เศรษฐกิจทั่วไทย ‘ยังซึม’ รออิทธิฤทธิ์ ‘เปิดเมือง’ ฟื้นกำลังซื้อ-ท่องเที่ยว/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจทั่วไทย ‘ยังซึม’

รออิทธิฤทธิ์ ‘เปิดเมือง’

ฟื้นกำลังซื้อ-ท่องเที่ยว

 

จากวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจโลก กำลังล้อมหน้า ล้อมหลังประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 เปราะบาง ขยายตัวต่ำไม่ถึง 4% อย่างที่คาดการณ์

ภายใต้สถานการณ์ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ที่ยังรุมเร้า ทำให้คนไทยในวันนี้ เผชิญกับภาวะ “ค่าครองชีพสูง” และ “สินค้าราคาแพง” ที่ขยันขึ้นราคารายวัน สวนทางกับ “ค่าแรง” ที่ยังเท่าเดิม

ขณะที่รัฐบาลสบช่องสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย งัดแผน “เปิดประเทศ” ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา เสริมทัพมาตรการเยียวยา หวังพยุงเศรษฐกิจในห้วงเวลาที่เหลือ 7 เดือนนับจากนี้

แม้ว่าการ “เปิดเมือง” อย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มคิกออฟเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 แต่จากเสียงสะท้อนของหอการค้า 5 ภาค ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ “การบริโภค การท่องเที่ยว การลงทุนเริ่มฟื้นตัว” แม้ยังกลับมาไม่เหมือนเดิม 100%

ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณผ่านหอการค้าส่วนกลาง ผลักดันวิธีการต่างๆ นานา เพื่อให้เศรษฐกิจท้องถิ่นได้ฟื้นอย่างแท้จริง และยั่งยืน แม้เจออุปสรรคอีกหลายระลอกที่คาดไม่ถึง!!!

 

เริ่มจาก “ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจภาคตะวันออกจะโตไม่ต่ำกว่า 5% ประเมินจากต้นปีที่การบริโภค ลงทุนและท่องเที่ยวเริ่มฟื้น หลังคนคลายกังวลเรื่องโควิด

ขณะที่การเปิดประเทศก็ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักมากขึ้น จากช่วงมีนาคม-เมษายนมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 50% ส่วนการจ้างงานกลับมา 61%

การลงทุนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีลงทุน 509 โครงการ มูลค่า 247,000 ล้านบาท การค้าชายแดนก็เพิ่มขึ้น 12% การส่งออกผลไม้ใน 3-4 เดือนนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท จากทุเรียนและมังคุด

“ภาคตะวันออกถูกกำหนดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี การลงทุนยังมีต่อเนื่อง และในไตรมาส 2 นี้จะเห็นการลงทุนโครงการใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีซี เช่น แบตเตอรี่ ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงที่ผ่านมาซัพพลายเริ่มล้นตลาด ยังคงมีเปิดตัวใหม่”

แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เจอหลายเด้ง ภาคหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน สินค้าแพง กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน รัฐต้องมีมาตรการออกมา เช่น คนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อมาเสริมมาตรการที่จะสิ้นสุดเดือนมิถุนายนนี้ ไม่ให้กำลังซื้อชะงักงัน

 

ด้าน “สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) คาดปีนี้เศรษฐกิจภาคอีสานโต 3.5% หลังเปิดประเทศเริ่มกลับมาคึกคักทั้งกำลังซื้อและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการโรงแรมเพิ่ม 30% ยิ่ง สปป.ลาว ลดขั้นตอนตรวจโควิดจะยิ่งคึกคักมากขึ้นทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งที่จะได้อานิสงส์จากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน

“เริ่มมีนักลงทุนสนใจสร้างศูนย์ขนส่งสินค้ารองรับไฮสปีดแล้ว และจากความพร้อมของภาคอีสานในการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ทำให้ยังมีนักลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง เพื่อลงทุนธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้มีนักลงทุนส่วนกลางหาซื้อที่ดินที่อุดรธานี ขอนแก่น โคราช หนองคาย พัฒนาอสังหาและโลจิสติกส์ จึงอยากให้รัฐเร่งพัฒนา 4 จังหวัดนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อที่เริ่มฟื้น ไม่ให้สะดุด”

ส่วน “ธวัชชัย เศรษฐจินดา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคกลางทุกเซ็กเตอร์ยังไม่พื้นตัวจากโควิด และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัจจุบันการบริโภค การท่องเที่ยว และประชาชนยังอยู่ด้วยความยากลำบากจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มแต่รายได้เท่าเดิม ส่วนการลงทุนเริ่มลดลง มีโรงงานเริ่มปิดตัว และย้ายฐานการผลิต ด้านการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นเฉพาะเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน มียอดพักโรงแรมค่อนข้างเต็ม หวังหลังเปิดประเทศนักท่องเที่ยวจะเข้ามามากขึ้นและทำให้เศรษฐกิจปีนี้โต 3-3.5%

“อยากขอให้รัฐออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และให้หน่วยงานราชการจัดประชุมสัมมนาต่างจังหวัดในวันธรรมดา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เพราะต้องใช้เวลา 2 ปี กว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้าสู่ปกติ”

สอดคล้องกับ “สมบัติ ชินสุขเสริม” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ระบุว่า เศรษฐกิจภาคเหนือกำลังซื้อยังซบเซา จากค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวมีไม่ถึง 10% คาดหวังหลังเปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภาคเหนือมากขึ้นในช่วงไฮซีซั่นเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ ด้านการลงทุนยังชะลอตัว และจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการลงทุนแบบรัดกุมและเน้นการประคองตัวมากกว่า

“ภาคเหนือกำลังซื้อช่วงนี้ยังซบเซา อยากขอให้รัฐต่อมาตรการคนละครึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าอีกครั้ง ในช่วงที่ค่าครองชีพสูง และสินค้าราคาแพง เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย”

 

ปิดท้ายที่ “วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ คาดหวังหลังรัฐเปิดประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปถึงปลายปีนี้ เมื่อการท่องเที่ยวดี ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มเติมจากปัจจุบันมีรายได้จากการทำสวนเกษตร ซึ่งราคาพืชเกษตรก็เริ่มดีขึ้นทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายได้เพิ่ม แต่รายจ่ายก็เพิ่มตามไปด้วย จากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่เดื่มขึ้น 20% ซึ่งค่าขนส่งกำลังเป็นปัญหาของธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้

“ด้านการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ชะลอตัว ตั้งแต่มีโควิดจากเดิมเคยอยู่ที่ 4-5% ต่อปี ลดลงอยู่ที่ 1-2% ต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้นเลย ซึ่งการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการส่งออก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันยังไปได้ดี แต่การลงทุนด้านอื่นชะลอตัวหมดและมีปิดตัวไปมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”

สำหรับข้อเสนอถึงรัฐบาล “วัฒนา” บอกว่า อยากให้เร่งรัดจัดสรรเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ให้เติบโต เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุม ครม.สัญจรภาคใต้มาแล้ว 2 ครั้งที่ภูเก็ตและกระบี่ แต่ยังไม่มีการผลักดันโครงการออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ฯ-พังงา-ภูเก็ต จะเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย หากเกิดได้จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้เฟื่องฟูมากกว่านี้

ข้างต้น เป็นความหวังของคนในพื้นที่ สะท้อนถึงส่วนกลาง ที่อยากเห็น “ประเทศ-เศรษฐกิจไทย” ได้ไปต่อ ส่วนจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องลุ้นไปพร้อมกับ “ยาแรง” ที่รัฐบาลเตรียมประกาศก๊อกใหม่เร็วๆ นี้