เปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
เมฆนมวัวหรือแมมม่า (Mamma) ภาพโดย heet_myser จาก atmospheric-phenomena-ap.com

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

เปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้

 

เดือนเมษายนที่ผ่านไป คนไทยได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างงงๆ มึนๆ เมื่อจู่ๆ อุณหภูมิที่ร้อนระอุลดวูบลง 2-4 องศาเซลเซียส มีลมเย็นๆ พัดปะทะหน้าเหมือนหน้าหนาว 2-3 วันแล้วอากาศกลับมาร้อน

กรมอุตุฯ ทำได้เพียงแค่อธิบายสั้นๆ ว่ามวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากจีนแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทั้งๆ ที่ทุกปีก็มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาในต้นเดือนเมษายนเหมือนกัน แต่อากาศไม่เย็น อุณหภูมิไม่ลดลง

ล่าสุด กรมอุตุฯ เพิ่งออกประกาศว่า ฤดูฝนปีนี้ เริ่มต้นช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนจะไปสิ้นสุดกลางเดือนตุลาคม

ช่วงแรกๆ ฝนตกต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน ระหว่างกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม เกิดฝนทิ้งช่วง เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ ระหว่างสิงหาคม-กันยายน ฝนจะกลับมาตกชุกหนาแน่น อาจเกิดน้ำท่วม

พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างนี้ หน่วยงานที่เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม คงรู้แล้วว่าต้องรับมืออย่างไร

หวังว่าคงไม่ซ้ำรอยมหาวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ในครั้งนั้นรู้ๆ กันอยู่ว่าสาเหตุหลักไม่ใช่แค่น้ำฝนมีปริมาณมากเท่านั้น แต่เกิดจากการวางแผนผิดพลาดไม่สามารถจัดการรับมือกับน้ำหลากได้ทันการณ์และเหมาะสม

 

ที่ประเทศแคนาดาเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้คนที่นั่นสัมผัสได้อย่างงงๆ มึนๆ เหมือนกัน เพราะจู่ๆ ต้นเดือนพฤษภาคม อากาศในกรุงออตตาวา พลิกเป็นฤดูใบไม้ผลิในฉับพลัน ทั้งที่ตลอด 4 เดือนก่อนหน้า อุณหภูมิในเมืองหลวงแคนาดาลดวูบ อากาศเย็นยะเยือกกว่าปกติ

นักสิ่งแวดล้อม คาดการณ์สัปดาห์หน้า อากาศในกรุงออตตาวาจะอุ่นขึ้น แสงแดดจ้า ฟ้าใส พร้อมเชิญชวนชาวเมืองเตรียมจอบเสียมพรวนดินปลูกพืชไม้ดอก ไม้ประดับเอาไว้เลย

ตลอดหน้าหนาว ชาวออตตาวานอนอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน เพราะอากาศหนาวเย็น ฟ้าครึ้ม หิมะตกพรำๆ ตลอด เมื่อได้ยินคำพยากรณ์ว่าอากาศจะอุ่น มีแสงแดดสาดส่อง ผู้คนต่างรู้สึกตื่นเต้นดีใจ

อย่างไรก็ตาม นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่า ฤดูร้อนในกรุงออตตาวาปีนี้อุณหภูมิพุ่งสูง

 

แต่ประเทศที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศช่วงตลอดเดือนเมษายนอย่างหนักหนาสากรรจ์สุดๆ ได้แก่อินเดียและปากีสถาน

ที่เมืองจาโกบาบัด ประเทศปากีสถาน ปรอดวัดอุณหภูมิเมื่อวันที่ 30 เมษายน กระฉูดไปถึง 49 องศาเซลเซียส และที่เมืองแบนดา ประเทศอินเดีย วัดได้ 47 ํc

กรมอุตุฯ อินเดียบอกว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิตลอดเดือนเมษายน บริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือและภาคกลางสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติเมื่อ 100 ปีก่อน

คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมอินเดียและปากีสถานเวลานี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ความร้อนระอุมากขึ้น ช่วงเวลาเกิดคลื่นความร้อนจะนานกว่าเดิม มาเร็วกว่าเดิม ดังที่ชาวอินเดียและปากีสถานได้สัมผัสในเดือนเมษายน

กลางเดือนพฤษภาคม คาดว่าพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคเหนือของอินเดีย-ปากีสถานจะมีอุณหภูมิเฉียดๆ 50 ํc

 

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในอินเดีย-ปากีสถาน เอามาเปรียบเทียบกับสภาพภูมิอากาศทางฝั่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นในไทย ซึ่งมีอุณหภูมิลดลง อากาศเย็นแผ่ปกคลุม จะเห็นความแตกต่างอย่างผิดปกติ

ถ้าเปรียบเทียบกับอุณหภูมิของเกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ยิ่งเห็นความผิดปกติ เพราะลดระดับมาอยู่ที่ 16.4 ํc ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา

ปีที่แล้วค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดของฮ่องกงในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 29 ํc และต่ำสุดอยู่ที่ 27 ํc ถือว่าค่อนข้างร้อนทีเดียว

เมื่อกลับไปย้อนดูสถิติอุณหภูมิเกาะฮ่องกง เมื่อ 20 ปีก่อนกับปี 2563 อุณหภูมิเกาะฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นราว 3.3 ํc

ส่วนที่นครกวางโจว ทางตอนใต้ประเทศจีน อุณหภูมิเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาวัดได้ 13.7 ํc นับว่าต่ำที่สุดเท่าที่บันทึกอุณหภูมิในเดือนพฤษภาคมของนครกวางโจว

เมื่อเทียบกับอุณหภูมิที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม วัดได้ 13.6 ํc ถือว่าเป็นอุณหภูมิต่ำที่สุดเท่าที่บันทึกอุณหภูมิในเดือนพฤษภาคมของประเทศไทยเช่นกัน

ไปที่ประเทศออสเตรเลีย จะสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกรูปแบบ ที่นั่นเมื่อเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงขึ้นพุ่งทะลุทำลายสถิติเป็นอันดับที่ 7 ของเดือนเมษายน

มาถึงต้นเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่าอุณหภูมิของภาคตะวันออกและภาคใต้ออสเตรเลียกลับเย็นลง 4-8 ํc ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

 

นักวิทยาศาสตร์ปักใจเชื่อว่า ความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศในส่วนต่างๆ ของโลกที่ทุกคนได้สัมผัสนั้น เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากคนทั้งโลกปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศย้อนกลับมาสำแดงฤทธิ์กับภูมิอากาศโลก

ก่อนการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาวโลกอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่มีโรงไฟฟ้า เดินทางไปไหนมาไหนด้วยเกวียน ไม่มีรถยนต์ บ้านเรือนไร้เครื่องปรับอากาศ ถ่านหิน ก๊าซ น้ำมันไม่ถูกขุดไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม สภาวะภูมิอากาศโลกเป็นปกติ มีครบ 4 ฤดู

เมื่อโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมแผ่ขยาย รถยนต์เต็มถนน โรงงานปล่อยควันพิษ พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกสร้างเมือง ชั้นบรรยากาศโลกเข้มข้นไปด้วยก๊าซพิษ สภาวะภูมิอากาศโลกผันผวนเปลี่ยนแปลง

จากการคำนวณทางวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิเพิ่มสูงราวๆ 1.2 ํc เมื่อเปรียบเทียบกับศตวรรษที่ 19

เมื่อก่อนประเทศอินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นน้อยมาก เฉลี่ย 50 ปีต่อครั้ง ต่างกับปัจจุบันคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมทุกปี อุณหภูมิร้อนแรงขึ้นทุกๆ ปี

กล่าวได้ว่าชาวอินเดียและปากีสถานเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเหยื่อ “โลกร้อน” ยังมีกรณีตัวอย่างอีกมากมายในทุกมุมโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเหยื่อนี้ด้วย

แม้ในอนาคตอีก 80 ปีข้างหน้าชาวโลกจะหยุดปล่อยก๊าซ ควบคุมระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 ํc แต่ถึงวันนั้น อุณหภูมิโลกก็ยังพุ่งอยู่อาจจะพุ่งถึง 2.4 ํc เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากความเข้มข้นของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศไม่ได้จางหายในฉับพลัน

ความเข้มข้นของก๊าซพิษยังมีอยู่ความผันผวนของสภาวะภูมิอากาศโลกก็ยังดำเนินต่อไปอย่างรุนแรง อุณหภูมิในหลายๆ เมืองจะร้อนกว่า 50 ํc ร้อนเหมือนอยู่ในนรกตลอดช่วงฤดูร้อน หรืออาจจะหนาวจัดติดลบ 30-40 ํc ตลอดฤดูหนาว

ความร้อนที่แผ่ปกคลุมขั้วโลกเหนือขั่วโลกใต้ กระตุ้นให้ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว ดันให้น้ำทะเลเพิ่มระดับความสูง เอ่อท่วมเมืองชายฝั่ง ผู้คนอพยพหนีตายอลหม่าน

ฉากเลวร้ายอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นซ้ำๆ

ด้วยเพราะเหตุว่าข้อเรียกร้องวิงวอนขอให้ชาวโลกหยุดยั้งการปล่อยก๊าซพิษแทบไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองในมิติที่ดีเลย

มิหนำซ้ำทุกประเทศต่างลงทำสวนทางกับข้อเรียกร้องนั่นเอง •