จาก จิตประภัสสร สู่ สุญญตา และ มหากุศล อย่างไหน “จิตว่าง”

ถูกต้องอย่างที่สุดที่ “ตาแก่” จะเสนอปุจฉาอย่างสอดรับกับความต้องการ นั่นก็คือ “จิตประภัสสรเป็นจิตบริสุทธิ์หรือเปล่า”

คำตอบจาก “หลวงตา” คือ ประภัสสรมีความหมายคนละอย่างกับบริสุทธิ์

ประภัสสรตรงกับคำว่า “เรืองแสง” เป็นคุณสมบัติประจำตัวของสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ

ตามธรรมดาแสงนั้นไม่เศร้าหมอง จะเศร้าหมองต่อเมื่อมีอะไรมาปนลงไปในแสง โดยเฉพาะก็คือ กิเลส

ดังนั้น จิตสูญเสียความเป็นประภัสสรเมื่อถูกกิเลสที่เป็นอาคันตุกะจรเข้ามา

ถ้าจะเรียกประภัสสรบริสุทธิ์ก็บริสุทธิ์อย่างภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่บริสุทธิ์อย่างความหมายของพระอริยเจ้า

ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าเราจำกัดขอบเขตของคำที่พูดกันเพียงไหน

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะแห่งประภัสสรนั้นต้องว่างจากกิเลส หรือความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่นั้นเหมือนกัน ดังนั้น ก็พอที่จะเรียกหรือสงเคราะห์จิตประภัสสรนี้ไว้ในพวกจิตว่างด้วยเหมือนกัน

ส่วนที่มันจะบริสุทธิ์หรือไม่นั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อสามารถสรุปในเรื่อง “จิต” อันสัมพันธ์กับ “ประภัสสร” ได้ในระดับแน่นอนหนึ่ง “ตาแก่” ก็เสนอไปยังคำถาม

“ถ้าเช่นนั้น จิตว่างก็มีหลายชนิด”

“จะว่าชนิดเดียวก็ได้ หลายชนิดก็ได้ แล้วแต่เราจะเพ่งเล็งกันกว้างหรือแคบเพียงไร” เป็นคำตอบจาก “หลวงตา”

จากนั้นก็อรรถาธิบายยาว

ที่ว่าชนิดเดียวนั้นหมายถึงว่า ในขณะนั้นมันปราศจากอุปาทานว่าตัวตน หรือของตน ก็แล้วกัน คือ มันจะยังไม่ทันเกิด หรือไม่อาจจะเกิด ก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่ามีหลายชนิดนั้นก็คือ ว่างได้หลายอย่าง

คือว่างเด็ดขาดอย่างจิตพระอรหันต์ก็มี ว่างไม่เด็ดขาดอย่างจิตผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มี ว่างเองตามธรรมชาติเพราะยังไม่มีอารมณ์มากวนก็มี อารมณ์มากระทบแล้วควบคุมได้ก็มี กำลังอยู่ในสมาธิบางชนิดก็มี

หรือมีอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็มี กำลังพักผ่อนนอนหลับตามปกติก็มี หรือแม้ที่สุดแค่มีบทเพลงหรือดนตรี “บางชนิด” มาขับกล่อมแวดล้อมอยู่ก็มี

เหล่านี้เรียกว่ามันมีหลายชนิด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปเอาแต่ใจความที่มุ่งหมายในที่นี้แล้วมีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เรากำลังว่างจากอุปาทานที่กำลังสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกู-ของกู อยู่ก็แล้วกัน

และถือว่านั่นแหละคือปรกติภาวะแท้ของจิต และไม่มีความทุกข์

แล้วก็ถึงคำถามสำคัญอันมาจาก “ตาแก่” นั่นก็คือ แล้วจิตว่างชนิดไหนเล่าที่ประสงค์ในประโยคที่กล่าวว่า “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง”

คำตอบอันมาจาก “หลวงตา” คือ

หมายถึงจิตว่างทุกชนิด เพราะเหตุผลอย่างเดียวคือ ไม่ว่าจะเป็นจิตว่างชนิดไหนล้วนแต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น เราเอาแต่ไม่มีทุกข์ก็แล้วกัน

อย่าไปเห่อความเป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้เหมือนที่เขาแห่ไปทำวิปัสสนาเพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่แข่งขันกันเลย ซึ่งมีแต่จะทำจิตให้ไม่ว่างยิ่งขึ้น ดังที่เห็นอวดเบ่งทับกัน ทะเลาะวิวาทกัน

ดังนั้น จะเป็นจิตว่างชนิดไหนก็ไม่น่ารังเกียจ

ที่ว่างเองตามธรรมชาตินั้นยิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะทำให้คนมีจิตไม่ผิดปรกติ ไม่เป็นโรคเส้นประสาท หรือโรคจิต เป็นต้น

ส่วนที่ควบคุมให้ว่างนั้นก็เป็นเพียงการยึดความว่างตามธรรมชาติให้ยาวออกไป หรือให้ประณีตขึ้นเท่านั้น ส่วนที่ว่างเด็ดขาดโดยเป็นพระอรหันต์แล้วนั้นไม่จำเป็นต้องพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นการเป็นอยู่ด้วยจิตว่างอยู่ในตัวโดยไม่ต้องพยายามอะไรอีกต่อไปแล้ว

น่ายินดีที่ “ตาแก่” มากด้วยความรอบคอบ มากด้วยความสุขุม จึงได้เสนอคำถามว่า “จิตมีชื่อประหลาดๆ เช่น จิตมหากุศล เช่นนี้เป็นจิตว่างหรือเปล่า”

“จิตมหากุศลนี้ฟังดูก็ประหลาดสมชื่อ” เป็นการยอมรับจาก “หลวงตา”

จิตมหากุศลตามศาลาวัดนั้นฟังดูแล้วเป็นความทะเยอทะยานเพื่อจะได้อะไรที่มุ่งมาดที่สุดจนจัดเป็นมหากุศล เหมือนการลงทุนค้ากำไรอันเกินควรหรืออะไรทำนองนี้ทั้งนั้น

ถ้าอย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นจิตว่าง แต่ก็เป็นจิตวุ่นอย่างยิ่ง

จิตที่เป็นมหากุศลอย่างแท้จริงควรจะเป็นจิตว่าง คือไม่ปรารถนาอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรารถนาแม้แต่สิ่งที่เรียกว่ามหากุศลนั้นด้วย

มหากุศลที่ทำไปด้วยความอยากจะเอาเป็นตัวกูหรือของกูนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าขนมหรือลูกกวาดสำหรับให้รางวัลเด็กเพื่อจูงใจให้เขาขยันทำงาน ฉะนั้น มหากุศลตามศาลาวัดนั้นยังไม่ใช่จิตว่าง ควรนึกถึงเรื่องอื่นที่ชวนให้ว่างจะดีกว่า

ใครเคยพบที่ไหนบ้างว่าพระพุทธเจ้าได้เคยทรงใช้คำคำนี้และดื่นเหมือนคำว่า “สุญญตา”

คำว่าสุญญตากับคำว่ามหากุศล สองคำนี้คำไหนควรจะถูกจัดว่าเป็นอภิธรรมกว่ากัน หรือถึงกับว่าอันไหนไม่เป็นอภิธรรมเสียเลย ดังนั้น จิตว่างกับจิตมหากุศลจะเป็นของสิ่งเดียวกันอย่างไรได้

ท่านลองคิดดูเองเถิด ของสองอย่างนี้อย่างไหนที่เต็มอัดอยู่ด้วยกลิ่นอายของตัณหาอุปาทาน อย่างนั้น “ยังไม่ใช่จิตว่าง”

วิเวกา นาคร