วิบากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วิบากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป นักวิจารณ์การเมืองทั้งหลายคงต้องจับตามมองไม่กะพริบ ถึงการจะอยู่หรือจะไปของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การรุมเร้าของปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของการสนับสนุนของพรรคขนาดเล็กที่แปรเปลี่ยนไปมาซึ่งส่งผลต่อเสียงสนับสนุนในสภาที่อาจส่งผลต่อการคว่ำกฎหมายสำคัญต่างๆ รวมถึงพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี และการลงมติไม่ไว้วางใจในญัตติการอภิปรายทั่วไป ตลอดจนปัญหาการตีความเรื่องอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามที่ระบุในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ล้วนเป็นเหตุของการสั่นคลอนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

คำว่า “นายกฯ รักษาการ” ก็ดี “นายกฯ สำรอง” ก็ดี หรือ “นายกฯ คนนอก” ล้วนผุดขึ้นมาในกระแสข่าว โดยผู้พูดผู้ฟังยังอาจสับสนถึงความแตกต่างของแต่ละคำ ว่ามีที่มา ความหมาย และหนทางเป็นไปได้อย่างไร

 

นายกฯ รักษาการ

เป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ตามมาตรา 41 ของหมวด 6 พระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หากในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาราชการแทนคือ รองนายกรัฐมนตรี แต่หากมีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรักษาราชการแทน แต่หากยังไม่มีรองนายกรัฐมนตรีเหลือ คณะรัฐมนตรีก็อาจมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรักษาราชการแทน

ตัวอย่างในอดีต เช่นกรณี นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่โยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะตัว โดยคณะรัฐมนตรียังไม่สิ้นสุดตามไปด้วย ในกรณีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

การเป็นนายกฯ รักษาการ จึงเป็นการทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ จนกว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือการประชุมรัฐสภาแล้วแต่กรณีเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ หรือเพื่อเป็นรัฐบาลรักษาการก่อนการมีรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง

ส่วนหากเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นจริง คนรักษาการก็อาจไม่ใช่พี่ใหญ่แห่งบ้านป่ารอยต่อฯ ก็ได้ เพราะแล้วแต่คณะรัฐมนตรีจะมอบหมาย

 

นายกฯ สำรอง

เป็นไปตามกติกาในรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับฉบับก่อนหน้า คือ การที่พรรคการเมืองอาจเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนได้ทราบก่อนการเลือกตั้ง โดยในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ และในมาตรา 159 กำหนดว่า ให้สภาผู้แทนราษฎร (บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้เป็นการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ หาก ส.ส.ในสภามี 500 คน จะเลือกชื่อจากพรรคที่จำนวน ส.ส. 25 คนขึ้นไปเท่านั้น

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ในปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เกิน 25 คนอยู่เพียง 5 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย 132 คน พรรคพลังประชารัฐ 120 คน พรรคภูมิใจไทย 62 คน พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน พรรคก้าวไกล 52 คน ดังนั้น จึงมีเพียง 5 พรรคนี้เท่านั้นที่สามารถนำชื่อที่เสนอในช่วงหาเสียงมาเป็นตัวเลือกในการลงมติได้

เมื่อพรรคพลังประชารัฐที่เสนอเพียงหนึ่งชื่อเป็นตัวจริงไปแล้ว จึงไม่มีชื่อสำรองจากพรรคนี้ ชื่อที่เหลือหากจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่จึงมีดังนี้ พรรคเพื่อไทย 3 ชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติศิริ พรรคภูมิใจไทย เสนอ 1 ชื่อ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ 1 ชื่อ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนพรรคก้าวไกลไม่มีการเสนอชื่อ (เนื่องจากเป็นพรรคที่ไม่ได้เสนอชื่อในช่วงการเลือกตั้งปี 2562)

ทั้ง 5 ชื่อข้างต้น จึงมีสถานะเป็นรายชื่อสำรองที่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่จำเป็นว่าทั้ง 5 ชื่อดังกล่าวจะเป็น ส.ส.หรือไม่ หรือยังคงสังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ อยู่หรือไม่ ดังตัวอย่างในกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

 

นายกฯ คนนอก

ในกรณีที่ใช้วิธีการปกติแล้วไม่ได้เท่านั้น

มาตรา 272 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการหานายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ร้อยละ 5 ในสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่นกรณี เสนอชื่อแล้วไม่มีใครได้รับเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน

หากเกิดกรณีนี้จะใช้นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ แต่ต้องมีการปลดล็อกถึง 2 ขั้น คือ ขั้นแรกต้องใช้มติเกินครึ่งของสองสภาเพื่อยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชี และขั้นที่สองใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของสองสภา หรือรวมแล้วประมาณ 500 เสียง เพื่อเลือกคนนอกบัญชีที่เหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ดูแล้วเป็นขั้นตอนที่ยากไม่น้อย แต่หากเสียงของ ส.ว.เป็นกลุ่มเป็นก้อน ลงมติไปในทิศทางเดียวกันประสานกับการสามัคคีพรรคการเมืองขนาดใหญ่รวมกับพรรคอื่นบางพรรค ก็อาจบรรลุช่องทางดังกล่าวได้

 

โยนหินถามทางกันแทบหมดภูเขา

ขณะที่ความไม่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีโอกาสพลิกผันได้ในหลายกรณี นับแต่การอาจแพ้เสียงในสภาเมื่อเสนอกฎหมายสำคัญเข้าสภา โอกาสแพ้มติจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือในกรณีที่อาจถูกตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

หินที่ถูกโยนถามทาง จึงปรากฏขึ้นมากมายเพื่อดูปฏิกิริยาการตอบสนองของคนในสังคม

แต่น่าแปลกที่สังคมกลับไม่ยินดียินร้ายกับก้อนหินแต่ละก้อนที่ถูกโยนมาให้จนแทบหมดภูเขา เช่น ชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ไม่ใช่ชื่อที่สร้างความตื่นเต้นดีใจหรือเป็นสิ่งใหม่ที่คนแสดงออกขนาดอ้าแขนต้อนรับ หรือชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี ก็ดูเหมือนจะได้เสียงเชียร์จากคนฝ่ายเดียวกันเองเท่านั้น แม้อาจมีคนในภาคประชาสังคมบางคนพยายามเอ่ยปากว่าเหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกในการเปลี่ยนใหม่ที่ดี

วิบากของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงถึงจุดที่ประชาชนไม่มีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มาทำหน้าที่ช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือนก่อนครบวาระของสภาชุดนี้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2566

เพราะสิ่งที่ประชาชนรอคอยด้วยความกระตือรือร้นคือ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นที่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผู้บริหารทั้งชุดภายใต้อำนาจของประชาชนในการลงบัตรเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองที่ตนศรัทธาต่างหาก

นาทีนี้ไม่สนใจว่า คุณประยุทธ์จะอยู่หรือจะไป เพราะอีกไม่กี่เดือนประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง