ตุการาม : กวีนักบุญของชาวมาราฐี / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Tukaram /mmqatar.com

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ตุการาม

: กวีนักบุญของชาวมาราฐี

 

เมื่อผมไปท่องเที่ยวอินเดียครั้งแรกประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน มีวันหนึ่งคณะทัวร์ของเราต้องเดินทางด้วยรถไฟปรับอากาศชั้นสองจากเมืองพาราณสีไปยังกัลกัตตาโดยใช้เวลาทั้งคืน เพื่อโดยสารเครื่องบินจากกัลกัตตากลับกรุงเทพฯ

เผอิญในวันนั้นทางคณะทัวร์มีปัญหาเรื่องการจองที่นั่ง ทำให้มีหนึ่งคนที่ต้องแยกโบกี้กับลูกทัวร์ชาวไทยท่านอื่นทั้งหมด ผมจึงอาสาเป็นคนไปนอนแยกเอง เพราะคิดว่าน่าจะคุ้นเคยกับชาวอินเดียมากกว่าคนที่มาด้วยกัน

พอเปิดม่านเข้าไปในโบกี้นั้นก็พบกับครอบครัวชาวอินเดียกำลังกินข้าวเย็น มีพ่อแม่และลูกสาวตัวเล็กๆ อีกคน ผมเลยได้ชวนเขาคุยอะไรต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น ทราบว่าพวกเขาเป็นชาวพังคลี (เบงคอลี) กำลังจะกลับบ้านที่กัลกัตตา พอทราบเช่นนั้นจึงชวนคุยเรื่องท่านรพินทรนาถ ฐากูร มหากวีชาวกัลกัตตาผู้ได้รับรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย ทุกคนในครอบครัวนั้นตาเป็นประกาย เรียกท่านด้วยความเคารพว่า “คุรุเทพ” พร้อมบอกผมว่า พวกเขามีบทกวีของท่านคุรุเทพอยู่ในทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต

ชาวพังคลีแทบทุกคนขับร้องบทกวีเหล่านั้นทั้งในความสุขและความเศร้า

ครั้นเมื่อผมได้ไปแคว้นมหาราษฎร์ในอีกหลายปีถัดมา ผมได้เคยยืนดูชาวบ้านล้อมวงกันฟังคุรุท่านหนึ่งขับกวีของท่านนักบุญตุการามด้วยความซาบซึ้ง

หรือหากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง lunch box คงได้เห็นฉากคนส่งปิ่นโตอาหารเที่ยงจากที่ต่างๆ รวมตัวขับเพลงของวารกรีจากท่านตุการามขณะนั่งอยู่บนรถไฟ

 

ชาวอินเดียนั้นแม้จะยากจนทรัพย์สิน แต่ในหลายพื้นที่ ความรุ่มรวยทางภาษาและวรรณกรรมของเขายังมีมาก โดยเฉพาะบทกวีนิพนธ์ของเหล่านักบุญที่ทั้งปลอบประโลมและกล่อมเกลาชีวิตของพวกเขา และเข้าไปแทรกซึมอยู่ในชีวิตคนสามัญที่แม้ไม่รู้หนังสือ

เราเสียอีกที่กลับดูเหมือนยากจนทางวรรณกรรม แม้เราจะร่ำรวยทรัพย์สินอย่างมากมาย ลองคิดดูเล่นๆ ว่าเรามี “กวีนิพนธ์” บทไหนที่เราจดจำได้และได้ดื่มด่ำกับบทกวีนั้นๆ

หรือมีบทกวีไหนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ ไม่ว่าจากอดีตหรือร่วมสมัย

หากชาวพังคลีมีท่านคุรุเทพรพินทรนาถ ฐากูร เป็นมหากวีเอก ชาวมาราฐีในแคว้นมหาราษฎร์ก็มีท่าน “ตุการาม” (Tukaram) หรือตุโกพา (Tukoba) เป็นกวีเอกเช่นกัน ท่านตุการามผู้นี้คือหนึ่งในนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของนิกายวารกรีดังที่ได้เคยเสนอเรื่องนิกายนี้ไปแล้ว

 

หลังช่วงเวลาแห่งท่านชญาเนศวรไปเกือบสามร้อยปี ในต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบเจ็ด เด็กชายวรรณะศูทรคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในเมืองเล็กๆ ชื่อ เทหุ (Dehu) แคว้นมหาราษฎร์ แม้จะเป็นศูทร แต่บิดาของท่านก็ขายพืชผลทางเกษตรได้ดีจนมีฐานะมั่นคงพอสมควร มีที่ดินครอบครองและมีเงินทองใช้ไม่ลำบาก

ทั้งบิดาและมารดาของตุการามต่างเป็นผู้ศรัทธาในองค์พระวิโฐพาเจ้า สิ่งนี้ปลูกฝังให้เขามีศรัทธาต่อพระวิโฐพาด้วยเช่นกัน

ทว่า ความสุขก็อยู่ได้ไม่นานนัก ทั้งบิดาและมารดาต่างเสียชีวิตในเวลาไลเลี่ยกันเมื่อตุการามเพิ่งเป็นวัยรุ่น ต่อมาท่านแต่งงานกับภรรยาชื่อรขุมาพาอีและมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน แต่ไม่กี่ปีก็เกิดทุพภิกขภัยร้ายแรง ภรรยาและลูกชายของท่านก็ตายจากไปในครานั้น และทุพภิกขภัยดังกล่าวก็ทำให้ชีวิตตุการามยากจนลงจนยากจะดีดังเดิม

ด้วยความโศกเศร้า ตุการามออกไปแสวงหาความสงบคนเดียวบนภูเขาสะห์ยาทรีอยู่บ่อยๆ แต่ในที่สุดท่านก็แต่งงานอีกครั้ง

แม้จะเลือกกลับไปใช้ชีวิตแต่งงาน ตุการามกลับให้ความสนใจกับพระวิโฐพามากกว่าสิ่งใด ท่านแสวงหาคุรุจนได้เป็นศิษย์ของไจตันยะมหาปรภู นักบุญไวษณวะนิกายผู้ยิ่งใหญ่แห่งพังคละ

ท่านอุทิศชีวิตในการแต่งกวีนิพนธ์และยังเสนอการปฏิรูปทางสังคมหรือการตำหนิความชั่วร้ายต่างๆ ที่ชนชั้นสูงกระทำผ่านกวีนิพนธ์ของท่านเอง

 

วันหนึ่งตุการามหายเข้าไปในป่าอยู่ถึงสิบห้าวันและได้พบนิมิตของพระวิโฐพา เมื่อท่านกลับมาบ้านก็หมดอาลัยในชีวิตทางโลก จึงเอาสมุดบัญชีและหนังสือสัญญาต่างๆ โยนทิ้งแม่น้ำ จากนั้นจึงออกท่องไปเพื่อขับร้องกวีให้ผู้คน

ดูเหมือนตุการามจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตทางโลกเลย ท่านใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากแต่ก็ไม่เคยลืมศรัทธาที่มีต่อพระวิโฐพา และมักเอ่ยอ้างถึงบรรดานักบุญก่อนหน้าด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นชญาเนศวร เอกนาถ นามเทพ และกพีระ

วันหนึ่งท่านฝันว่าบรรดานักบุญเหล่านี้ ต่างพากันมาบอกสิ่งที่ท่านควรทำ นั่นคือท่านควรจะประพันธ์บทกวีสรรเสริญพระเป็นเจ้าให้มากๆ ท่านจึงประพันธ์บทกวีเพื่อขับร้องในรูปแบบ “อภังคะ” (Abhanga) ไว้อย่างมากมายถึงสี่พันกว่าบท

บทกวีส่วนใหญ่ของท่านยังคงได้รับการจดจำและขับร้องมาจนถึงปัจจุบัน

 

แม้จะเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ แต่การที่ศูทรคนหนึ่งพยายามจะสั่งสอนผู้คนและวิพากษ์ความชั่วร้ายของพราหมณ์ “ความทระนงในวรรณะ ไม่ได้ทำให้ใครศักดิ์สิทธิ์” หรือ “วรรณะไม่ใช่เรื่องสำคัญ นามของพระเจ้าต่างหากที่สำคัญ” “จัณฑาลผู้รู้รักในนามพระเจ้า แท้จริงแล้วก็คือพราหมณ์” ฯลฯ ทำให้ตุการามโดนต่อต้านหรือแม้แต่โดนทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้ง

วันหนึ่งมีคนไปร้องเรียนกับราเมศวร ศาสตรี พราหมณ์ทรงอำนาจผู้เจนจบพระเวท เมื่อราเมศวรตรวจดูบทอภังคะของตุการาม ก็เห็นว่าความคิดในบทกวีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับพระเวทซึ่งเป็นสิ่งหวงห้ามของวรรณะศูทร จึงสั่งให้ตุการามทำลายบทกวีของตนโดยถ่วงลงในแม่น้ำเสีย ตุการามก็ยอมทำตาม

ไม่กี่วันถัดมา พระวิโฐพาได้มาบอกแก่ตุการามว่า แม้จะถ่วงด้วยหินก้อนใหญ่ แต่พระองค์จะคืนบทกวีให้กับตุการาม บทกวีทั้งหมดก็ลอยขึ้นเหนือน้ำ ในขณะที่ราเมศวรซึ่งเดินทางไปอีกเมืองกลับโดนชาวมุสลิมนามว่าอนากัดชาห์สาปแช่งให้เป็นแผลเปื่อยพอง เนื่องจากราเมศวรไปใช้บ่อน้ำของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต

พระวิโฐพาจึงได้มาเข้าฝันราเมศวรให้ศิโรราบต่อสาวกผู้ยิ่งใหญ่อย่างตุการามเสีย ราเมศวรจึงได้ยอมมาก้มกราบขออภัยต่อตุการาม และแผลเปื่อยพองเหล่านั้นก็หายไป

ท่านตุการามได้ประพันธ์บทกวีแด่ราเมศวรในครานั้นว่า

“เมื่อจิตบริสุทธิ์เสียแล้ว แม้ศัตรูของท่านก็กลับเป็นมิตร มิต้องกลัวภัยจากสัตว์ร้ายดุจเสือหรือนาค แม้ยาพิษก็กลับกลายเป็นโอสถจากสวรรค์ ทุกข์ยากลำเค็ญก็จะกลับเป็นสุข ความแสบร้อนทั่วสรรพพางค์ก็จะเหือดหาย ท่านจักรักสรรพสิ่งดุจท่านรักตนเอง ท่านย่อมบันเทิงอยู่ด้วยมุมมองอันเท่าเทียมต่อทุกสิ่ง ตุการามขอพจนา พระนารายณ์สำแดงมหากรุณาแก่ข้า นั่นแลข้าจึงรู้สึกเช่นเดียวกันนั้นต่อทุกสรรพชีพ”

คำสอนของตุการามเน้นที่ “นาม” ของพระเจ้า ท่านเห็นว่ามีเพียงการสรรเสริญพระนามเท่านั้นที่เป็นการปฏิบัติที่เรียบง่าย เข้าถึงผู้คนได้ทุกชนชั้น มีผลานิสงส์มากที่สุดในกลียุค และความรักภักดีต่อพระเจ้ากับเพื่อนมนุษย์สำคัญกว่าสถานภาพทางสังคมหรือการประกอบพิธีกรรมซับซ้อนใดๆ

ตุการามรับศิษย์ทุกชนชั้นและทุกเพศ ชื่อเสียงของท่านทำให้ขบวนการวารกรีค่อยๆ เข้มแข็งและแผ่ขยายใหญ่โตขึ้น

อาจกล่าวได้ว่าความยิ่งใหญ่ของนิกายวารกรีในปัจจุบันก่อรูปขึ้นมาตั้งแต่สมัยท่านตุการามนี้เอง

ในช่วงสุดท้ายของชีวิตตุการาม พระวิษณุส่งบุษบกวิมานมารับตุการามไปไวกูณฑ์โลกของพระองค์ /en.wikipedia.org

ท่านมีอายุเพียงสี่สิบเอ็ดปี (ซึ่งเท่ากับอายุผมในปีนี้) ก็จากโลกไป การตายของท่านยังคงเป็นที่สงสัย ตำนานกล่าวว่า พระวิษณุเป็นเจ้าได้ส่งบุษบกวิมานมารับตุการามไปไวกูณฑ์โลกของพระองค์เลยทีเดียว

นักวิชาการเห็นว่าตำนานนี้อาจเป็นเพียงการสร้างคำอธิบายของการ “บังคับสูญหาย” ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ท่านตุการามอาจโดนอุ้มหายจากผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับนักบุญในขบวนการภักติซึ่งมีตำนานคล้ายๆ กันแบบนี้ เช่นมีราพาอี

ผมขอจบบทความนี้ด้วยบทกวีบางบทของท่าน ดังนี้

“โดยปราศจากผู้บูชา พระองค์จักแสวงหารูปลักษณ์และรับการบูชาได้ไฉน?

สิ่งหนึ่งทำให้อีกสิ่งงดงามจับใจ ดุจทองคำนั้นไซร้ชูค่าอัญมณี

ใครกันเล่าปลดปล่อยเราจากตัณหาราคะ เห็นก็จะมีเพียงพระองค์เท่านั้นนี่

ตุกากล่าว ความสัมพันธ์ต่างดึงดูดกันเช่นนี้

ก็ดุจสภาวะที่มารดามีต่อบุตรนั่นเอง” •