E-DUANG : สถานะของ “25 สิงหาคม” ทางการเมือง

และแล้ว “25 สิงหาคม” ก็ได้กลายเป็น “จุดตัด” อย่างแหลมคม สำคัญยิ่งของการเมืองไทย

เหมือนกับเป็นการเมืองยุคหลังเดือนพฤษภาคม 2557

เหมือนกับจะเป็นเช่นนั้น แต่แท้จริงแล้ว เป็นการเมืองยุคก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มากกว่า

หากดูเฉพาะ “ตัวละคร” ก็อาจจะไม่สัมพันธ์กัน

เพราะว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพราะว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะว่าก่อนเดือนกันยายน 2549 เป็น พันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่อย่างหลังเป็นกปปส.

แต่ถามว่า “ศัตรู” ยังเป็น “คนเก่า” หรือไม่

 

เหมือนกับก่อนเดือนกันยายน 2549 เป้าหมายจะรวมศูนย์อยู่ที่ พรรคไทยรักไทย

ขณะที่ก่อนพฤษภาคม 2557 จะอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยรักไทยมีสายสัมพันธ์กันหรือไม่

คำตอบก็คือ ชื่อต่างแต่อย่างเดียวกัน

พรรคเพื่อไทยคืออวตารแห่งพรรคพลังประชาชน ขณะที่พรรคพลังประชาชนคืออวตารแห่งพรรคไทยรักไทย

ทุกอย่างยังอยู่ที่ “ชินวัตร”

อย่าได้แปลกใจไปเลยที่ นายทักษิณ ชินวัตร จะทวีตในวาระ 11 ปีของรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน

“25 สิงหาคม” ก็คือความต่อเนื่องจากเมื่อ 11 ปีก่อน

 

บทบาทและความหมายของ “25 สิงหาคม” จึงเป็นการยกระดับไปอีกขึ้นหนึ่งของสถานการณ์ความขัดแย้งแห่ง “ทศวรรษ”

เมื่อมี 25 สิงหาคม ในวันที่ 27 กันยายนก็งั้น-งั้น

มองจากสภาพความเป็นจริง 25 สิงหาคมคือ “จุดไคลแม็กซ์” การมี 27 กันยายนก็เสมอเป็นเพียงการคลี่คลายไปตามกรอบที่ได้มีการกำหนดและตัดสินใจ

“กลองรบ” ได้ย่ำมาแต่ “25 สิงหาคม” แล้ว

25 สิงหาคม จึงเท่ากับเป็น”จุดตัด” อันนำไปสู่มิติที่มีความร้อนแรงยิ่งขึ้นของการเมืองไทย

บนพื้นฐานแห่ง “การศึกมิหน่ายเล่ห์”