รากฐาน แห่งจิตว่าง มีอยู่ใน พระไตรปิฎก หรือไม่ ความสงสัย สำคัญ

และแล้วก็เข้ามาสู่คำถามอันสำคัญและทรงความหมายยิ่งจากปากของ “ตาแก่” ซึ่งสอดรับกับความข้องใจของอีกหลายคน

นั่นก็คือ คำว่า “จิตว่าง” ไม่มีในพระไตรปิฎก ใช่ไหม

คล้ายกับคำว่า “จิตว่าง” เป็นการบัญญัติขึ้นเองโดยอัตโนมัติจากท่านพุทธทาสภิกขุ เหมือนกับได้กลิ่นอายมาจาก “มหายาน”

เท่ากับเป็นการแตกออกไปจากขนบแห่ง “หินยาน”

อาจเป็นเพราะเห็นว่าท่านพุทธทาสภิกขุเคยแปลและเรียบเรียง “สูตรของเว่ยหลาง” อันเป็นอาจารย์คนสำคัญแห่งนิกายเซน อันเป็นแขนงหนึ่งแห่งมหายาน

ต่อความสงสัยในเรื่องนี้ “หลวงตา” ตอบอย่างยืดยาวยิ่ง

ต้องอ่าน

ข้อนี้จะเข้าใจได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบด้วยอุปมา คนเขลาเข้าไปในป่าก็เห็นแต่ป่า ไม่เห็นต้นไม้ พอได้ฟังพระพุทธภาษิตที่ว่า

“วะนัง ฉินทะถะ มา รุกขัง ตัดป่าซิ อย่าตัดต้นไม้”

เขาก็ฟังไม่ถูก และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะไม่รู้จักแยกต้นไม้ออกจากป่า ที่ถูกนั้นเขาควรชำระป่าที่รกและเป็นอันตรายให้หมดไป ให้เหลือแต่ต้นไม้สวยงามร่มรื่น สะดวกสบายในการอยู่อาศัย

เช่นเดียวกับที่เราไม่ต้องทำลายเบญจขันธ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส เพียงแต่ทำลายกิเลสอันเกิดที่เบญจขันธ์ก็พอแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าเขาไม่มองเห็นกิเลสที่มีอยู่ในเบญจขันธ์เขาก็โง่ไปทำลายเบญจขันธ์เข้าเท่านั้นเอง

พระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ล้วนแต่สอนให้ทำจิตให้ว่างจากอุปาทานที่มีอยู่ในเบญจขันธ์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมเป็นอย่างน้อย

สำหรับส่วนใหญ่หรือหัวใจของพระไตรปิฎกนั้น คือ การสอนทำให้จิตว่างจากอุปาทาน ภายหลังจากที่ได้ละบาปและบำเพ็ญบุญมาเต็มที่แล้ว เรียกว่าการชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความยึดมั่นถือมั่นในบุญและบาปนั่นเอง รวมทั้งกุศลและมหากุศลด้วย

บุญ บาป กุศล อกุศล ที่ยึดไว้ด้วยอุปาทานนั่นแหละคือป่า จะต้องตัดเสียให้หมด ให้เหลือแต่ต้นไม้ที่สวยๆ งามๆ คือ “จิตว่าง”

นี่คือการที่พระไตรปิฎกทั้งหมดมุ่งหมายจะพูดแต่เรื่องการทำให้จิตว่าง

แม้จะพูดเรื่องนรกสวรรค์อะไรก็มิได้พูดเพื่อให้ยึดถือจนรักอยากจะได้เหมือนใจจะขาด หรือกลัวและเป็นห่วงรำคาญจนหมดสุข แต่พูดเพื่อให้ละความยึดถือทั้งหมดทั้งสิ้นเสีย เพื่อความมีจิตว่าง

ไม่มีการเสพติดในสิ่งที่กะลิ้มกะเหลี่ยกันว่า “มหากุศล”

คําว่า “สุญญตา” (ความว่าง) ก็มีทั่วไปในพระไตรปิฎก และยังตรัสกำชับไว้ว่า ข้อความเรื่องใดไม่เกี่ยวกับเรื่องสุญญตา ข้อความเรื่องนั้นก็ไม่ใช่ตถาคตภาษิต

เป็นเพียงเรื่องของคนชั้นหลังๆ กล่าว

และเรื่องสุญญตานี้มิใช่เล็งเห็นแต่ความว่างเฉยๆ แต่เล็งถึงการทำให้จิตว่างจากสิ่งที่มากลุ้มรุมหุ้มห่อจิตให้เศร้าหมอง ไม่มีจิตว่างจากกิเลส โดยเฉพาะคืออุปาทานอันเป็นตัวการแห่งทุกข์โดยตรง ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “จงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด” ดังนี้เป็นต้น

จิตที่เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่เช่นนั้นคือจิตที่ว่างจากอุปาทาน ซึ่งย่อมจะว่างจากทุกข์ด้วยโดยอัตโนมัติ

ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า “จิตว่าง” เฉยๆ เพราะไม่มีคำไหนที่ดีกว่านี้ กะทัดรัดกว่านี้ หรืออมความได้ทั้งหมดทั้งสิ้นเหมือนคำคำนี้

“การปฏิบัติเพื่อทำจิตให้ว่างจากอุปาทาน” ประเด็นเดียวนี้เท่านั้นที่เป็นเนื้อแท้ของพุทธศาสนา การปฏิบัตินอกนั้นมีทั่วไปแม้ในศาสนาอื่น ดังนั้น พระไตรปิฎกที่แท้จะมุ่งสอนแต่เรื่องทำจิตให้มีสุญญตาแต่อย่างเดียว

และสุญญตาถึงที่สุดนั้น คือ สิ่งที่เรียกกันว่า นิพพาน

ถ้ามีใครพูดว่าเรื่องจิตว่างไม่มีในพระไตรปิฎกแล้วเราจะอยากจะพูดบ้างว่า เรื่อง “มหากุศล” นั้นแหละ ไม่มีในพระไตรปิฎก และเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอุปาทาน

จงรู้จักป่า รู้จักต้นไม้ และรู้จักแยกป่าออกจากต้นไม้กันเสียบ้างเถิด

ถ้ามัวแต่ปนเปกันอยู่อย่างนี้แล้วไม่มีวันจะพบพระพุทธศาสนาเลย

เมื่อเรื่องการทำจิตให้ว่างคือเนื้อแท้ของพระไตรปิฎกแล้ว คำว่าจิตว่างก็ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดทุกบรรทัด หรือทุกตัวอักษร

แต่คนที่เห็นแต่ป่าไม่เห็นต้นไม้นั้นก็ย่อมมองไม่เห็นอยู่นั่นเอง ย่อมจะไปเลือกเอามหากุศลซึ่งเปรียบเสมือนป่าทึบเข้าอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเสพติดในมหากุศลหนักเข้าก็เห็นเรื่องจิตว่างเป็นเรื่องมิจฉาทิฏฐิเป็นธรรมดา

เพราะเขากลัวว่า เมื่อจิตว่างแล้วจะเป็นการขาดทุนยุ่บยั่บไม่ได้อะไรเลย โดยที่ไม่รู้ว่า “ว่าง” นั้นแหละคือการได้ทั้งหมด และได้สิ่งสูงสุดในระดับนิพพาน

มหากุศลของความยึดมั่นนั้นรังแต่จะเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเท่านั้นเอง

วิเวกา นาคร