน

จากบันทึกที่ว่าเกษตรกรจีนปลูกลำไยมานานนับพันปีแล้ว

ความเป็นมาของต้นลำไยในเชียงใหม่และภาคเหนือ มีดังต่อไปนี้

ประมาณปี 2439 มีคนจีนนำกิ่งลำไยมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ห้ากิ่ง ซึ่งพระองค์พระราชทานกิ่งลำไยต่อให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าดารารัศมีนำลำไยปลูกที่กรุงเทพฯ 2 กิ่ง ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ลำไยตรอกจันทร์”

ส่วนอีก 3 กิ่งพระราชชายามอบให้เจ้าน้อยตั๋น ณ เชียงใหม่ ไปปลูกที่บ้านขี้เหล็ก ตำบลสบแม่ข่า และที่หางดง

หลังจากนั้นไม่นานได้มีคนจีนนำกิ่งตอนของลำไยมาปลูกที่หมู่บ้านจีนโองอำ ที่บวกครก ตำบลท่าศาลา แล้วลำไยก็แพร่หลายไปยังจังหวัดลำพูน โดยนิยมปลูกกันที่บ้านหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ซึ่งนั่นก็คือลำไยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของลำไยบ้านเรา

ลําไยที่ปลูกในภาคเหนือแบ่งได้เป็น 2 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ลำไยเมือง กับ ลำไยกะโหลก

ลำไยเมือง มีลำต้นตรงสูงใหญ่ ผลเล็ก มีเนื้อบาง ชุ่มน้ำจนแฉะ และมีเม็ดในโตมาก จนมีสมญาจากคนจีนว่า ลำไยคือ “ตามังกร” แต่ก็ไม่ได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ลำไยเป็นที่แน่นอน นอกจากว่า หากผลมีสีเหลืองและเนื้อออกเหลือง หวานจัด เคยมีคนเรียกว่า ลำไยน้ำผึ้ง

สมัยก่อนคนทางเหนือปลูกลำไยเมืองกินกันในบ้านเท่านั้น แต่ต่อมาได้มีการคัดสรรพันธุ์ลำไย จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจไป ลำไยพื้นเมืองก็เป็นที่เสื่อมความนิยมลงและกลายเป็นของหายากในปัจจุบัน

ลำไยกะโหลก เป็นลำไยที่ถูกพัฒนาพันธุ์ จนได้ลูกใหญ่กว่าลำไยเมืองถึง 2-3 เท่า คนจึงหันมานิยมปลูกกันแพร่หลายจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ลำไยที่นิยมปลูกกันมีประมาณ 7 พันธุ์คือ

อีดอ เป็นลำไยพันธุ์แรกๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากลำไยเมือง พันธุ์นี้จะสุกก่อนลำไยพันธุ์อื่น เนื้อไม่หนา ไม่กรอบ เม็ดในใหญ่ น้ำมาก รสหวานจัด นิยมนำไปทำลำไยตากแห้ง

อีแดง เป็นลำไยรุ่นเดียวกับพันธุ์อีดอ มีน้ำมากจนแฉะ ปัจจุบันเสื่อมความนิยมลงไป เพราะไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นลำไยแห้งได้

อีแห้ว เป็นลำไยที่ถูกพัฒนาจนได้ลำไยเนื้อหนากรอบ แห้งไม่มีน้ำ ปัจจุบันนิยมปลูกกันแพร่หลายในเชียงใหม่ น่าน ลำพูน ลำปาง พะเยา และเชียงราย

อีออน รู้จักกันในชื่อของลำไยสีชมพู เนื้อในมีสีชมพูเรื่อตามชื่อ เนื้อหนา กรอบ น้ำน้อย เมล็ดในค่อนข้างเล็ก จะสุกช้าที่สุดในบรรดาลำไยทั้งหลาย นิยมปลูกมากที่น่าน

อีเบี้ยว ผลใหญ่ออกไปทางแบน มีลักษณะเบี้ยวตามชื่อ เนื้อหนากรอบ เมล็ดในเล็ก แบ่งเป็นสองพันธุ์ คือเบี้ยวเขียวก้านแข็ง กับก้านอ่อน เบี้ยวเขียวก้านแข็งลูกไม่ดก แต่จะให้ผลขนาดใหญ่กว่า

อีดำ หรือกะโหลกใบดำ มีใบสีเข้ม ผลค่อนข้างกลม รสหวานจัด มีกลิ่นหอม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก

อีเหลือง ผลเล็ก น้ำมาก เม็ดในใหญ่ ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน จนแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อ

อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่าลำไยถูกนำเข้ามาปลูกในภาคเหนือของเราโดยคนจีนเอามาเผยแพร่

จากนั้นลำไยเมืองถูกคนบ้านเราพัฒนาสายพันธุ์ กลายเป็นลำไยที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด

ขนาดที่คนจีนเองยังต้องหันกลับมาขอซื้อผลผลิตลำไยจากบ้านเรา