กว่าจะถึง SCBX ตอนที่ 6 ยุคใหม่ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ภาพประกอบ /scb.co.th

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

ตอนที่ 6 ยุคใหม่

ว่าด้วยร่องรอยราว 2 ทศวรรษการพลิกโฉม จากธนาคารไทยพาณิชย์ สู่เอสซีบีเอกซ์

จากเรื่องราวเป็นจุดเปลี่ยน เมื่อกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา (กันยายน 2564) “SCB Group จัดตั้ง ‘ยานแม่’ ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบีเอกซ์) เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค สร้างบริษัทสู่หลากธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์ม วางรากฐานรองรับบริบทใหม่ของโลก”

จนมาถึงกระบวนการให้เป็นจริงอีกขั้น เมื่อ (1 มีนาคม 2565) มีประกาศ กำหนดการซื้อหลักทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นมาสู่ปลายทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศให้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งยังใช้เชื่อย่อเหมือนเดิม-SCB) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เริ่มซื้อขายวันที่ 27 เมษายน 2565

ขณะเดียวกันได้เพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ (ใช้ชื่อย่อใหม่-SCBB) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

“SCB ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก” คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับลักษณะธุรกิจ

ขณะโครงสร้างผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัท เรียกได้ว่ายกชุดมาจากธนาคารไทยพาณิชย์เดิม แม้กระทั่งโลโก้คงบุคลิกเดิมเช่นกัน มีทั้งคำว่า “ไทยพาณิชย์” และสัญลักษณ์ “ใบโพธิ์” ปรากฏ

ถือได้ว่า เป็นหมุดหมายสำคัญของยุคใหม่ จะนับว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 2542 ก็ว่าได้ เมื่อ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร (2542-2562) ธนาคารไทยพาณิชย์ และนายกกรรมการ (2562-ปัจจุบัน) จวบจนปัจจุบัน นานถึง 2 ทศวรรษแล้ว

 

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรำและแตกต่างจากที่ผ่านๆ มาในประวัติศาสตร์ธนาคารเก่าแก่

ไม่ว่าเคยทำงานกับธนาคารใหญ่ ซึ่งผมมักเรียกว่าเป็นระบบธนาคารครอบครัว นานเกือบๆ 2 ทศวรรษ

จากนั้นสัมผัสตำแหน่งทางการการเมืองช่วงสั้นๆ ก่อนผันสู่บทบาทสำคัญ มีส่วนแก้ปัญหาระบบธนาคารไทยอันเป็นผลพวงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

หากเปรียบเทียบกับก่อนหน้า-ยุคประจิตร์ ยศสุนทร (2516-2541) ถือว่ามีช่วงเวลาไกล้เคียงกัน ขณะที่ประจิตร์ ยศสุนทร มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษในที่เดียว -ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาไทยพาณิชย์ในวัยเข้าไกล้เกษียณ (54 ปี) และขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารในวัย 65 ปี

ขณะที่ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิช์ในวัยกระฉับกระเฉงกว่า (54 ปี)

“ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของธนาคาร ดร.วิชิตได้นำวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนและนำพาองค์กร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการทำธุรกิจในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารมีการเติบโตที่โดดเด่น อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจธนาคาร” บางส่วนโปรไฟล์ทางการซึ่งตั้งใจว่าไว้ (https://www.scb.co.th/)

 

ยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เปิดฉากขึ้นแทบจะพร้อมๆ กับ Change program ว่าไปแล้ว มีความหมายหลายมิติ เป็นแนวทางที่แตกต่างเมื่อเทียบเคียงกับยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะว่าด้วยการคัดสรรผู้นำ

ในยุคประจิตร์ ยศสุนทร การปรับโครงสร้างการบริหารธนาคารครั้งใหญ่ ให้ความสำคัญการมามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารเป็นการเฉพาะ ไม่ว่ามาจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารระดับโลก มักเป็นผู้มีภูมิหลังแห่งสายสัมพันธ์ดั้งเดิม และมีภูมิหลังการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา สอดคล้องกับยุคสมัยอิทธิพลสหรัฐ สอดคล้องกับยุคธนาคารไทยกำลังพัฒนาสู่แบบแผนสากล

ส่วนในยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ให้ความสำคัญว่าด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างจากระบบธนาคารพอสมควร ดูเหมือนเจาะจงผู้บริหารกิจการระดับโลกด้วย เป็นสัมพันธ์กับบริบทและมุมมองทางธุรกิจธนาคารที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

เมื่อปรากฏชื่อ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร (ปี 2545) จากอดีตผู้บริหารบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า Fast-moving consumer goods (FMCG) มาเป็นธนาคาร ต่อมาได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (2550-2558)

อีกคน อาทิตย์ นันทวิทยา ถือว่าเป็นคนมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับระบบธนาคาร เคยทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ช่วงสั้นๆ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่สำคัญผ่านงานริหารธุรกิจระดับโลกราวทศวรรษ กับ Cargill Financial Service ในตำแหน่ง Hedge Fund Manager และ Standard Chartered Bank เป็น Managing Director และ Regional Head Capital Markets, Southeast Asia เป็นตำแหน่งสุดท้าย กลับมาร่วมงานธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง (ปี 2551) ต่อมาไม่นาน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ปี 2559) และประธานกรรมการบริหาร (ปี 2562) อีกตำแหน่งหนึ่ง

เมื่อแปลงร่างเป็นเอสซีบีเอกซ์ ในทันที ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย มาเป็นประธานกรรมการ และอาทิตย์ นันทวิทยา เป็นประธานกรรมการบริหาร

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ล่าสุดได้ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารคนใหม่-กฤษณ์ จันทโนทก จะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เมื่อพิจารณาโปรไฟล์ สะท้อนยุคใหม่ที่ว่า อย่างมิพักสงสัย ให้ความสำคัญประสบการณ์มากกว่าวุฒิการศึกษา ดูเป็นแบบฉบับเดียวกันกับอาทิตย์ นันทวิทยา ด้วยวัยไม่เกิน 50 ปี มีการศึกษาในประเทศ และมีประสบการณ์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าธุรกิจหลักทรัพย์ และประกัน โดยผ่านประสบการณ์การบริหารธุรกิจระดับโลกมาบ้าง

กฤษณ์ จันทโนทก ในตำแหน่งล่าสุดเป็นประธานกรรมการบริหารเอไอเอช่วงสั้นๆ

 

ที่สำคัญอีกความหมายของ Change program อยู่ที่ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ

ยุคประจิตร ยศสุนทร เป็นยุคแห่งโอกาสเปิดกว้าง ขยายเครือข่ายธุรกิจ และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และข้างเคียง จากความร่วมมือกับธุรกิจญี่ปุ่น สู่แบบแผนธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงยุคเฟื่องฟู ของ “พวกหน้าใหม่” ทั้งธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์และสื่อสาร ว่าไปแล้ว เป็นการเดินตามหลังกระแสอันเชี่ยวกรากอย่างเร่งรีบ เชื่อกันว่ากลายเป็นเหตุและปัจจัยหนึ่ง ซึ่งยังไม่สามารถตั้งหลักได้ ก็เผชิญมรสุมร้ายแรงทางเศรษฐกิจให้ซวนเซเสียก่อน

ส่วนยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย โฟกัสกับธุรกิจธนาคารค่อนข้างเคร่งครัด กับการปรับตัวอย่างทันกาลกับบริบทใหม่ แม้อยู่ในกระบวนการลองผิดลองถูกมาพอสมควร แต่ในภาพรวม ธนาคารไทยพาณิชย์มีตำแหน่งอยู่ในหัวขบวนระบบธนาคารไทยในการปรับตัวตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเชี่ยวกราก

“สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และการไหลบ่าเข้ามาของธุรกิจ platform ระดับโลกที่กำลังจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของธุรกิจธนาคาร ในการนำเสนอบริการทางการเงินและการลงทุน กอปรกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปิดรับการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้การบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก” อย่างที่อาทิตย์ นันทวิทยา เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2561 (อ้างอิงจากถ้อยแถลง “22 มกราคม 2561-ผ่ายุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์ ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มแบงก์ใหม่…”) ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผลักดันให้เดินมาถึงทุกวันนี้

ขณะนี้อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งก็ว่าได้ โดยกว้างๆ อยู่ในช่วง 2 ทศวรรษ ยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย (วัย 77) หากทีมงานคนสำคัญๆ ขยายบทบาทมากขึ้น นำโดยอาทิตย์ นันทวิทยา วัย 50 กว่า อยู่มายังไม่ถึงทศวรรษ กับอีกบางคนในรุ่นถัดมา อย่าง ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ (ประธานกรรมการหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์) ในวัยเดียวกันกับผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์คนล่าสุดในวัย 45 ที่กำลังมา

เชื่อว่า ความท้าทายครั้งใหม่ของธนาคารเก่าแก่แห่งนี้ รออยู่ข้างหน้า •